วันอังคารที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

นโยบายรับจำนำข้าว

นโยบายรับจำนำข้าวสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ และขายข้าวแบบจีทูจี


ตัดมาจากหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ในคอลัมน์ เปลว สีเงิน ฉบับวันที่ 27 พฤศจิกายน 2555


อ่านนี่ดีกว่า เพื่อจะได้เข้าใจว่า ที่เขาประสานเสียงว่า ขายข้าวจีทูจีได้แล้ว ๗-๘ ล้านตัน แต่เปิดเผยไม่ได้นั้น ข้อเท็จจริงมันเป็นยังไง "คนรักบ้าน-รักเมือง" เขารายงานให้ผมทราบหลายวันแล้ว มัวติดเรื่อง Falls in love กับเรื่องอวสานเสือฝ้ายอยู่ ก็นำฉายควบซะวันนี้เลย

คุณเปลวที่นับถือ

ที่กระทรวงพาณิชย์แถลงว่าทำสัญญาขายข้าวจีทูจีได้แล้วหลายล้านตัน เป็นเรื่องโกหกทั้งนั้น เพราะช่วงนี้ไม่มีการตกลงขายกับรัฐบาลใดเลย จีทูจีในรัฐบาลนี้มีเพียงที่ขายให้อินโดฯ ตอนปลายปีที่แล้ว เป็นข้าวขาว ๑๕% จำนวนสามแสนตัน ส่งมอบติดต่อจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๕

กระทรวงพาณิชย์งุบงิบให้บริษัท สยาม...จำกัด เป็นผู้รับผิดชอบในการส่งมอบ ใช้ข้าวสต็อกรัฐบาล โดยไม่มีการประมูล แต่ส่งมอบได้ไม่ทันกำหนด ส่งมอบไปได้ประมาณ ๒๗๐,๐๐๐ ตันเศษ ตอนที่ใกล้กำหนดเส้นตายในการส่งมอบ สยาม...เห็นว่าส่งมอบไม่ทันแน่ จะขอให้ผู้ส่งออกส่งรายอื่นช่วยเปาเกา แต่ผู้ส่งออกส่วนใหญ่ไม่เอาด้วย

มี ๒ รายที่ยอมช่วย ก็ถูกด่าจนเข้าหน้าคนอื่นไม่ติดไปพักใหญ่ อีกจำนวนหนึ่งเป็นข้าวนึ่ง ๕% ที่ขายให้บังกลาเทศ ๒๐๐,๐๐๐ ตัน มีชื่อ อคส.เป็นผู้ขาย ส่งมอบเมื่อเดือน มิ.ย.๕๕ พาณิชย์ก็งุบงิบให้สยาม...เป็นผู้ส่งมอบ (ไม่มีรายละเอียดว่าใช้ข้าวจากแหล่งใดส่งมอบ)

ที่พาณิชย์ยืนยันว่าได้ขายจีทูจ ให้อีกหลายประเทศ รวมทั้งจีน ก็ไม่เป็นความจริง เพราะจีนไม่เคยซื้อข้าวจีทูจี กระทรวงพาณิชย์และคนในวงการข้าวรู้ดี จีทูจีที่อ้าง ค่อนข้างชัดเจนเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ คือการงุบงิบให้สยาม...ไปทำสัญญาขายกับผู้ซื้อในต่างประเทศ โดยใช้ข้าวสต็อกรัฐบาลส่งมอบ

สยาม...ก็ต้องทำความตกลงผ่านโบรกเกอร์ เช่น ที่สวิส สิงคโปร์ เมื่อขายได้ ส่งมอบข้าวลงเรือ เรียกเก็บเงินได้ ก็ต้องส่งเงินให้พาณิชย์ทยอยคืน ธ.ก.ส. แต่การทำเช่นนี้ไม่ราบรื่นอย่างที่คิด เพราะข้าวที่จะส่งมอบเป็นข้าวเก่า ทำให้การส่งมอบล่าช้า กว่าจะเต็มลำเรือก็ทุลักทุเลพอควร ช่วงนี้จึงมีปัญหา ไม่มีเงินจ่ายค่าข้าวที่ชาวบ้านนำมาจำนำ ไม่มีเงินจ่ายให้โรงสี เซอร์เวย์ ติดค้าง ๒-๓ เดือน

ช่วงนี้สยาม...ขายให้อิรักผ่านโบรกเกอร์สิงคโปร์ ตันละประมาณ ๕๑๐ เหรียญยูเอส ถ้าคิดราคาข้าวในตลาดปัจจุบัน จะขาดทุนประมาณตันละ ๓,๐๐๐ บาท ยังไม่คิดค่าปรับปรุง ค่าขนส่ง ทำไมสยาม...จึงตกลงขายได้ ทั้งที่เห็นว่าขาดทุน ก็เพราะไม่ต้องลงทุน โดยใช้ข้าวสต็อกรัฐบาลส่งมอบ ทั้งที่ไม่เคยปรากฏว่าสยาม...ประมูลซื้อข้าวของรัฐบาลเลย!

แต่ถ้าคิดต้นทุนราคารับจำนำ จะขาดทุนตันละประมาณ ๗-๘ พันบาท ยังไม่คิดค่าปรับปรุง ค่าเช่าโกดัง ค่าขนส่ง ค่าเสื่อม แต่มีปัญหาไม่สามารถหาข้าวใหม่ส่งมอบได้ เพราะข้าวในสต็อก เหลือแต่ข้าวเก่า บางจำนวนเก่าเก็บมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๑ มอดกินเป็นผงแล้ว เพราะข้าวใหม่ถูกแอบเอาออกไปส่งออกหรือเอาไปขายแล้ว จากนั้นก็ใช้ข้าวเก่าสวมรอยว่าเป็นข้าวที่เพิ่งรับจำนำ

มีข่าวว่า เจ๊ ด.ต้องใช้อิทธิพลบีบให้โรงสีที่เตรียมข้าวเปลือกไว้จำนำแล้วใช้ข้าวเก่าสวมรอย ต้องสีข้าวใหม่ส่งมอบให้สยาม...ทำให้โรงสีไม่สามารถเอาข้าวใหม่แอบไปขายแล้วใช้ข้าวเก่าสวมรอยได้ทั้งหมด เพราะส่วนนี้ต้องส่งมอบให้สยาม...ทั้งที่จ่ายค่าส่วนต่างไปให้นักการเมืองล่วงหน้าแล้ว

การตรวจสอบเรื่องนี้สามารถทำได้ หากสามารถเรียกตรวจเอกสาร เส้นทาง คำสั่ง การเบิกจ่ายข้าว ออกจากโกดัง เอกสารการส่งออก การเรียกเก็บเงินค่าข้าว เส้นทางการทำธุรกรรมทางการเงิน การใช้เงินคืน ธ.ก.ส.

การเซ็นเอ็มโอยูกับจีนโดยไม่ระบุ ปริมาณ-เวลา เป็นที่ขบขันของฝ่ายจีน ทราบข่าวจากผู้ไปร่วมงานเลี้ยงต้อนรับจีนที่ "สมาคมมิตรภาพไทย-จีน" เป็นเจ้าภาพได้ความว่า นายกฯ ขอร้องให้ฝ่ายจีนช่วยเซ็น เพื่อช่วยรักษาหน้า จีนจึงยอม แต่ต้องตัดข้อความระบุจำนวนและเวลาออก ซึ่งทำขึ้นมาก็ไม่มีผลอะไร

ที่มีการเซ็นกันคือ มีการตกลงซื้อกับเอกชน แต่ต้องเป็นข้าวใหม่ ทางจีนรู้ข้อมูลดีว่าข้าวในสต็อกเป็นข้าวคุณภาพแย่ โดยเฉพาะหอมมะลิปลอมปนกันมาก

อีกไม่นานเกินรอ ข้าวจะทับรัฐบาล และพวกกระทรวงพาณิชย์บางคนตาย ตอนนี้จนแต้มแล้ว เมื่อ ๒-๓ วันที่ผ่านมา บิ๊กพาณิชย์ติดต่อโทรศัพท์ถึงผู้ส่งออกรายใหญ่ ขอให้ช่วยตกลงซื้อข้าวของรัฐบาลในราคาสูงใกล้เคียงราคารับจำนำ

โดยรับปากว่าจะหาข้าวใหม่มาส่งมอบให้ประมาณล้านตันเศษ แล้วจะตอบแทน หากในอนาคตขายข้าวจีทูจีได้ จะจัดสรรแบ่งให้ผู้ส่งออกที่ช่วยซื้อข้าว หากไม่ตกลงจะถือว่าไม่ร่วมมือ (คงหาทางใช้อำนาจแกล้ง) ยังไม่ชัดเจนว่า ผู้ส่งออกจะตกลงหรือไม่ ดูแนวโน้มแล้วคงยาก เพราะช่วงนี้ไม่มีคำสั่งซื้อเลย หากไปตกลงซื้อในราคาแพง ก็มีแต่จะขาดทุนสถานเดียว

ครับ...จบข้อมูลอันเป็นรายงานสถานการณ์ "ซื้อแพง-ขายถูก" ของรัฐบาล คำแนะนำอันเป็นทางหนีตายที่ขอย้ำ คือ...มกราปุ๊บ ลาออกปั๊บ ไม่งั้น...ยับแน่!.



วันศุกร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

การเมืองประเทศจีนในปี 2013


จากการประชุมสมัชชาใหญ่เต็มคณะของพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 18 เสร็จสิ้นลงเมื่อวันพุธ (14 พ.ย.) ประเทศจีนก็ได้คณะกรรมการประจำกรมการเมืองหรือโปลิตบูโรของพรรคคอมมิวนิสต์จีนชุดใหม่ ซึ่งเป็นองค์กรทรงอิทธิพลอำนาจสูงสุดของประเทศจีนจำนวน 7 คน ประกอบด้วย


1. สี จิ้นผิง วัย 59 ปี รองประธานาธิบดี

2. หลี่ เค่อเฉียงวัย 57 ปี รองนายกรัฐมนตรี

3. จางเกาลี่ วัย 65 ปี เลขานุการพรรคฯ สาขาเทียนจิน,

4. หลิว อวิ๋นซานวัย 65 ปี ผู้นำฝ่ายโฆษณาการของพรรคฯ

5. จาง เต๋อเจียงวัย 65 ปี รองนายกรัฐมนตรีและเลขาธิการพรรคฯ แห่งฉงชิ่ง

6. อวี๋ เจิ้งเซิงวัย 67 ปี เลขานุการพรรคฯ สาขาเซี่ยงไฮ้ฯ

7. หวัง ฉีซานวัย 64 ปีรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ




บุคคลที่ต้องจับตาคือ นายสี จิ้นผิง ที่ได้เป็นเลขาธิการแห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งจะขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีด้วย และนายหลี่ เค่อเฉียง จะขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในเดือน มีนาคม 2556

"สี จิ้นผิง" ประธานาธิบดีจีนคนใหม่ จบการศึกษาด้านเคมีจากมหาวิทยาลัยซิงหวา รับใช้พรรคคอมมิวนิตส์ที่มณฑลเหอเป่ย์ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญในการผสมเทียมหมู

นายสี จิ้นผิง
 ดร.นพนันท์ อรุณวงศ์ ณ อยุธยา ผู้ชำนาญการด้านจีน เคยพูดถึงนายสี จิ้นผิงไว้ว่า

แพรวพราว-เอาจริง-ถึงลูกถึงคน และฉลาดหลักแหลม วาทะที่สะท้อนความคิดผู้นำอำนาจใหม่คนนี้ ที่ฮือฮากันอยู่ถึงทุกวันนี้ คือ

"ชาวต่างชาติบางคนที่กินดีอยู่ดีจนไม่มีอะไรทำ นอกจากการชี้นิ้ววิจารณ์เรื่องราวของจีน แต่ข้อแรกคือ จีนไม่เคยส่งออกการปฏิวัติ ข้อสอง จีนไม่เคยส่งออกความยากจนและความหิวโหย ข้อสาม จีนไม่เคยสร้างความเดือดร้อนให้ใคร คุณยังมีอะไรจะพูดอีกไหม?"

ส่วน "หลี่ เค่อเฉียง" ที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นชาวฮั่น จบการศึกษาปริญญาตรีสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์จากวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยปักกิ่ง ปริญญาโทและเอกเศรษฐศาสตร์

นายหลี่ เค่อเฉียง
 แตกต่างไปจากประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีคนก่อนๆ ที่ส่วนใหญ่เป็นวิศวกร ตัวอย่างเช่นอดีตประธานาธิบดี "เจียง เจ๋อหมิน" จบการศึกษาปริญญาตรีวิศวกรรมไฟฟ้าจากมหาวิทยาลัยเจียวตง ส่วน "หูจิ่นเทา" จบการศึกษาด้านเอกสถานีไฟฟ้าพลังน้ำ คณะวิศวกรรมชลประทาน จากมหาวิทยาลัยชิงหัว กรุงปักกิ่ง

ส่วนอดีตนายกรัฐมนตรี "จู หรงจี" จบคณะวิศวกรรมศาสตร์ เอกวิศวกรรมไฟฟ้า จากมหาวิทยาลัยชิงหัว และ "เวิน เจียเป่า" สำเร็จการศึกษาจากสถาบันธรณีวิทยาปักกิ่ง

การวิเคราห์จากแหล่งข่าวหลายแห่งระบุว่า

จากรายชื่อผู้นำจีนรุ่นใหม่ จะเป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยมเสียเป็นส่วนใหญ่ สะท้อนให้เห็น
ความพ่ายแพ้ของประธานาธิบดีหู จิ่นเทาวัย 70 คนปัจจุบัน เพราะผู้นำหัวปฏิรูปที่อยู่ภายใต้ร่มเงาของประธานาธิบดีหู จิ่นเทา 2 คน คือ นายหลี่ หยวนเฉา ผู้นำฝ่ายการจัดตั้งองค์กรกลาง วัย 62 ปี และนายวัง หยัง วัย 57 เลขาธิการพรรคฯ แห่งก่วงตง ถูกสลัดออกจากบัญชีรายชื่อ ส่วนผู้กุมชัยเห็นจะเป็นเจียง เจ๋อหมิน อดีตประธานาธิบดีคนก่อนที่ยังคงมีอิทธิพลสามารถดันคนของตนขึ้นสู่อำนาจระดับสูงได้เป็นทิวแถว

 การที่ลักษณะผู้นำรุ่นถัดไปเป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยมเสียเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ความหวังผลักดันการปฏิรูปการเมืองจีนริบหรี่ลง หลังจากที่ก่อนหน้านี้เรื่องอื้อฉาวทางการเมืองของนายปั๋ว ซีไหล อดีตเลขาธิการพรรคแห่งฉงชิ่ง ผู้มีนโยบายซ้ายจัดและมีแนวโน้มจะได้นั่งเก้าอี้ระดับสูงได้ร่วงลงจากอำนาจ สั่นสะท้านการเมืองในพรรคคอมมิวนิสต์จีนอย่างสาหัส

ศาสตราจารย์เคอร์รี่ บราวน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองจีนแห่งมหาวิทยาลัยซิดนีย์เผยว่า สามารถยืนยันได้ว่า หูนับวันยิ่งห่างไกลจากอำนาจเข้าไปทุกที หูไม่สามารถเอาชนะเจียงวัย 86 ปีได้

ศาสตราจารย์สตีฟ จัง ผู้บริหารสถาบันนโยบายจีนศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยน็อตติงแฮม เผยว่า ครั้งนี้ถือเป็นความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ของหู จิ่นเทา

เฉิน จื้อหมิง นักวิเคราะห์ในกรุงปักกิ่ง เผยว่า การเลื่อนขั้นของจาง เต๋อเจียง จาง

เกาลี่ และหลิว อวิ๋นซานซึ่งเป็นพวกอนุรักษ์นิยมทั้งหมดนั้น ทำให้เกมการเมืองจีนจบลงแบบไร้ความหมาย เนื่องจากใช้เรื่องอายุมาสกัดความสามารถผู้นำรุ่นใหม่ที่มีหัวก้าวหน้าเน้นปฏิรูป นั่นก็ชี้ชัดว่าผู้นำพรรคฯ ไม่ได้มีเจตคติต่อการปฏิรูปประชาธิปไตย


แบ่งเค้กการเมือง


นายจาง เต๋อเจียง
จาง เต๋อเจียง ผู้นั่งเก้าอี้เลขาธิการพรรคฉงชิ่งหลังจากปั๋ว ซีไหลถูกปลดเมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา จะได้ดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนประชาชนของนายอู๋ ปังกั๋วในเดือนมี.ค. นายจางเคยดำรงตำแหน่งผู้นำพรรคที่ก่วงตง และมีสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับเจียง จะได้อยู่ในลำดับสามรองสี จิ้นผิงและหลี่ เค่อเฉียง ซึ่งแตกต่างไปจากคณะบริหารชุดปัจจุบันที่ประธานสภามีความสำคัญอยู่ลำดับสอง ก่อนนายกรัฐมนตรี


นายอี๋ว์  เจิ้งเซิงกลุ่มการเมืองสายลูกท่านหลานเธอ ผู้ซึ่งบิดาเคยผ่านสมรภูมิการปฏิวัติมาก่อน ด้วยสายสัมพันธ์ที่มั่นคงและความสามารถในการรับมือกลุ่มต่าง ๆ ในพรรคคอมมิวนิสต์ได้อย่างเก่งกาจสามารถ จะได้นั่งเก้าอี้ประธานสภาที่ปรึกษาการเมืองประชาชนจีนหรือ CPPCC อันเป็นองค์กรที่ปรึกษาทางการเมืองระดับสูงของจีน ตำแหน่งนี้ใหญ่เป็นอันดับสี่

นายอี๋ว์  เจิ้งเซิง



นายหลิว อวิ๋นซาน

นายหลิว อวิ๋นซาน ผู้มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับนายหลี่ ฉังชุน ซึ่งก็เป็นมุ้งการเมืองสายเจียง เจ๋อหมินอีกคน จะได้นั่งตำแหน่งฝ่ายโฆษณาการกลางแห่งพรรคคอมมิวนิสต์ และอาจจะได้โยกขึ้นไปกินตำแหน่งรองประธานาธิบดีและประธานกิจการพรรคคอมมิวนิสต์ ในฐานะเลขาธิการผู้มีอำนาจสูงดูแลคณะกรรมาธิการกลางฯ จำนวนสมาชิก 370 คน

นายจาง เกาลี่ อดีตเลขาธิการพรรคแห่งเซินเจิ้นฯ มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเจียง จะได้เป็นรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายบริหารดูแลด้านกิจการเศรษฐกิจ

นายจาง เกาลี่
 สำหรับตำแหน่งของหวัง ฉีซานน่าจะเป็นประธานคณะกรรมาธิการกลางด้านการตรวจสอบวินัยแห่งพรรคฯ ซึ่งเป็นองค์กรต่อต้านทุจริตระดับสูง ทำให้เขาได้อยู่ในลำดับที่ 7 แห่งตำแหน่งโปลิตบูโร

 
นายหวัง ฉีซาน

"อย่างน้อยหวังก็มีอำนาจที่แท้จริง มากกว่ามีแต่บทบาท และเขาสามารถทำอะไรได้ อาทิเช่น ขจัดเจ้าหน้าที่คอร์รัปชั่นอย่างปั๋วออกไปได้" เฉินกล่าว




ส่วนนายหลี่ หยวนเฉา เจ้าหน้าที่ระดับสูงของพรรค ซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกลุ่มสันนิบาตเยาวชนและกลุ่มการเมืองของหู จิ่นเทา แม้ไม่ได้ดำรงตำแหน่งสำคัญ ยังคงมีโอกาสดีที่จะได้ขึ้นสู่ตำแหน่งสูงในการโยกย้ายครั้งหน้า เมื่อบรรดาคณะกรรมการชุดนี้ถึงอายุเกษียณ

บทส่งท้าย

อย่างไรก็ตาม จากการเยือนไทยของนายเวิน เจียเป่า นายกรัฐมนตรีของจีน เมื่อวันที่ 20-21 พฤศจิกายน 2555 ที่มาปฏิบัติภารกิจสุดท้ายก่อนอำลาตำแหน่ง "นายกรัฐมนตรีจีน" ที่ครบเทอม ๑๐ ปี ซึ่งนายเปลว สีเงิน ได้ตั้งข้อสังเกตุไว้ว่า “ถือเป็นเรื่องไม่ปกติ เพราะสำหรับจีน เมื่อประเทศเปลี่ยนรุ่นผู้นำ "ผู้นำเก่า" จะเก็บบทบาท หลีกทางให้ผู้นำ "อำนาจใหม่" นำพาต่อ แต่ครั้งนี้นายเวินเจียเป่ายังปฏิบัติหน้าที่ในฐานะ "นายกฯ จีน" ให้ปรากฏ การเจรจาตกลงใดๆ กับไทยของนายเวิน เจียเป่า ก็เท่ากับการเจรจาตกลงกับนายสี จิ้นผิง และนายหลี่ เค่อเฉียง เป็นภาระผูกพันไปถึงรัฐบาลใหม่-อำนาจใหม่ระหว่างไทยกับจีน ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่า"กลุ่มผู้นำอำนาจใหม่" ของจีน คือนาย สีจิ้นผิง ประธานาธิบดี และนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรี กับ "กลุ่มอำนาจเก่า" คือนายหู จิ่นเทา และนายเวิน เจียเป่า ที่เพิ่งหมดวาระอำนาจไม่ได้แตก "แยกขั้ว" กันไปทางไหน!

 ถึงแม้โลกภายนอกวิพากษ์ผ่านวิเคราะห์จาก 7 รายชื่อ "โปลิตบูโรใหม่" ว่าการไม่มีทั้งนายหู จิ่นเทา ทั้งนายเวิน เจียเป่า ติดอยู่ใน ๗ อำนาจสูงสุดของพรรคคอมมิวนิสต์ นั่นหมายถึง "การเมืองล้างขั้ว" ซึ่งเมื่อก่อนอาจใช่ แต่ตอนนี้ ไม่ใช่การเปลี่ยนขั้ว-เปลี่ยนฝ่าย หากแต่เป็นการ "ถ่ายโอนอำนาจ" ด้วยผนึกเป็น "ฝ่ายเดียวกัน"!








วันพฤหัสบดีที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ประธานาธิบดีหู จิ่นเทา


นายหู จิ่นเทา

การประชุมสมัชชาใหญ่เต็มคณะของพรรคคอมมิวนิสต์จีน เสร็จสิ้นลงเมื่อวันพุธ (14 พ.ย.) ทำให้จีนได้คณะกรรมการประจำกรมการเมืองหรือโปลิตบูโรของพรรคฯ ชุดใหม่ ขณะเดียวกันประธานาธิบดีหู จิ่นเทา วัย 70 ปี ได้ประกาศลงจากตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการทหารของพรรคฯ ด้วย โดยให้สี จิ้นผิง มาดำรงตำแหน่งแทน


การตัดสินจลงจากเก้าอี้ในกองทัพ หรือเกษียณอย่างถาวรของหู จิ่นเทา ทำให้บรรดานักวิเคราะห์ทั้งหลายแปลกใจ และถือว่าได้ทำลายธรรมเนียมเดิมที่อดีตประธานาธิบดีเจียง เจ๋อหมิน ทำไว้เมื่อสิบปีที่แล้วไปสิ้นเชิง

ในปี 2545 ผู้นำเจียง เจ๋อหมิน เลือกที่จะยังคงตำแหน่งสูงสุดในกองทัพต่ออีกสองปีกว่า หลังจากครองอำนาจผู้นำสูดสุดของพรรคคอมมิวนิสต์มาเป็นเวลา 13 ปี ในครั้งนั้นหู จิ่นเทาแม้ขึ้นสู่ตำแหน่งนายใหญ่พรรคฯ แล้ว ก็ยังต้องคอยไปจนถึงเดือนก.ย. ปี 2547 กว่าจะได้ขึ้นกุมบังเหียนกองทัพ

อย่างไรก็ดี การตัดสินใจของหูเป็นการตัดสินใจที่ตระหนักถึงผลประโยชน์ระดับบนเป็นสำคัญ

แหล่งข่าวเผยว่า หูผู้รักษาภาพลักษณ์ต้องการเลี่ยงปัญหาการเผชิญหน้า เขาต้องการจากไปอย่างทรงเกียรติ หูอาจทราบดีว่า หากยังนั่งเก้าอี้คุมการทหารฯ ต่อไป ย่อมได้ไม่คุ้มเสีย เพราะในอดีต การดำรงตำแหน่งยืดเยื้อของเจียงก่อให้เกิดการถ่ายโอนอำนาจที่ย่ำแย่ และเกิดธรรมเนียมไม่ดีแก่ผู้นำระดับสูง แม้แต่ผู้นำรุ่นเก่าก็ไม่เห็นดีด้วย ไม่ต้องการให้สิ่งเหล่านี้กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในพรรคฯ

ก่อนหน้ามีข่าวลือว่า หูจะสืบมรดกปฏิบัติตามสิ่งที่เจียงทำไว้ก่อนหน้า บางคนถึงกับกล่าวว่าหูจะนั่งเก้าอี้ในกองทัพนานถึงห้าปี ไปจนการประชุมพรรคฯ ครั้งหน้า หลายคนก่อนหน้านี้เคยเชื่อว่า เหตุผลที่หูจะนั่งเก้าอี้คุมกองทัพต่อนั้น เนื่องมาจากหูล้มเหลวที่จะรักษาฐานเสียงจากพันธมิตรในการต่อสู้กับผู้นำระดับสูงในการกำหนดนโยบายในประเทศในอีกสิบปีข้างหน้า

"ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม หูได้เลือกที่จะลงจากอำนาจ ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญที่จะเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในการถ่ายโอนอำนาจใหม่ในพรรคคอมมิวนิสต์จีน" เฉิน เจ๋อหมิง นักสังเกตการณ์ทางการเมืองในกรุงปักกิ่งเผย

แม้ว่าในสมัยเติ้ง เสี่ยวผิงช่วงทศวรรษ 1980 จะมีการวางระบบสถาบันการเปลี่ยนถ่ายอำนาจไว้แล้ว ทว่าในปัจจุบันระบบการเมืองผู้นำจีนมีความวุ่นวายสูง ขาดความโปร่งใส ตรวจสอบไม่ได้ และไร้สมดุล เฉินกล่าว

"ครั้งนี้อาจจะนิยามได้ว่า หูเป็นคนกล้าหาญที่สุดที่ผลักดันการปฏิรูปการเมือง"

นอกจากเป็นการรักษาชื่อเสียงในประวัติศาสตร์แล้ว การกระทำของหู ยังช่วยลดภาพลักษณ์อื้อฉาวในพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งได้กร่อนกินเกียรติภูมิแห่งพรรคในช่วงวิกฤติการเมืองทศวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะเรื่องของการร่วงลงจากอำนาจของนายปั๋ว ซีไหล อดีตเลขาธิการพรรคแห่งฉงชิ่ง ที่ต้องคดีอื้อฉาวคอร์รัปชั่น โดยภริยาของเขาคือนาง กู่ ไคไหล จับนักธุรกิจอังกฤษกรอกยาพิษจนถึงแก่ความตายเมื่อต้นปีที่ผ่านมา

จัง ลี่ฝาน นักประวัติศาสตร์ในกรุงปักกิ่ง เชื่อว่า การตัดสินใจเกษียณถาวรของหู จิ่นเทา อาจมาจากเหตุผลส่วนตัว อาทิ หูสูญเสียจิตวิญญาณการต่อสู้ หรือเพียงเพราะหูพ่ายแพ้ให้แก่ผู้นำเจียง เจ๋อหมิน ในการเลือกผู้นำระดับสูงขึ้นสืบต่ออำนาจ หรือเป็นผู้นำที่ไม่เคยแสดงตนทะเยอทะยาน ไม่สร้างภาพสนับสนุนตนเองอย่างครึกโครม หรือหูอาจจะหมดแรงหลังจากอยู่ในอำนาจมาสิบปี

"หูเบื่อกับเล่ห์เพทุบายทางการเมืองที่ไม่รู้จักจบ ตลอดจนการดิ้นรนชิงอำนาจ เขาเพียงต้องการลงจากอำนาจอย่างสงบ"จังกล่าว

อย่างไรก็ตาม สื่อฮ่องกง หมิงเป้า ชี้ว่า ขณะที่กลุ่มนักวิชาการภายในประเทศจีนต้อนรับการตัดสินใจของหู จิ่นเทา โดยเห็นว่าเป็นการสนับสนุนการนำของสี จิ้นผิง แต่อีกกลุ่มก็ว่า หากหู จิ่นเทาต้องการมีส่วนร่วมในการตัดสินนโยบายของกลุ่มผู้นำรุ่นใหม่ ก็สามารถทำได้หลายวิธีการ ผู้อาวุโสแห่งเวทีการเมืองจีนยังไม่ไปไหนเสียง่ายๆหรอก

ปั๋ว ซีไหล

สำนักข่าวซินหวา อ้างการตัดสินของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน รายงานเมื่อวานนี้ (10 เม.ย.) ว่า สืบเนื่องจากนายปั๋ว ซีไหล เป็นผู้ต้องสงสัยพัวพันกับการละเมิดวินัยอย่างร้ายแรง จึงได้ปลดออกจากสมาชิกภาพในคณะกรรมการกรมการเมือง (หรือโปลิตบิวโร) แห่งคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน รวมทั้งปลดจากสมาชิกภาพในคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน โดยมอบหมายให้คณะกรรมการตรวจสอบวินัยของพรรคฯ ดำเนินไต่สวนกรณีละเมิดฯ ของนายปั๋ว ซีไหล ในชั้นต่อไป


ทำให้ผู้นำดาวรุ่ง นายปั๋ว ซีไหล กลายเป็นดาวร่วงในชั่วข้ามเดือน เส้นทางสู่จุดสูงสุดบนเวทีการเมืองของเขาถูกปิดสนิทแล้ว หนำซ้ำภรรยาของเขา คือ นางกู่ ไคไหลยังถูกระบุเป็นผู้ต้องสงสัยสังหารนักธุรกิจชาวอังกฤษเมื่อปลายปีที่แล้ว

ก่อนหน้านี้วงการต่างคาดว่านายปั๋ว ซีไหล จะก้าวสู่คณะกรรมการประจำกรมการเมืองฯ ในการประชุมพรรคฯปลายปีนี้ ซึ่งเป็นปีผลัดเปลี่ยนรุ่นผู้นำจีน


นายปั๋ว ซีไหล

อนาคตของปั๋วถูกตัดรอน เมื่อเกิดเรื่องอื้อฉาว นายหวัง ลี่จวิน รองนายกเทศมนตรีนครฉงชิ่ง และผู้บัญชาการหน่วยพิทักษ์สันติราษฎร์ ผู้เป็นมือขวาในการปราบปรามกลุ่มมาเฟียของปั๋ว ได้หลบหนีไปขอลี้ภัยการเมืองที่สถานกงสุลอเมริกาในนครเฉิงตู มณฑลเสฉวน เมื่อวันที่ 6 ก.พ.ที่ผ่านมา สืบเนื่องจากเหตุขัดแย้งกับปั๋ว และกำลังถูกนายปั๋วตามล่าตัว

รายงานข่าวทั่วไประบุว่าระหว่างที่หวัง ลี่จวิน อยู่ในกงสุลอเมริกา ได้แฉเรื่องเลวร้ายของนายปั๋ว และสาเหตุหลักของความขัดแย้งก็คือ การเสียชีวิตของนักธุรกิจชาวอังกฤษ นายนีล เฮย์วู้ด (Neil Heywood) ซึ่งสนิทสนมกับครอบครัวนายปั๋ว ซีไหล



ต่อมาในกลางเดือนมีนาคม ผู้นำจีนก็ได้ปลดนายปั๋ว ซีไหล ออกจากตำแหน่งเลขาธิการพรรคฯ ประจำฉงชิ่ง และตำแหน่งบริหารต่างๆ ในนครฉงชิ่ง

หลังจากนั้น กระแสลือเกี่ยวกับการเสียชีวิตของนายเฮย์วู้ดก็ดังขึ้นๆ ชี้ว่า หวัง ลี่จวิน เป็นผู้บอกกับนายปั๋วว่า นายเฮย์วู้ด เสียชีวิตจากยาพิษ ทำให้นายปั๋วโกรธมาก อันเป็นเหตุหลักที่ทั้งสองแตกคอกัน จนเมื่อเดือนที่แล้วสำนักงานกิจการต่างประเทศอังกฤษร้องขอให้จีนไต่สวนคดีการเสียชีวิตของนายเฮย์วู้ดใหม่

ทางการระบุภรรยาของนายปั๋วเป็นผู้ต้องสงสัยฆาตกรรมอำพราง

นางกู่ ไคไหล ภรรยานายปั๋ว ซีไหล

การตัดสินของคณะกรรมการกลางพรรคฯ เมื่อวานนี้ ยังได้ระบุ นางกู่ ไคไหล ภรรยาของนายปั๋ว ซีไหล เป็นผู้ต้องสงสัยฆาตกรรมนักธุรกิจชาวอังกฤษ นายนีล เฮย์วู้ด


ซินหวา รายงานว่า ผู้นำพรรคฯ ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการไต่สวนกรณีเสียชีวิตของนายนีล เฮย์วู้ด ใหม่ ทั้งนี้ นายเฮย์วู้ด เสียชีวิตในโรงแรมในนครฉงชิ่งเมื่อเดือย พ.ย.ปีที่แล้ว ขณะนั้น ปั๋ว ซีไหล กินตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์สาขาฉงชิ่ง เจ้าหน้าที่ตำรวจฉงชิ่งระบุสาเหตุการเสียชีวิตของนายเฮย์วู้ด เนื่องจากดื่มเหล้ามากเกินไป ทั้งๆ ที่จริงนายเฮย์วู้ดไม่ใช่คนดื่มเหล้าจัด ศพของนายเฮย์วู้ดถูกฌาปนกิจอย่างเร่งด่วน โดยไม่มีการชันสูตรศพ

“จากการไต่สวนอีกครั้ง เจ้าหน้าที่พบหลักฐานนายเฮย์วู้ด เสียชีวิตเนื่องจากยาพิษ โดยผู้ต้องสงสัยวางยาคือ ภรรยาของนายปั๋ว คือนางกู่ ไคไหล และพ่อบ้านของครอบครัวปั๋ว คือ นายจัง เสี่ยวจวิน ด้วยเหตุขัดแย้งผลประโยชน์ทางธุรกิจระหว่างนางกู่และนายเฮย์วู้ด”

ทั้งนี้ นายเฮย์วู้ดเป็นที่ปรึกษาการลงทุนอิสระ แนะนำบริษัทตะวันตกเข้ามาทำธุรกิจในจีน โดยช่วยเหลือจัดการประชุมพูดคุยและคลี่คลายปัญหาธุรกิจโดยอาศัยสายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับครอบครัวของนายปั๋ว ซีไหล โดยนางกู่ ไคไหล เป็นผู้แนะนำนายเฮย์วู้ดมารู้จักกับครอบครัวปั๋ว สำหรับนางกู่เป็นชาวต้าเหลียน เมืองที่ปั๋ว ซีไหล เคยเป็นนายกเทศมนตรีระหว่างปี 2536-2544


ลูกชายนายปํ่ว ซีไหล ปั๋ว กวากวา

นอกจากนี้ นายเฮย์วู้ดยังได้ชื่อว่าเป็น “พี่เลี้ยง” ของนายปั๋ว กวากวา บุตรชายนายปั๋ว ซีไหล ขณะที่ นายปั๋ว กวากวา เรียนอยู่ที่ประเทศอังกฤษ ที่โรงเรียนฮาโรว์ (Harrow) จนกระทั่งศึกษาที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด

วันพุธที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

สุนทรพจน์ของหัวหน้าอินเดียนแดงซีอาเติล


เนื่องในโอกาสที่โคลัมบัสค้นพบทวีปอเมริกาครบ 500 ปี  สุนทรพจน์ของหัวหน้าอินเดียนแดงซีอาเติล จึงถูกนำมาเผยแพร่ในวารสารสารคดี ฉ.๘๔ ปี ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๕, น. ๔๗ ๔๘. เป็นสุนทรพจน์เกี่ยวกับการที่คนขาวขอซื้อดินแดนของอินเดียนแดงในปี ค.ศ. ๑๘๕๔ ซึ่งได้รับยกย่องในเชิงวรรณกรรมว่า ก่อให้เกิดความสะเทือนใจอย่างสูงแก่ผู้อ่าน และมีเนื้อหาลึกซึ้งเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ

" หัวหน้าใหญ่แห่งวอชิงตันให้คนมาบอกว่าต้องการซื้อแผ่นดินของเรา เราจะซื้อหรือขายท้องฟ้า และความอบอุ่นแห่งผืนดินนี้ได้อย่างไร
ความคิดเช่นนี้เป็นเรื่องแปลกสำหรับเรา
หากว่าเรามิได้เป็นเจ้าของความบริสุทธิ์ของอากาศและประกายแห่งสายน้ำ
เราจะซื้อมันได้อย่างไรกัน
ทุก ๆ ส่วนบนพื้นธรณีนี้ ล้วนมีค่าประหนึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำหรับคนของเรา
ใบสนทุกใบ หาดทรายทุกหาด สายหมอกทุก ๆ สายในป่าใหญ่
ทุ่งกว้าง และหมู่แมลง มีความหมายดุจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในความทรงจำ และประสบการณ์ของเรา
สายธารแห่งชีวิตที่ซึมซ่านอยู่ในต้นไม้เหล่านั้นเล่า คือ สิ่งที่ส่งทอดความทรงจำของเราชาวผิวแดง
คนขาวที่ลาล่วงลับไป แล้วลืมเลือนถิ่นเกิดเมื่อเขาเดินอยู่ท่ามกลางหมู่ดาว
บรรพบุรุษของเราไม่เคยลืมดินแดนที่งดงามแห่งนี้ เพราะนี่คือแม่ธรณีของพวกเราชาวผิวแดง
เราเป็นส่วนหนึ่งของผืนดิน และผืนดินก็เป็นส่วนหนึ่งของเราด้วย
ดอกไม้อันหอมหวาน คือ พี่สาวน้องสาวของเรา
กวาง ม้า และนกอินทรีย์ที่ยิ่งใหญ่นั้นเล่า คือ พี่ชายน้องชายของเรา
ผาสูง ชายฝั่ง สายธารในทุ่งกว้าง ไออุ่นจากลูกม้าและคน ต่างคือญาติของครอบครัว
เมื่อหัวหน้าใหญ่แห่งวอชิงตันให้คนมาบอกว่า ต้องการซื้อแผ่นดินของเรา
เขาเรียกร้องเกินกำลังเรานัก
เรารู้ว่าคนขาวไม่เข้าใจวิถีชีวิตของเรา
สำหรับพวกเขา ผืนดินแห่งนี้ไม่มีความแตกต่างอะไรกับที่ดินแปลงหนึ่ง
พวกเขาคือคนแปลกหน้าที่มาพร้อมกับความมืด และหยิบฉวยสิ่งที่ต้องการไปจากผืนแผ่นดิน
ผืนแผ่นดินมิใช่พี่น้องเขา แต่เป็นศัตรูของเขา
เมื่อพวกเขาพิชิตได้แล้ว ก็บุกต่อไป
พวกเขาทิ้งหลุมฝังศพของบรรพบุรุษไว้ข้างหลังอย่างไม่ใยดี
สุสานของบรรพบุรุษ และสิทธิของการถือกำเนิดของลูกหลานถูกลืมเลือน
พวกเขาถือว่าแม่ธรณี-ผืนแผ่นดินแห่งนี้ และพี่ชายของเขา-ท้องฟ้าสีครามอันกว้างใหญ่
คือสิ่งที่หาซื้อได้ ตักตวงเอาผลประโยชน์และขายได้ราวฝูงแกะ หรือลูกประคำสีสวย
ความโลภโมโทสันของพวกเขาจะทำลายผืนแผ่นดินแห่งนี้ และเหลือไว้แต่ทะเลทราย
ไม่มีมุมที่สงบเงียบในเมืองของคนขาว
ไม่มีที่ใดเลยสำหรับฟังเสียงคลี่ใบของต้นไม้ในฤดูใบไม้ผลิ หรือเสียงกรีดปีกของแมลง
อาจเป็นเพราะว่า ข้าฯเป็นคนเถื่อน และข้าฯไม่เข้าใจ
สำหรับคนขาว เสียงธรรมชาติเหล่านี้ฟังรกหู แล้วชีวิตจะเหลืออะไรกันเล่า 
ถ้าเราไม่อาจได้ยินเสียงร้องครวญของนกวิปเปอร์วิลล์ในตอนกลางคืน หรือการทุ่มเถียงกันของกบในบึง
ข้าฯเป็นคนผิวแดง และข้าฯไม่เข้าใจ
ชนเผ่าเราชอบฟังเสียงนุ่ม ๆ ของลมที่พัดผ่านผิวน้ำในบึง
และสูดดมกลิ่นของสายลม เราชอบเสียงฝน และกลิ่นหอมของป่าสน
อากาศมีค่ายิ่งนักสำหรับชนเผ่าของเราสิ่งมีชีวิตทุกชีวิต มีลมหายใจเดียวกันสัตว์ ต้นไม้ คน 
ล้วนมีลมปราณเดียวกัน คนขาวดูเหมือนจะไม่รู้สึกถึงอากาศที่เขาหายใจ
เปรียบดังคนที่กำลังสิ้นลมย่อมไม่ได้กลิ่นเหม็นเน่า หากเราขายผืนแผ่นดินนี้แก่ท่าน 
จงจำไว้ว่าอากาศเป็นสิ่งมีค่าของเรา  อากาศคือจิตวิญญาณของสิ่งมีชีวิตทุก ๆ ชีวิต
สายลมแรกที่ทำให้ชีวิตแก่บรรพบุรุษของเรา
เป็นสายลมเดียวกับลมหายใจสุดท้ายก่อนที่บรรพบุรุษเราจะจากไป
และสายลมก็ได้ให้ชีวิตแก่ลูกหลานของเรา ถ้าเราขายผืนแผ่นดินนี้แก่ท่าน ท่านต้องบำรุงรักษา 
และทะนุถนอมให้คงความศักดิ์สิทธิ์ เพื่อที่ว่าคนขาวก็อาจไปสัมผัสสายลม 
และกลิ่นอันหอมหวานของลมที่พัดผ่านทุ่งดอกไม้
ท่านต้องสอนลูกหลานของท่านให้เข้าใจว่าพื้นดินที่ท่านยืนอยู่นี้ คือเถ้าถ่านแห่งบรรพบุรุษเรา
พวกเขาจะได้เคารพแผ่นดิน  บอกลูกหลานของท่านว่าธรณีผืนนี้อุดมไปด้วยเครือญาติแห่งเรา
สอนลูกหลานของท่านอย่างที่เราสอนลูกหลานของเรา บอกพวกเขาว่าแผ่นดินคือ แม่ธรณี
แม้นเกิดสิ่งใดขึ้นกับผืนแผ่นดิน สิ่งนั้นย่อมจะเกิดกับลูกหลานของแผ่นดินด้วย 
ถ้ามนุษย์ถ่มน้ำลายรดแม่ธรณี มนุษย์ก็กำลังถ่มน้ำลายรดหน้าตัวเอง
เรารู้ว่า ผืนแผ่นดินมิใช่ของมนุษย์ มนุษย์ต่างหากเป็นส่วนหนึ่งของแผ่นดิน
เรารู้ว่า สรรพสิ่งล้วนเกี่ยวพันกัน ประหนึ่งสายโลหิตที่เชื่อมครอบครัวเดียวกัน
เมื่อเกิดอะไรขึ้นกับแผ่นดิน สิ่งนั้นย่อมมีผลต่อลูกหลานของแผ่นดินเช่นกัน
มนุษย์มิใช่ผู้ถักทอสายใยแห่งชีวิต มนุษย์เป็นเพียงส่วนหนึ่งของสายใยแห่งชีวิต
เมื่อเรากระทำสิ่งใดต่อสายใยแห่งชีวิต เขากำลังกระทำสิ่งนั้นต่อตนเอง
เพียงอีกไม่กี่ชั่วโมง อีกไม่กี่ฤดูกาล ลูกหลานของชนเผ่าที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งเคยมีชีวิตอยู่บนแผ่นดินแห่งนี้ 
และที่เหลือเพียงกลุ่มเล็ก ๆ ในป่าไม้ไม่กี่แห่ง ก็จะไม่หลงเหลืออยู่เลย 
จะไม่มีใครอยู่ข้างหลัง เพื่อไว้ทุกข์ให้แก่ชนเผ่าที่ครั้งหนึ่งเคยยิ่งใหญ่ และเต็มไปด้วยความใฝ่ฝัน 
เช่นเดียวกับที่ชนเผ่าของท่านเป็นอยู่ แต่ข้าฯ จะเศร้าโศกไปใย กับการล่มสลายของชนเผ่าเรา
เผ่าหนึ่ง ๆ คือ ผู้คน ไม่มีอะไรยิ่งไปกว่านั้น  มนุษย์เกิดมาแล้วก็จากไป เฉกเดียวกับคลื่นในท้องทะเล
เช่นนี้แล้ว เราจะพิจารณาข้อเสนอของท่าน และไปยังเขตสงวน 
ณ ที่นั้น เราอาจจะมีชีวิตที่เราปรารถนา เท่าที่วันเวลาของเรายังเหลืออยู่
เมื่อคนผิวแดงคนสุดท้ายจากโลกนี้ไปแล้ว และความทรงจำของเขาเป็นเพียงเงาของปุยเมฆ
ที่เคลื่อนผ่านทุ่งแพร์รี่ฝั่งทะเล และราวป่าที่นี่จะยังคงรักษาจิตวิญญาณของชนเผ่าเรา
พวกเรารักพื้นแผ่นดินแห่งนี้ เหมือนดังทารกน้อยรักเสียงหัวใจเต้นของแม่
หากเราขายผืนดินนี้แก่ท่าน รักแม่ธรณีให้เหมือนกับที่เรารัก
ทะนุถนอมผืนดินนี้ ดังที่เราเคยทะนุถนอม
พิทักษ์ความทรงจำของแผ่นดินนี้ไว้ เช่นเดียวกับที่เราได้พิทักษ์
และด้วยพลังทั้งหมดของท่าน สติปัญญาทั้งหมดของท่าน ชีวิตจิตใจทั้งหมดของท่าน
จงรักษาผืนแผ่นดินนี้ไว้ให้ลูกหลานของท่าน 
และรักผืนแผ่นดินนี้ ดุจความรักของพระเจ้าที่ให้แก่เราทุกคน
เรารู้ว่าพระเจ้าของเรา คือ พระเจ้าองค์เดียวกัน 
ผืนแผ่นดินนี้มีค่ายิ่งนักในสายตาของพระองค์
แม้คนขาวก็ไม่ได้รับการยกเว้นจากชะตากรรมเดียวกันนี้
ที่สุดแล้ว เราก็อาจเป็นพี่น้องกัน ใครเลยจะรู้ "

แปลโดย อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์
ปัจจุบัน เอกสารนี้เป็นเอกสารประวัติศาสตร์ ที่ถูกเก็บรักษาไว้ที่วอชิงตัน

วันอังคารที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ปมอดีต



ซิลวา, แดเนียล.  ปมอดีต = A death in Viennaไพบูลย์ สุทธิ, แปล.  กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์ไครม์แอนด์มิสทรี, 2551.   328 หน้า.   ราคา 245 บาท.
 
     กรุงเวียนนาเป็นเมืองที่เกเบรียล อัลลอน ไม่อยากไปที่สุดเพราะมีความหลังที่ปวดร้าวกับมหานครแห่งนี้ (อ่านสาเหตุได้จากเรื่อง ล้างหนี้เลือด) แต่เมื่อเกิดเหตุระเบิดสำนักงานสอบสวนและเรียกร้องสิทธิ์ในยามสงครามในกรุงเวียนนา และอีไล ลาวอน เพื่อนรักผู้ดูแลสำนักงานดังกล่าวบาดเจ็บสาหัส เกเบรียล อัลลอน จึงถูกส่งตัวไปกรุงเวียนนาเพื่อสืบว่าใครเป็นผู้อยู่เบื้องหลังระเบิด
     ตัวการสำคัญของเรื่องคือทหารชาวออสเตรียชื่อ เอริช ราเดค เข้าในกองทัพนาซี ในตอนท้าย ๆ ของสงครามถูกสั่งให้เข้าไปทำลายศพชาวยิวนับล้านที่ฝังอยู่ในค่ายกักกัน เคยพบกับแม่ของเกเบรียลด้วยและเมื่อสงครามสิ้นสุดลง ได้หนีรอดออกมา โดยได้รับความช่วยเหลือจากบาทหลวงบางคน และเมื่อเวลาผ่านไป กลับเป็นว่าไปทำงานเป็นสายลับให้กับสหรัฐอเมริกา เพื่อต่อสู้กับรัสเซีย เหตุนี้เองทำให้สหรัฐต้องช่วยปกปิดตัวตนที่แท้จริงของราเดคด้วย แต่เมื่อสืบไปก็พบว่า ราเดคสั่งให้นักฆ่าคนหนึ่งที่ทำงานเป็นช่างซ่อมนาฬิกา ฆ่าทุกคนที่รู้ความจริงว่าเขาคือใคร เหตุที่ราเดคต้องสั่งฆ่าทุกคนเพราะลูกชายของเขากำลังหาเสียงเพื่อเป็นนายกรัฐมนตรีออสเตรีย แต่ในที่สุดเกเบรียลก็จับกุมตัวราเดคได้และนำไปขังไว้อย่างเงียบ ๆ ที่อิสราเอล เพื่อไม่ให้กระทบความสัมพันธ์ระหว่างหลายประเทศ
    ในตอนท้ายเรื่องช่างซ่อมนาฬิกา ที่ระเบิดสำนักงานของอีไล ลาวอน ก็ได้รับผลตอนแทนที่สาสม เป็นแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน สะใจคนอ่านในแบบฉบับเกเบรียล อัลลอน
    ในเรื่องนี้จะนำผู้อ่านกลับไปสู่ประวัติครอบครัวของเกเบรียล ซึ่งย้อนหลังไปถึงสงครามโลกครั้งที่ 2 จะเห็นภาพการข่มเหงชาวยิว และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยิวของกองทัพนาซี และได้ทราบถึงวิธีการทำลายศพนับล้าน ๆ ของกองทัพนาซีขณะกำลังจะแพ้ การอ่านตอนนี้ผู้อ่านจะรู้สึกเศร้าเสียใจที่เห็นว่ากองทัพนาซีปฏิบัติต่อชาวยิวอย่างป่าเถื่อน เลวทราม สามารถฆ่าทำลายล้างชาวยิวได้อย่างง่าย ๆ โดยไม่รู้สึกเสียใจแม้แต่น้อย  อ่านเรื่องเหล่านี้เมื่อไรก็ต้องเสียน้ำตาให้ทุกครั้ง

ทวงแค้น


ซิลวา, แดเนียล. ทวงแค้น =  Prince of fire.  ไพบูลย์ สุทธิ, แปล.  กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์ไครม์แอนด์มิสทรี, 2551.  312 หน้า.   ราคา  235  บาท 
เมื่อเหตุการณ์ระเบิดสถานทูตอิสราเอลในโรม และจากการสืบสวนขององค์กร ทำให้รู้ว่าใครคนหนึ่งกำลังส่งข้อความว่าเหตุการณ์ร้ายแรงยังมีต่อ และน่าจะเป็นเรื่องส่วนตัวระหว่างเขากับเกเบรียล อัลลอน เกเบรียลจึงถูกเรียกตัวกลับมาทำงานเป็นหัวหน้าหน่วยปฏิบัติการในครั้งนี้
จากการสืบสวนก็สามารถเชื่อมโยงว่าเป็นการแก้แค้นที่สามารถสืบเนื่องไปถึงเหตุการณ์ตั้งแต่อิสราเอลตั้งประเทศใหม่ ๆ และมีการต่อต้านจากชาวปาเลสไตน์ โดยมีอะซัด อัล-คอลีฟะเป็นผู้นำ แต่แล้ว อารี  แชมรอน ก็ถูกสังให้ไปฆ่าอะซัด จนเหตุการณ์ที่ท้าทายอิสราเอลก็ยุติลง แต่เมื่อลูกชายของอะซัดที่ชื่อซอบรี อัล-คอลีฟะโตก็เข้าเป็นพวกของยัสเซอร์ อาราฟัต จัดตั้งกลุ่มก่อการร้ายขึ้น และก่อเหตุร้ายต่าง ๆ จนกระทั่งบุกเข้าไปในหมู่บ้านนักกีฬาโอลิมปิคที่มิวนิค และฆ่านักกีฬาอิสราเอลตาย 11 คน จนผู้คนเรียกว่ากลุ่มกันยาทมิฬ  ซึ่งเหตุการณ์นั้นทำให้อิสราเอลต้องตั้งกลุ่มปฏิบัติการพระเจ้าพิโรธขึ้นโดยมีเกเบรียลเป็นหัวหน้าหน่วย เพื่อตามล่ากลุ่มกันยาทมิฬ แต่ในที่สุดเกเบรียลก็สามารถฆ่าหัวหน้ากลุ่มได้ที่ปารีส ขณะเดียวกันลูกชายของหัวหน้ากันยาทมิฬก็ถูกอาราฟัตเอาไปเลี้ยง โดยไม่ให้ใครรู้จักชื่อและหน้าตา
เมื่อเกเบรียลกำลังตามล่าลูกชายของซอบรีอยู่ ก็ถูกซ้อนแผนกลายเป็นผู้ถูกล่าเสียเอง โดยตัวการจับลีอาห์ภรรยาเกเบรียลมาล่อให้เกเบรียลเข้าไปติดกับที่สถานีรถไฟฟ้าที่ปารีส ซึ่งจัดเตรียมผู้พกระเบิดพลีชีพไว้ 3 คนแล้ว สุดท้ายเกเบรียลจัดการกับผู้พกระเบิดได้ 2 คน ระเบิดจึงระเบิดเพียงลูกเดียว ทำให้ผู้คนตายไม่มาก และช่วยลีอาห์ไว้ได้  
ในตอนท้ายของเรื่อง เกเบรียลก็ตามล่าคอลีด อัล-คอลีฟะพบ คอลีดมีอีกชื่อหนึ่งว่าปอล มาร์ตีโนที่อาราฟัตนำไปให้เศรษฐีชาวปาเลสไตน์ในฝรั่งเศสเป็นผู้เลี้ยงดู ได้รับการศึกษาเป็นอย่างดี เป็นดอกเตอร์ทางด้านโบราณคดี การระเบิดในที่ต่าง ๆ ถูกวางแผนโดยเขาที่ปกปิดตัวเอง และสั่งการผ่านตัวแทน ทำให้คอลีดไว้ใจว่าไม่มีใครรู้จักเขา เมื่อเกเบรียลพบเขาในฐานะนักโบราณคดีที่ไม่ระมัดระวังตัว จึงเข้าถึงตัวได้และถูกฆ่าในที่สุด
         ตอนนี้เนื้อเรื่องค่อนข้างซับซ้อน แต่ละฝ่ายมีการชิงไหวชิงพริบกันระหว่างกัน วางแผนซ้อนแผนกัน เนื้อเรื่องตื่นเต้นเร้าใจ ดำเนินเรื่องได้เร็ว มีที่มาที่ไปชัดเจน และยังให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ความขัดแย้งของชาติอาหรับและอิสราเอล ที่ไม่สามารถโทษว่าใครถูกใครผิดได้ อีกทั้งยังนำเหตุการณ์จริงมาใส่ในเรื่อง เช่น การฆ่านักกีฬาอิสราเอล 11 คน โดยสร้างตัวละครขึ้น จนผู้อ่านรู้สึกว่าได้รับรู้เบื้องหลังของเหตุการณ์อย่างสมจริง หรือเรื่องราวเกี่ยวกับผู้ก่อการร้ายที่พกระเบิดเพื่อพลีชีพว่ามีความรู้สึกนึกคิดอย่างไร เป็นต้น ทำให้อ่านได้สนุกมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้เนื้อหาบางตอนในเรื่องนี้ยังให้คำตอบเกี่ยวกับเรื่องที่ภรรยาและลูกของเกเบรียลถูกลอบวางระเบิด ว่ายัสเซอร์ อาราฟัตเป็นผู้สั่งการให้ทาริก อัล-ฮูรานี เป็นคนทำ (อยู่ในตอนล้างหนี้เลือด)

วันพุธที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ล้างหนี้เลือด


ซิลวา, แดเนียล.  ล้างหนี้เลือด  =  The kill artist.  ไพบูลย์ สุทธิ, แปล.  กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์ไครม์แอนด์มิสทรี, 2551.   380 หน้า.   ราคา 258 บาท

เป็นปฐมบทของชุดนวนิยายสายลับเกเบรียล อัลลอน ผู้อ่านจะได้ทราบปูมหลังอันเจ็บปวดของเกเบรียล อัลลอน ที่ต้องสูญเสียลูกชาย และภรรยาของเขาบาดเจ็บสาหัสจากเหตุระเบิดรถยนตร์ที่กรุงเวียนนา และเมื่อรักษาบาดแผลทางกายหาย แต่ต้องเป็นคนไข้ในโรงพยาบาลจิตเวชตลอดไป จนเขาต้องลาออกจากการเป็นสายลับ แต่เมื่อเกิดเหตุสังหารเอกอัครราชทูตอิสราเอล ในกรุงปารีส โดยผู้ที่ก่อเหตุคือทาริก อัล-ฮูรานี ซึ่งเป็นคนเดียวกับที่เล่นงานภรรยาและลูกชายของเขา เกเบรียลจึงหวนกลับมาปฏิบัติการอีกครั้ง เพื่อชำระบัญชีเลือด!
จากการสืบสวนในตอนแรก ๆ มุ่งไปว่าทาริก อัล-ฮูรานี วางแผนฆ่านายกรัฐมนตรีอิสราเอลที่จะลงนามสันติภาพกับยัสเซอร์ อาราฟัต ที่องค์การสหประชาชาติ ทำให้องค์กรต้องวางแผนคุ้มครอง แต่แล้วในที่สุดจึงรู้ว่าทาริกวางแผนฆ่าอาราฟัตต่างหาก สำหรับต้วทาริกเองต้องการฆ่าทั้งอาราฟัตที่ทรยศ ยอมเจรจากับอิสราเอล และเกเบรียบ อัลลอนที่ฆ่าพี่ชายของตน โดยยอมเสี่ยงตายเพราะรู้ตัวว่ากำลังจะตายด้วยโรคมะเร็ง
ในเรื่องนี้มีการนำเสนอประเด็นความขัดแย้งระหว่างปาเลสไตน์ และอิสราเอล บรรยายถึงเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่เกิดกับทั้งคู่จากสองมุมมองที่ต่างกัน พร้อมรายละเอียดเกี่ยวกับเหตุการณ์วางระเบิดภรรยาและลูกชองอัลลอน ขณะเดียวกันก็ให้ทราบถึงประวัตครอบครัวของทาริกด้วยเพื่อให้เห็นภาพและแรงจูงใจที่เคลื่อนไหวของแต่ละตัวละครว่าจะส่งผลต่อไปอย่างไร
เนื้อเรื่องและการดำเนินเรื่องยังคงกระชับ และสนุกเหมือนเดิม การตามล่าตัวทาริกในประเทศต่าง ๆ เช่น แคนนาดา เนเธอร์แลนด์ อเมริกา อังกฤษ และฝรั่งเศส มีความสมจริง ทำให้น่าตื่นเต้นขึ้นอีก ส่วนฉากแอคชั่นก็มีความโหดมากขึ้น  ส่วนตอนจบก็มีการหักมุมที่ทำให้คนอ่านรู้สึก ทึ่งได้  จากการที่อารี แชมรอน สร้างสายลับเด็ก และส่งเข้าไปคลุกคลีกับชาวปาเลสไตน์  จนกระทั่งเด็กคนนั้นโตเป็นหนุ่ม ก็เข้าไปอยู่ในองค์การก่อการร้ายของทาริก ซึ่งในเรื่องผู้อ่านจะคิดว่าเป็นผู้ร้ายตลอดเรื่อง เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจว่าจะมีเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นจริง ๆ หรือ

วันอังคารที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ภาพเขียนเลือด


ซิลวา, แดเนียล.  ภาพเขียนเลือด = The English assassinไพบูลย์ สุทธิ, แปล.  กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์ไครม์แอนด์มิสทรี, 2550.   336 หน้า.   ราคา 245 บาท
       เป็นเรื่องแรกในชุดนวนิยายสายลับเกเบรียล อัลลอน
       กาเบรียล อัลลอนทำงานเป็นสายลับอิสราเอลแต่ทำงานเป็นนักบูรณะงานศิลปะบังหน้า ในตอนนี้ถูกส่งไปเมืองซูริกเพื่อทำความสะอาดภาพเขียนของจิตรกรเอกในยุคศตวรรษที่ 16 ของมหาเศรษฐีฃเอากุสทุส โรลเฟอแต่เมื่อไปถึง เขากลับพบศพของโรล์ฟในคฤหาสน์ ซึ่งเมื่อสืบสวนกลับพบว่าเหตุการณ์นี้เกี่ยวพันกับความลับระดับชาติ และผลพวงจากเหตุการณ์ในยุคสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ความลับที่ว่าคือประเทศสวิตเซอร์แลนด์ที่ประกาศว่าประเทศเป็นกลาง แต่กลับทำตัวเป็น ศูนย์กลางการค้า ผลงานศิลปะเช่น ภาพเขียน งานประติมากรรม พรมประดับผนัง เป็นต้น ที่กองทัพนาซีแย่งชิงมาจากชาวยิว ระหว่างการยึดครองฝรั่งเศส และมีนายธนาคารหลายคนได้รับค่าบริการทางการเงินให้นาซีด้วยภาพเขียนที่แย่งมาจากชาวยิวด้วย ซึ่งในปัจจุบันมีชาวสวิตเซอร์แลนด์บางคนโดยเฉพาะนายธนาคารที่มีอิทธิพลไม่ยอมให้ความลับนี้เปิดเผย เพราะเกรงว่าจะทำให้สวิตเซอร์แลนด์เสียหาย จึงได้สั่งให้ฆ่าเอากุสทุส โรลเฟอที่มีพฤติกรรมที่จะเปิดเผยความลับนี้
       เป็นเรื่องที่อ่านสนุก ล๊อตเรื่องน่าติดตาม เพราะคาดเดาเรื่องไม่ได้ นอกจากนี้ยังให้ความรู้ด้านประวัติศาสตร์ ยุคสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยเฉพาะความเชื่อมโยงระหว่างนาซี กับประเทศสวิซเซอร์แลนด์ ทำให้เห็นว่าประเทศที่ดูเป็นมิตรกับประเทศทั่วโลกนั้น จริง ๆ แล้วก็มีส่วนร่วมในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ยิวด้วยเช่นกัน

วันอาทิตย์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ประชาธิปไตยที่แท้จริง


  นำมาจากคอลัมน์เปลว สีเงิน ฉบับวันเสาร์ที่ 3 พฤศจิกายน 2555 อ่านแล้วต้องส่งต่อ เพราะนี่คืออนาคตประเทศไทย  คนไทยต้องช่วยกันในการแสดงออกที่สงบสันติ ไม่ใช่อย่างคนเสื้อแดง เอะอะก็ยกพวกไปรังแกคนอื่น ห้ามใครต่อใครที่ไม่ถูกใจเข้าเขตอิทธิพลของตน ไม่รู้เอาสิทธิ์อะไรมาห้าม แสดงเป็นอันธพาล ถ่อยเถื่อน
      บนเส้นทางสายเปลี่ยน บ้านเมืองถึง "ทางแยก" ไหนทางโจร..ไหนทางประชา..พวกปล้นเมืองมันเอาคำว่า "อธิปไตย" ไปต่อท้ายจนผู้คนไขว้เขว "เป๋ทาง" ไปมาก-ต่อมาก ฉะนั้น วันนี้ขอนำป้าย "ประชาธิปไตย" ชัดๆ มาปัก ป้ายนี้ผมไม่ได้เขียนเอง หากแต่ "คุณสุรพงษ์ ชัยนาม" อดีตเอกอัครราชทูต ๕ ประเทศท่านเขียน ผ่านการสนทนากับ "สมณะเดินดิน" ทาง FMTV คืนก่อนที่เสธ.อ้ายประกาศปฏิญญา "บันได ๒ ขั้น" ที่สนามม้านางเลิ้ง เมื่อ ๒๘ ต.ค.๕๕
    ค่อนข้างยาวในหัวข้อ "ประชาธิปไตยคืออะไรกันแน่?" แต่ผมอ่านแล้ว "ชัดเจน" ตอบโจทย์สังคมสับสนได้ครบถ้วน ถือเป็นการละเลยที่เสียหายยิ่ง ถ้าผมไม่นำมาบอกต่อตรงช่วง "หัวแยกสังคม" ต่อไปนี้เป็น คำพูด-คำตอบ ของท่านทูตสุรพงษ์ทั้งหมดครับ
    คุณค่าประชาธิปไตยอยู่ที่ว่า ประชาธิปไตยเปิดโอกาสให้ประชาชนมีสิทธิ์เลือกผู้ที่จะเข้ามาบริหารประเทศ และในขณะเดียวกันก็มีสิทธิ์โค่นล้มผู้ที่ตนเลือกเข้าไป หากคณะบุคคลนั้นไร้จริยธรรม ขาดความชอบธรรม ขาดคุณธรรม  
    และเมื่อระบบรัฐสภาถูกผูกขาด ประชาชนก็อาจทำการโค่นล้มได้ด้วยการออกมาชุมนุม นี่คือการใช้สิทธิ์แสดงความไม่พอใจในระบบการเมืองที่ผูกขาดแบบปลาใหญ่กินปลาเล็ก เป็นการแสดงสิทธิ์อันชอบธรรมนอกระบบรัฐสภา 
    เพราะ "รัฐสภาผูกขาด" ไม่เอื้อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง!
    ทุกคนควรเข้าใจว่า นี่คือประชาธิปไตย เพราะสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนี้ ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนแสดงสิทธิ์ด้วยช่องทางอื่น ผู้คนจึงต้องออกมาบนท้องถนน ซึ่งมีตัวอย่างมาแล้วทั่วโลก เวลาที่ประชาชนโค่นเผด็จการเราจะต้องไม่เข้าใจผิดว่า คำจำกัดความของประชาธิปไตยคือการเลือกตั้งเท่านั้น  โปรดอย่าได้ติดกับดักเช่นนั้นเป็นอันขาด
    การชุมนุมที่สนามม้านางเลิ้งก็ต้องนับว่าเป็นประชาธิปไตย และเป็นการยืนยันว่า ประชาชนต้องการให้คนไทยทั่วไปและต่างประเทศเห็นว่า รัฐบาลนี้ไม่สามารถคิดค้นประดิษฐ์อนาคตประเทศไทยที่ปฏิเสธสถานการณ์ปัจจุบัน  
  การจะเปลี่ยนแปลงประเทศได้นั้น เราจำเป็นต้องปฏิเสธความเลวร้ายที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้ เพื่อที่จะได้คิดค้นอนาคตใหม่ของชาติที่มิได้อิงอยู่กับปัจจุบัน 
    แต่สิ่งที่รัฐบาลนี้กำลังทำก็คือ "สร้างอนาคตจากปัจจุบันอันเลวร้าย"!
    การชุมนุมครั้งนี้คือ การแสดงให้เห็นว่าคนไทยไม่ยอมจำนน และถ้ารัฐบาลไม่มีความชอบธรรม คนไทยก็ไม่จำเป็นต้องรอถึงสี่ปีให้ประเทศชาติเสียหายมากไปกว่านี้ สิ่งที่สำคัญก็คือ การที่ใครสักคนได้รับเลือกตั้งเข้ามา ก็ไม่ได้หมายความว่า คนผู้นั้นมีจิตวิญญาณของนักประชาธิปไตย  
    ค่านิยมที่เปลี่ยนไปของไทยก็คือ คนที่มาจากการเลือกตั้งนั้น มีสิทธิ์โกงกินได้ เพราะประชาชนเลือกเขาเข้ามา”!  
    หากเรายังปล่อยทิ้งไว้แบบนี้ อนาคตของชาติก็จะเติบโตขึ้นจากค่านิยมเช่นนี้ จนในที่สุดสิ่งที่ผิดก็จะกลายเป็นถูก ความเข้าใจเกี่ยวกับคุณธรรม จริยธรรมก็จะถูกบิดเบือน เยาวชนในอนาคตก็จะตกเป็นผลผลิตของค่านิยมที่ผิดและอันตราย เราจึงต้องรู้จักปฏิเสธปัจจุบันอันเลวร้าย เพื่อผลิตอนาคตที่รู้จักปฏิเสธปัจจุบัน (อันเลวร้าย) 
    ประเทศชาติจะเจริญได้ ไม่เกี่ยวกับว่า "รัฐบาลและผู้บริหารต้องมาจากการเลือกตั้งเท่านั้นแต่ขึ้นอยู่กับว่า ผู้ที่เข้ามาบริหารบ้านเมืองมีความรู้ในเรื่องนั้นๆ ดีเพียงไร มีคุณธรรมจริยธรรมหรือไม่ การเคารพกฎหมายไม่จำเป็นที่ว่าจะต้องมีระบอบประชาธิปไตยเท่านั้นจึงจะเคารพ 
    ประชาธิปไตยในตัวมันเองไม่ได้ฝักใฝ่ฝ่ายไหน แต่มันสามารถเป็นเครื่องมือให้คนกลุ่มต่างๆ พวกเผด็จการก็จะหากินกับประชาธิปไตย โดยมักใช้เปลือกของประชาธิปไตย (การเลือกตั้ง) เพื่อตบตาเพื่อความอยู่รอดของระบอบเผด็จการ 
    ประชาธิปไตยในตัวมันไม่ทำร้ายใคร แต่ขึ้นอยู่กับว่า มันถูกฝ่ายใดเอามาใช้ประโยชน์อย่างฉ้อฉล  การเลือกตั้งนั้นแท้จริงแล้วเป็นเพียงกระพี้ แต่แก่นแท้ของประชาธิปไตยคือ การมีองค์กรอิสระคอยตรวจสอบ อำนาจสามส่วนต้องถ่วงดุลกัน มีนิติรัฐ นิติธรรม มีการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์และโปร่งใส
    แต่ประเทศไทยทุกวันนี้ ประชาธิปไตยตกอยู่ในมือของกลุ่มคนที่มิได้มีจิตวิญญาณเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ปัญหาของประเทศไทยปัจจุบันนี้ ไม่ใช่เราไม่มีประชาธิปไตย แต่เป็นเพราะประชาธิปไตยถูกละเมิด ถูกบิดเบือน และถูกทำลายต่างหาก  
ประชาชนเลิกเชื่อตัวบทกฎหมาย แต่หันไปเชื่อตัวบุคคล มันคือประชาธิปไตยที่ไร้วินัย ไร้กฎกติกา ไร้ระเบียบ (ต่างจากกรณีฟิลิปปินส์และมากอสที่สมัยนั้นเขาไม่มีประชาธิปไตยเลย) 
    การชุมนุมที่สนามม้านางเลิ้ง คือการแสดงออกของประชาชน ว่าเขาไม่ยอมจำนนต่อสิ่งเหล่านี้ และต้องการจะบอกว่า เราต้องการประชาธิปไตยที่ครบสมบูรณ์ทั้งรูปแบบและเนื้อหา ประชาธิปไตยให้เสรีภาพที่จะเลือก แต่มันไม่ใช่เท่านั้น เสรีภาพที่แท้จริงคือการไปเลือกตั้งด้วยความเข้าใจ และใช้สติปัญญา ใช้เหตุใช้ผล 
    หากเรามองย้อนอดีต เราจะเห็นว่า มีนโยบายหลายอย่างที่นำความเจริญมาให้ประเทศไทยโดยที่ขณะนั้นไม่มีประชาธิปไตย เช่นแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ 
    หรือการเข้าร่วมอาเซียนของไทยในปี ๒๕๑๐ ซึ่งอยู่ในสมัยรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร  หรือแม้แต่เขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ก็เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน ซึ่งก็มิได้มาจากการเลือกตั้ง (และเป็นยุค รสช.ด้วยซ้ำ) 
    เราจึงเห็นได้ว่า มีนโยบายหลายอย่างที่นำความเจริญมาสู่บ้านเมืองภายใต้รัฐบาลซึ่งมิได้มาจากการเลือกตั้ง แต่หากเรามองรัฐบาลที่ผ่านการเลือกตั้งเข้ามา เรากลับพบว่า เต็มไปด้วยการคอรัปชั่นโกงกินและไร้ประสิทธิภาพในการบริหารบ้านเมือง  
    ดังนั้น เราจึงควรระลึกถึงข้อเท็จจริง (ที่มีตัวอย่างให้เห็นแล้ว) ที่ว่า ความเจริญก้าวหน้าของประเทศ ไม่จำเป็นต้องมาจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเสมอไป สถาบัน EIU กล่าวว่า ๗ ใน ๑๐ ประเทศที่ประชาธิปไตยมั่นคง คือประเทศที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขทั้งสิ้น เช่น เดนมาร์ก, นอร์เวย์ ฯลฯ 
    แต่ปัจจุบันนี้ มีคนบางกลุ่มพยายามจะบอกว่า ประเทศไทยจะเจริญได้ต้องไม่มีพระมหากษัตริย์  ซึ่งไม่เกี่ยวกันเลย
    คนไทยสรุปบทเรียนไม่เป็น แต่ชอบสูตรสำเร็จ แต่นั่นคือหายนะ เพราะประชาธิปไตยคือ กระบวนการที่ต้องพัฒนาอยู่ตลอดเวลา การเอาสูตรสำเร็จมาใช้ทั้งดุ้น เลียนแบบต่างชาติโดยไม่ปรับใช้ ก็รังแต่จะพัง 
    "ประชาธิปไตยจะต้องถูกนำมาปรับใช้ให้สอดคล้องกับประวัติศาสตร์ ประเพณี วัฒนธรรม ค่านิยม สังคมของชาตินั้นๆ เราจะต้องไม่ยอมรับประชาธิปไตยสำเร็จรูป"
    คำถาม: การชุมนุมครั้งนี้ สถานการณ์ยังสุกงอมไม่พอหรือเปล่า?
    สุรพงษ์: ทุกคนรู้ว่าปัญหาคืออะไร เพราะฉะนั้นทุกคนอยู่ในสถานะที่ ๑) ต้องการแก้ปัญหา จึงพยายามออกมาเรียกร้องแสดงสิทธิ์ หรือมิฉะนั้นก็ ๒) นั่งอยู่กับบ้านเฉยๆ และกลายเป็นตัวปัญหาเสียเอง เพราะเท่ากับปล่อยให้รัฐบาลสร้างปัญหาต่อไปเรื่อยๆ
    การบอกว่า เราจะเลือกเป็นทั้งสองข้าง คือเป็นทั้งซ้ายและขวา นั่นคือคำแก้ตัวของพวกที่ชอบลอยตัว ไม่ยอมตัดสินใจเลือก แต่ผู้ที่ออกมาชุมนุมคือผู้ที่เลือกแล้วว่า ตนจะไม่ยอมจำนนต่อความเลวร้ายที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ การชุมนุมไม่เกี่ยวกับว่าสถานการณ์สุกงอมหรือยัง 
    แต่มันคือการแสดงจุดยืนว่า คนไทยจะไม่ทนต่อสถานการณ์อันเลวร้ายเช่นนี้ ยกตัวอย่าง รัฐประหาร ๑๙ กันยา สมัยนั้นมีปัญหาเรื่องเทมาเส็ก กับเรื่อง ผบ.ทบ.เท่านั้น กระนั้นก็ยังมากพอที่จะทำให้เกิดรัฐประหาร แต่หากเรามองดูสถานการณ์ปัจจุบัน ขณะนี้มีอะไรบ้างที่ชั่วร้าย...มีมากมายนับไม่ถ้วน 
    ถ้าอย่างนี้ จะว่ายังไม่สุกงอมหรือ?  
    การพิจารณาความสุกงอม ต้องดูข้อเท็จจริงว่าบ้านเมืองมีสิ่งเลวร้ายอะไรบ้าง ถ้าประชาชนออกมาแสดงให้ข้อเท็จจริงนี้ให้ประจักษ์ กระบวนการการเปลี่ยนแปลงก็จะเริ่มขึ้นจากจุดนี้ ภัยร้ายแรงของรัฐบาลนี้ ไม่ใช่ประชาชนที่ออกมาชุมนุม แต่คือตัวรัฐบาลและพรรคพวกเอง (ที่เลวร้าย) 
    ถ้าไม่อยากให้ชุมนุม รัฐบาลก็อย่าเป็นอย่างที่คนเขาพูด อย่าเป็นสิ่งชั่วร้ายเหล่านั้น ถ้ารัฐบาลไม่เป็นอย่างที่คนเขากล่าวหา คนก็ไม่มีเรื่องจะให้ชุมนุม
    เราต้องเชื่อมั่นว่า เราเปลี่ยนแปลงประเทศไทยได้ ถ้าเราไม่มีความเชื่อมั่นเช่นนั้น ต่อให้ไปชุมนุมก็ไม่ต่างจากคนที่นั่งอยู่กับบ้าน
    จบครับ...ผมตัดทอนไปบ้างด้วยเนื้อที่จำกัด แต่เนื้อหา "ประชาธิปไตย" อยู่ครบ.