วันพุธที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2555

เจอทุกข์อย่างไรใจไม่ทุกข์

เจอทุกข์อย่างไรใจไม่ทุกข์ โดยพระไพศาล วิสาโล

จากหนังสือ ใจดีมีสุข สำนักพิมพ์ BOOKSmile พิมพ์ครั้งที่ ๑ ๒๕๕๕


พระไพศาล วิสาโล

 มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับสามศรีพี่น้อง คนโตชื่ออำภา คนรองชื่ออาภรณ์ คนเล็กชื่ออรชุมา

วันหนึ่งอำภาไปหาหมอดู เขาลือกันว่าเป็นหมอดูที่ทำนายอนาคตได้แม่นยำ หมอดูดูดวงของอำภาแล้วก็บอกว่า "คุณจะมีสุขภาพไม่ค่อยดี เงินทองจะฝืดเคือง การงานจะไม่ราบรื่น หมอว่า คุณจะลำบากไป ๕ ปี"

อำภาได้ยินเช่นนั้นจึงถามหมอว่า "หลังจาก ๕ ปีแล้วฉันจะสบายใช่ไหม ?" อำภาถาม "เปล่า หลังจากนั้นคุณก็จะชินไปเอง" หมอตอบ

ต่อมาเป็นเรื่องของอาภรณ์ อาภรณ์มีลูกสองคน วันหนึ่งขณะที่อาภรณ์ทำครัวอยู่ก็พบว่าน้ำปลาหมดจึงให้ลูกชายคนโตไปซื้อน้ำปลามาหนึ่งขวด ลูกไปที่ร้านชำได้น้ำปลามาก็รีบเดินกลับบ้านเพราะแม่คอยอยู่ระหว่างทางเดินสะดุดหินหกล้ม ขวดน้ำปลาหลุดมือกว่าจะคว้ามาได้น้ำปลาก็หายไปครึ่งขวด พอกลับถึงบ้านก็บอกแม่ด้วยหน้าตาเศร้าสร้อยว่า "แย่จัง ผมทำน้ำปลาหกไปตั้งครึ่งขวด" อาภรณ์ไม่ว่าอะไร ได้แต่บอกลูกว่า “ต่อไปให้ระมัดระวังอย่าเผลอไผล"

อาทิตย์ต่อมาขณะทำครัวน้ำปลาก็หมดอีกจึงให้ลูกคนเล็กไปซื้อบ้าง ลูกไปซื้อน้ำปลาที่ร้านเดิม ได้มาก็รีบเดินกลับมาบ้าน ปรากฏว่าเดินสะดุดหลุมขวดน้ำปลาหลุดมือ กว่าจะคว้ามาได้น้ำปลาก็หกไปครึ่งหนึ่งคล้ายกับอาทิตย์ก่อนเลย พอไปถึงบ้านก็เล่าให้แม่ฟังว่า "เมื่อกี้ผมหกล้ม แต่โชคดีที่คว้าเอาไว้ได้ทัน มีน้ำปลาเหลือตั้งครึ่งขวดแน่ะ" ลูกสองคนของอาภรณ์เจอเหตุการณ์คล้ายกันคนแรกบอกว่าแย่จังน้ำปลาหกไปครึ่งขวด แต่คนที่สองบอกว่า โชคดีที่น้ำปลาเหลือตั้งครึ่งขวด สองคนเจอเหตุการณ์เดียวกันแต่ว่ามองไม่เหมือนกัน คนหนึ่งบอกว่า แย่จัง ส่วนอีกคนบอกว่าโชคดี

เรื่องที่สามเป็นเรื่องของอรชุมา

วันหนึ่งอรชุมาได้ทราบว่าหลวงปู่ท่านหนึ่งจะมาฉันเพลที่บ้านเพื่อนหลวงปู่ท่านนี้คือหลวงปูบุดดา
ถาวโร ท่านมรณภาพไปนานยี่สิบกว่าปีแล้ว แต่เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อ๔๐-๕๐ ปีที่แล้ว อรชุมาก็ไปร่วมทำบุญถวายเพลให้กับหลวงปู่บุดดาด้วย หลวงปู่ฉันเพลเสร็จทีแรกก็จะกลับวัดที่สิงห์บุรีเลย แต่เจ้าของบ้านบอกว่าอยากจะให้ท่านพักสักหน่อย เพราะว่าท่านแก่แล้ว ตอนนั้นท่านอายุ ๗๐-๘๐ ปีแล้ว อยากให้ท่านพักก่อนที่จะกลับวัด ก็เลยจัดห้องให้ท่านเอนหลัง ระหว่างนั้นมีลูกศิษย์ลูกหา ๔-๕ คนมานั่งเป็นเพื่อน ทุกคนอยากให้ท่านได้พัก เวลาพูดคุยกันจึงกระซิบกระซาบ ไม่ส่งเสียงดัง แต่ว่าบังเอิญห้องที่ติดกันนั้นเป็นร้านชำ เจ้าของเป็นอาซิ้ม คนจีนสมัยก่อนสวมเกี๊ยะไม้ เวลาเดินขึ้นเดินลงบันไดจึงส่งเสียงดัง เสียงเข้ามาถึงห้องที่หลวงปู่บุดดาจำวัดอยู่  อรชุมได้ยินก็บ่นว่า "เดินเสียงดังจัง" หลวงปู่บุดดาที่จริงไม่ได้หลับ ท่านเพียงแต่ปิดตา พอได้ยินเช่นนี้ท่านก็เปรยขึ้นมาเบาๆ ว่า "เขาเดินของเขาอยู่ดี ๆ เราเอาหูไปรองเกี๊ยะเขาเอง"

ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องราวของพี่น้องสามใบเถา

อำภา อาภรณ์และอรชุมา ฟังแล้วได้แง่คิดไหม ทั้งสามคนล้วนประสบกับสิ่งที่ไม่น่าพึงพอใจ เจอปัญหาไปคนละแบบ
แต่ละปัญหาก็มีวิธีการรับมือแตกต่างกันไป

ขอเริ่มที่เรื่องของอำภาก่อน หมอบอกว่าเธอจะลำบากสัก ๕ ปี เพราะมีปัญหาสุขภาพ การเงินติดขัด การงานไม่ราบรื่น แต่หลังจากนั้นก็จะหายลำบากไม่ใช่เพราะทุกอย่างดีขึ้น แต่เพราะเธอจะชินไปเอง
ทุกข์คลายเมื่อใจเคยชิน

ความเคยชินเป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยให้เราหายทุกข์ เวลาเราเจอปัญหาใหม่ๆ เราอาจจะรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่ทนได้ยาก ทุรนทุราย หรือหงุดหงิดงุ่นง่าน แต่พอเราเจอบ่อยๆ หรือเจอไปนานๆ ความทุกข์ก็จะลดลงหรือหายไปเลย ที่หายทุกข์ไม่ใช่เพราะปัญหามันหมดไป แต่เป็นเพราะเราคุ้นเคยหรือเราชินกับมัน พอเราชินกับมัน หรือเห็นมันเป็นเรื่องธรรมดา มันก็ไม่เป็นปัญหาสำหรับเราอีกต่อไป มนุษย์เรามีความสามารถในการปรับตัวสูงมากเวลาเราเข้าไปในร้านขายสี ทีแรกเราจะรู้สึกว่าเหม็น แต่ถ้าเราอยู่ที่นั่นนานๆ ก็จะรู้สึกว่าหายเหม็นแล้ว ที่จริงสีก็ยังส่งกลิ่นอยู่ แต่เราไม่รู้สึกว่ามันเหม็นแล้วเพราะว่าเราชินกับมัน ในทำนองเดียวกันเวลาเราไปปั๊มน้ำมัน เราจะได้กลิ่นเหม็นของน้ำมัน บางทีอดสงสัยไม่ได้ว่าผู้คนทำงานที่นั่นได้อย่างไร แต่ว่าเด็กปั๊มเขาทำงานที่นั่นได้สบาย โดยไม่รู้สึกอะไรเลย เพราะว่าเขาชินเสียแล้วก็เลยไม่รู้สึกเหม็น ทั้ง ๆ ที่กลิ่นเหม็นยังมีอยู่

ดังนั้นการที่เราเจอปัญหา เจออุปสรรคบ่อย ๆ ก็มีข้อดีนะ มันช่วยทำให้เราคุ้นเคยหรือปรับตัวได้
คนที่เจอก่อนกับคนที่เจอหลังความรู้สึกจะต่างกัน คนที่เจอก่อนเขาจะรู้สึกเป็นทุกข์น้อย คนที่เจอทีหลังจะรู้สึก เป็นทุกข์มากกว่า เคยมีการทดลองโดยให้อาสาสมัครใส่หูฟัง แต่สิ่งที่ฟังไม่ใช่เป็นเพลงนะ เสียงที่ได้ยินคือเสียงเครื่องดูดฝุ่น เสียงดังมากเลย กลุ่มแรกให้ฟัง ๔๕ วินาที กลุ่มที่สองฟัง ๕ วินาที จากนั้นก็ถามทั้งสองกลุ่มว่า ช่วง ๕ วินาทีสุดท้ายรู้สึกอย่างไร เราคงคิดว่าว่ากลุ่มแรกซึ่งฟังนาน ๔๕ วินาทีคงจะรู้สึกหงุดหงิด รำคาญมากกว่า แต่ผลที่ออกมาตรงข้าม กลุ่มที่รู้สึกรำคาญมากกว่าคือกลุ่มหลังซึ่งได้ฟังแค่ ๕ วินาที แปลกไหม กลุ่มแรกซึ่งฟังนานกว่าคือฟัง ๔๕ วินาทีทำไมเขาจึงรู้สึกรำคาญน้อยกว่าในช่วง ๕ วินาทีสุดท้าย คำตอบก็คือในเมื่อเขาฟังมาก่อนแล้ว ๔๐ วินาที พอถึง ๕ วินาทีสุดท้าย เขาก็เลยชินกับเสียงดัง ส่วนกลุ่มที่สองซึ่งฟังแค่ ๕ วินาที ดูเหมือนจะโชคดีกว่ากลุ่มแรกเพราะได้ฟังน้อยกว่าแต่เขากลับทุกข์มากกว่า รำคาญมากกว่าเพราะว่าเขาเพิ่งฟังยังไม่คุ้นเคย ยังปรับตัวไม่ได้ก็เลยหงุดหงิดรำคาญ จะเห็นได้ว่าคนที่เจอปัญหาหรืออุปสรรคมาก่อน หรือเจอมานานๆ จะเรียกว่าโชคดีก็ได้นะ เพราะว่าเขามีโอกาสคุ้นเคยหรือปรับตัวกับมันจนรู้สึกธรรมดา เพราะฉะนั้นเวลาเจออุปสรรคหรือเจอปัญหา อย่าเพิ่งบ่นว่าเราเคราะห์ร้าย บางทีเราอาจโชคดีเพราะว่าเราได้เจอก่อน พอเราเจอก่อน เราก็มีเวลาปรับตัวจนคุ้นเคยกับมัน

เด็กที่พ่อแม่ยากจนหรือเติบโตมาอย่างลำบาก มองในแง่หนึ่งเขาได้เปรียบ เพราะว่าเขาจะไม่กลัว
ความยากลำบาก เวลาเจอความลำบากเขาจะไม่ทุกข์ร้อนมากนัก เพราะเขาเคยเจอมาแล้ว ตรงข้ามกับเด็กที่ถูกเลี้ยงดูมาแบบสบาย ชีวิตประสบความสำเร็จแต่เนิ่น ๆ ชีวิตราบรื่นไปหมด อย่างนี้จะเรียกว่าเสียเปรียบก็ได้เพราะว่าถ้าต่อไปเขาเจอปัญหา เจอความผิดหวัง เจอความยากลำบากขึ้นมา เขาจะเป็นทุกข์มากเลย เพราะเขาไม่เคยเจอมาก่อน จะเรียกว่าเขาไม่มีภูมิคุ้มกันก็ได้

อาตมารู้จักชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งเขาเรียนเก่งมาก ประสบความสำเร็จมาตลอด ต่อมาได้ทำปริญญาเอกเรื่องตำรวจไทย เขาคงไม่คิดว่าตำรวจไทยจะเป็นเรื่องซับซ้อนมาก ปรากฏว่าทำมาหลายปีแล้วไม่จบเสียที เครียดมาก รู้สึกว่าตัวเองล้มเหลว สุดท้ายก็เลยแขวนคอตาย ที่จริงการเรียนไม่จบปริญญาเอก ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย ถึงไม่จบปริญญาเอกก็ยังมีปริญญาโท ยังได้เปรียบกับคนอีกมากมาย เพราะคนส่วนใหญ่ไม่มีแม้แต่ปริญญาตรีด้วยซ้ำ คนที่เรียนไม่เก่งสอบตกอยู่บ่อย ๆ เขาจะรู้สึกว่าธรรมดามากเลยนะหากเรียนไม่จบ แต่คนที่เรียนเก่งไม่เคยประสบความล้มเหลวในเรื่องการเรียน พอการเรียนมีปัญหาก็ทำใจไม่ได้ เพราะไม่เคยเจอมาก่อน เรียกว่าไม่มีภูมิคุ้มกันความผิดหวัง

คนเราต้องมีภูมิคุ้มกันความผิดหวัง ถ้าไม่มีชีวิตก็อาจจะเสียศูนย์ได้ง่าย มีวัยรุ่นคนหนึ่งเป็นเด็กเรียนดี ชีวิตราบรื่น พ่อแม่เลี้ยงลูกอย่างเอาใจใส่เหมือนกับไข่ในหิน อยากได้อะไรก็หามาให้ พอเรียนมัธยมราว ๆ ม. ๔ ม.๕ เกิดไปชอบผู้หญิงคนหนึ่ง ปรากฏว่าครอบครัวฝ่ายผู้หญิงไม่เห็นดีด้วยเพราะว่ายังอยู่ในวัยเรียนทั้งคู่ก็เลยขัดขวาง ผู้หญิงนั้นเชื่อฟังพ่อแม่ ก็เลยตีตัวออกห่าง หนุ่มคนนี้รู้สึกผิดหวังมาก ไม่เคยเจออย่างนี้มาก่อน ทั้งเสียใจทั้งโกรธแค้น วันหนึ่งจึงเอาปืนของพ่อไปตามไล่ยิงผู้หญิงถึงในบ้านของเธอ ปรากฏว่าผู้หญิงหลบทัน ลุงของผู้หญิงเข้าขวางก็เลยถูกยิงตาย กลายเป็นข่าวใหญ่โตเมื่อสิบกว่าปีก่อน ก็มีคำถามว่าทำไมเด็กเรียนดี โรงเรียนดี มีชื่อถึงทำแบบนี้ ก็อาจอธิบายได้ว่าเป็นเพราะเขาไม่เคยเจอความผิดหวังมาก่อน ชีวิตเขาราบรื่นมาตลอด ไม่มีภูมิคุ้มกันความผิดหวัง พอเจอความไม่สมหวังก็เลยคลั่ง เสียผู้เสียคน สุดท้ายก็ลืมตัวตามฆ่าคนรัก เพื่อดับความแค้นดับความกลุ้ม กลายเป็นว่าอนาคตดับวูบไปเลย อันนี้เพราะไม่มีภูมิคุ้มกันความผิดหวัง เนื่องจากไม่ค่อยเจอความผิดหวัง

ดังนั้นเวลาเลี้ยงลูกควรให้ลูกได้เจอความไม่สมหวังหรือความลำบากบ้าง จะได้มีภูมิคุ้มกัน มันก็เหมือนกับเชื้อโรค ร่างกายจะมีสุขภาพดีได้ก็ต้องมีภูมิคุ้มกันโรค ภูมิคุ้มกันโรคจะมาจากไหนก็มาจากเชื้อโรคนั่นเอง เช่นฉีดวัคซีนเข้าไปในร่างกาย วัคซีนก็คือเชื้อโรคอ่อน ๆ หรือเชื้อโรคที่ตายแล้ว พอมันเข้าไปในร่างกายก็จะกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกัน ไม่ว่าจะเป็นเชื้ออหิวาต์ ไทฟอยด์ โปลิโอหรือแม้แต่หวัด ภูมิคุ้มกันโรคล้วนเกิดจากการที่เราได้รับเชื้อเข้าไปใหม่ๆ ก็อาจจะป่วยหรือเป็นไข้นิดหน่อย แต่ต่อไปร่างกายก็จะแข็งแรง บางทีภูมิคุ้มกันก็มาจากดิน จากน้ำที่ค่อยไม่สะอาดเท่าไร เด็กที่เล่นกับดินจะมีภูมิคุ้มกัน เขาจะไม่ค่อยแพ้โน่นแพ้นี่เท่าไร แต่เด็กที่ถูกเลี้ยงแบบอนามัยจัดไม่ใช่เรื่องดีนะ ถ้าเจอแต่ความสะอาดเขาจะเสียเปรียบ เพราะว่าเขาไม่มีภูมิคุ้มกันโรค ร่างกายจะอ่อนแอ เดี๋ยวเป็นนั่นเป็นนี่ เดี๋ยวนี้เด็กเป็นโรคภูมิแพ้มาก รวมทั้ง โรคมือเท้าปาก อันนี้เพราะว่าขาดภูมิคุ้มกัน เพราะว่าชีวิตเจอความสะอาดมากไป เดี๋ยวนี้ฝรั่งเขาแนะนำให้ลูกเล่นกับดิน จะได้มีภูมิคุ้มกัน เขามีปัญหาว่าเด็กสะอาดมากเกินไปจึงเป็นโรคแพ้หลายอย่างรวมทั้งหืดหอบด้วย เพราะฉะนั้นการที่คนเราเจอความทุกข์ความยากลำบากควรถือว่าเป็นข้อดี มันทำให้เรามีภูมิคุ้มกัน

เมื่อสักสองปีก่อน รายการคน ค้น คน ทำเรื่องราวของคุณยายคนหนึ่งชื่อย่ายิ้ม ย่ายิ้มอายุ ๘๓ ปี
อยู่จังหวัดพิษณุโลก เป็นคนที่มีความสุขมาก ยิ้มตลอดเวลา ทั้งๆที่ผิวหนังเหี่ยวย่น แต่ยิ้มหวาน ชีวิตแกแปลกนะ แกอยู่คนเดียวบนเขาหาเผือกหามัน ทุกวันพระแกจะเดินลงจากเขาเข้าไปในเมืองระยะทางประมาณ ๘ กิโลเมตรมาถือศีล เสร็จแล้ววันรุ่งขึ้นก็จะเดินขึ้นเขากลับบ้าน บางวันก็ขนข้าวสารขึ้นไประยะทาง ๘ กิโลเมตร สำหรับคนแก่อายุ ๘๐ ไม่ใช่เรื่องง่ายนะ ถ้าฝนตกก็ลำบากบางทีก็มีคนช่วยขับรถขนขึ้นไปให้ แต่บ่อยครั้งก็ต้องขนเองเพราะรถขึ้นไปไม่ได้บ้านแกไม่มีไฟฟ้า ต้องช่วยตัวเองทุกอย่าง แต่แกมีความสุขมาก เคยมีคนถามว่าย่าเดินลงเขาไปวัดไม่เหนื่อยหรือ ทางก็ยากลำบาก ไกลก็ไกล แกตอบว่า "ก็มันเคยเสียแล้วหนา" พอมีคนถามว่าเวลาฝนตกหนักลงมาเอาข้าวสารไม่ได้ ต้องขุดหัวกลอยมากิน อย่างนี้จะอิ่มหรือ ย่ายิ้มตอบว่า "ก็มันเคยแล้วหนา" แล้วหม้อหุงใบเก่าที่ย่ายิ้มใช้นานจนรั่วจนต้องตะแคงหุง หุงแบบนี้ไม่ลำบากหรือ ย่ายิ้มก็ตอบว่า "ก็มันเคยเสียแล้วหนา" ทั้ง ๆ ที่ชีวิตของย่ายิ้มเต็มไปด้วยความลำบาก ไม่สะดวกสบาย แต่ย่ายิ้มไม่มีความทุกข์เลย เป็นเพราะย่ายิ้มชินเสียแล้วกับ
ความยากลำบาก เพราะฉะนั้นการที่คนเราเจอความลำบากบ้างหรือเจอบ่อย ๆ ถือว่าเป็นเรื่องดี เพราะว่าจะทำให้เรามีภูมิคุ้มกันความทุกข์ ทำให้เรามีความคุ้นชินกับความยากลำบาก

อันนี้เป็นเรื่องของอำภา มองแง่บวก

ส่วนเรื่องของอาภรณ์นั้น ลูกชายสองคน เจอเหตุการณ์คล้ายกัน คนหนึ่งสะดุดหิน อีกคนสะดุดหลุม คนหนึ่งบอกว่า แย่จังน้ำปลาหกไปครึ่งขวด แต่อีกคนบอกว่าโชคดีที่คว้าได้ทันน้ำปลาเหลือตั้งครึ่งขวด สองคนนี้ต่างกันยังไง ทั้งที่เจอเหตุการณ์เหมือนกัน ต่างกันที่มุมมอง คนแรกมองว่าเป็นเรื่องไม่ดี ส่วนคนที่สองมองว่าโชคดี จะเรียกว่ามองแง่บวกก็ได้ ถ้าเกิดเงินหาย คนแรกจะบอกว่าโชคไม่ดีเงินหายไปสองร้อย แต่คนที่สองบอกว่าโชคดี

โชคดียังไง โชคดีที่หายแค่สองร้อย ในกระเป๋ามีตั้งหนึ่งพัน ถ้าหายหมดคงแย่เลย หรือโชคดีที่หายแค่เงิน แต่โทรศัพท์ไม่หาย อย่างอื่นยังอยู่ครบ เราเคยมองแบบนี้บ้างไหม เจออะไรก็ตาม ดีทั้งนั้น ดีอย่างไร ดีที่ไม่แย่ไปกว่านี้ เวลาป่วย ก็อย่ามัวบ่นตีโพยตีพายว่า ทำไมถึงเคราะห์ร้าย ทำไมถึงต้องเป็นฉัน ลองมองใหม่ว่า โชคดีที่ไม่เป็นหนักกว่านี้

มีเด็กอายุ ๑๔ คนหนึ่งเป็นมะเร็งสมอง แต่เธอยิ้มแย้มแจ่มใส เมื่อมีคนมาคุยด้วย เธอก็บอกว่า "หนูโชคดีที่ไม่ได้เป็นมะเร็งมดลูก มีญาติคนหนึ่งเป็นมะเร็งมดลูก ปวดมากเลย หนูโชคดีที่เป็นแค่มะเร็งสมอง" นี่เรียกว่ามองแง่บวก

ทำนองเดียวกัน มีชายหนุ่มคนหนึ่งพานักศึกษาไปช่วยชาวบ้านในถิ่นทุรกันดารที่แม่ฮ่องสอน ขากลับรถเกิดพลัดตกจากเขา ทุกคนปลอดภัยแต่เขาพิการตั้งแต่เอวลงไป เพื่อนที่มาเยี่ยมพูดเหมือนตัดพ้อว่า ทำไมทำความดีแล้วจึงโชคร้ายอย่างนี้ แต่เขากลับตอบว่า "เพราะไปทำบุญนะซิถึงรอดมาได้ขนาดนี้" คือรอดมาได้ครึ่งตัว

นี่เป็นการมองแง่บวกเหมือนลูกคนเล็กของอาภรณ์

เวลาเราเจอเหตุร้ายหรือเจออุปสรรคให้เรามองแบบนี้บ้าง ไม่ใช่มองเพื่อจะละเลยปัญหานะ
แต่มองเพื่อให้ใจไม่ทุกข์ จะได้มีความพร้อมในการแก้ปัญหา ดีกว่ามัวตีโพยตีพายกลุ้มอกกลุ้มใจ
เพราะการทำเช่นนั้น นอกจากไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้นแล้ว ยังทำให้ตัวเองทุกข์มากขึ้น เป็นการซ้ำเติมตัวเอง
เวลาเจ็บป่วย ถ้าป่วยกายแล้วยังป่วยใจหรือทุกข์ใจเข้าไปอีก มันเป็นทุกข์สองชั้น เป็นการซ้ำเติมตัวเอง
แต่ถ้าเราป่วยกายแต่ใจไม่ป่วย เราก็จะมีความพร้อมในการใช้สติปัญญาพิจารณาว่าจะรักษาอย่างไร ไม่ใช่เอาแต่ซึมเศร้า หดหู่ ท้อแท้ หลายคนเป็นมะเร็งแล้วไม่ทำอะไรเลย ซึมเศร้าไม่กินไม่นอน ไม่ยอมรักษาตัว หมดอาลัยตายอยาก งานการไม่ทำ

มีแม่คนหนึ่งพอรู้ว่าเป็นมะเร็งก็ซึมเศร้า ซังกะตาย ไม่เป็นอันทำอะไร ไม่สนใจแม้กระทั่งสารรูปตัวเอง แต่งตัวมอซอ ลูกสาวทนไม่ได้ก็เลยพูดกับแม่ว่า "แม่เป็นมะเร็งหนูยังพอทนไหวนะ แต่ถ้าแม่หมดอาลัยตายอยากแบบนี้หนูทนไม่ไหวนะ" ได้ยินเช่นนี้ แม่ก็เลยได้สติ หันมาดูแลรักษาตัวเอง จนตอนนี้ก็เป็นปกติดีแล้ว

เวลารู้ว่าตัวเองเป็นมะเร็ง ถ้ามีสติก็จะได้คิด เกิดความกระตือรือร้น เพราะไม่แน่ใจว่าชีวิตเราอยู่ได้นานแค่ไหน ดังนั้นจึงต้องเร่งรีบทำความดี ทำหน้าที่ที่รับผิดชอบให้ดีที่สุด อะไรที่ควรทำกับลูก กับสามีภรรยา และพ่อแม่ ก็รีบทำ รวมทั้งรีบเข้าหาธรรมะ ปฏิบัติธรรม ขณะเดียวกันก็หาทางรักษาตัว บรรเทาความเจ็บป่วยให้ดีที่สุด ถ้าเอาแต่ซึมเศร้า หมดอาลัยตายอยาก ตีโพยตีพาย อย่างนี้เรียกว่าป่วยทั้งกายป่วยทั้งใจ ในเมื่อเราป่วยแล้วก็ขอให้ป่วยอย่างเดียวคือป่วยกายแต่ใจยังปกติอยู่ เราจะได้ใช้เวลาที่มีอยู่ รวมทั้งใช้สติปัญญาให้ดีที่สุดเพื่อแก้ไขหรือบรรเทาเหตุการณ์ การมองแง่บวกช่วยทำให้เรากลับมาตั้งหลักใหม่ ทำให้เราไม่ทุกข์ใจไปกับเหตุร้ายที่เกิดขึ้น

ในสมัยพุทธกาลมีพระรูปหนึ่งชื่อพระปุณณะ วันหนึ่งมาทูลลาพระพุทธเจ้าว่าจะไปเมืองสุนาปรันตะ

พระพุทธเจ้าท้วงว่าคนสุนาปรันตะโหดร้ายนะ ถ้าเขาด่าว่าท่านท่านจะคิดอย่างไร
พระปุณณะตอบว่า เขาด่าว่าก็ดีกว่าเขาทุบตี
พระพุทธองค์ถามต่อว่า ถ้าเขาทุบตีท่านท่านจะคิดอย่างไร
พระปุณณะก็ตอบว่าเขาทุบตีก็ดีกว่าเขาเอาก้อนหินมาขว้าง
แล้วถ้าเขาเอาก้อนหินมาขว้างท่านล่ะ ท่านจะคิดอย่างไร พระพุทธเจ้าถาม
พระปุณณะตอบว่า เขาเอาก้อนหินมาขว้างก็ดีกว่าเขาเอาไม้มาฟาด
แล้วถ้าเขาเอาไม้มาฟาดล่ะ ท่านจะคิดอย่างไร
พระปุณณะตอบว่าเขาเอาไม้มาฟาดก็ดีกว่าเขาเอาของแหลมมาแทง
พระพุทธเจ้าถามต่อว่า ถ้าเขาเอาของแหลมมาแทงท่านจะว่าอย่างไร
คำตอบของพระปุณณะก็คือ เขาเอาของแหลมมาแทงก็ดีกว่าเขาฆ่าให้ตาย
คราวนี้พระพุทธเจ้าถามเป็นคำถามสุดท้ายว่า แล้วถ้าเขาฆ่าท่านตาย ท่านจะว่าอย่างไร
พระปุณณะตอบว่า คนบางคนอยากตายก็ต้องไปหามีดหาอาวุธ หรือไม่ก็ต้องจ้างคนมาฆ่า แต่ถ้ามีคนมาฆ่าข้าพระองค์จนตายก็ดีเหมือนกัน คือไม่เหนื่อย

พระพุทธเจ้าก็อนุโมทนาว่า ถ้าอย่างนั้นท่านไปเถอะ เพราะเชื่อว่าพระปุณณะจะรับมือกับเหตุร้ายได้ ปรากฏว่าในที่สุดท่านก็ปลอดภัย อีกทั้งยังสามารถเปลี่ยนให้ชาวสุนาปรันตะมานับถือพระรัตนตรัยได้ กลายเป็นคนที่มีเมตตาและมีศีลมีธรรม

พระปุณณะท่านใช้หลักอะไร ท่านใช้หลักมองแง่บวก คือมองว่า อะไรเกิดขึ้นก็ดีทั้งนั้น ดีที่ไม่แย่กว่านี้

เด็กคนที่เป็นมะเร็งสมองแล้วบอกว่าโชคดีนั้น เขาตามรอยพระพุทธเจ้าเลยนะ แต่ที่จริงเขาไม่ได้เป็นพุทธเขาเป็นมุสลิม แต่เขาคิดแบบเดียวกับพระปุณณะ คือมองว่าโชคดีที่เป็นแค่มะเร็งสมอง ไม่ได้เป็นมะเร็งมดลูก

พวกเราเป็นชาวพุทธต้องทำให้ได้แบบนี้นะ

มีนักธุรกิจคนหนึ่ง เป็นผู้บริหารเครือข่ายร้านสุกี้ที่มีชื่อมาก เมื่อสองปีก่อนเกิดเหตุการณ์ไมสงบในกรุงเทพ เราคงทราบดีว่า มีการเผาห้างสรรพสินค้าหลายแห่ง ร้านสุกี้ของนักธุรกิจคนนี้โดนลูกหลงไป ๔ สาขา เสียหายไปหลายสิบล้าน ผู้จัดการสาขาก็มารายงานด้วยความเสียใจ แต่นักธุรกิจคนนี้กลับปลอบใจลูกน้อง ปลอบใจว่าอย่างไร ปลอบใจว่า "ร้านของเราถูกเผาแค่ ๔ สาขา แต่เรามีตั้ง ๓๒๐ สาขา" คือมองว่ายังดีที่เจอแค่นี้ แต่เรายังมีเหลืออีกมาก

เวลาเราเจออุปสรรค เจอความสำบาก เจอปัญหา ลองใช้วิธีนี้ดูบ้าง เงินหาย เจ็บป่วย หรือแม้แต่ถูกต่อว่าก็ถือว่าดีนะ เจ้าของเมืองโบราณซึ่งบัดนี้เสียชีวิตไปแล้ว พูดไว้เป็นคติดีมากบอกว่า "วันไหนไม่ถูกตำหนิ วันนั้นเป็นอัปมงคล" บางคนถูกตำหนิจะรู้สึกว่าซวย แต่แกบอกว่าวันนั้นเป็นมงคลแล้ว ตรงข้ามวันไหนไม่ถูกตำหนิ วันนั้นเป็นอัปมงคล เพราะว่าคำตำหนิทำให้ได้แง่คิด เป็นการเตือนสติไม่ให้หลงตัวลืมตน เพราะว่าคนที่เป็นผู้นำหรือคนรวยมักจะมีแต่คนประจบประแจงทำให้เหลิง หรือหลงตัวได้ง่าย แต่ถ้ามีใครมาตำหนิก็ทำให้ไม่ลืมตัว อันนี้ก็ตรงกับที่พระพุทธเจ้าสอนว่า ให้มองผู้ที่ตำหนิเหมือนผู้ชี้ขุมทรัพย์ เราเคยคิดแบบนี้บ้างไหม ใครที่ตำหนิเราโดยเฉพาะครูบาอาจารย์หรือผู้ที่มีสติปัญญาให้ถือว่าเขาเป็นเหมือนผู้ชี้ขุมทรัพย์ พระพุทธศาสนาเน้นเรื่องการฝึกฝนพัฒนาตนมาก ใครที่พบช่องทางในการฝึกฝนพัฒนาตนก็ถือว่าได้พบขุมทรัพย์ คำตักเตือนหรือตำหนิเป็นสิ่งหนึ่งที่ช่วยให้เราเห็นข้อบกพร่องของตน ทำให้เกิดการปรับปรุงตน

นี้เป็นประเด็นสืบเนื่องจากเรื่องของอาภรณ์

ที่จริงลืมพูดไปอย่างหนึ่งว่า ลูกคนที่สองที่บอกว่าโชคดีที่คว้าขวดน้ำปลามาได้ทัน หลังจากที่สะดุดหลุมแล้ว วันต่อมาแกก็ไปกลบหลุมนั้น ไม่ให้มันเป็นปัญหากับตัวเองหรือคนอื่นอีก ไม่ใช่ว่ามองแง่บวกแล้วก็ทิ้งปัญหาเอาไว้ ปัญหามีก็ต้องแก้ด้วย เหมือนกับเวลาเจ็บป่วยเราก็ไม่ทุกข์ใจเพราะมองแง่บวกว่าโชคดีที่ไม่เป็นหนักกว่านี้
แต่ถึงอย่างไรก็ต้องรักษาด้วย เพื่อไม่ให้ทุกข์กาย การมองแง่บวกนั้นช่วยไม่ให้ทุกข์ใจ ส่วนทุกข์กายก็ยังต้องลงมือจัดการแก้ไข สติรักษาใจ

ต่อมาเป็นเรื่องอรชุมา

อรชุมาได้ยินเสียงเกี๊ยะจากห้องข้าง ๆ จึงไม่พอใจ แต่หลวงปู่บุดดาพูดเตือนว่า อย่าเอาหูไปรองเกี๊ยะ
ถ้าเอาหูไปรองเกี๊ยะเมื่อไหร่ ก็จะเป็นทุกข์ทันที ท่านกำลังสอนให้มีสติ รักษาใจให้เป็นปกติเวลามีอะไรมากระทบ ที่จริงเสียงเกี๊ยะหรือเสียงดังไม่เป็นปัญหา แต่ใจที่ไม่มีสติต่างหากที่ก่อปัญหา เวลาหูได้ยินเสียงอะไรก็ตาม ถ้าไม่มีสติ ก็จะกลายเป็นหูหาเรื่อง ทำให้เกิดความทุกข์ใจขึ้นมา

ขยายความก็คือ เวลาได้ยินเสียงดัง ถ้าไม่มีสติ ใจจะรู้สึกต่อต้านเสียงนั้น เกิดโทสะไม่พอใจ ถ้าไม่มีสติรู้ทันอารมณ์เหล่านั้น ความโกรธ ความไม่พอใจก็จะลุกลาม ทำให้จิตใจเร่าร้อนมากขึ้น เวลามีเสียงรถยนต์ดังมาจากข้างนอก หรือเสียงโทรศัพท์ดังในศาลา ถ้าเรามีสติ เราจะไม่ทุกข์ เพราะไม่ยินร้ายกับเสียงนั้น หรือถึงแม้ว่าได้ยิน ทีแรกใจเราจะกระเพื่อม เกิดความยินร้ายขึ้น แต่ถ้าเรารู้ทันอาการยินร้าย เห็นใจที่กระเพื่อม ใจก็จะกลับมาเป็นปกติ เป็นกลางต่อเสียงนั้น เวลาเสียงดังเราเคยสังเกตใจของตัวเองไหม ใจมันเป็นอย่างไร ใจมันกระเพื่อม ใจมันไหว ใจมันเกิดโทสะหรือเปล่า ส่วนใหญ่เราไม่ทันสังเกต ไม่รู้ว่าใจเป็นอย่างไรตอนนั้น เพราะเรามัวจดจ่อหรือเพ่งอยู่ที่ต้นเสียง เราลืมมองดูใจก็เลยไม่เห็นความโกรธ ความไม่พอใจที่กำลังครอบงำจิต เผาลนใจ ถ้าเราเห็นก็จะวางหรือถอนจิตออกจากอารมณ์นั้น ทำให้ใจกลับมาเป็นปกติ แต่ส่วนใหญ่เราไม่เห็น เพราะลืมตัว มัวโกรธรถที่เสียงดัง มัวโกรธเพื่อนที่เปิดโทรศัพท์ค้างเอาไว้ เราไม่เห็นใจตัวเอง อย่างนี้เรียกว่าไม่มีสติ ถ้ามีสติเราจะเห็นความโกรธเกิดขึ้นที่ใจ พอเห็นแล้วก็จะวางมันลง ไม่ยึดหรือแบกมันเอาไว้ เสียงก็ยังดังอยู่ แต่ว่าใจปกติแล้ว สติเป็นเครื่องรักษาใจที่สำคัญมาก โดยเฉพาะเวลามีอะไรมากระทบ สติเกิดขึ้นเมื่อเราหันมารับรู้ดูใจของตัว ที่จริงรับรู้ดูทั้งกายและใจด้วย อย่างเวลาเราเดินก็มีสติรู้กายว่ากำลังเคลื่อนไหว ถ้าใจเผลอคิดนึกก็รู้ทันอาการนั้น

คนเราทุกข์ส่วนใหญ่ก็เพราะปล่อยใจไปตามอารมณ์ หรือเผลอคิดนึกถึงอดีตและอนาคต หรือยึดติดถือมั่นกับสิ่งที่ไม่พึงพอใจ ที่จริงสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับเรา มันไม่ทำให้เราทุกข์ได้หากวางใจเป็น อย่างเช่นหนี้สิน หนี้สินไม่ได้ทำให้เราทุกข์ แต่ที่เราทุกข์เพราะใจไปยึดติดถือมั่นกับมัน มัวแต่แบกมันเอาไว้จนหนักอกหนักใจ ที่จริงถ้าไม่คิดก็ไม่ทุกข์ แต่ถ้าคิดเมื่อไรก็ทุกข์เมื่อนั้น เพราะคิดแล้วก็ยึดไว้ไม่ยอมวาง
แล้วทำไมถึงคิดหรือยึดเอาไว้ ทั้ง ๆ ที่ยึดแล้วก็เป็นทุกข์ ก็เพราะเผลอ เพราะลืมตัว ถามว่าเผลอหรือลืมตัวเพราะอะไร ก็เพราะไม่มีสติ แต่เมื่อใดก็ตามที่เรามีสติ อะไรเกิดขึ้นก็ทำให้ใจเป็นทุกข์ไม่ได้ ทำให้เรามีปัญญาที่จะมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ตามความเป็นจริง เห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดา ที่ไม่เที่ยง หรือสามารถมองมันไปในแง่บวกได้

หลวงพ่อพุธ ฐานิโย อดีตเจ้าอาวาสวัดป่าสาลวัน เป็นพระผู้ใหญ่ที่ได้รับการเคารพสักการะมาก
ท่านมรณภาพไปหลายปีแล้ว มีเรื่องเล่าว่าตอนที่ท่านยังหนุ่ม ท่านเคยไปจำพรรษาที่จังหวัดอุบลราชธานี

วันหนึ่งท่านเดินไปบิณฑบาตอยู่ เห็นผู้หญิงคนหนึ่งกับลูกชายวัย ๕ ขวบยืนรอใส่บาตร ท่านจึงเดินไปรับบาตร ปรากฏว่าเด็กคนนั้นจู่ ๆ ก็พูดขึ้นมาว่า " มึงบ่แม่นพระดอก มึงบ่แม่นพระดอก" พอท่านได้ยินก็รู้สึกไม่พอใจขึ้นมาทันที เพราะไม่เคยมีใครพูดกับท่านแบบนั้น แต่แล้วท่านก็ได้สติ เห็นความโกรธขึ้นมาในใจ พอเห็นปุ๊บท่านได้คิดเลยนะ ท่านได้คิดว่าอย่างไร ท่านได้คิดว่า "เออ จริงของมัน เราไม่ใช่พระหรอก ถ้าเราเป็นพระเราต้องไม่โกรธสิ" พอคิดได้เช่นนั้น ความโกรธหายเลย แล้วท่านก็เดินไปรับบาตรด้วยจิตใจปกติ

นอกจากจะไม่โกรธเด็กแล้ว ท่านยังถือว่าเด็กคนนั้นคือ "อาจารย์" ของท่าน คงคล้าย ๆ กับเศรษฐีเมืองโบราณที่มองว่า การถูกตำหนิเป็นมงคลอย่างหนึ่ง สำหรับหลวงพ่อพุธ การที่เด็กพูดอย่างนั้นก็เป็นการฝึกสติและเตือนตนท่าน ทำให้ท่านได้เห็นใจของตัวเอง คนเราถ้ามีสติ เจออะไรจิตใจก็ไม่หวั่นไหว ปัญหายังมีอยู่แต่ว่าใจไม่ทุกข์ เช่นเวลาเงินหาย ถ้าใจไปนึกถึงเงินที่หาย เกาะเกี่ยวอยู่กับเงินก้อนนั้น อย่างนี้เรียกว่าไม่มีสติแล้ว ใจไม่อยู่กับปัจจุบัน แต่ถ้ารู้ว่าใจเผลอคิดไป พอมีสติรู้ พาใจกลับมาอยู่ปัจจุบัน ก็ไม่รู้สึกทุกข์ ที่คนเราทุกข์เพราะใจไม่อยู่กับปัจจุบัน

มีคนหนึ่งพูดไว้ดีมากเขาบอกว่า เมื่อเราเสียใจ นั่นเป็นเพราะเราปล่อยใจไปอยู่กับอดีต เมื่อเรากังวลนั่นเป็นเพราะเราปล่อยใจไปอยู่กับอนาคต แต่ถ้าใจอยู่กับปัจจุบันเราจะพบกับความสงบสุข จริงไหมลองพิจารณาดู เวลาเราเสียใจให้รู้ว่าเป็นเพราะใจไปอยู่กับอดีตแล้ว มัวนึกถึงเงินที่หาย นึกถึงสมบัติที่ถูกโกงไป นึกถึงคนรักที่จากไป นึกถึงการกระทำผิดที่เราเคยทำกับพ่อกับแม่ นี่เรียกว่าเสียใจเพราะปล่อยใจไปอยู่กับอดีต

แล้วที่เรากังวลล่ะเป็นเพราะอะไร เป็นเพราะปล่อยใจไปอยู่กับอนาคต นึกถึงหนี้สินที่ยังไม่ได้จ่าย
บ้านที่ยังไม่ได้ผ่อน สิ้นเดือนนี้ไม่รู้จะเอาเงินที่ไหนมาผ่อนบ้าน หรือกังวลว่าจะเกิดภัยพิบัติ ภัยพิบัติยังไม่เกิดเลยแต่ใจก็เป็นทุกข์เสียแล้ว เหมือนกับหลายคนในช่วงน้ำท่วมปีที่แล้ว น้ำยังไม่ทันท่วมบ้านเลย ทุกข์เสียแล้ว ทุกข์เพราะกังวล นี่เพราะไม่มีสติ ถ้ามีสติก็จะรู้ใจว่ากำลังกังวลปรุงแต่งกับเรื่องที่ยังไม่เกิด พอรู้แล้วใจจะกลับมาอยู่กับปัจจุบัน กลับมาเป็นปกติ

การเจริญสติจึงเป็นสิ่งสำคัญ ช่วยให้เราฉลาดในการรู้ใจของตัว ว่องไวในการรู้ทันอารมณ์ ช่วยให้เรามีปัญญาในการแก้ทุกข์ คนส่วนใหญ่คิดแต่การแก้ไขข้างนอก ถ้าใครต่อว่าฉัน ฉันต้องไปสั่งสอนให้หยุดต่อว่า แดดร้อนก็ต้องติดแอร์ให้อากาศหายร้อน น้ำท่วมก็ต้องหาทางป้องกัน ทำทางระบายน้ำ หรือว่าสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำเราคิดแต่การแก้ข้างนอก ซึ่งบางครั้งก็จำเป็น แต่เราลืมไปว่าบางอย่างแม้จะพยายามแค่ไหนก็ใช่ว่าจะแก้ได้ทุกเรื่อง น้ำท่วมจะป้องกันอย่างไรก็คงป้องกันไม่ได้ตลอด สุขภาพของเรา เราจะดูแลให้ดีแค่ไหนก็ตาม สักวันหนึ่งก็ต้องเจ็บต้องป่วย ความทุกข์ไม่ว่าเราจะพยายามป้องกันอย่างไรก็ต้องมาถึงตัวเราจนได้ ประเด็นก็คือทำอย่างไรให้มันมาถึงแค่ตัวแต่ไม่ถึงใจ คือทุกข์กายแต่ไม่ทุกข์ใจ เราทำได้นะ ความทุกข์มาถึงแค่ตัวแค่กาย แต่ไม่กระเทือนไปถึงใจ ป่วยแต่กายใจไม่ป่วย

เราทำดีแค่ไหนก็ต้องมีคนต่อว่าเรา ตำหนิเราจนได้ ถึงอย่างไรเสียงด่า เสียงว่าก็ต้องดังมาถึงหูเราจนได้ แต่ทำอย่างไรใจเราจะไม่ทุกข์ ให้เสียงมาหยุดแค่หู แต่ไม่ทะลุไปถึงใจ อันนี้ต้องอาศัยธรรมะ ต้องอาศัยสติ ต้องอาศัยปัญญา ไม่แบกก็ไม่ทุกข์

เคยฟังเรื่องราวหลวงพ่อประสิทธิ์ ถาวโรไหม ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดถ้ำยายปริก เกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี วัดถ้ำยายปริกเดิมเป็นวัดร้าง ตอนที่ท่านไปบุกเบิกใหม่ ๆ มีปัญหาเยอะมาก น้ำประปาก็ขาดแคลน แต่ที่หนักที่สุดคือนักเลงท้องถิ่น ไม่อยากให้พระมาอยู่วัดนี้ เพราะอยากจะฮุบที่วัด จึงหาทางกลั่นแกล้งพระ บางทีพระเดินบิณฑบาตอยู่ก็แกล้งมาเดินชนจนบาตรตก หรือไม่ก็ด่าว่าท่านหยาบ ๆ คาย ๆ ด่าแต่ท่านก็ไม่ย่อท้อ ทีแรกก็คิดจะหนีแต่พอนึกถึงประโยชน์ที่จะเกิดแก่พระ เณร แม่ชี และญาติโยม ท่านก็เลยไม่ถอย แต่ก็ไม่ด่าตอบนะ ท่านมีวิธีของท่าน ซึ่งต้องใช้ทั้งความอดทนคือขันติ และใช้สติ ปัญญา รวมทั้งเมตตาด้วย

มีคราวหนึ่งท่านเดินผ่านหน้าบ้านของนักเลงท้องถิ่น เขาเห็นเป็นโอกาสก็ด่าท่านเสีย ๆ หาย ๆ ปกติเวลาเจอแบบนี้เรามีทางเลือกสองทางก็คือ ทำเป็นหูทวนลม ไม่ได้ยินเดินผ่านไปเลย อีกวิธีหนึ่งก็คือว่า ด่ากลับ แต่หลวงพ่อประสิทธิ์ไม่ทำทั้งสองอย่าง ท่านกลับเดินเข้าไปจับแขนนักเลงคนนั้นเขย่า แล้วถามว่า "มึงด่าใคร" นักเลงคนนั้นตอบว่า "ก็ด่ามึงนะซิ" ท่านได้ยินเช่นนั้นก็ตอบว่า " อ้อ แล้วไปที่แท้ก็ด่ามึง ดีแล้วอย่าด่ากูก็แล้วกัน" ชายผู้นั้นงงเลยว่าตกลงกูด่าใครกันแน่วะ คนที่จะทำอย่างหลวงพ่อประสิทธิ์ได้ต้องมีสตินะ จิตไม่กระเพื่อม ไม่รู้สึกหวั่นไหวกับคำด่า ขณะเดียวกันก็ใช้ปัญญา ไม่เอาตัวตนออกรับ หรือไม่เอาคำด่ามาเป็นของตน ถ้าเราไม่รับคำด่า คำด่านั้นจะเป็นของใคร เวลามีใครมาด่าเรา เราทุกข์เพราะเรารับคำด่าใช่ไหม เมื่อเรารับคำด่าเราก็ทุกข์ แต่ถ้าเราไม่รับล่ะ หลวงพ่อประสิทธิ์ท่านไม่รับ ท่านบอกว่า ด่ามึง ไม่ใช่ด่ากู จะทุกข์ไปทำไม

เรื่องนี้ก็เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าเคยตรัสกับพราหมณ์คนหนึ่ง พราหมณ์คนนี้เกลียดพระพุทธเจ้ามากเพราะศิษย์ของเขาไปศรัทธานับถือพระพุทธเจ้ากันหมด พราหมณ์คนนี้ทั้งเสียหน้าทั้งเกลียดพระองค์ เมื่อพบพระองค์จึงด่าว่าอย่างเสีย ๆ หาย ๆ พระองค์ก็ไม่ได้ตอบโต้อะไร ปล่อยให้เขาว่าไปจนพอใจ หลังจากนั้นพระองค์ก็ถามพราหมณ์ ท่านเคยมีแขกมาเยี่ยมบ้านหรือไม่ พราหมณ์ตอบว่า มีสิ พระพุทธเจ้าถามต่อว่า เวลามีแขกมาเยี่ยมบ้าน ท่านทำอย่างไร พราหมณ์ตอบว่า เราก็เอาน้ำดื่มและข้อขบเคี้ยวมาต้อนรับสิ พระพุทธเจ้าถามต่อว่า แล้วถ้าแขกไม่กินไม่ดื่มของต้อนรับเหล่านั้น ของเหล่านั้นจะเป็นของใคร พราหมณ์ตอบว่า ก็ตกเป็นของข้าพเจ้าน่ะซิ พระพุทธเจ้าจึงตรัสต่อไปว่า เช่นเดียวกัน เมื่อท่านด่าเรา เราไม่รับคำด่านั้น คำด่านั้นก็ตกเป็นของท่านน่ะสิ พราหมณ์ได้ยินก็นิ่งอึ้งเลย

คำด่าว่าทำให้เราทุกข์ก็เพราะเรารับมาเป็นของเรา รับเสร็จก็ยึดเอาไว้ไม่ยอมปล่อย ไม่ยอมวาง เขาด่าเราเมื่ออาทิตย์ที่แล้วก็ยังเอามานึกซ้ำแล้วซ้ำเล่า เหมือนกับเปิดเทป หรือยิ่งกว่าเปิดเทป เพราะนึกทีไรก็เหมือนกับเอามีดมาทิ่มแทงใจของตัวเอง ที่จริงคนด่าลืมไปแล้ว แต่เรายังไม่ลืม ยังยึดยังติดเอาไว้ ไม่ปล่อยไม่วาง ถามว่านึกถึงคำด่าของเขาแล้วทุกข์ไหม ทุกข์แล้วทำไมยังนึก เรากำลังทำร้ายตัวเองใช่หรือเปล่า นี่เพราะไม่มีสติ ไม่มีสติก็เลยทำร้ายตัวเองด้วยการนึกถึงคำด่าของเขาอยู่ตลอดเวลา แต่ถ้ามีสติ รู้ว่าเผลอคิดไป ก็จะวาง ใจกลับมาอยู่กับปัจจุบัน

พระนันทิยะเป็นพระสาวกคนหนึ่งของพระพุทธเจ้า วันหนึ่งพระองคุลิมาลได้พบพระนันทิยะ จึงถามว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไรท่าน พระนันทิยะตอบว่า "พระผู้มีพระภาคทรงสอนให้ปล่อยวาง ทั้งข้างหน้า ข้างหลัง และท่ามกลาง มิให้ติดอยู่ในอารมณ์อันเป็นอดีต อนาคตและปัจจุบัน อารมณ์ที่พอใจหรือไม่น่าพอใจอันใดเกิดขึ้น จงปล่อย จงวางให้เป็นกอง ๆ ไว้ ณ ที่นั้น อย่านำมาเก็บไว้แบกไว้ เขาด่าว่าเราบนบก จงกองคำด่าวั้นไว้บนบก อย่านำติดไปในน้ำด้วย เขาด่าว่าเราในน้ำ จงกองคำด่าว่านั้นไว้ในน้ำ อย่านำติดตัวมาบนบก เขาด่าว่าในเมือง จงกองไว้ในเมือง อย่านำติดตัวมาถึงเชตวนารามนี้"

เขาด่าว่าเราตรงไหนก็กองไว้ตรงนั้นแหละเราเคยทำอย่างนี้ไหม เวลาเขาด่าว่าเราที่บ้าน มาถึงวัดก็ยังแบกเอาไว้ ด่าว่าเราเมื่อเดือนที่แล้ว ปีที่แล้ว ตอนนี้ก็ยังแบกไว้ ไม่ยอมวาง อย่างนี้เรียกว่าไม่มีสติ คิดดูก็แปลกนะ อะไรก็ตามที่เราเกลียดชังเรากลับชอบคิดถึง อะไรที่เราไม่ชอบเราจะพัวพันหมกมุ่นอยู่กับมัน คนที่เราเกลียด เรามักคิดถึงเขาบ่อย ๆ บางทีคิดถึงมากกว่าพ่อแม่ของเราเสียอีก สังเกตไหม เวลามือเราถูกของเหม็นเช่นถูกปลาร้า หรือขี้หมา มันเหม็นใช่ไหม เราทำอย่างไร เราก็ล้างมือ ล้างนิ้ว ล้างเสร็จทำอย่างไร เอามือข้างนั้นมาดมใช่ไหม

เราไม่ชอบกลิ่นเหม็น แต่ทำไมเราดม ล้างเสร็จก็ดมอีก ยิ่งเหม็นก็ยิ่งดม ทั้งๆที่เราไม่ชอบ แต่เรากลับชอบดม อันนี้แสดงว่าเรายึดติดสิ่งที่เกลียด เสร็จแล้วมันก็ทำร้ายเรา ทำให้เราทุกข์ ไม่ต่างจากลิง ลิงไม่ชอบกะปิ เวลามือมันถูกกะปิมันจะเอามือขัดถูกับหินหรือต้นไม้ เพื่อขจัดกลิ่นกะปิ เสร็จแล้วก็เอามาดม ถ้ายังได้กลิ่นอยู่ก็จะขัดอีก แล้วเอามาดม ถ้ายังมีกลิ่นก็ถูแล้วถูกอีก จนหนังถลอกเป็นแผล มันก็ยังไม่เลิกจนเลือดไหล คำถามคือว่าที่ลิงมีแผลจนเลือดไหลเป็นเพราะอะไร บางคนตอบว่าเป็นเพราะกะปิ
ที่จริงไม่ใช่นะ กะปิไม่ทำให้มีแผลจนเลือดไหลได้ พูดให้ถูกคือเป็นเพราะความเกลียดกะปิต่างหาก

เพราะความยึดติดถือมั่นในกะปิ กะปิไม่ทำให้ทุกข์ ไม่ทำให้เป็นแผล แต่เพราะความเกลียดและยึดมั่นถือมั่นกับกะปิต่างหาก จึงทำให้ทุกข์ ยิ่งเกลียดกะปิเท่าไรก็ยิ่งไถยิ่งถู ยิ่งเกลียดใครก็ยิ่งคิดถึงคนนั้น นี่เพราะไม่มีสติ ก็เลยไม่รู้ทันใจที่เกลียด ไม่รู้ทันใจที่ยึดติดถือมั่น เลยลืมตัวทำร้ายตัวเอง

เรื่องของอำภา อาภรณ์ และอรชุมา สอนให้เราเห็นถึงการรับมือกับปัญหาหรือความทุกข์ด้วยวิธีการที่ต่างกัน ๓ วิธี

วิธีแรกคือ การสร้างความคุ้นเคย จนมีภูมิคุ้มกันความทุกข์

วิธีที่สองคือการมองแง่บวก

วิธีที่สามคือการมีสติ

คนทั่วไปนั้นมักจะรู้จักแต่วิธีแรก คือเจออะไรก็กัดฟันทนหรือทนไปก่อน ไม่นานก็คุ้นชินไปเองหรือเห็นเป็นเรื่องธรรมดา แต่เมื่อมีประสบการณ์มากขึ้น มีความฉลาดเฉลียวในเรื่องจิตใจมากขึ้น ก็จะใช้วิธีที่สองและวิธีที่สามควบคู่ไปด้วยหรือใช้เป็นหลัก

อันที่จริงมีอีกวิธีหนึ่งซึ่งเป็นหัวใจของการแก้ทุกข์ อาตมาได้พูดแทรกไว้บ้างแล้วก่อนหน้านี้ นั่นคือการมีปัญญา หมายถึงความเข้าใจในความจริงของชีวิต จนเห็นว่าทุกข์ทั้งปวงนั้นเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ว่าความเจ็บ ความแก่ ความพลัดพรากสูญเสีย รวมทั้งความตาย เพราะสังขารทั้งหลายเป็นเช่นนั้นเอง ตกอยู่ภายใต้ความไม่เที่ยง ขัดแย้งข้องขัดเป็นนิจ บกพร่องไม่สมบูรณ์ คนที่มีปัญญาเห็นความจริงเช่นนี้ ย่อมไม่ยึดติดถือมั่นในสิ่งทั้งปวง รวมทั้งร่างกายและจิตใจว่าจะต้องเที่ยงแท้ เป็นสุข หรือเป็นดั่งใจ ดังนั้นเมื่อเกิดความผันผวนปรวนแปรไปก็ไม่ทุกข์ใจ  ป่วยแต่กาย ใจไม่ป่วย เสียแต่ทรัพย์แต่ใจไม่เสียด้วย ปัญญาอย่างนี้จะเกิดขึ้นได้ก็เพราะมีสติฟูมฟัก ช่วยให้เห็นสิ่งต่าง ๆ ตามความเป็นจริง ไม่ใช่เห็นตามอคติที่เคลือบคลุมใจ การใคร่ครวญหรือหมั่นพิจารณาชีวิตทั้งกายและใจ

ตลอดจนความเป็นไปของโลกอย่างมีสติอยู่เสมอ จะทำให้เราตระหนักชัดว่าสิ่งทั้งปวงนั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน จึงวางใจเป็นกลางต่อทุกสิ่ง ไม่ยึดติดถือมั่นในสิ่งใด ๆ แต่รู้จักใช้มันให้เกิดประโยชน์ และเกี่ยวข้องกับสิ่งต่าง ๆ ตามเหตุตามปัจจัย โดยไม่เป็นทุกข์เพราะมัน

สรุปก็คือ ทั้ง ๔ ประการที่กล่าวมานี้ แม้ยังมีไม่ถึงขั้นสมบูรณ์ แต่ถ้าใช้วิธีใดวิธีหนึ่งให้เป็น ความทุกข์ก็ลดลงไปได้มาก ยิ่งถ้ามีทั้งสี่อย่างนี้เราก็จะอยู่ได้ด้วยจิตใจที่ผ่องใส แม้จะมีเหตุร้ายมากระทบตามธรรมดาโลก แต่ว่าใจไม่ทุกข์ เรียกว่าเจอทุกข์แต่ใจไม่ทุกข์ ทำให้เราสามารถอยู่กับความทุกข์ได้ด้วยใจที่เป็นปกติ





วันจันทร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2555

เมื่อทักษิณออกโทรทัศน์ช่อง 11

เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2555 เวลา 21.00 น. พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ได้ออกโทรทัศน์สถานี NBT ซึ่งเป็นช่องโทรทัศน์ของรัฐ ทำให้เกิดประเด็นปัญหาที่สังคมข้องใจ รัฐมนตรีหลายคนในรัฐบาลออกมาพูดว่าทักษิณเป็นคนไทย สามารถใช้ช่องโทรทัศน์ไทยออกมาแสดงความจงรักภักดิได้ แต่ในส่วนของคนที่ไม่เห็นด้วยนั้น ประเด็นปัญหาไม่ได้อยู่ที่ทักษิณจะออกโทรทัศน์ได้หรือไม่ได้ แต่เป็นประเด็นที่ผู้เกี่ยวข้องต้องตอบคือ


- ทักษิณเป็นนักโทษ-เป็นผู้ต้องหากำลังหนีคดีใช่ไหม?

- ช่อง 11 เป็นสื่อทางราชการ โดยรัฐบาลโดยตรงใช่ไหม?

- การกระทำของทักษิณกับช่อง 11 กระทบความมั่นคงใช่ไหม?

- การให้นักโทษใช้สื่อราชการ ออกแถลงการณ์แก้ผิดตัวเอง และใส่ร้ายผู้อื่น มีความเหมาะสมหรือไม่

           สำหรับ นายประชา ประสพดี รัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงมหาดไทย ก็ได้ออกมาแสดงความเห็นเรื่องนี้ โดยกล่าวว่า “ไม่เห็นมีอะไรเสียหาย ในฐานะคนไทยคนหนึ่งที่มีความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะแสดงออกถึงความจงรักภักดีแล้วผิดตรงไหน เรื่องนี้จะไม่มีปัญหาอะไรเลย ถ้าบางฝ่ายโดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ ไม่คิดหยุมหยิมสร้างประเด็นมาโจมตีทุกครั้งที่มีโอกาส ซ้ำยังกดดันให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ออกมาขอโทษ จะบ้ากันไปใหญ่แล้ว นายกฯ ต้องออกมาขอโทษเรื่องอะไร และความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองเราวันนี้ เป็นเพราะพรรคประชาธิปัตย์เอาเรื่องขี้หมูราขี้หมาแห้งมาเล่นกันจนเปรอะแบบนี้ ไม่เคยมีแนวทางที่สร้างสรรค์" พร้อมกับพูดอย่างไม่พอใจว่า “ที่ไปเรียกพ.ต.ท.ทักษิณว่านักโทษ เรียกกันจนติดปากนั้น น่าจะเป็นความผิดปกติทางจิต ถ้าไม่รู้จะสอนให้หายโง่ พ.ต.ท.ทักษิณยังไม่เคยติดคุก เป็นเพียงผู้ต้องหา และแม้คนที่เคยติดคุกแล้วเขายังไม่เรียกแบบนั้น เขาต้องให้เกียรติกัน”


          แต่กับแอร์โฮสเตสสาวที่มีความคิดจะเอากาแฟสาดหน้าอุ๊งอิ๊ง ลูกสาวทักษิณ แต่ยังไม่ได้ลงมือกระทำ เพียงแต่เขียนความคิดใน facebook ของตนเองเท่านนั้น นายประชา ประสพดี กลับออกมาแสดงความเห็นราวกับผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมืองได้รับความเสียหาย โดยกล่าวว่า "พฤติกรรมของพนักงานสายการบินคนดังกล่าวสะท้อนเจตนาคุกคาม อาฆาตมาดร้าย และจ้องจะทำร้าย ละเมิดสิทธิผู้โดยสาร นำข้อมูลการบินมาเปิดเผย ตั้งใจจะเอากาแฟสาดหน้า ถือเป็นการทำผิดกฎหมายอาญา ที่มีการตระเตรียมไว้ก่อน เพียงแต่กระทำการไม่สำเร็จ เนื่องจากจังหวะไม่เอื้ออำนวย หรือมีอุปสรรคมาขัดขวาง”


        จากกรณีทั้งสองง่าย ๆ นี้ไม่ทราบว่านายประชา ประสพดี เข้าข่ายคนประเภทไหน

1. เป็นคนไม่คิดหยุมหยิม หรือ

2. เป็นคนไม่มีความผิดปกติทางจิต หรือ

3. เป็นคนที่จะสอนให้หายโง่ได้

         แต่ที่แน่ ๆ วิญญูชนที่มีจิตไม่บกพร่อง และมีสติปกติ สามารถเรียกนายประชา ประสพดีว่า

1. เป็นคนไม่มีหลักการ (ศรีธนญชัยคงต้องอายเมื่อได้เจอ)

2. เป็นคนประจบสอพลอ (หลาย ๆ คนในพรรคเพื่อไทยต้องหลีกทาง)

3. เป็น สส. ที่คนจังหวัดสมุทรปราการต้องอดสูที่จะพูดถึง

4. เป็นรัฐมนตรีคนหนึ่งที่คนไทยต้องส่ายหน้า เพราะคงไม่สามารถสร้างสิ่งดีงามอันใด

ให้เกิดได้

วันศุกร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ถวิล เปลี่ยนศรี ยืดอกร่วมรับผิดคดีสลายม็อบ 53

'ถวิล เปลี่ยนสี' ยืดอกร่วมรับผิดคดีสลายการชุมนุม ปี 53 แนะ 'ธาริต' ลาออก หวั่นถูกโจมตีรอบด้าน ชี้ไม่ควรมีใครติดคุก


จาก คมชัดลึกออนไลน์วันที่ 13-12-2555


นายถวิล เปลี่ยนศรี ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ ในฐานะอดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และอดีตเลขานุการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) แถลงว่า ตนไม่สบายใจเนื่องจากมีการตั้งข้อหาจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ซึ่งเป็นการตั้งข้อหาที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของ ศอฉ. ซึ่งเป็นส่วนเกี่ยวข้องอยู่ในอดีต ในฐานะที่ตนมีหน้าที่อยู่ในคณะกรรมการ เช่นเดียวกับนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ชุมนุมปี 2553 ทั้งนี้สิ่งที่ตนจะพูดคือ
ประเด็นที่ 1. ตนพูดในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่ ศอฉ. ในขณะนั้น ตนมีความไม่สบายใจว่าเจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายต้องมีความรับผิดชอบ และขอยืนยันว่าถ้าการดำเนินการอื่นใดในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ ศอฉ.จะนำไปสู่การรับผิดชอบทางกฎหมาย ตนคิดว่าไม่มีกรรมการ ศอฉ. คนใดที่จะปฏิเสธแม้แต่นายธาริตก็ตาม หากจะมีการต้องรับผิดชอบทางใดทางหนึ่งในการทำงานของ ศอฉ. ตนพร้อมที่จะรับผิดชอบ ปกติแล้วตนเป็นคนขี้ขลาดมาก แต่ถึงจะกลัวอย่างไรก็ไม่เกินความรับผิดชอบที่เรามีอยู่ ตนปรึกษาคุณแม่ ภรรยา ลูกสาว และครอบครัวแล้ว หากตนจะไปติดคุกเพราะกรณีอย่างนี้ก็พร้อม

นายถวิล กล่าวต่อว่า เมื่อพูดถึงเหตุการณ์ในช่วงเดือน เม.ย. - พ.ค. ปี53 นั้นตนคิดว่าเราต้องตั้งหลักให้ตรงกันเสียก่อน คือ 1.เรื่องการชุมนุม การแสดงออกการเรียกร้องนั้นเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญอย่างที่เราทราบ ฉะนั้นเมื่อเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญแล้ว สิทธิเหล่านั้นจะต้องไม่ถูกสกัดยับยั้งขัดขวางปิดกั้น 2.อย่างไรก็ตามแม้จะเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญเราก็ต้องเคารพสิทธิของคนอื่นๆ การใช้สิทธิ์ต้องเป็นไปตามกรอบกฎหมายรัฐธรรมนูญ เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วตนมาพิจารณาดูเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 53 หรือกระทั่งปี 52 นั้นเป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วการปฏิบัติต่อกรณีนี้ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องให้ดี ถ้าปฏิบัติด้วยข้อมูลที่ไม่ครบถ้วยขาดตอนก็จะนำไปสู่บรรทัดฐานที่ผิดเพี้ยนจากสิ่งที่ควรจะเป็นและเกิดอันตราย

ทั้งนี้รัฐไม่ควรจะส่งสัญญาณว่าการชุมนุมที่ละเมิดต่อกฎหมายควรจะได้รับการปกป้อง แต่ไม่ควรจะได้รับการเอาใจใส่ดูแลต่างๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่นเดียวกันรัฐก็ไม่ควรส่งสัญญาณไปในทางบั่นทอนขวัญและกำลังใจเจ้าหน้าที่ ในการรักษาความสงบเรียบร้อยนำสิทธิของประชาชนกลับคืนมา ซึ่งถ้าทำแบบนั้นแล้วก็จะเกิดแบบแผนที่ผิดเพี้ยนไป เจ้าหน้าที่ที่ทำงานก็จะถูกมองไปอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งกรณีนี้โดยหลักแล้วตนคิดว่าไม่ควรจะมีใครติดคุก เพราะว่าเป็นการทำหน้าที่เพื่อระงับเหตุต่ออันตรายของบ้านเมือง แต่โดยรายละเอียดในปัจจัยการรับผิดรับโทษนั้นก็ว่ากันไปตามกระบวนการยุติธรรม ที่ศาลจะพิจารณา แต่ขอให้ตั้งหลักให้ถูกว่าอะไรเป็นเรื่องหลักและเรื่องรอง แต่ตนเห็นว่าขณะนี้มีการนำเรื่องรองมาเป็นเรื่องหลักเรื่องหลักเป็นรองและทำให้เกิดความเข้าใจที่ไขว้เขวซึ่งจะสะท้อนไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน

ประเด็นที่ 2. คือเรื่องของการตั้งข้อกล่าวหาที่ของพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ ผอ.ศอฉ. ว่าร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล ซึ่งตนต้องขอบคุณที่ทางดีเอสไอ ไม่ตั้งข้อกล่าวหาว่าเจตนาโดยประสงค์ต่อผล เพราะนายธาริต ซึ่งอยู่ร่วมในคณะกรรมการนโยบายศอฉ.ได้ตระหนักดีว่า ทุกคนใน ศอฉ.นั้นไม่มีผู้ใดประสงค์ต่อผลที่จะให้เกิดการบาดเจ็บล้มตาย จากการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ ส่วนที่ว่าจะมีการประสงค์ต่อผลหรือไม่จากฝ่ายอื่นนั้น เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาดู เพราะจะเห็นได้ว่าช่วงเม.ย.52 เจ้าหน้าที่สามารถปฏิบัติงานได้โดยไม่มีผู้ล้มตาย แต่ก็มีบางฝ่ายที่จะยืนยันว่ามีคนตายจากการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ โดยมีการสร้างพยาน หลักฐาน และให้ข่าว โดยจนถึงบัดนี้ก็ยังไม่ปรากฏว่ามีมูลความจริง ซึ่งเหตุการณ์ในปี 53 นั้นอาจจะมีบางฝ่ายประสงค์ที่จะให้เกิดผู้เสียชีวิตอย่างที่พยายามตั้งประเด็นพฤษภาโมเดลขึ้นมา ซึ่งเป็นเรื่องต้องพิจารณาวินิจฉัย แต่ตนยืนยันว่าเจ้าหน้าที่รัฐไม่มีความประสงค์ที่จะให้เกิดการบาดเจ็บล้มตายของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งขึ้นมา

นายถวิล กล่าวต่อว่า หากถามว่า ศอฉ. เล็งเห็นผลหรือไม่ ตนยืนยันว่าเล็งเห็นผลจริง ซึ่งไม่ได้หมายความว่าตนไปยอมรับข้อกล่าวหาของดีเอสไอ แต่หมายความว่าศอฉ.เล็งเห็นข้อเท็จจริง เล็งเห็นสถานการณ์ว่ามันอาจจะนำไปสู่การเสียชิวิต นำไปสู่เหตุรุนแรงได้ด้วยเหตุผลหลายๆ ประการในแง่ของข้อเท็จจริง ซึ่งอย่างแรกเลยการชุมนุมนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย 2.ผู้ชุมนุมพร้อมที่จะใช้ความรุนแรงกับเจ้าหน้าที่ของรัฐกับประชาชน 3.ศอฉ.เล็งเห็นข้อเท็จจริงว่ามีอาวุธอยู่กับผู้ชุมนุมทั้งการขนมาเอง และปล้นไปจากเจ้าหน้าที่ เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วนโยบายที่ออกจาก ศอฉ.ในขณะนั้นคือเราพยายามป้องกันเหตุเหล่านี้ให้ได้ สิ่งที่ออกจาก ศอฉ.ในขณะนั้นคือว่า 1.ไม่มีคำสั่งสลายการชุมนุมเป็นอันขาด 2.เจ้าหน้าที่ได้รับคำสั่งให้ไปตั้งด่านที่สี่แยกราชประสงค์ ทั้งสี่ด้าน คำสั่งคือห้ามเคลื่อนที่เข้าไปให้รักษาพื้นที่เอาไว้ โดยวัตถุประสงค์คือต้องการให้การชุมนุมยุติไปเอง โดยตั้งด่านเพื่อไม่ให้คนเข้า ระบายคนออก ไม่ให้มีการส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ เข้าไปได้ 3.การตัดสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ทั้งน้ำไฟ โทรศัพท์ เพื่อให้การชุมนุมนั้นฝ่อลงไปเอง ซึ่งเจ้าหน้าที่ไม่มีการไปกำหนดวันให้การชุมนุมยุติ ซึ่งการที่ไม่ได้กำหนดเอาไว้ฝ่ายที่ตั้งข้อกล่าวหาก็มองได้ว่ายืดเยื้อ แต่ผู้ปฏิบัติก็บอกว่าเพื่อรักษาชีวิตให้ได้มากที่สุด 4.การสื่อสารกับคนในที่ชุมนุมเพื่อให้เข้าใจสถานการณ์ ทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่าแม้มีการปฏิบัติอย่างรอบคอบแล้วก็มีเหตุตายรวมถึงนายพัน คำกอง คนขับแท็กซี่ ก็เสียชีวิตในวันที่ 15 พ.ค.2553 ช่วงที่มีการกระชับพื้นที่ ทั้งนี้เหตุที่มีการตายเกิดขึ้นเนื่องจากมีเหตุการณ์โจมตีเจ้าหน้าที่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ต้องรักษาที่ตั้ง

ประเด็นที่ 3.อยากฝากไปถึงนายธาริต ซึ่งสนิทกันมากเวลานั่งทำงานใน ศอฉ. ก็นั่งข้างตน ช่วงของการทำงานนอก ศอฉ. มีปัญหาอะไรก็ปรึกษาหารือกัน เมื่อมาถึงบัดนี้ตนมีความมั่นใจ ไม่เคยคลอนแคลงในตัวของนายธาริตเลย ตนยังมั่นใจในความเป็นมืออาชีพ ในการเป็นข้าราชการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทำเพื่อผลประโยชน์ของชาติบ้านเมือง ถึงแม้จะมีคนเอานามสกุลตนไปค่อนแคะนายธาริต ว่าเปลี่ยนสี เปลี่ยนขั้ว แต่ตนยังมั่นใจนายธาริต

นายถวิล กล่าวว่า แต่เมื่อมั่นใจแล้วก็เป็นห่วงนายธาริต โดยสุจริตใจนั้นคำสั่งให้นายธาริตเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนในคดีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ชุมนุมปี 2553 เป็นคำสั่งที่แปลกประหลาดที่สุดในโลก ทำให้ตนนึกไปถึงเจตนารมณ์เบื้องหลังของการสั่งแต่งตั้งว่าจะเป็นการปรารถนาดีต่อนายธาริต หรือไม่ ด้วยความสุจริตใจตนเรียนว่านายธาริต ซึ่งเคยทำงานอยู่ใน ศอฉ. ถ้าทำคดีนี้ในทางที่เอนเอียงหรือเป็นประโยชน์ต่อ ศอฉ. ผู้คนก็จะมองว่าเข้าข้างพวกตัวเอง เข้าข้างเพื่อนเก่า แต่ในทางกลับกันหากนายธาริต ทำอีกอย่างก็จะถูกค่อนแคะว่า เอนเอียงไปทางฝ่าย นปช. รับใช้ฝ่ายรัฐบาลปัจจุบัน ฉะนั้นจะซ้ายจะขวาไม่มีออกกลางนายธาริตเสียทั้งสิ้นตนจึงบอกว่าหมากที่ตั้งนายธาริตเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนนั้นเป็นหมากที่เหี้ยม อำมหิตทารุณ นายธาริตจะเสียผู้เสียคนตรงนี้ เพราะฉะนั้นตนให้ฐานะที่คุ้นเคยกันมาก่อน และมีความปรารถนาดีอย่างจริงใจขอเรียนว่านายธาริต ควรจะลาออกจากหัวหน้าพนักงานสอบสวนตรงนี้ด้วยเหตุผลที่เรียนไป และคนที่แต่งตั้งควรจะเข้าใจความเป็นมนุษย์ของนายธาริต ควรจะให้เกียรติ ไม่ให้มาตากแดดตากลมอย่างนี้

ผู้สื่อข่าวถามว่าหากนายอภิสิทธิ์-สุเทพ ติดคุกนายธาริต จะโดนด้วยหรือไม่ นายถวิล กล่าวว่า ตนยังไม่ทราบ แต่เรียนว่าโดยหลักแล้วเรื่องนี้ไม่ควรจะมีใครติดคุก

เมื่อถามว่าช่วงเวลาที่ผ่านมาได้พูดคุยกับนายธาริต บ้างหรือไม่ นายถวิล กล่าวว่า ทุกครั้งที่ตนต้องไปชี้แจง เป็นพยานในคดีจากการชุมนุมปี 2553 ก็จะโทรหานายธาริต แต่หลังจากที่ได้เป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนก็ยังไม่มีเวลาได้คุย




วันจันทร์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2555

หลังวันที่ 11 ธันวาคม 2555

ฟองสนาน จามรจันทร์ โหรสมัครเล่น  Fongsanan@gmail.com

เมื่อพระราหูยก 11 ธันวาคม 2555

ทางโหราศาสตร์พระราหู (ใช้ ๘ เป็นตัวแทน) เป็นเจ้าของของความลุ่มหลงมัวเมา ตำราเฉลิมไตรภพบอกว่าพระอิศวรทรงชุบจากผีโขมดสิบสองหัว (ผู้เขียนไม่เคยเห็นผีโขมดจริง เห็นแต่ภาพวาดในตำราโหร) มีสีกายดังทองสัมฤทธิ์ วิมานสีนิล ทรงครุฑเป็นพาหนะ

พระราหูเป็นจุดอุปราคาหรือเงามืดขณะที่เกิดสุริยุปราคาหรือจันทรุปราคา ผลคือ มีสภาพมัวมน ไม่แจ่มใส ลักษณะของราหูจึงเป็นลักษณะของความมืด เปรียบเหมือนอวิชชาบดบังในตัวบุคคล ทำให้เกิดโมหจริต และอกุศลจิตมัวเมาไปกับอารมณ์ต่างๆ ราหูสถิตราศีใดก็เบียดเบียนเรือนนั้นของเจ้าชะตา ครูโหรจึงบัญญัติไว้ว่า “ทายมัวเมาให้ทายราหู”

หลักโหรยังเปรียบว่าพระราหูเหมือนด้วงมอดเบียดเบียนดวงชะตา เท่าที่สังเกตมาจะสร้างความเปลี่ยนแปลงไม่คาดฝันในภพหรือเรื่องราวที่ไปสถิต อย่างที่ครูโหรอุตรภัทร์ หรือมหาบรรเทา จันทร์ศร บอกว่า เปลี่ยนแปลงไปคือราหู แต่หากดวงชะตาผู้ใดพระราหูเสื่อมก็จะช่วยให้สงบขึ้น ไม่ชอบโลดโผน

ฉะนั้น ผู้วางดวงชะตากรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งลงเสาหลักเมืองเมื่อวันอาทิตย์ที่ 21 เมษายน 2325 เวลา 06.54 น. ลัคนาสถิตราศีเมษ ธาตุไฟ จึงวางพระราหูในดวงเดิมของดวงเมืองให้สงบไว้ที่ราศีมีน ภพวินาสน์ อันหมายถึงพระราหูอยู่ในสภาพถูกจำกัดเสรีภาพ ถูกจับกุมคุมขังให้ไม่ให้เบียดเบียนดวงเมือง

อีกทั้งราศีมีนธาตุน้ำนี้มีพฤหัสบดี (๕) ตัวแทนคุณธรรม จริยธรรม ศาสนา กฎหมาย ฯลฯ เป็นเทพเทวาคุ้มครองทุกดวงชะตา รวมทั้งดวงเมืองเป็นเจ้าของบ้านหรือเกษตร พระราหูในราศีมีนจึงอยู่ในสภาพโจรอยู่วัด

อย่างไรก็ตาม หลังการวางเสาหลักเมืองพระราหูก็ไม่หยุดนิ่ง แต่จรไปเรื่อยๆ เหมือนดาวดวงอื่น มีบางโอกาสที่เทพเทวาคุ้มครองดวงเมืองอ่อนแอ พระราหูเข้มแข็งก็เข้าข่ายทำร้ายทำลายหรือส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนดวงเมืองได้ในแต่ละช่วงเวลา

จับความใกล้ๆ นี้คือ ตั้งแต่ 24 พฤษภาคม 2554 เป็นต้นมา พระราหูจรสถิตที่ราศีพิจิก ซึ่งเป็นภพที่แปดหรือมรณะของดวงเมือง พระราหูที่นี่จึงเหมือนเจ็บไข้ได้ป่วย อาละวาดไม่ได้เต็มที่ แม้ตำแหน่งจะได้มาตรฐานดีเป็นอุจแปลว่าสูงส่ง

อย่างไรก็ตาม เพราะมีสัญญาณจากดาวดาวอื่นอยู่ก่อนแล้วว่าบ้านเมืองจะเกิดการเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัย (หากอธิบายจะยาวมาก) พระราหูจรที่พิจิกจึงยังไว้ลายนักเลงแสดงอาการไม่คาดฝัน เพราะไปทำมุมเล็งฉกาจกับพระอังคาร (๓) ตัวแทนดวงเมือง เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงคือ ประเทศชาติได้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้หญิง จากการเลือกตั้งเมื่อ 3 กรกฎาคม 2554

จึงขณะนี้ คำถามที่ผู้เขียนถูกแฟนๆ โหราศาสตร์จี้ถามมากที่สุดและได้รับปากกับ น้าเปลว สีเงิน เมื่อคราวได้พบและคารวะท่านในงานแต่งงานคุณปลื้ม "สุรบถ หลีกภัย" ว่าจะเขียนให้ คือ แล้ววันที่ 11 ธันวาคม 2555 ที่พระราหูจะจรหรือยกจากราศีพิจิก เข้าราศีตุล ธาตุลม ภพที่เจ็ด เล็งลัคนา และพระอาทิตย์ (๑) ของดวงเดิมดวงเมือง แล้วอะไรจะเกิดขึ้น?

จึงขอทำนายดวงเมืองในระยะอันใกล้นี้ โดยอ้างอิงจากหนังสือศาสตร์แห่งโหรปี 2556 ของสำนักพิมพ์มติชนที่ผู้เขียนได้รับเกียรติเขียนด้วยคนหนึ่งคือ

1...ปี 2556 ทั้งปีอยู่ในกระบวนการเปลี่ยนผ่านขนานใหญ่ของดวงเมือง เพื่อเข้าสู่ยุคใหม่ที่ผู้เขียนเชื่อเป็นการส่วนตัวว่า "ความศิวิไลซ์" หรือที่ครูโหร อาจารย์เทพย์ สาริกบุตร เรียกว่า "ยุคราชวิไล" รออยู่ ชนิดที่จะได้เฮทั้งประเทศ ตั้งแต่หลังคล้ายวันเกิดดวงเมือง 21 เมษายน 2557 เป็นต้นไป

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระหว่าง 11 กรกฎาคม 2558 - 7 สิงหาคม 2559 คนไทยจะเฮกันชนิดเสียงแหบเสียงแห้ง คล้ายเหตุการณ์วันที่ 5 ธันวาคม 2555 ที่พระบรมรูปทรงม้าไปจรดแยกผ่านฟ้า ไปถึงริมถนนราชดำเนิน ข้ามสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ไปถึงโรงพยาบาลศิริราช และทั่วประเทศด้วยคำว่า....ทรงพระเจริญ

เพียงแต่ในปี 2556 นี้ หากคนไทยไม่ช่วยคัดท้ายกันให้ดี มีโอกาสมากที่จะเกิดแผลใจขึ้นในแผ่นดิน ในระดับเหตุการณ์การชุมนุมของ นปช.เมื่อปี 2553 อาจกลายเป็นเรื่องอนุบาลไปเลย คือ

2...เริ่มตั้งแต่ 7 กันยายน 2555 ไปจนตลอดปี 2556 พระเสาร์ (๗) จรดาวโทษทุกข์ ยกจากราศีกันย์จรเข้าราศีตุล ภพที่เจ็ด เล็งลัคนาดวงเมือง เป็นดวงแตกขั้นที่หนึ่ง

พระเสาร์เป็นตัวแทนภพที่สิบคือรัฐบาล และการบริหารราชการแผ่นดิน ของดวงเมือง ฉะนั้นเมื่อแตก รัฐบาลจึงเจอเรื่องหนัก ตามมาตรฐานอุจ แปลว่าสูง ในเรื่องที่พระเสาร์เป็นตัวแทนอยู่ คือพืชผลทางการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องข้าว ที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจและป.ป.ช.รับเรื่องไว้สอบสวนแล้ว เรื่องโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เช่นเรื่องน้ำเกี่ยวกับการขุดลอกลำน้ำที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ

ภพที่เจ็ด เป็นภพกึ่งกลางดวงชะตาเมือง คนไทยจึงแตกเป็นสองฝ่ายอีกแล้ว เช่น พวกที่เอาจำนำข้าวเพราะชาวนาได้ประโยชน์ กับพวกที่ไม่เอาเพราะกลัวประเทศเจ๊ง

พระเสาร์จรราศีตุลถึงพระจันทร์ (๒) ตัวแทนประชาชนที่สถิตราศีกรกฎ ภพที่สี่ดวงเมือง เป็นคู่หนี้ ประชาชนจึงต้องช่วยแบกหนี้ที่ทำจากรัฐบาล

และประชาชนยังหนี้มาก (อุจ) ที่รัฐบาลจัดให้ ตามความหมายภพที่สี่ หรือพันธุดวงเมือง อันหมายถึงพื้นฐานเดิมครอบครัว บ้านและที่ดิน เอกสารสัญญา ฯลฯ กรณีนี้น่าจะคือหนี้จากโครงการบ้านหลังแรกและรถยนต์คันแรก

3...ตั้งแต่ 11 ธันวาคม 2555 เป็นต้นไปตลอดปี 2556 พระราหูจรยกจากราศีพิจิก เข้าราศีตุลไปสมทบกับพระเสาร์คู่มิตรใหญ่ที่จรรออยู่ก่อนแล้ว ช่วยกันทำให้ดวงเมืองแตกขั้นที่สอง เมืองจะหนักเหมือนหินทับตามโฉลก

เสาร์ (๗) เพ่งเล็งลัคน์แล้ว อสุรา (๘)

ภุมเมนทร์อัษฏา ว่าไว้

จันทร์เป็นสิบเอ็ดกับ ราหูเล่า

อาภัพอัปภาคย์ให้ โทษแท้ประเหิรหิน

โดยอ่านว่าตั้งแต่ 11 ธันวาคม 2555 ไปตลอดปี 2556 จะเริ่มเป็นจุดพลิกผันทางการเมืองแบบสุดๆ จากพระราหูคือ เรื่องการทุจริต คอรัปชั่น การลงทุนไม่คุ้มกับเงิน เรื่องหมิ่นเหม่กฎหมาย เรื่องเกี่ยวกับจีน เรื่องหนี้สินของประชาชนที่พระเสาร์ชักนำพระราหูถึงพระจันทร์คู่หนี้ด้วย โดยพระราหูราศีตุลได้มาตรฐานราชาโชค หนี้ที่ประชาชนต้องแบกหนักเป็นหินทับนี้ จะเป็นหนี้ที่รัฐบาลคือพระเสาร์ให้มา

ภพที่เจ็ดดวงเมืองคือ ภพปัตนิหรือคู่ครอง หุ้นส่วน จะมีเรื่องแต่งงาน หย่าร้าง ความรักของผู้นำหรือบุคคลสำคัญๆ ในกรุงรัตนโกสินทร์ตลอดทั้งปี เช่นคุณตั๊กและคุณบุญชัยเป็นตัวอย่าง

พระราหูเล็งลัคนาดวงเมือง จะสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับผู้นำแบบไม่คาดฝันตั้งแต่ 11ธันวาคม 2555 เป็นต้นไป ตามโฉลกที่ว่า....ราหูมาต้องลัคน์ แม้นสูงศักดิ์สุราลัย จะจากพรากยศไกร ลำบากใจไฟเผาผลาญ.....

พระราหูยังเล็งพระอาทิตย์ (๑) ดวงเดิมดวงเมืองด้วย ผู้นำองค์กรต่างๆ มีโอกาสเปลี่ยนแปลงชนิดพลิกล็อกอีกเหมือนกัน

4...ตั้งแต่ 30 พฤษภาคม 2556 เป็นต้นไป พฤหัสบดี (๕) เทพเทวาคุ้มครองดวงเมือง ยกจากราศีพฤษภที่นำหน้าลัคนาดวงเมืองอยู่ ยกเข้าราศีเมถุน มาตรฐานประ อ่อนแอ อาภัพ คุ้มครองชะตาเมืองได้น้อย ทั้งพระเสาร์และพระราหู ช่วยกันระรานดวงเมืองเต็มที่

จากจุดนี้ ทั้งฝ่ายคุณธรรมกับไร้คุณธรรม จะเริ่มตรึงกำลัง ด้วยเรื่องรัฐบาลที่พระเสาร์เป็นตัวแทน และเรื่องรัฐธรรมนูญที่พฤหัสบดีเป็นตัวแทน อันเนื่องจากปรากฏการณ์สมาสัปต์ หรือควั่นเป็นเกลียวเชือกของพฤหัสบดี และพระเสาร์ คล้ายๆ กับช่วงเริ่มชุมนุมของ นปช.ปี 2553 แล้วรอพรรคพวกคือดาวขนาดเล็กกว่าฝ่ายดี และร้ายเข้ามาผสมโรง

5...จุดของการเปลี่ยนแปลงจริงๆ จะเกิดขึ้นระหว่าง 19 กันยายน 2556 - 30 ตุลาคม 2556 เมื่อพระเสาร์และพระราหูเดินสวนเข้าใกล้กันระยะสามองศา วันที่สวนสนิท เวลาแห่งความมืดมิดคือ 8 ตุลาคม 2556 หลังจากสิ้นเดือนตุลาคม 2556 แล้ว ก็จะปรากฏการณ์คลี่คลายของบ้านเมือง ซึ่งจะได้แจ้งให้ทราบต่อไป

6...อย่างไรก็ตาม ไม่มีอะไรร้ายไปทั้งหมด พระเสาร์และพระราหูเป็นคู่มิตรใหญ่ ระหว่างที่ช่วยกันเล็งลัคนาดวงเมืองอยู่นี้ ประเทศชาติได้อะไรแปลกต่างจากเดิม เช่นผู้นำที่เป็นมุสลิม ผู้นำที่เป็นหม้าย ที่พระเสาร์เป็นตัวแทนอยู่ หรือการส่งออกไปจีนที่พระราหูเป็นตัวแทนจะดี การเก็งกำไรสนั่น โครงสร้างพื้นฐานสำคัญๆ ของประเทศก้าวหน้า อสังหาริมทรัพย์จะบูม ต่างประเทศต่างชาติต่างแดนให้ความสำคัญกับไทย สำคัญคือ

7...ดวงเดิมของดวงเมืองวางไว้เข้มแข็งเหมือนตึกที่รากฐานมั่นคง ไม่ว่าอะไรจะมีกระทบ ก็สามารถฟันฝ่าไปได้ ยกเว้นแต่จะย้ายเมืองก็อีกเรื่องหนึ่ง

ฟองสนาน จามรจันทร์

7 ธันวาคม 2555

ธาริต เพ็งดิษฐ์


ธาริต เพ็งดิษฐ์
คัดจากคอลัมน์เปลว สีเงิน ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 7 ธันวาคม 2555


อื้อฮือ...ฟังนายธาริต เพ็งดิษฐ์ แถลงตั้งข้อหา "อภิสิทธิ์-สุเทพ" ร่วมฆ่าโดยเจตนาเล็งเห็นผล โดยแจกแจงพฤติกรรม ๒ ฆาตกรทุกขั้นตอนแล้ว ผมว่า ต้องตัดหัวเดี๋ยวนี้เลย จึงจะสมใจธาริต-สะใจ นปช. คดีนี้มีเงื่อนไขทางกฎหมาย แต่ธาริตไม่พูดเลย เมื่อกันยาผมเคยเขียน กระบวนการ "ฆาตกรรมอย่างวิสามัญ" ไว้ ก็จะยกมาเป็น "ฉบับเพิ่มเติม" ในการพิมพ์ครั้งที่ ๒ เพราะข้อเท็จจริง เขียนใหม่ มันก็อันเดิมนั่นแหละ!

คดีการตายแท็กซี่เสื้อแดง "นายพัน คำกอง" ที่ศาลอาญานัดฟังคำสั่งไปเมื่อ ๑๗ ก.ย.๕๕ หลายคนเข้าใจว่า "เป็นคำพิพากษา" โดยศาลระบุว่า ทหารร่วมกันยิงตามคำสั่ง "กระชับพื้นที่" ของอดีตนายกฯ อภิสิทธิ์และรองฯ สุเทพ เมื่อปี ๒๕๕๓ และ "อภิสิทธิ์-สุเทพ" ต้องมีความผิดฐานฆ่าคนตาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘

ฟังจากปากนายธาริต เพ็งดิษฐ์ ผมคิดว่าคนส่วนใหญ่ ซึ่งไม่ค่อยเข้าใจถึงความสลับซับซ้อนของระเบียบและขั้นตอนกฎหมาย รวมถึงภาษากฎหมาย อาจหลงเข้าใจอย่างนั้นจริงๆ ว่า ศาลตัดสิน "ทหารฆ่าประชาชน" โดยนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพเป็นคนสั่งในฐานะ ผอ.ศอฉ.!

เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง จะได้ไม่นำไปโหมกระพือให้เข้าใจกันผิดๆ ไม่อย่างนั้น เมื่อถึงวันที่ศาลตัดสินจริงๆ ถ้าคำพิพากษาออกมาไม่เป็นอย่างที่ตัวเอง "หลงเข้าใจ" ก็จะยกพวกมาตะโกนกันอีกแหละว่า...๒ มาตรฐาน!

ก็จะบอกว่า นี่ไม่ใช่คำตัดสิน "คดีนายพัน คำกอง" จากศาล เป็นเพียง "ไต่สวนการตาย" ในชั้นสอบสวนเท่านั้น ยังไม่มีโจทก์ ไม่มีจำเลย ไม่มีการฟ้อง ยังไม่มีใครผิด-ใครถูกใดๆ ทั้งสิ้น เป็นเพียงขั้นตอนนำคดีเข้าสู่กระบวนการพิจารณาความให้เป็นไปตามตัวบท-กฎหมายเท่านั้น
คือวัน-เวลา-เหตุการณ์ ที่นายพันตายนั้น เป็นการตายใน "สถานการณ์ฉุกเฉิน" ที่ทหารต้องออกมาปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ฉุกเฉิน และทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๗๗ และตามมาตรา ๓ พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายใน

การตายใน "ภาวะไม่ปกติ" กฎหมายมีระเบียบ-ขั้นตอนให้ปฏิบัติต่างไปจากการตายในคดีฆ่ากันตายทั่วไป ฉะนั้น กรณีนายพัน คำกอง นี้ ขั้นแรก อัยการต้องยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนการตายก่อน เพื่อให้ศาลมีคำสั่งว่า คนตายเป็นใคร ตายที่ไหน เมื่อไหร่ สาเหตุอะไร รวมถึงพฤติการณ์ที่ตาย
นั่นก็คือ ต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕๐ ก่อน โดยเฉพาะการตายเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ทหาร การชันสูตรพลิกศพต้องให้เป็นไปตาม ม.๑๕๐ กำหนด

พูดภาษาชาวบ้าน คือการ "วิสามัญฆาตกรรม" หรือ "ฆาตกรรมอย่างวิสามัญ" จากพนักงานเจ้าหน้าที่ ผู้ทำหน้าที่ตามกฎหมาย ถึงแม้กฎหมายระบุ พนักงานเจ้าหน้าที่ทำฆาตกรรมอย่างวิสามัญเป็นไปตามกรอบกำหนด ไม่มีความผิด ไม่ต้องรับโทษทัณฑ์ใดๆ ก็ตาม
แต่ในการทำคดี ตำรวจต้องทำตามมาตรา ๒๘๘ "ฆ่าผู้อื่นถึงแก่ความตาย" มีโจทก์ มีจำเลย ถูกฟ้องศาล แล้วศาลจะเป็นผู้ตัดสินเองว่า ที่พนักงานเจ้าหน้าที่ทำฆาตกรรมอย่างวิสามัญนายพัน คำกอง หรือรายอื่นๆ ในลักษณะเดียวกันนี้ เข้าเกณฑ์ไม่ต้องรับโทษหรือไม่?

คดีคนร้ายต่อสู้-ขัดขืนการจับกุมของตำรวจ แล้วถูกตำรวจยิงตายอย่างที่เห็นบ่อยๆ นั่นก็เรียกว่า "พนักงานเจ้าหน้าที่ทำฆาตกรรมอย่างวิสามัญ" เข้าลักษณะเดียวกันนี้

ตำรวจที่ฆ่าโจร ก็ต้องตกเป็นผู้ต้องหา "ฆ่าผู้อื่นถึงแก่ความตาย" ตามมาตรา ๒๘๘ เหมือนที่นายธาริตกำลังตั้งข้อหากับนายอภิสิทธิ์-นายสุเทพ นั่นแหละ ต้องถูกดำเนินคดีส่งอัยการ อัยการนำฟ้องศาล ตกเป็นจำเลย เพื่อให้ศาลตัดสินว่า.....

ที่ตำรวจวิสามัญโจรก็ดี ที่เจ้าพนักงานทหารร่วมยิงนายพันตาย ตามคำสั่ง ศอฉ. ซึ่งมี "อภิสิทธิ์-สุเทพ" เป็นหัวหน้าศูนย์ ก็ดี นั่นเป็นการปฏิบัติหน้าที่ "ฆาตกรรมอย่างวิสามัญ" เข้าข่ายไม่มีความผิด ไม่ต้องรับโทษใดๆ ตามกรอบกฎหมายระบุหรือไม่?

นี่คือขั้นตอนปฏิบัติทั่วไป ศาลพิจารณาแล้วตัดสินอย่างใด ก็เป็นอย่างนั้น ที่สำคัญคือ ในชั้นนี้นายธาริตไม่ควรพูดเชิงหลอกล่อให้ นปช.ปักใจตามสรรพคุณข้อหาที่จาระไนให้โทนไปทางว่า ๒ คนนี้ แน่ชัด...ฆาตกรสั่งฆ่าประชาชน!

เพื่อการติดตามคดีนี้ ผมจะนำ "องค์ประกอบเหตุการณ์" อันเป็นไปตาม "ข้อบัญญัติกฎหมาย" มาให้ท่านได้ค่อยๆ ทำความเข้าใจกัน จะได้ไม่ติดปลายเบ็ดอธิบดี DSI และเมื่อศาลตัดสินใจจะไม่วุ่นวะ-วุ่นวายว่า เอ๊ะ...ทำไมเป็นอย่างนี้ ก็ดูจากที่ศาลไต่สวนการตายนายพัน คำกอง เมื่อ ๑๗ ก.ย.ไปเลย ศาลมีคำสั่งว่า.......

"ผู้ตายชื่อนายพัน คำกอง ตายที่หน้าที่สำนักงานขายคอนโดมิเนียมชื่อไอดีโอคอนโด ถนนราชปรารภ แขวงมักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2553 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง เหตุและพฤติการณ์ที่ตายเกิดจากการถูกลูกกระสุนปืนขนาด .223 (5.56 มม.) จากอาวุธปืนที่ใช้ในราชการสงคราม ที่เจ้าพนักงานทหารร่วมกันยิงไปที่รถยนต์ตู้หมายเลขทะเบียน ฮค-8561 กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีนายสมร ไหมทอง เป็นผู้ขับ แล้วลูกกระสุนปืนไปถูกผู้ตายถึงแก่ความตาย ในขณะเจ้าพนักงานทหารกำลังปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบปิดล้อมพื้นที่ควบคุมตามคำสั่งของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.)"

ก็ชัดเจน เที่ยวตัดตอนพูดแต่ว่า "ทหารยิง" แต่ไม่พูดให้ครบประโยคที่ศาลระบุถึงการถูกยิงตายว่า "ในขณะเจ้าพนักงานทหารกำลังปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบ ปิดล้อมพื้นที่ตามคำสั่งของ ศอฉ."

การที่ DSI โดยนายธาริตตั้งข้อหา "อภิสิทธิ์-สุเทพ" ว่า ร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผลตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๙, ๘๓ และ ๒๘๘ หลังศาลมีคำสั่งในคดีไต่สวนสาเหตุการตายแล้วนั้น ตั้งข้อหาก็ไม่มีใครว่า 

แต่นายธาริต ฐานะผู้ใหญ่ ควรใช้ดุลยธรรมอธิบายในส่วนที่กฎหมายคุ้มครองการกระทำของนายอภิสิทธิ์-สุเทพ และทหารให้ชาวบ้านเข้าใจด้วย ไม่ควรพูดเบี่ยงไปทางแนว "ผิดเพราะเป็นฆาตกรสั่งฆ่าประชาชน" โดดๆ

จริงๆ แล้ว ที่ นปช.ชุมนุมเมื่อปี ๒๕๕๓ นั่นตะหาก ที่ศาลสั่ง "ไม่คุ้มครอง"!

ผมจะช่วยรื้อความจำให้ หลังฆ่าทหารที่สี่แยกคอกวัว นปช.คึกขยายแนวป่วนเมือง ครั้นทหารจะเข้าไปสลายการชุมนุม ๒๒ เม.ย.๕๓ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ก็เป็นโจทก์ไปยื่นคำฟ้องต่อศาลแพ่ง ขอให้ศาลออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ห้ามนายอภิสิทธิ์สั่งทหารเข้าสลายการชุมนุมอย่างเด็ดขาด

ศาลแพ่ง วันที่ 22 เมษายน 2553 ระหว่าง นายจตุพร พรหมพันธุ์ โจทก์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ 1 กับพวกรวม 2 คน เป็นจำเลย

พิเคราะห์คำฟ้องประกอบข้อเท็จจริงที่ได้ความจากการไต่สวนในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นหนึ่งในแกนนำผู้เรียกร้องประชาธิปไตย ในนามของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ซึ่งได้ชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองบริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ถนนราชดำเนินกลาง และถนนราชดำเนินนอก เพื่อกดดันให้นายกรัฐมนตรี (จำเลยที่ 1) ยุบสภา ตั้งแต่วันที่ 12 มี.ค. 2553 เป็นต้นมา

ต่อมาวันที่ 3 เม.ย. โจทก์และผู้ร่วมชุมนุมบางส่วนได้เคลื่อนย้ายไปชุมนุมในบริเวณสี่แยกราชประสงค์อีกแห่งหนึ่ง ครั้นวันที่ 7 เม.ย. จำเลยที่ 1 โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร และจังหวัดใกล้เคียง นอกจากนี้ จำเลยที่ 1 ยังมีคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่พิเศษ 1/2553 จัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) และตั้งนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี (จำเลยที่ 2) เป็นผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน กับมีคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่พิเศษ 2/2553 ตั้งจำเลยที่ 2 เป็นผู้กำกับการปฏิบัติงานของหัวหน้าผู้รับผิดชอบ พนักงานเจ้าหน้าที่และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติงานตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่มีความร้ายแรง

ก่อนเกิดเหตุจำเลยทั้งสองได้ประกาศให้โจทก์ และ นปช. ออกจากพื้นที่การชุมนุมบริเวณสี่แยกราชประสงค์ ต่อมาวันที่ 10 เม.ย. จำเลยทั้งสองร่วมกันออกคำสั่งให้ทหารจำนวนมากเข้าไปในบริเวณพื้นที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ และพื้นที่ต่อเนื่อง โดยประกาศว่าเพื่อเป็นการขอพื้นที่คืนจากผู้ชุมนุม ในวันเดียวกันนั้น เกิดเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างกำลังฝ่ายทหารกับประชาชนผู้ชุมนุม โดยกำลังฝ่ายทหารใช้ปืนยิงกระสุนยาง ระเบิดก๊าซน้ำตา ฯลฯ ในที่สุด ปรากฏว่ามีประชาชนและทหารเสียชีวิต จำนวน 25 คน และได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก

กรณีมีเหตุที่จะออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวตามคำขอของโจทก์หรือไม่ เห็นว่า การที่โจทก์และผู้ร่วมชุมนุมไปชุมนุมในที่สาธารณะบริเวณสี่แยกราชประสงค์ ครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่ถนนราชดำริถึงแยกศาลาแดง และถนนพระรามที่ 1 ถึงห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน อันเป็นการปิดกั้นกีดขวางการใช้เส้นทางคมนาคม และการใช้ยานพาหนะของประชาชนโดยทั่วไป ย่อมส่งผลกระทบต่อธุรกิจที่สำคัญ เกิดความเดือดร้อนเสียหายต่อการประกอบอาชีพ และการดำรงชีวิตปกติสุขของประชาชน เป็นการจำกัดเสรีภาพในการเดินทาง และสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชน ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร จึงมีเหตุจำเป็นที่จำเลยทั้งสองต้องใช้มาตรการขอพื้นที่คืน หรือที่โจทก์เรียกว่าเป็นการสลายการชุมนุมได้ ทั้งนี้ เพื่อให้สังคมกลับสู่สภาวะปกติ และเกิดความสงบเรียบร้อยของประชาชน

ดังนั้น ที่โจทก์ขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามจำเลยทั้งสองใช้กำลังทหารเข้าไปสลายการชุมนุมโดยเด็ดขาด จึงไม่มีเหตุผลเพียงพอที่ศาลจะมีคำสั่งตามคำขอข้อนี้ได้

อย่างไรก็ตาม ในการดำเนินการดังกล่าวเป็นเหตุให้มีทหาร และประชาชนเสียชีวิต 25 คน และได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก แม้ขณะนี้ยังไม่อาจทราบได้ว่าเป็นผลจากการกระทำของฝ่ายใด แต่การที่มีทหารและประชาชนบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก ประกอบกับปัจจุบันนี้ยังปรากฏว่ามีการชุมนุมของ นปช.อยู่อย่างต่อเนื่องในพื้นที่ดังกล่าว และน่าเชื่อว่าจำเลยทั้งสองอาจออกคำสั่งใดๆ เพื่อดำเนินการแก้ไขสถานการณ์ในการชุมนุม ย่อมมีเหตุผลเพียงพอที่ศาลจะออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวในส่วนนี้แก่โจทก์ได้

จึงมีคำสั่งว่า หากจำเลยทั้งสองจะกระทำการใดๆ ในการขอพื้นที่คืนหรือสลายการชุมนุมของผู้ร่วมชุมนุม ให้ดำเนินการเท่าที่จำเป็น โดยคำนึงถึงความเหมาะสม มีลำดับขั้นตอนตามหลักสากล ทั้งนี้ จนกว่าจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

นางวิไลลักษณ์ อินทุภูติ

นางอรนิตย์ พฤกษฎาจันทร์

ทั้งหมดนี้ นายธาริตก็รู้ เพราะร่วมอยู่ใน ศอฉ.ด้วย ฉะนั้น ควรพูดให้สมผู้ใหญ่ที่พึงมีหิริ โอตตัปปะ ไม่ต้องโป๊สีจนเวอร์อย่างที่แถลงเมื่อวาน (๖ ธ.ค.) หรอกว่า...

"........การสั่งใช้อาวุธปืน การสั่งใช้พลซุ่มยิง และอื่นๆ โดยมีการออกคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษรจากนายสุเทพ และได้อ้างไว้ในคำสั่งด้วยว่า เกิดจากการสั่งของนายกฯ อย่างชัดเจน สอดคล้องกับพยานบุคคลที่ร่วมอยู่ใน ศอฉ.ว่านายอภิสิทธิ์ได้รับรู้ สั่งการ และพักอาศัยอยู่ในศูนย์ ศอฉ.ตลอดเวลา และที่สำคัญคือ การสั่งการของบุคคลทั้ง ๒ กระทำอย่างต่อเนื่องหลายครั้ง จึงบ่งชี้ได้ว่า เป็นเจตนาเล็งเห็นผลร่วมกันสั่งการ"

ก็ทำคดีมีอภิสิทธิ์-เทพเป็นจำเลย ส่งอัยการฟ้องศาลไปตามระบบเถอะ..ธาริต ทั้งหมดที่เสริมสีนั้น ไว้เป็นหน้าที่ศาลท่านพิจารณาเองว่า "การขอคืนพื้นที่หรือสลายการชุมนุม จนเป็นเหตุให้นายพัน คำกอง ตายนั้น เป็นการดำเนินการเท่าที่จำเป็น โดยคำนึงถึงความเหมาะสม มีลำดับขั้นตอนตามหลักสากล" ตามที่ศาลได้สั่งไว้หรือเปล่า?

อย่ายกคดี "ฆาตกรรมอย่างวิสามัญ" ไปเบี่ยงประเด็นพูดนอกกรอบ พ.ร.บ.สถานการณ์ฉุกเฉิน ที่ใช้ขณะนั้น และการทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๗๗ และตามมาตรา ๓ พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายในของนายอภิสิทธิ์-สุเทพ

นายธาริตครับ...

ท่านเป็นข้าราชการสนองงานรัฐบาลได้เยี่ยม แต่แบบนี้ระวัง...ท่านจะต้องมีชีวิตอยู่ชนิดที่ ตัวเองก็ยังเกลียดตัวเอง!.



วันศุกร์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2555

การอภิปรายไม่ไว้วางใจ

อภิปรายไม่ไว้วางใจยุคใหม่
(คัดลอกจากคอลัมน์เปลว สีเงิน)


การอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ตลอด 3 วันนั้น มีบทสะท้อนที่น่าสนใจหลายเรื่อง โดยเฉพาะพฤติกรรมของ ส.ส.ทั้งรัฐบาล และฝ่ายค้าน รวมถึงการทำหน้าที่ของประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งภาพสะท้อนชัดแจ้งอย่างยิ่งว่าทำหน้าที่เป็นกลางสมฐานะประมุขหนึ่งใน 3 สามหลักประชาธิปไตยจริงหรือไม่ หรือเป็นแค่เพียงหัวโขนประดับ แต่เนื้อแท้ก็เป็นอะไหล่เสริมของฝ่ายรัฐบาลเท่านั้น

โดยเฉพาะการทำหน้าที่ของนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรนั้น ชัดเจนว่าเป็นหลิวลู่ลมเข้าข้างฝ่ายใด มิพักต้องพูดถึงการยกคำพูดที่ว่า ขอกันกินมากกว่านี้ หรือการบอกว่าไม่ได้ฟังคำอภิปรายก่อนหน้านี้ ก็แสดงวุฒิภาวะของคนทำหน้าที่เป็นประธานสภาฯ ว่าสนใจการประชุมฝ่ายนิติบัญญัติจริงแท้หรือไม่

และด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของประมุขฝ่ายนิติบัญญัติอย่างนี้นี่เอง

จึงไม่แปลกที่ญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย ได้สร้างปรากฏการณ์อย่างไม่เคยมีมาก่อน เพราะการอภิปรายของ ส.ส.ฝ่ายค้าน ตลอด 3 วันที่ใช้เวลาไม่น้อยกว่าวันละ 14 ชั่วโมง รวมแล้วกว่า 42 ชั่วโมง แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีกลับอยู่ในห้องประชุมไม่ถึง 5 ชั่วโมงเลย แม้จะอ้างเหตุผลว่าไม่ได้ไปไหนยังเวียนว่ายอยู่ในบริเวณรัฐสภาก็ตามที

สิ่งดังกล่าวสร้างภาพที่ไม่เคยมีมาก่อนในการปกครองระบอบประชาธิปไตยของไทย ที่ผู้ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจไม่อยู่ในห้องประชุมไม่ถึง 5% ของเวลาทั้งหมดด้วยซ้ำไป แล้วที่นายกฯ หญิงได้ประกาศหลายครั้งหลายเพลา โดยเฉพาะล่าสุดในการประกาศใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เพื่อจัดการกับผู้ชุมนุมองค์การพิทักษ์สยาม โดยหนึ่งในเหตุผลหลักคือ ให้ใช้เวทีรัฐสภาแก้ไขปัญหา แต่พฤติกรรมของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็ชัดเจนว่าสวนทางอย่างยิ่ง เพราะแค่การให้ความสำคัญในห้องประชุมยังไม่ได้รับการเหลือบแลเลย

แต่สิ่งที่น่าอเนจอนาถ และอาจกลายเป็นบรรทัดฐานในการอภิปรายไม่ไว้วางใจต่อไป นั่นคือ ผู้ถูกอภิปรายเลี่ยงที่ไม่ตอบคำถามและชี้แจง แต่กลับให้รัฐมนตรีคนอื่นชี้แจง ด้วยเหตุผลว่าได้จัดสรรอำนาจและแบ่งหน้าที่กันไปแล้ว ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงอย่างนั้นจะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นรายบุคคลทำไม เพราะเมื่อถูกซักถามก็โยนภาระให้รัฐมนตรีแต่ละคนไป

นี่หรือคือภาวะผู้นำประเทศที่กล่าวอ้างว่าให้พิสูจน์ที่ผลงาน และให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน เพราะภาวะผู้นำขึ้นอยู่กับแต่ละมุมมอง แต่ที่ไม่ต้องใช้อคติหรือมโนสำนึกของแต่ละปัจเจกเลย ก็คือการให้ความสนใจและเคารพต่อกติกา ประเพณี และกฎหมายเพียงใด เพราะไม่เคยมีครั้งใดเลยที่การอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่เจ้าตัวกลับไม่เคยชี้แจง หรือตอบคำถามของฝ่ายค้าน แม้ในข้อเท็จจริงไม่ว่าจะอภิปรายด้วยข้อมูลแบบจริงแท้เพียงใด หรือมีใบเสร็จมัดชัดเจน ฝ่ายค้านไม่สามารถสู้คะแนนโหวตได้ก็ตาม

สิ่งที่น่าพิเคราะห์อีกเรื่องหนึ่งในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ คือ การเรียกร้องของ ส.ส.รัฐบาลเองที่ได้อ้างกฎหมายว่าด้วยการอภิปรายของฝ่ายค้านกระทำขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งน่าแปลกที่เรื่องนี้ ส.ส.รัฐบาลกลับยึดหลักกฎหมายอย่างเหนียวแน่นจนถึงขั้นทำหนังสือส่งถึงประธานสภาฯ แต่ทำไม ส.ส.รัฐบาลกลับไม่สำเหนียกถึงญัตติว่าด้วยการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ และรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลเลย หรือพอเรื่องที่เป็นประโยชน์เข้าตัวก็ดึงก็อ้างกฎหมาย แต่เวลาเรื่องที่ทำให้เสียหายก็ใช้โวหารและข้ออ้างว่าด้วยการชนะเลือกตั้งมากลบไป อย่างนี้เรียกว่า 2 มาตรฐานหรือไม่

แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งคือ เนื้อหาการอภิปรายที่มีใบเสร็จย่อยๆ โดยเฉพาะเรื่องจำนำข้าวนั้น ดูเหมือนตัวนายกฯ และรัฐมนตรีที่พยายามจะตอบคำถามแทน ก็ไม่สามารถชี้แจงหรือเคลียร์เรื่องดังกล่าวได้เลย ซ้ำร้ายยังโยนความรับผิดชอบให้พ้นตัวไป แทนที่จะรับหน้าเสื่อเข้าไปจัดการดูแล เพราะเป็นเรื่องของงบประมาณที่เป็นภาษีของคนทั้งชาติ หรือว่าหากจะเข้าไปสืบสวนสอบสวนแล้วจะเจอขยะที่ตนเองเป็นผู้ซุกไว้ใต้พรม

การอภิปรายในยุคเฟชบุ๊กครั้งนี้ จึงสะท้อนชัดเจนว่าเป็นยุคเสื่อมของฝ่ายนิติบัญญัติที่เป็นเพียงสภาตรายาง จากพฤติกรรมของนายกฯ ที่ไม่ได้เหลือบแลหรือให้ความสนใจสภาแม้แต่กระผีกเดียว ที่สำคัญยังสะท้อนทัศนคติด้านลบที่ว่าอำนาจเมื่ออยู่ในมือใคร สิ่งนั้นคือความถูกต้อง แล้วอย่างนี้เราจะหวังและเรียกร้องให้ประชาชนเคารพกฎหมายอย่างเท่าเทียมได้อย่างไร ในเมื่อผู้แทนประชาชนและผู้บริหารประเทศยังมิได้ทำให้เห็นเป็นตัวอย่างเลย.



จักรพรรดิที่โลกลืม

ลี, มูนยอล.  จักรพรรดิที่โลกลืม = Hail to the emperor.  Ji Eun Lee, แปล.  รื่นฤทัย สัจจพันธุ์, บรรณาธิการ.  กรุงเทพฯ : เอโนเวล, 2555.  447 หน้า. ราคา 285 บาท.

เรื่องราวเกี่ยวกับชายคนหนึ่งที่เกิดในตระกูลจอง ซึ่งเป็นครอบครัวสามัญที่อาศัยอยู่ในชนบทห่างไกล แต่พ่อผู้ให้กำเนิดมีความเชื่อว่าฟ้าได้ลิขิตให้ลูกของตนเองเป็น “จักรพรรดิ” ตั้งแต่ก่อนถือกำเนิด ด้วยข้อความบนกระจกและคัมภีร์โบราณที่กล่าวว่า ตระกูลลีจะล่มสลาย ตระกูลจองจะรุ่งเรือง อีกทั้งนักบวชทายทักว่า “จักรพรรดิ” ซึ่งยังอยู่ในครรภ์คือผู้ประเสริฐเลิศล้ำ เมื่อถึงวันถือกำเนิดก็เกิดเมฆหมอกปกคลุมทั่วท้องฟ้าอย่างน่าอัศจรรย์ ยิ่งกว่านั้นเมื่อ “จักรพรรดิ” อายุ 7 เดือนถูกเสือตะปบหน้าผาก เกิดแผลเป็นเด่นชัดเป็นอักษรที่มีความหมายว่ากษัตริย์ ทำให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องเชื่อมั่นสุดใจในประกาศิตจากสวรรค์ ทำให้ชายคนนั้นจึงถูกเลี้ยงดูเป็นพิเศษเพื่อให้มีคุณสมบัติและบารมีมากพอที่จะเป็น “จักรพรรดิ”

แต่แล้วเมื่อราชวงศ์ลี ราชวงศ์สุดท้ายที่ครองแผ่นดินเกาหลีล่มสลายจริง ๆ โลกลับเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันด้วยระบบการปกครองที่ “จักรพรรดิ” ไม่รู้จัก เนื่องจากถูกเลี้ยงดูตามขนบธรรมเนียมแบบดั้งเดิม อีกทั้งอยู่ในสถานที่ห่างไกลความเจริญ ไม่สามารถทันการเปลี่ยนแปลงได้ และผู้คนที่อยู่ใต้การปกครองก็มีน้อย ไม่มีพลังที่จะส่งเสริมให้สังคมสมัยใหม่รับรู้ถึงการมีอยู่ของตนได้ และเมื่อออกสู่สังคมภายนอก ผู้คนก็มักหัวเราะเยาะในการกล่าวอ้างว่าตนเองเป็น “จักรพรรดิ” และมักถูกมองว่าเป็นคนวิกลจริตตลอดเวลา แม้ว่าจะมีความฉลาดปราดเปรื่องมากเพียงใดก็ตาม ยิ่งเมื่ออายุมากขึ้น ๆ ผู้คนที่รับถือตนเองเป็น “จักรพรรดิ” ก็น้อยลง กลายเป็นคนแก่ที่โดดเดี่ยวมากขึ้น และได้ตายไปอย่างเงียบเหงา ในตอนท้าย ๆ ของเรื่องมีคำพูดของ “จักรพรรดิ” ที่ทำให้ผู้อ่านรู้สึกว่าเรื่องทั้งหมดนี้เป็นไปลักษณะ “อา ... นี่ข้าเป็นกษัตริย์ที่ฝันว่าเป็นคนจัณฑาล หรือข้าเป็นคนจัณฑาลที่ฝันว่าเป็นกษัตริย์กันแน่นะ” หรือไม่

เป็นเรื่องที่อ่านได้เข้าใจยากมาก เนื่องจากตลอดเรื่องมีสำนวนอุปมาอุปไมย ยกเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์จีน และเกาหลี มาเปรียบเปรย ซึ่งผู้อ่านไม่มีภูมิเรื่องเหล่านี้ ทำให้ไม่เข้าใจ อีกทั้งสำนวนโวหารก็เขียนทำนองแบบเก่า ๆ และเรื่องราวก็ดำเนินไปแบบเรื่อย ๆ ไม่มีอะไรที่น่าตื่นเต้น แม้บางตอนอาจจะมีฉากขำ ๆ บ้าง เช่นตอนที่ “จักรพรรดิ” แสดงตัวยิ่งใหญ่ แต่คนรอบตัวไม่ยอมรับ ทำให้ต้องมีเรื่องท้าตีท้าต่อย เป็นต้น ยิ่งตอนท้ายเรื่องที่มีการสรุปเรื่องราวว่า “จักรพรรดิ” ได้ตื่นจากความเพ้อฝันและโรคคลั่งฐิติ รู้ว่าตนเองเป็นใครที่แท้จริง ผู้อ่านก็ยังสับสนว่า “จักรพรรดิ” ตื่นจริง ๆ หรือ เพราะผู้แต่งเองเขียนบอกไว้ว่า “ภาษาและตรรกะของเขาอ่อนแอเกินไปสำหรับรูปแบบความคิดสมัยใหม่ซึ่งมีอิสรภาพ ความเสมอภาคและมนุษยธรรม สำหรับเขาก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าการเน้นย้ำที่ออกจะเกินเลยไปเท่านั้นเอง...นี่เป็นสิ่งที่ผมคิดว่าทำไมเขาจึงต้องการให้ลูกชายรู้ว่าจะใช้ภาษาและตรรกะอย่างไรในยุคของเราเพื่อจะประสบความสำเร็จในงานที่เขาทำไม่สำเร็จ บางทีเขาอาจจะต้องการให้ลูกชายสร้างระบบความศรัทธาใหม่ที่ไม่มีใครเอาชนะได้ แทนที่ความศรัทธาของเขาที่ถูกล้มเลิกไป”

อย่างไรก็ตามในเรื่องก็มีข้อคิดดี ๆ เกี่ยวกับการปกครอง การดำเนินชีวิต ให้ผู้อ่านได้นำไปขบคิดอยู่ตลอดทั้งเรื่อง เช่น “ไม่ต่างจากการกดขี่ด้วยกำลังอำนาจ การปรนเปรอประชาชนด้วยทรัพย์สมบัติไม่ใช่คุณธรรมที่ถูกต้องในการปกครอง เมื่อประชาชนได้ลิ้มรสชาติทรัพย์สินครั้งหนึ่ง โลกจะเปลี่ยนอลเวงไปสู่ความต้องการทรัพย์สินอีกอย่างไม่ที่สิ้นสุด แถมเมื่อใดหากมีใครมายั่วยุด้วยทรัพย์สินที่มากกว่า ประชาชนจะโดนหลอกล่อให้ไปอยู่ข้างเขา ดังนั้น จึงมีถ้อยคำว่า ห้ามขอการเชิดชูจากประชาชนโดยผิดทำนองคลองธรรม” (หน้า 360) หรือ “สมัยโบราณ ช่างตีดาบชื่อดัง โกวเหยอจื่อผลักเมียลงไปในเหล็กหลอมละลายที่กำลังเดือด ตีได้ดาบไส้ปลาหยูฉางกับมู่เสวียสองเล่ม ความหมายก็คือช่างฝีมือต้องทุ่มเทอย่างจริงใจเพื่อสร้างของล้ำค่า แต่ช่างในวันนี้อาศัยเครื่องจักรผลิตของเหมือน ๆ กันตั้งหลายพันหลายหมื่นชิ้นในวันเดียวอย่างไม่ใส่ใจ แถมใช้วัสดุน้อย เพียงแต่อาศัยการลงทุนกับโฆษณาเกินจริง จึงกลายเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้วว่าต้องลงทุนค่าใช้จ่ายในการโฆษณามากกว่าการจัดซื้อวัสดุ” เป็นต้น

รูปภาพผู้แต่ง Yi  Mun-Yol

พระราชดำรัส




ในหลวงเสด็จออกสิงหบัญชร


ขอพระองค์ทรงพระเจริญ