วันอังคารที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ยาคุโมะ นักสืบวิญญาณ ตอนที่ 1-3



















คามินากะ, มานาบุ. ยาคุโมะ นักสืบวิญญาณ. ตอนที่ 1-3. แปลจาก Shinrei Tantei-Yakumo
โดย นภสิริ เวชศาสตร์. กรุงเทพฯ : J BOOK, 2551.

        ไซโต ยาคุโมะ เกิดมาพร้อมดวงตาข้างซ้ายสีแดงเพลิง ทำให้เขาสามารถมองเห็นวิญญาณได้ ทำให้เขาเป็นที่หวาดกลัวของคนรอบข้าง รวมทั้งแม่แท้ๆ ที่คิดฆ่าเขาและทิ้งเขาไปตั้งแต่เด็ก บาดแผลในใจนี้ทำให้ยาคุโมะมีอคติกับคนอื่น ไม่ชอบสุงสิงกับใคร ทั้งคนทั้งผี

ตอนที่ 1  นัยน์ตาสีเพลิง

         เปิดตัวด้วยบทนำสั้นๆ เล่าเรื่องราวตอนที่ยาคุโมะเพิ่งเกิดในโรงพยาบาล ตามมาด้วยคดีอีก 3 คดี
      แฟ้มคดีที่ 1 ห้องปิดตาย มิกิ ยูอิจิ และคาซุฮิโกะ แอบเข้าไปสำรวจอาคารร้างของมหาวิทยาลัยในตอนกลางคืน และได้พบกับ "บางสิ่ง" ในห้องปิดตายในอาคารหลังนั้นจนพากันสติแตกไป ฮารุกะ เพื่อนสนิทของมิกิ จึงไปขอความช่วยเหลือจากยาคุโมะตามคำแนะนำของรุ่นพี่ ทั้งสองคนได้ทำความรู้จักและคุ้นเคยแบบมีปากเสียงกันพอสมควร และช่วยกันไขความลับของห้องปิดตายจนความจริงกระจ่าง
      แฟ้มคดีที่ 2 อุโมงค์ปริศนา ฮารุกะนั่งรถของทัตซึยะ หนุ่มเพลย์บอยที่ตามมาจีบเธอ เพื่อกลับบ้าน ระหว่างทางก็ลอดเข้าไปในอุโมงค์แห่งหนึ่ง พอเกือบจะถึงทางออกก็มีบางสิ่งวิ่งตัดหน้ารถไป ทัตซึยะเชื่อว่าตัวเองขับรถชนเด็กเข้า ฮารุกะลงมาดูก็ไม่พบอะไร แต่พอมองไปที่ปากอุโมงค์ก็เห็นร่างชโลมเลือดของผู้หญิงคนหนึ่งที่บาดเจ็บสาหัส สักพักร่างนั้นก็อันตรธานไปอย่างรวดเร็ว ฮารุกะเอาเรื่องที่พบไปเล่าให้ยาคุโมะฟัง และได้รับรู้เรื่องราวของอุโมงค์อาถรรพณ์ที่ว่ากันว่าเกิดอุบัติเหตุขึ้นเป็นประจำ
     แฟ้มคดีที่ 3 เสียงเพรียกจากวิญญาณ กลางดึกคืนหนึ่ง ฮารุกะตื่นขึ้นมาเจอเพื่อนชื่อชิโอริกำลังร้องเตือนให้เธอหนีไป จากนั้นก็ลุกไหม้ไปต่อหน้าต่อตาแล้วหายไป ฮารุกะใจคอไม่ดีจึงติดต่อชิโอริทุกวิถีทาง แต่ก็ไม่สามารถติดต่อได้ จึงตัดสินใจไปขอความช่วยเหลือจากยาคุโมะ ทางด้านยาคุโมะก็กำลังรับปรึกษาคดีฆาตกรรมอำพรางให้นายตำรวจโกะโต ตำรวจสืบสวนที่รู้จักกัน ในที่สุด ทุกคนก็พบว่า คดีของโกะโตและเรื่องของชิโอริมีส่วนเชื่อมโยงถึงกัน

ตอนที่ 2 สายสัมพันธ์แห่งจิตวิญญาณ

        เป็นเรื่องยาวที่เกี่ยวกับฆาตกรต่อเนื่องที่เหยื่อเป็นนักเรียนมัธยมต้น ในตอนนี้หมอที่ทำคลอดยาคุโมะ ได้กลับมาในตอนนี้และมีบทบาทสำคัญ เพราะลูกสาวของหมอได้ถูกฆ่าเป็นคนแรกด้วยฆาตกรโรคจิต ทำให้หมอพยายามทำทุกวิถีทางที่จะให้ลูกสาวฟื้นคืนชีพมาใหม่ โดยหาร่างใหม่ให้ลูกสาว แต่
ปรากฎว่าเด็กสาวที่จะเป็นร่างใหม่นั้นกลับต้องจมน้ำตาย
        ซีรีส์ยาคุโมะ นักสืบวิญญาณนี้ มีจุดแตกต่างจากนิยายลึกลับสืบสวนญี่ปุ่นเรื่องอื่นๆ คือทุกคดีในยาคุโมะจะมีภูตผี วิญญาณ และเรื่องลึกลับเหนือธรรมชาติเข้ามาเกี่ยวข้องถึง 70-80 % และส่วนใหญ่ ยาคุโมะ จะแก้คดีได้เพราะสอบถามจากวิญญาณของคนที่ถูกฆาตกรรมมากกว่า
อย่างไรก็ดี ตัวละครมีชีวิตจิตใจ มีเสน่ห์ มีการผูกและคลายปมเป็นระยะๆ กระตุ้นให้คนอ่านอยากติดตามไปจนจบเรื่อง เหตุการณ์ในแต่ละตอนมีการเชื่อมโยงถึงกัน มีการอ้างอิงกลับไปกลับมาในบางครั้ง และในตอนจบก็มีการแง้มพรายถึงคน ๆ หนึ่งที่ตาเป็นสีแดงเพลิงทั้ง 2 ข้างที่น่าจะเป็นตัวร้ายหลักประจำเรื่อง

ตอนที่ 3 แสงสว่าง ณ ปลายทาง
         ตอนนี้เป็นเรื่องยาว เป็นการสืบสวนเกี่ยวกับหญิงสาวคนหนึ่งที่ฆ่าตัวตายด้วยการกระโดดตึก แต่วิญญาณไม่ยอมไปที่ใด ซ้ำยังต้องกระโดดตึกซ้ำแล้วซ้ำเล่า ได้รับความทุกข์ทรมาน นอกจากนั้นยังมีคนทรงเจ้าที่มีนัยตาสีแดงทั้ง 2 ข้าง มาปรากฎในเรื่องด้วย
         ตอนนี้มีการเดินเรื่องที่ค่อนข้างตื่นเต้น เร้าใจ มีความน่ากล้วแฝงอยู่เกือบตลอด ซึ่งผู้อ่านจะคิดว่าคงได้อ่านเรื่องผีอาฆาตล้วน ๆ แต่สุดท้ายกลายเป็นเรื่องหักมุมได้อย่างไม่คาดคิด และออกมาเป็นเรื่องสืบสวน ปนแนวชีวิต เป็นเรื่องประทับใจสามารถทำให้ผู้อ่านน้ำตาซึมได้ อ่านได้สนุก การดำเนินเรื่องเร็ว    
         ยาคุโมะในตอนนี้ ค่อนข้างมีความอ่อนโยนมากขึ้น เมื่ออยู่ต่อหน้าหญิงสาว นอกจากนี้ยังมีตัวละครอื่น ๆ จากตอนที่ 2 มามีบทบาทในตอนนี้ คือมาโกะโตะที่ในตอนที่ 2 ถูกวิญญาณเข้าสิงร่าง และยาคุโมะได้ช่วยไว้ ในตอนนี้ก็เป็นตัวละครสำคัญ ซ้ำยังมีความรู้สึกชอบตำรวจผู้ช่วยของโกะโตคือ อิชิอิ อีกด้วย แม้ว่าเรื่องจะมีบรรยากาศน่ากล้ว แต่ก็มีฉากน่ารัก ๆ สอดแทรกอยู่ ทำให้รู้ว่าหนังสือชุดนี้จึงเป็นที่ถูกใจวัยรุ่น

วันอาทิตย์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ตำรวจหน่วยสืบวิญญาณ

อามาโนะ, โชโกะ. ตำรวจหน่วยสืบวิญญาณ. เล่ม 1-3. แปลโดย หนึ่งฤทัย ปราดเปรียว. กรุงเทพฯ : JBook, 2552-2553.




ตอนที่ 1, จับพลัดจับผี

ตอนที่ 2, วิญญาณ (ใจ) หาย

ตอนที่ 3, แกะรอยลับฉบับแมวเหมียว

           เป็นเรื่องของตำรวจที่ชื่อคาชิวากิ ที่มีความสามารถเห็นวิญญาณได้ แต่เป็นวิญญาณคนที่ตายด้วยอุบัติเหตุหรือฆาตกรรม อยู่ในหน่วยตำรวจพิเศษที่รวมคนที่มีความสามารถพิเศษอีก 3 คน คือสารวัตรคาโฮะ ที่มีความสามารถในการรับรู้ความจำของสิ่งของที่จับต้อง รองสารวัตรคาโอรุ ที่สามารถพูดกับสุนัขได้ และคนสุดท้ายที่เป็นลูกครึ่งญี่ปุ่น-เบลเยียมที่ดูรูปถ่ายจะรู้ว่าคนในรูปตายหรือไม่ และตายด้วยเหตุอะไร ทั้ง 4 คนนี้อยู่ภายใต้การดูแลของหัวหน้าที่อ่านไปแล้วแทบไม่ได้ทำอะไร นอกจากแต่งตัวดี ได้รับการโหวตว่าเป็นตำรวจมาดแมนมาหลายสิบปี
          หน่วยพิเศษนี้มีหน้าที่ช่วยเหลือตำรวจหน่วยอื่น ๆ ที่ไม่สามารถจับคนร้ายได้ พระเอกของเรื่องจะมีหน้าที่สอบปากคำวิญญาณ จึงต้องทำงานในเวลาค่ำจนถึงรุ่งสาง มีโรคประจำตัวคือโรคกระเพาะอาหาร ต้องดื่มนมเป็นประจำเพื่อบรรเทาอาการปวด เนื่องจากเครียดจากเรื่องที่วิญญาณเล่า และสารรูปของวิญญาณที่น่ากลัว แต่ผู้เขียนกลับเขียนได้อย่างสนุกสนาน สามารถเรียกรอยยิ้มได้ตลอดเวลา

วันศุกร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

คินดะอิจิ ตอนที่ 17 เกาะวิญญาณอาถรรพณ์


โยโคมิโซะ เซชิ. คินดะอิจิยอดนักสืบ. ตอนที่ 17, เกาะวิญญาณอาถรรพณ์. แปลโดย ชมนาด ศีติสาร. กรุงเทพฯ : JBook, 2552. พิมพ์ครั้งที่ 3. 2 เล่ม. 400 บาท.

        จากคำนำสำนักพิมพ์ "ผลงานเรื่องยาวชิ้นสุดท้ายของโยโคมิโซะ เซชิ ซึ่งลงมือเขียนขณะอายุปลายเจ็ดสิบ เชื่อแน่ว่าคุณผู้อ่านคงยอมรับได้ เพราะเมื่อขึ้นชื่อว่า 'สุดท้าย' ไม่ว่าใครคงจินตนาการออกว่าปรมาจารย์ผู้นี้คงต้องไว้ลายให้นิยายเรื่องนี้กลายเป็นผลงานยิ่งใหญ่สมกระแสนิยมท่วมท้นที่ได้รับมาตลอด"

        ต้องยอมรับว่าอ่านแล้วสนุกอย่างที่สำนักพิมพ์คุยไว้

        เรื่องนี้เกิดขึ้นที่เกาะโอซาคาเบะ ซึ่งคินดะอิจิถูกว่าจ้างจากมหาเศรษฐีให้สืบหาคนหายที่เกาะนี้ แต่ขณะเดียวกันคินดะอิจิได้แวะหาสารวัตรอิโซคาวะที่ดูแลรับผิดชอบอยู่แถวนี้ด้วย ทำให้ได้เข้าไปสู่เรื่องราวฆาตกรรมบนเกาะและปริศนาเกี่ยวกับผู้สูญหายหลายรายบนเกาะนี้ ซึ่งเกิดขึ้นมานานนับสิบ ๆ ปีแล้ว พร้อมกันนี้ในตอนนี้จะมีเรื่องราวชีวิตที่น่าเศร้าของสารวัตรอิโซคาวะ นายตำรวจที่เคยร่วมทำคดีกับคินดะอิจิมาหลายครั้งไว้ด้วย โดยให้เห็นภาพชีวิตครอบครัวของสารวัตรชัดขึ้นว่า ภรรยาของสารวัตรต้องตรอมใจตาย เนื่องจากพอคลอดลูก ก็ถูกหมอตำแยขโมยลูกไป ซึ่งเป็นช่วงระหว่างสงครามสังคมกำลังสับสนอย่างมาก แต่ในที่สุดสารวัตรก็ได้มาพบลูกตัวเองในเรื่องนี้ แต่ขณะเดียวกันก็ให้รู้สึกสงสารสารวัตรอีกว่าลูกชายที่พบกันจะเป็นฆาตกรหรือไม่ ถ้าใช่สารวัตรก็ช่างน่าสงสารจริง ๆ
        ในทุกเล่มที่อ่านผ่านมาจะรับรู้บรรยากาศของเรื่องคือ ประเทศญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มีความวุ่นวาย และซากปรักหักพัง แต่เรื่องนี้บรรยากาศจะออกแนวปัจจุบันที่ญี่ปุ่นกำลังเจริญก้าวหน้า แต่ในที่สุดสาเหตุของเรื่องในตอนนี้มาจากสังคมญี่ปุ่นในช่วงสงครามที่สับสนนั่นเอง เพราะความสับสนทำให้ไม่สามารถสืบสวนอะไรได้มาก และคนต้องตาย ซัดเซพเนจร เอกสารหลักฐานก็สูญหายจากการทิ้งระเบิด และคนร้ายก็อาศัยความสับสนวุ่นวายนี้พรางตัวเองอยู่ได้เป็นเวลาหลายสิบปี กับภาพลักษณ์ของตนที่สวยงาม น่าทนุถนอมทำให้ไม่มีใครสงสัย
        ในเรื่องมีบรรยากาศเศร้า ๆ ว้าเหว่ของเกาะที่โดดเดี่ยว และจิตใจของมนุษย์ที่เห็นหน้าตาสะสวยแต่ใจดำอย่างกับอีกา ผู้อ่านจะได้อ่านเรื่องที่มีการหักมุมอยู่หลายตอน อ่านสนุก

ล่าสุสานอะเล็กซานเดอร์


สตีฟ เบอร์รี่. ล่าสุสานอะเล็กซานเดอร์. แปลจาก The venetian betrayal โดย โสภณา. พิมพ์ครั้งที่ 1.กรุงเทพฯ : แพรวสำนักพิมพ์, 2551. 481 หน้า. 335 บาท.
          เป็นนวนิยายในชุดคอตตอน มาโลน โดยใช้ตำนานและเรื่องราวความยิ่งใหญ่ของอะเล็กซานเดอร์มหาราชมาเป็นแกนเรื่อง สมมตตัวละครคือไอรินา โซวาสตินา ซึ่งสามารถรวบรวมประเทศเล็ก ๆ ที่แตกออกมาจากรัสเซีย จัดตั้งเป็นสหพันธรัฐเอเชียกลาง และดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีสูงสุดของสหพันธรัฐนั้น เป็นผู้หลงไหลในตำนานอะเล็กซานเดอร์
          เรื่องดำเนินไปอย่างรวดเร็วและต้องติดตามไปทุกฉาก เพราะก่อนจะจบฉากหนึ่ง ๆ จะมีเรื่องต้องลุ้น ผู้เขียนก็จะไปฉากอื่นก่อนแล้วค่อยมาบรรยายฉากนั้นต่อ ขณะเดียวกันฉากอื่นนั้นก็มีเรื่องให้ติดตามเช่นกัน เหมือนดูภาพยนตร์ที่ตัดไปตัดมาระหว่างเรื่องราวต่าง ๆ
            ในตอนนี้มีตัวละครที่เป็นฝ่ายดีอยู่หลายคนคือ คอตตอน มาโลน, คาสสิโอเปีย วิตต์, เฮนริก ธอร์วัลด์เซ่น และสเตฟานี เนลล์ รวมทีมเพื่อขัดขวางไอรินา โซวาสตินา ผู้มีแผนจะสร้างความยิ่งใหญ่จากสงครามเชื้อโรค แต่ขณะเดียวกันโซวาสตินาก็คลั่งไคล้ตำนานความยิ่งใหญ่ของอะเล็กซานเดอร์มหาราชด้วย กำลังตามล่าหาสมบัติปริศนาของพระองค์ ทำให้ทุกคนต้องเข้าไปพัวพันกับการตามล่าหา
สุสานของอะเล็กซานเดอร์ด้วยโดยไม่รู้ตัว
            อ่านสนุก ตื่นเต้นเร้าใจ และมีความรู้เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย เช่น การทำเชื้อโรคเพื่อมาฆ่าผู้คนจำนวนมาก โรคเอดส์ที่แพร่อยู่ทั่วโลก มีหลายพันธุ์ที่แตกต่างกัน และมีแหล่งกำเนิดจากที่ใด หรือแม้แต่ก็ผลิตยาต้านไวรัสเอชไอวี มีมูลค่ามหาศาล กระบวรการผลิตยาออกสู่ตลาดต้องใช้เวลาเท่าไร เป็นต้น แม้ว่าหนังสือเล่มนี้จะค่อนข้าหนา แต่รับรองว่าอ่านสนุกจนวางไม่ลงแน่ จนกว่าจะรู้ตอนจบ

วันอาทิตย์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2553

คินดะอิจิ ตอนที่ 19 งานเต้นรำสวมหน้ากาก



โยโคมิโซะ, เซซิ. คินดะอิจิยอดนักสืบ. ตอนที่ 19, งานเต้นรำสวมหน้ากาก.

รัตน์จิต ทองเปรม, แปล. กรุงเทพฯ : JBook, 2553. 387 หน้า. 300 บาท.


           เป็นตอนที่อ่านได้สนุกตอนหนึ่ง มีความซับซ้อน คาดเดาไม่ได้เลยว่าตัวฆาตกร
เป็นใคร จนถึงตอนท้าย ๆ เรื่อง ขณะอ่านไม่เห็นมูลเหตุจูงใจในการฆาตกรรม
แต่ผู้เขียนค่อย ๆ เล่าว่ามูลเหตุของเรื่องมาจากความเห็นแก่ตัวของคนที่เป็นผู้ดี
ตกยาก ที่ไม่สามารถละทิ้งลาภยศและหน้าตาของตนเองได้
           เรื่องมีตัวเอกคือชิโยโกะ นักแสดงชื่อดังและม่ายสาวพราวเสน่ห์ ผู้ที่แต่งงานและหย่าร้างถึง 4 ครั้ง และอดีตสามี 2 คนถูกฆาตกรรมในเมืองที่เธอมาพบคนรักรายล่าสุด ทำให้ตำรวจสงสัยในตัวเธอ ทำให้ชายคนรักรายล่าสุดว่าจ้างคินดะอิจิมาส
           ในเรื่องนี้ผู้อ่านจะได้ทราบเกี่ยวกับคนตาบอดสีด้วยว่าเป็นอย่างไร ผู้ชายมีโอกาสเป็นโรคตาบอดสีชนิดเห็นสีแดงเป็นสีเขียวราว 5% ส่วนผู้หญิงมีโอกาสเป็นเพียง .5% เป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม คนเป็นโรคตาบอดสีผู้ชายจะถ่ายทอดยีนผ่านลูกสาวผู้เป็นพาหะแต่ไม่มีอาการของโรค ซึ่งเมื่อผู้หญิงที่เป็นพาหะนี้ไปแต่งงานกับผู้ชายตาบอดสีลูกสาวจะเป็นโรคตาบอดสี ความรู้เกี่ยวกับโรคตาบอดสีนี้ทำให้อ่านเรื่องนี้ได้สนุกเพราะมีความเกี่ยวข้องกับตัวฆาตกร และทำให้ทราบเหตุที่มาของการฆาตกรรม
                                         ลูกสาวของชิโยโกะชื่อมิสะ อายุ 16 ปี หน้าตาไร้เดียงสา และไม่แข็งแรง ถูกเลี้ยงดูโดยย่า ทำให้ชิโยโกะต้องส่งเงินมาให้ย่าเพื่อการเลี้ยงดูเป็นประจำ และเมื่อความลับถูกเปิดเผยว่ามิสะ เป็นโรคตาบอดสี ทำให้เกิดความเข้าใจผิดจากอดีตสามีทั้ง 4 คนของชิโยโกะ คิดว่าเธอไม่ซื่อสัตย์ ทำให้พวกเขาขอเลิกกับเธอ แต่ในที่สุดคินดะอิจิสืบทราบว่าเรื่องทั้งหมดมาจากย่าที่เลี้ยงดู เพราะกลัวว่าชิโยโกะจะไม่ยอมส่งเงินค่าเลี้ยงดูมาให้ ถ้าทราบว่ามิสะถูกระเบิดตายในสงคราม จึงไปขโมยเด็กกำพร้ามาแทนที่มิสะ ซึ่งเด็กที่ขโมยมามีความผิดปกติทางพันธุกรรม และการเลี้ยงดูที่ไม่ดีทำให้เป็นโรคจิตด้วย จึงเป็นเหตุของการฆาตกรรม

วันพฤหัสบดีที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

คินดะอิจิ ตอนที่ 18 บันทึกมรณะ




โยโคมิโซะ, เซชิ. คินดะอิจิ ยอดนักสืบ ตอนที่ 18 บันทึกมรณะ. บุษบา บรรจงมณี, แปล. กรุงเทพฯ : JBook, 2553. 176 หน้า. 155 บาท.

           เป็นตอนที่คินดะอิจิถูกดึงเข้ามาเกี่ยวข้องในคดีฆาตกรรมที่ในตอนแรกคิดว่าเป็นคดีพิศวาสฆาตกรรม โดยมีศพหญิงสาวที่ถูกยัดในท้ายรถ และต่อมาได้มีอีกศพเป็นศพหนุ่มที่ถูกยัดศพไว้ท้ายรถอีกคัน ซึ่งจากการสอบสวนพบมามีความเชื่อมโยงกับเหตุฆาตกรรมซึ่งยังอึมครึมอยู่ โดยมี "บันทึกร้อยรอยปาก" เป็นต้นตอ
           ในที่สุดคินดะอิจิพบว่า บันทึกนั้นจะทำให้ดาราสาวที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งต้องเสียหาย เพราะเป็นหนึ่งใน "บันทึกร้อยรอยปาก" ตั้งแต่ดาราสาวคนนั้นเป็นดาราเด็ก ซึ่งในตอนแรกมีการฆ่าเจ้าของบันทึกที่ได้ขู่กรรโชกทรัพย์จากบรรดาหญิงสาว แต่ไม่ทราบว่ามีบันทีกนี้ ทำให้ชายหนุ่มที่เป็นคู่ขาของเจ้าของบันทึกนำบันทึกนี้มาขู่กรรโชกทรัพย์หญิงสาวต่ออีก ทำให้ดาราสาวที่กำลังมีชื่อเสียงต้องวางแผนฆาตกรรมขึ้นโดยพยายามสร้างหลักฐานว่าสามีของหญิงสาวที่เป็นศพเป็นคนฆ่าหญิงสาวและชายชู้ด้วยความหีงหวง

              เป็นตอนที่อ่านสนุกอีกตอน มีปมให้ติดตามและเมื่อเฉลยจะทำให้ผู้อ่านคาดไม่ถึงว่าฆาตกรเป็นดาราสาวร่วมมือกับพนักงานของบริษัทที่สามีหญิงสาวเป็นเจ้าของ เพราะเรื่องส่วนใหญ่มุ่งไปที่สามีว่าเป็นคนร้าย

วันจันทร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

คินดะอิจิ ตอนที่ 16 ลูกศรเทพมรณะ



โยโคมิโซะ, เซซิ. ตอนที่ 16, ลูกศรเทพมรณะ. แปลโดย บุษบา บรรจงมณี. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : JBook, 2553. 174 หน้า. 150 บาท


         เป็นตอนที่คินดะอิจิได้รับเชิญมาเป็นสักขีพยานในงานพิธีเลือกคู่พิศดาร ซึ่งคนรู้จักจัดขึ้นเพื่อเลือกลูกเขยจากชายสามคน โดยให้แข่งขันกันยิงธนูให้ถูกเป้าที่ลอยกลางทะเล ซึ่งไม่น่าจะมีใครทำได้ แต่แล้วหนึ่งในสามคนนั้นทำได้ และเมื่อยกคณะกลับบาน 1 หนุ่มกลับถูกลูกธนูปักอกในห้องอาบน้ำที่ลงกลอนจากด้านใน หลังจากนั้น อีก 2 หนุ่มก็ถูกฆ่าต่อเนื่อง ทั้ง ๆ ที่คินตะอิจิ
สงสัยไปที่คนหนึ่งในบ้านที่เขามาพัก แต่คนผู้นั้นกลับมีหลักฐานอ้างที่อยู่อย่างสมบูรณ์ เป็นตอนหนึ่งที่อ่านสนุก

         เนื้อหาไม่ได้ชวนตื่นเต้นเร้าใจเหมือนหลาย ๆ ตอน แต่มีแง่มุมและการวางเรื่องได้น่าสนใจ และตอนนี้เป็นตอนหนึ่งในไม่กี่ตอนที่ให้ฆาตกรได้รับความเห็นใจ และผู้ตายสมควรถูกฆ่า นอกจากนี้ ฆาตกรในตอนนี้ยังมีผู้ช่วยเหลือ ซึ่งจะปรากฎในตอนท้าย โดยที่ผู้อ่านคาดไม่ถึง

          ในตอนนี้ยังมีเรื่องสั้น ๆ อีกเรื่องคือ นายค้างคาวกับคุณนายทาก เป็นตอนที่แสดงภาพคินดะอิจิอย่างชัดเจน จากมุมมองของคนที่เห็นครั้งแรกแล้วไม่ชอบหน้า "อายุอานามราวสามสิบสามสามสิบสี่ คงมากกว่าผมสักหกหรือเจ็ดปี ผมเผ้ากระเซิงยุ่งเหยิงอยู่ตลอด หน้าตาไม่ค่อยฉลาด และน่าประหลาดว่ายุคนี้แล้ว หมอนั่นยังสวมกิโมโนเสมอ หนำซ้ำยังโทรมจนดูไม่ได้ เนื้อผ้ายับยู่ คอเสื้อเลอะเป็นคราบ แต่จะว่าไป ถ้าสวมโดยไม่เคยซักเลย ต่อให้กิโมโนเนื้อผ้าดีขนาดไหนก็คงยับยู่ยี่แบบนี้แหละ .... เพราะว่าเขารู้ตัวดีว่าร่างเล็กไร้สง่าราศี ต่อให้แต่งตัวเลิศหรูก็ไม่ดูดีขึ้นมาได้ ดูจากโหงวเฮ้งก็คิดว่าชาตินี้คงไม่มีวันได้ร่ำรวย" ซึ่งไม่สามารถหาอ่านได้จากตอนอื่น

วันศุกร์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

เด็กชายตุ๊กตา


เด็กชายตุ๊กตา = The lesson of a doll boy ของเดอะ ดวง.
กรุงเทพฯ : มูลนิธิเด็ก, 2550. 138 หน้า. 85 บาท.

        ติดตามงานของเดอะดวงมาหลายเล่มแล้ว ตัวการ์ตูนมีเอกลักษณ์ของตนเอง แต่ที่สำคัญเนื้อหามีข้อคิดดี จัดว่าเป็นคนเขียนการ์ตูนที่โดดเด่นในปัจจุบัน

        หนังสือเล่มนี้พูดถึงเด็กที่เล่นของเล่นของตนอย่างรุนแรง ซึ่งเรามักเห็นกันอยู่เป็นประจำ ที่เด็กมักเอาของเล่นที่เป็นตุ๊กตาหรือรถไปชนโน่นชนนี่จนพัง ซึ่งในเรื่องนี้จึงให้ตัวเอกมีประสบการณ์ที่โดนสาบให้เป็นตุ๊กตาของเล่น และถูกเด็กอื่นมาเอาไปเล่นอย่างรุนแรงบ้าง ทำให้พบความเจ็บปวด จนรู้สึกสำนึกว่าถ้าได้กลับเป็นคนอีกจะไม่เล่นของเล่นเช่นนี้อีก ในเรื่องทิ้งไว้ว่าอาจเป็นเรื่องฝันไปเพราะเมื่อกลับเป็นคน พบว่าอยู่ที่ห้องของตน หรืออาจเป็นเรื่องจริงเพราะมีของฝากที่เป็นตุ๊กตาพ่อมดเขียนไว้ว่า "หวังว่าเราคงจะไม่ได้พบกันอีก"

             ข้อคิดของเรื่องคือ ของเล่นเป็นเพื่อนเล่นที่ดี ไม่ใช่แค่เป็นของเล่น เด็ก ๆ ควรรู้จักทนุถนอมของเล่น และเมื่อพ่อแม่ได้อ่านก็ควรสอนลูก ๆ ของตนเองให้มีความคิดเช่นนี้ด้วย เพื่อให้ลูก ๆ โตขึ้นมาด้วยจิตใจที่
อ่อนโยน
ภาพนักเขียนเดอะดวง
หรือ วีระชัย ดวงพลา

วันพุธที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ปริศนาคำสารภาพ


ปริศนาคำสารภาพ โดย โยโกยามา, ฮิเดโอะ. แปลโดย วราภรณ์ พิรุณสวรรค์. กรุงเทพฯ : บลิส, 2551.

         เป็นเรื่องแนวฆาตกรรมที่ตนเองชอบ แต่เรื่องไม่น่ากลัวสยองขวัญอย่างเรื่องอื่น ๆ ฆาตกรเป็นตำรวจที่ดูใจดีและน่าเชื่อถือชื่อคะจิ โซอิชิโร อายุ 50 ปีที่ฆ่าภรรยาของตนซึ่งเป็นอัลไซเมอร์ และไม่มีญาติคนอื่น คดีน่าจะจบลงอย่างไม่มีข้อกังขา แต่ผู้เขียนได้เปิดปมไว้ให้ติดตามคือมีช่วง 2 วันที่ฆาตกรหายไปก่อนเข้ามอบตัว ทำให้ต้องติดตามไปว่ามีอะไรในช่วงนี้ และมีปมเล็ก ๆ เกี่ยวกับตัวอักษรที่เขียนด้วยพู่กันว่า "ห้าสิบปีชีวิตมนุษย์ "
        การดำเนินเรื่องเป็นการเล่าเรื่องผ่านคน 6 คน ซึ่งเกี่ยวข้องกับคดี และทั้ง 6 คนนี้ก็เป็นชื่อตอนด้วย โดยเริ่มจากตอนแรก ชิคิ คาซุมาซะ ซึ่งเป็นนายตำรวจที่ต้องรับผิดชอบคดีนี้ ตอนที่ 2 ซาเซะ โมริโอะ อัยการที่รับคดีต่อ ตอนที่ 3 นาคาโอะ โยเฮ นักข่าวที่ต้องการข่าวใหญ่ และได้ทราบมาว่าคดีนี้มีการสมรู้ร่วมคิดระหว่างตำรวจและอัยการปิดบังบางเรื่องในคดี ตอนที่ 4 อุเอะมุระ มานาบุ ทนายความที่รับว่าความให้ฆาตกร ตอนที่ 5 ฟูจิบายาชิ เคโก ผู้พิพากษาที่จะตัดสินคดีนี้ ตอนสุดท้าย โคงะ เซจิ ผู้คุมนักโทษที่ได้รับข้อร้องจากนายตำรวจชิคิให้ช่วยดูแลฆาตกรไม่ให้ฆ่าตัวตายเมื่ออายุครบ 50 ปี เนื่องจากอักษรพู่กันที่ว่าด้วย " ห้าสิบปีชีวิตมนุษย์" ซึ่งทั้ง 6 คนนี้ในตอนแรก ๆ ของแต่ละคนอยากทำความจริงให้ปรากฎว่าช่วง 2 วันที่หายไปนั้น ฆาตกรไปทำอะไร แต่เมื่อได้พบหน้านายตำรวจคะจิ ความรู้สึกของแต่ละคนก็เปลี่ยนไป
           เป็นหนังสือที่อ่านสนุก และในตอนท้ายเรื่องที่เมื่อเฉลยเรื่องแล้ว ก็ให้ความรู้สึกประทับใจมาก เรื่องมีอยู่ว่า หลังฆ่าภรรยาและหายไป 2 วันโดยไม่ยอมฆ่าตัวตาย ทั้ง ๆ ที่ต้องการทำเช่นนั้น เป็นเพราะไปหาเด็กชายคนหนึ่งที่เขาบริจาคไขกระดูกให้ และยังต้องมีชีวิตอยู่ถึงอายุ 51 ปี เพราะการลงทะเบียนบริจาคไขกระดูกจะถือเป็นโมฆะ คะจิยังต้องการมีชีวิตอยู่เพื่อรอว่าจะสามารถบริจาคไขกระดูกให้ผู้ต้องการอีก ในตอนจบให้ผู้รับบริจาคมาพบนายตำรวจ แสดงความขอบคุณ เป็นการให้ผู้อ่านรู้สึกว่าจะช่วยให้คะจิไม่ฆ่าตัวตายเมื่ออายุเลย 51 ปี ทำให้ความรู้สึกหนัก ๆ ที่อ่านมาผ่อนคลายและมีความสุข ให้ความรู้สึกดี ๆ เมื่ออ่านจบ


ภาพของโยโกยามา ฮิเดโอะ

ไม้บรรทัดของยมทูต


ไม้บรรทัดของยมทูต โดย โคทาโร, อิซากะ. แปลโดย ฐิติพงศ์ ศิริรัตน์อัสดร. กรุงเทพฯ : JBook, 2552. 244 หน้า. 200 บาท.
         เป็นหนังสือประเภทเรื่องสั้น แนวจินตนาการเสนอเรื่องราวชีวิตของมนุษย์แต่ละคน แต่ผูกโยงเข้าเป็นหนึ่งเดียวโดยตัวเอกของเรื่องคือ ชิบะ ที่เป็นยมทูตเข้าไปตรวจสอบชีวิตบุคคลนั้น ๆ และรายงานว่าจะ "รับไว้" หรือ "ปล่อยไป" เนื้อเรื่องแบ่งออกเป็นเรื่องสั้น 6 ตอน
ตอนที่ 1 ความเที่ยงตรงของยมทูต ซึ่งเป็นตอนที่ชิบะไปตรวจสอบพนักงานหญิงที่มีหน้าที่รับเรื่องราวร้องทุกข์เกี่ยวกับสินค้าของบริษัททางโทรศัพท์ ทำให้หญิงสาวไม่มีความสุข พูดจาด้วยเสียงหม่นหมอง แต่ตอนท้าย กลายเป็นว่ามีโปรดิวเซอร์เพลงอัจฉริยะ มาค้นพบพรสวรรค์ของเธอทางด้านเสียง โดยเธอไม่รู้ตัว เนื่องจากเวลารับโทรศัพท์เธอจะต้องพูดด้วยเสียงที่แจ่มใส ทำให้ชิบะรายงานให้ปล่อยเธอไป เพราะต้องการให้ประสบความสำเร็จในการเป็นนักร้องคุณภาพ
ตอนที่ 2  ยมทูตกับฟูจิตะ ชิบะต้องไปตรวจสอบฟูจิตะที่เป็นยากูซา ที่กำลังมีความแค้นกับยากูซ่าอีกกลุ่มหนึ่ง
ตอนที่ 3 ความตายกลางพายุหิมะ เป็นตอนที่อ่านแล้วเหมือนนิยายลึกลับสืบสวน เพราะมีคนตายต่อเนื่องถึง 3 คน และอยู่ในหุบเขาท่ามกลางพายุหิมะ ไม่สามารถมีผู้อื่นเข้า-ออกได้ ทำให้ผู้อ่านรู้สึกว่ามีฆาตกรอยู่ภายในกลุ่มคนนั้นเท่านั้น
ตอนที่ 4 ความรักกับยมทูต เป็นตอนที่มีความน่ารัก เพราะเป็นเรื่องที่ชายคนหนึ่งที่ชิบะตรวจสอบอยู่กำลังตกหลุมรักหญิงคนหนึ่ง มีข้อคิดดี ๆ ในตอนนี้ด้วย เช่น ชีวิตมนุษย์แสนสั้น สู้มีอะไรไว้สักอย่างยังดีกว่าว่างเปล่า บางคนก็มีชีวิตทำนองว่า ถึงจะไม่เยี่ยมยอด แต่ก็ใช่ว่าเลวร้ายที่สุด ตัวละครตัวหนึ่งในตอนนี้จะไปปรากฎในตอนอื่นด้วย
ตอนที่ 5 บนเส้นทางความตาย เป็นตอนที่เกี่ยวกับวัยรุ่นคนหนึ่งที่ตอนเด็กถูกลักพาตัว ทำให้เมื่อโตขึ้นเป็นคนที่ใจร้อน โมโหง่าย และมักทำร้ายผู้อื่น แม้กระทั่งแม่ตัวเองเมื่อสงสัยว่าแม่อาจร่วมมือกับคนร้ายที่ลักพาตัวเอง
ตอนที่ 6 ยมทูตกับหญิงชรา ตอนนี้ตัวละครตัวหนึ่งที่เคยปรากฏในตอนความรักกับยมทูต คือเป็นหญิงสาวที่ถูกรักข้างเดียว แต่ตอนนี้เป็นหญิงชราอายุ 70 กว่าปี และตลอดชีวิตที่ผ่านมาคนรอบข้างได้ตายจากไปหลายคน ซึ่งได้รวมชายคนรักที่ปรากฎในตอนที่ 4 ด้วย ทำให้หญิงชราไม่กลัวความตาย เพราะดีกว่าการเห็นคนใกล้ชิดตายไปทีละคน นอกจากนี้ในตอนนี้ยังมีตัวละครที่อยู่ในตอนแรกที่ชิบะรายงานให้ปล่อยไป กลายเป็นนักร้องโด่งดังด้วย
           แม้เนื้อเรื่องจะเกี่ยวกับความตาย และบรรยากาศของเรื่องจะมืดคลึ้ม เพราะเมื่อชิบะปรากฏตัวมาปฏิบัติงาน จะมีฝนตกตลอด ตัวชิบะจะไม่เคยเห็นท้องฟ้าแจ่มใส แต่ผู้อ่านจะไม่รู้สึกอึดอัด หรือรู้สึกเครียด และอารมณ์จะไม่เศร้าเสียใจ รู้สึกสบาย ๆ ด้วยซ้ำ เพราะผู้เขียนจะบรรยายผ่านตัวชิบะ ที่มีมุมมองเฉยเมย เย็นชา และไม่แยแสความตายของมนุษย์ ให้ผู้อ่านเห็นว่ามนุษย์ทุกคนต้องตาย ไม่เห็นต้องมาโศกเศร้าเสียใจเพราะตัวเองก็ต้องตายด้วยเช่นกัน ขณะเดียวกันผู้อ่านก็รับรู้ถึงความสบาย ๆ และน่ารัก โดยให้ยมทูตทั้งหมดที่ทำงานจะหลงไหลในเสียงเพลง เวลาว่างจะไปอยู่ที่ร้านซีดีเพลง และมีหลายตอนที่บรรยายว่าสิ่งที่ดีที่สุดที่มนูษย์สร้างขึ้นคือเสียงเพลง และสิ่งที่เลวร้ายที่สุดของมนุษย์คือรถติด ทำให้ผู้อ่านยิ้มได้
          นอกจากนี้ก็มีน้ำเสียงประชดเกี่ยวกับการทำงานของยมทูตว่าเหมือนพนักงานบริษัท ทำงานให้เสร็จตามที่ได้รับมอบหมายก็พอ แม้ว่าจะมีข้อสงสัยในใจ
          การดำเนินเรื่องเหมือนไม่ต่อกัน แต่เมื่ออ่านไปตัวละครในตอนหนึ่งจะไปปรากฎอยู่ในอีกตอนหนึ่งด้วย อย่างเช่น ตอนที่ 6 ยมทูตกับหญิงชรา มีตัวละครในตอนที่ 1 และตอนที่ 4 ปรากฎอยู่ ทำให้ผู้อ่านรู้สึกได้ถึงการทำงานของชิบะผ่านกาลเวลาหลายสิบปี ถ้าไม่มีตัวละครเชื่อมโยงกันผู้อ่านจะไม่ทราบ นึกว่าในช่วงเวลาสั้น ๆ เท่านั้น
           หนังสือเรื่องนี้ได้รับรางวัลประเภทเรื่องสั้นของสมาคมนักเขียนนิยายสืบสวนแห่งญึ่ปุ่น จากเรื่อง ความเที่ยงตรงของยมทูต ซี่งเป็นเรื่องสั้นเรื่องแรกในเล่ม และยังได้รับการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ด้วยในชื่อ Sweet Rain ซึ่งมีตัวอย่างหนังมาด้วย


ภาพนักเขียนอิซากะ โคทาโร

หัวใจน้ำหมึก




หัวใจน้ำหมึก = Inkheart โดย ฟุนเคอ, คอร์เนเลีย. แปลโดย วัชรวิชญ์.  พิมพ์ครั้งทึ่ 13. กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์ทีน, 2552. 503 หน้า. 295 บาท

แปลจากต้นฉบับภาษาเยอรมันเรื่อง Tintenherz

เป็นหนังสือที่มีจินตนาการบรรเจิด ตัวเอกของเรื่องเป็นเด็กหญิงอายุ 9 ขวบชื่อ เม็กกี้ เป็นเด็กที่รักการอ่านหนังสือ เพราะหนังสือจะพาไปสู่ดินแดนแห่งการผจญภัย แต่พ่อของเธอซึ่งเป็นนักซ่อมหนังสือที่มีสภาพเก่า ชำรุด ให้กลับมาสวยงาม และรักหนังสือด้วยเช่นกัน ไม่เคยอ่านหนังสือให้ลูกสาวฟัง เนื่องจากมีความหลังอันแสนเจ็บปวดเกี่ยวกับการอ่านออกเสียง เมื่อครั้งอ่านหนังสือเรื่องหัวใจน้ำหมึกให้ภรรยาฟัง และต้องสูญเสียเธอไป และกลับพาตัวร้ายของเรื่องนี้ที่ชื่อ คาปริคอร์น และลูกน้องออกมาอีกหลายคน ทำให้เหตุการณ์ร้ายเกิดขึ้นมากมาย และตามล่าตัวพ่อของเม็กกี้ เพราะเขาเก็บหนังสือเล่มนี้ไว้แต่คาปริคอร์นอยากทำลายทิ้งให้หมด เนื่องจากเขาไม่อยากกลับไปในเทพนิยายเรื่องนี้อีก ทำให้ 2 คนพ่อลูกต้องหลบ ๆ ซ่อน ๆ ไปในที่ต่าง ๆ
การดำเนินเรื่องน่าตื่นเต้นและเร้าใจ ผู้อ่านจะลุ้นตลอดว่าเรื่องจะดำเนินไปอย่างไร และเมื่อคาปริคอร์นเผาหนังสือเรื่องนี้เล่มสุดท้ายไปได้ ก็ทำให้คิดว่าเรื่องจะไปจบอย่างไร แม่ของเม็กกี้จะกลับมาได้หรือไม่ และเรื่องก็หักเหไปอีกมุมคือให้ 2 คนพ่อลูกนี้ไปหาผู้แต่งหนังสือเรื่องนี้ ที่ยังมีชีวิตอยู่
เมื่อพบนักเขียนที่เป็นชายสูงวัยที่ชอบเล่านิทานให้หลาน ๆ ของตนฟัง เหมือนไม่ค่อยมีความหวังว่าจะช่วยพวกเขาได้อย่างไร แต่ก็มีการวางแผนว่าจะทำอย่างไร โดยวางความคิดว่านักเขียนเป็นคนสร้างตัวละครขึ้นได้ก็สามารถทำลายตัวละครได้ แต่ผู้อ่านก็ต้องลุ้นว่าจะทำได้อย่างไร ซึ่งในช่วงนี้เรื่องก็ให้เม็กกี้สามารถอ่านให้ตัวละครออกมาจากหนังสือได้เหมือนพ่อ และในตอนจบก็ให้เม็กกี้อ่านออกเสียงบทที่เขียนขึ้นใหม่ ซึ่งก็เปลี่ยนแปลงเหตุการณ์ได้อย่างลุ้นระทึกและประหลาดใจ
ในตอนแรกเมื่อเห็นคำว่า หัวใจน้ำหมึก จะนึกว่าเป็นหัวใจของหนังสือที่มีชีวิต แต่เมื่อพบนักเขียนเรื่องนี้จะเฉลยว่า เป็นหัวใจที่ดำ ไม่มีเมตตา ซึ่งหมายถึง คาปริคอร์น ตัวร้ายของเรื่อง
คอร์เนเลีย ฟุนเคอ ได้รับการยกย่องว่าเป็น เจ. เค.โรว์ลิ่ง แห่งเยอรมัน เพราะเธอสามารถจินตนาการให้ตัวละครในเทพนิยาย เช่น ภูติ ก็อบลิน มนุษย์แก้ว คนแคระ เป็นต้น มาอยู่ร่วมในสังคมสมัยใหม่ได้ เป็นหนังสือที่อ่านแล้วมีความสุข และให้จินตนาการแก่ผู้อ่านได้เหมือนที่ แฮร์รี่ พอร์ตเตอร์ทำมาแล้ว
"หนังสือรักทุกคนที่เปิดมันออก ให้ความคุ้มครองและให้มิตรภาพโดยไม่เรียกร้องสิ่งใดตอบแทน ไม่เคยหนีหน้าหายไป แม้เมื่อคนไม่เห็นค่าของมัน" หน้า 405
ภาพนักเขียนคอร์เนเลีย ฟุงเคอ

วันศุกร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

เชือดสังเวย

ฮิวสัน, เดวิด. เชือดสังเวย. แปลโดย ไพบูลย์ สุทธิ.  กรุงเพทฯ : นานมีบุ๊คส์, 2552.
394 หน้า. 265 บาท

อ่านแล้วไม่ค่อยสะใจเท่าใด เนื้อหาเกี่ยวกับนักรบรับจ้าง 2 ทีมที่เข้าไปในประเทศอิรัก เพื่อสืบข่าวเกี่ยวกับการทำสงครามให้สหรัฐอเมริกา แต่แล้วข่าวรั่ว ทีมงานที่ 1 ถูกสังหารเกือบหมด เหลือแต่คน ๆ หนึ่งที่ชื่อบิลล์ แคสปาร์ ถูกจับไปขังคุกในอิรัก พอสิบสามปีผ่านไปเขาได้แหกคุกและตามมาล้างแค้นทีมงานอีกกลุ่มที่รอดมาได้ เรื่องทั้งหมดมาจบที่ประเทศอิตาลี พระเอกของเรื่องจึงเป็นตำรวจอิตาลีชื่อ นิก กอสตา เป็นตำรวจหน้าตาดี อารมณ์เย็น ส่วนนางเอกของตอนนี้เป็นนักสืบเอฟบีไอ ซึ่งเป็นลูกสาวของหัวหน้าทีมที่รอดชีวิตกลับมา แต่เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมาได้ถูกคนที่แหกคุกฆ่า เมื่ออ่านแล้วไม่ค่อยเข้าใจว่าทำไมสหรัฐอเมริกาต้องส่งคนเข้าไปอิรัก และไปทำอะไร จึงมีการขายข่าว มีการทรยศ และหลังจากฆ่าทีมจนหมด ยังไม่พอใจ เพราะสงสัยว่ายังมีผู้อยู่เบื้องหลังที่มีตำแหน่งใหญ่กว่านี้อีก แต่อ่าน ๆ ไป สรุปว่าผู้ทรยศหรือผู้อยู่เบื้องหลังเป็นเพียงสายลับที่อยู่ในสถานฑูตอเมริกันในประเทศอิตาลีเท่านั้นไม่มีผู้มีตำแหน่งอื่นหรือนักการเมืองอยู่เบื้องหลัง

เมื่ออ่านจบและนำมาประมวลเนื้อหาสรุปแล้ว ไม่ค่อยชอบเท่าใด เนื้อหาเบา ๆ และไม่ค่อยตื่นเต้นเร้าใจ มีเนื้อหาเกี่ยวกับการทำงานระหว่างตำรวจและหน่วยงานสืบราชการลับ ที่มีความขัดแย้งกันตลอดเวลา การที่ผู้อ่านไม่มีความรู้เกี่ยวกับสงครามอิรักทำให้อ่านไม่ค่อยเข้าใจ และไม่สนุก จึงทำให้ไม่อยากอ่านเล่มอื่นของนักเขียนคนนี้ ซึ่งยังมีอีก 2 เล่มในชุดตำรวจนิก กอสตานี้ที่แปลเป็นภาษาไทยแล้ว

ภาพนักเขียน David Hewson

วันอังคารที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

คินดะอิจิ ตอนที่ 15 สัตว์ป่าแสนสวย


โยโคมิโซะ, เซชิ. คินดะอิจิยอดนักสืบ. ตอนที่ 15. สัตว์ป่าแสนสวย. แปลโดย รัตน์จิต ทองเปรม. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : JBook, 2553. 150 บาท.

      ตอนนี้มีเรื่องสั้น ๆ อยู่ 3 เรื่อง

เรื่องที่ 1 สัตว์ป่าแสนสวย เป็นคดีที่คินดะอิจิต้องสืบว่าใครฆ่าสาวสวยที่เป็นเจ้าของคฤหาสน์ ในวันที่ปิดคฤหาสน์จัดงานสังสรรค์เพื่อให้สมาชิกชายหญิงได้สำเริงสำราญแลกคู่นอน โดยศพถูกพบในสภาพกึ่งเปลือย ด้วยการถูกรัดคอ และยังถูกจ้วงแทงหัวใจ คนร้ายหายไปอย่างไร้ร่องรอยทั้ง ๆ ที่คินดะอิจิเฝ้าอยู่ทางเข้า เรื่องค่อนข้างซับซ้อน แต่ก็สืบได้รวดเร็ว ซึ่งผลคือคนร้ายเป็นนักธุรกิจที่มีส่วนในการจัดงานปาร์ตี้ของสาวสวย แต่มีอาชีพเบื้องหลังขายยาเสพติด ที่ต้องฆ่าสาวคนนั้นเพราะสาวรู้ระแคะระคายว่ามียาเสพติดในงานปาร์ตี้ จึงจ้างทั้งนักสืบและตำรวจมาสืบ

เรื่องที่ 2 แมวในความมืด ซึ่งเป็นคดีแรกในโตเกียวช่วงหลังสงครามที่คินดะอิจิได้มาสืบ และรู้จักกับสารวัตรโทโดโรกิ ซึ่งจะเป็นตัวละครที่จะออกมาอีกหลายตอน เรื่องนี้เกี่ยวกับคนร้าย 2 คนปล้นธนาคารได้เงินไปเจ็ดแสนเยน แต่แล้วคนร้ายกลับถูกฆ่าไป 1 คน ส่วนอีกคนถูกยิงบาดเจ็บสาหัสที่คลับร้างแห่งหนึ่ง ส่วนเงินที่ปล้นได้หายไป จนอีกหลายเดือน เมื่อคนร้ายที่บาดเจ็บหายดี แต่กลับจำอะไรไม่ได้ กลับมาที่คลับร้างที่ตอนนี้ได้ถูกปรับปรุงใหม่ แต่แล้วคนร้ายนี้ก็ถูกฆ่าตายทันที และมาดามในคลับก็ถูกวางยาพิษตายไปอีกคน คินดะอิจิที่มาสืบคดีนี้เพราะถูกกรรมการผู้จัดการธนาคารที่ถูกปล้นจ้างมา ซึ่งในที่สุดผลที่ออกมาคือคนร้ายที่ปล้นธนาคารมี 3 คน ซึ่งคนที่ 3 เป็นผู้หญิงซึ่งใส่ตาปลอมข้างหนึ่งเมื่อมองในที่มืดจะเหมือนตาแมว และผู้หญิงคนนี้คือมาดามที่ถูกยาพิษนั่นเองซึ่งวางยาพิษจะฆ่าเจ้าของคลับ แต่เจ้าของคลับไม่ไว้ใจจึงสับเปลี่ยนแก้ว ยาพิษจึงย้อนกลับมาหาตัวเอง

เรื่องที่ 3 เจ้าสาวผู้หลับไหล เป็นคดีที่เกี่ยวกับคนร้ายที่มีจิตวิปริต เก็บศพไว้จนเน่าเหม็นซ้ำยังทำมิดีมิร้ายกับศพ แต่เมื่อคนร้ายออกมาจากคุก กลับมีเหตุการณ์ทำนองเดียวกันนี้เกิดขึ้นอีก ทำให้ผู้อ่านคิดว่าคนร้ายกลับมาทำเรื่องร้ายนี้อีก แต่ตำรวจไม่สามารถหาคนร้ายพบ เมื่อคินดะอิจิสืบพบสรุปว่า มาดามเจ้าของคลับที่มีคนในคลับตายและถูกนำศพออกไป หรือมีคนในคลับถูกฆ่าเป็นตัวการใหญ่ วางแผนฆ่าคนร้ายโรคจิตคนแรกเพื่อเอาเงิน และวางแผนทำให้คิดว่าคนร้ายคนแรกกลับมาก่อคดี

       เป็นเรื่องฆาตกรรมที่อ่านได้สนุก แม้ว่าเป็นนิยายที่เกิดหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งสภาพสังคมญี่ปุ่นยังสับสนวุ่นวาย ข้าพเจ้าได้อ่านมาแล้ว 15 ตอน และทุกครั้งที่อ่านจบก็รู้สึกชอบ เพียงแต่ตอนนี้เป็นเรื่องขนาดสั้น ไม่ค่อยมีรายละเอียดมากนัก


ภาพนักเขียนโยโคมิโซะ เซชิ

วันพฤหัสบดีที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ

ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ ALIST ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
http://www.alist.psu.ac.th/

ระบบนี้ได้รับงบสนับสนุนจาก สกอ. ให้พัฒนาระบบขึ้นมา การสัมมนาเชิงวิชาการครั้งที่ 4 ที่ โรงแรมพาวิลเลี่ยน ควีนเบย์ กระบี่ เป็นการแนะนำระบบ เวอร์ชั่น 4 ซึ่งตอนแนะนำก็ดูน่าใช้ สามารถนำมาใช้ได้ตามการทำงานของห้องสมุด แต่เมื่อแบ่งกลุ่มการใช้งานทำให้เห็นว่าการพัฒนาเวอร์ชั่นนี้ยังไม่พร้อม เพราะมีผู้รู้อยู่ไม่กี่คน ทำให้การใช้งานเกิดการติดขัด ไม่สะดวก อย่างเช่นเมื่อเข้าไปใน Acquisition Module ซึ่งเป็นโมดูลใหม่ ไม่มีผู้แนะนำอยู่ จะไม่สามารถเข้าถึง
โมดูลได้ดี ได้แต่ดูกว้าง ๆ ว่าทำงานอย่างไรเท่านั้น ส่วนผู้ใช้ที่เป็นบรรณารักษ์ ม.สงขลา ก็ไม่สามารถแนะนำได้ เพราะเป็นโมดูลใหม่ ในเวอร์ชั่นที่ผ่านมายังไม่มี แต่จากการสังเกตพบว่า สามารถทำงานได้

ศูนย์คอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้พัฒนาโปรแกรมห้องสมุดอัตโนมัตินี้และลงให้ห้องสมุดแต่ละแห่งในมหาวิทยาลัยต่างเวอร์ชั่น โดยห้องสมุดแรก ๆ จะได้เวอร์ชั่นที่ 1 ส่วนห้องสมุดที่ลงหลัง ๆ จะได้เวอร์ชั่นใหม่ แสดงว่า โปรแกรมนี้ไม่ได้ใช้ร่วมกัน ต่างคนต่างใช้มี server ของแต่ละห้องสมุด

สำหรับเวอร์ชั่นใหม่เป็นเวอร์ชั่น 4 มีโมดูล Acquisition เป็นโมดูลใหม่ ซึ่งห้องสมุดที่ใช้โปรแกรมนี้ยังไม่เคยเห็น ตอนนี้เวอร์ชั่น 4 นี้ใช้อยู่ที่ สำนักทรัพยากรการเรียนรู้คุณหญิงหลง ที่วิทยาเขตหาดใหญ่เท่านั้น และกำลังจะนำไปลงที่ หอสมุด จอห์น เอฟ เคนเนดี้ ที่วิทยาเขตปัตตานี


เมื่อห้องสมุดในสถาบันอุดมศึกษาอื่น ๆ จะการนำมาใช้ ต้องติดต่อผ่าน Project Manager ซึ่งเพิ่งมีผู้รับผิดชอบชื่อคุณ เนาวรัตน์ สอิด ทำงานมาได้ 1 เดือน คิดว่าเพราะมีผู้ใช้ระบบนี้มากขึ้น จึงต้องมีผู้ประสานงาน และทำหน้าที่เป็นฝ่ายประชาสัมพันธ์ด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะได้มีผู้รับผิดชอบในการติดต่อ ทำให้ผู้ที่คิดจะใช้ได้ติดต่อสอบถามสะดวกขึ้น

ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ WALAI AutoLIB มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
http://202.28.69.49/Wu/Index.aspx

ระบบนี้ได้รับการสนับสนุนจาก สกอ. เช่นกัน ตอนไปดูงาน ผู้เสนอระบบคือ อ. ยุทธนา เจริญรื่น เสนอระบบเวอร์ชั่น 2.0 ซึ่งยังไม่ได้ให้ใช้ เพราะปัจจุบันยังใช้ในเวอร์ชั่น 1.7 เท่านั้น ระบบการทำงานคล้าย ๆ กับระบบ ALIST แต่ระบบนี้นำมาใช้ที่ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับสำนักหอสมุดกลาง มศว ที่เป็นห้องสมุดหลายแห่ง แต่ใช้ฐานข้อมูลเดียวกัน ทำให้ระบบนี้น่าสนใจ ส่วนห้องสมุดอื่น ๆ ที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นห้องสมุดขนาดเล็ก มีห้องสมุดขนาดกลางไม่มาก ทั้งหมด 40 กว่าแห่ง

การพัฒนายังมีอยู่ต่อเนื่อง ซึ่งหน่วยงานที่พัฒนามีการตั้งเป้าหมายว่า "จะผลิตระบบห้องสมุดอัตโนมัตที่เป็นของประเทศไทย" ให้ได้ และการนำเสนอก็ได้พูดถึงการนำระบบนี้มาใช้ต้องมีงบประมาณเท่าใด การดูแลระบบต้องจ่ายเท่าใด มีการแยกให้เห็นชัดเจน ทำให้ห้องสมุดที่มีแผนจะนำระบบนี้มาใช้สามารถตั้งงบประมาณได้ถูกต้อง

วันอังคารที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2553

1 CM



1 CM โดย โอสธี. กรุงเทพฯ : Mars, 2552. 195 หน้า. 169 บาท

เป็นหนังสือได้รับรางวัลดีเด่นประเภทหนังสือรวมเรื่องสั้นจากสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ประจำปี 2553 ในเล่มมีทั้งหมด 11 เรื่องสั้น ที่อ่านได้สบาย ๆ แต่ละเรื่องมีเรื่องราวที่น่าสนใจ ให้ผู้อ่านได้คิดจินตนาการตาม เรื่องราวเป็นเรื่องในสังคมปัจจุบันของเรานี่เอง "ตัวหนังสือของเขานำเสนอภาพคร่าว ๆ อันหม่นหมองของสังคมไทยได้อย่างสนุกสนาน เข้าใจง่าย มีรสชาติทางสมองให้ขบคิดชวนติดตาม และส่งผลต่อจิตใจได้อย่างตรงไปตรงมา" (คำของบรรณาธิการ) ซึ่งเรื่องแต่ละตอนมักจบในแง่ดี แม้ในบางเรื่องที่จบร้ายก็ไม่ได้ให้ผู้อ่านเศร้าไปด้วย และก็มีข้อคิดดี ๆ ในแต่ละเรื่อง ซึ่งมักเป็นเรื่องที่อ่านจบต้องคิด

เรื่องที่ 1 กระต่ายลวงตา เป็นเรื่องที่หนุ่ม 2 คนไปเที่ยวทะเลทรายสะฮาร่า และพลัดหลงกับผู้นำทาง กำลังจะอดน้ำตาย แต่หนุ่มคนหนึ่งบอกว่าพบกระต่ายมาบอกทาง ซึ่งในที่สุดก็รอดราวปาฎิหาริย์

เรื่องที่ 2 เบญจเพส ผู้เล่าอายุจะครบ 25 ปี แม่บอกให้ไปทำบุญ เพราะจะมีอาถรรพ์เบญจเพส แต่ที่เป็นคนไม่เชื่อเรื่องอย่างนี้ จึงทำให้วันรุ่งขึ้นที่มีนัดกับแม่ ไม่ทำตามที่แม่บอก ตื่นสายและประสบกับเหตุการณ์ที่ตื่นเต้น จนต้องเข้าโรงพยาบาล ซึ่งร่ำ ๆ จะเชื่อว่าเป็นอาถรรพ์เบจญเพสจริง แต่สรุปว่าเพิ่งอายุครบ 24 ปีเองเนื่องจากพ่อแม่แจ้งเกิดเร็วไป 1 ปี เพราะต้องการให้ลูกเรียนเร็ว

เรื่องที่ 3 คดีข่มขืนนักเรียนคอนแวนต์ (ชอบเรื่องนี้) นักเรียนสาวที่เป็นนักยิมนาสติดถูกแก๊งขี้ยาจะพาไปข่มขืน แต่เอาตัวรอดออกมาได้ และไปแจ้งความจับคนร้ายได้ แทนที่ตำรวจและนักข่าวจะเชื่อนักเรียนสาว กลับเชื่อว่านักเรียนสาวถูกข่มขืน เพื่อให้มีผลงานและมีข่าวที่น่าตื่นเต้น

เรื่องที่ 4 ภูมิแพ้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับคนบริโภคสื่อโฆษณามากเกินไป จนเป็นโรคภูมิแพ้สื่อโฆษณา จนต้องมีกฎหมายไม่ให้สถานที่บางแห่งมีโฆษณา และตัวเอกของเรื่องเป็นครีเอทีฟโฆษณาด้วย

เรื่องที่ 5 เกียจคร้านนิซึ่ม ว่าด้วยลัทธิเกียจคร้านนิยม เรื่องน่าสนใจมาก ผู้เขียนจินตนาการว่าทมีคัมภีร์ของลัทธินี้ด้วยแต่ที่ไม่แพร่หลายเนื่องจากสาวกของลัทธิมีความเกียจคร้าน บทสรุปของเรื่องอ่านแล้วอดยิ้มไม่ได้ "อย่างที่คัมภีร์เขียนไว้ว่า ความเกียจคร้านคือธรรมชาติที่มีอยู่ในมนุษย์ทุกคน เพียงแค่นอนตื่นสายและคิดว่าสิ่งที่ต้องทำวันนี้สามารถรอถึงวันถัดไปได้ ปฏิบัติเช่นนี้จนคนรอบตัวเริ่มมองด้วยสายตาตำหนิติเตียน หรือดูถูกเหยียดหยาม เมื่อนั้นคุณก็ได้เป็นสาวกของลัทธิเกียจคร้านนิยมเต็มตัวแล้วครับ"

เรื่องที่ 6 นักลาออกมืออาชีพ สำหรับคนที่เบื่อกับงาน ไม่สนุกกับงานแต่ไม่กล้าลาออก เมื่อมาพบกับนักลาออกมืออาชีพ คือผู้ที่ไม่ชอบงานก็ลาออก เปลี่ยนงานเป็นว่าเล่น แต่สุดท้ายคนเบื่องานก็ได้คำตอบ เป็นเรื่องที่น่าคิดสำหรับคนอ่านที่เบื่องานด้วย

เรื่องที่ 7 หนี่งเซนติเมตร ซึ่งนำมาเป็นชื่อหนังสือด้วย เรื่องพลังจิตที่สามารถย้ายสิ่งของได้ไกลเพียง 1 เซนติเมตร ซึ่งมีข้อคิดดี ๆ ในเรื่อง

เรื่องที่ 8 ดาวเทียม นักแสดงที่มีชื่อเสียงคนหนึ่ง ที่มีคนหน้าตาเหมือนกันมาแย่งความเด่น จนในที่สุดนักแสดงที่มีชื่อเสียงนั้นกลับต้องไปแสดงหนังที่เป็นชีวิตจริงของคนหน้าเหมือน

เรื่องที่ 9 ศีลห้ามาเนีย ตำรวจมือปราบเกิดผิดพลาดลั่นกระสุนถูกเด็ก 6 ขวบเสียชีวิต ต้องพึ่งพาศาสนา โดยยึดหลัดศีล 5 อย่างเคร่งครัด แต่คนรอบตัวหาว่าบ้า เป็นเรื่องที่ค่อนข้างซีเรียส และให้แง่คิดว่าคนถือศีลอย่างเคร่งครัดเป็นคนบ้าหรือสังคมรอบตัวต่างหากที่มันเพี้ยนไป

เรื่องที่ 10 เมตามอร์โฟซิส นักศึกษาสาวถูกฆ่าและศพถูกนำไปถ่วงทิ้งใต้น้ำ เรื่องน่าจะเศร้า แต่การเล่าเรื่องเป็นไปในทำนองไม่ตัดพ้อ เพียงแต่ให้รับรู้ว่าเป็นคนที่มองโลกในแง่ดีเท่านั้น จึงถูกหลอกได้ง่าย และเป็นเรื่องที่หักมุมได้น่ารักดี คือตอนจบนักศึกษาสาวได้เกิดเป็นยุงที่ไปดูดเลือดคนรัก และถูกตบตายเลือดกระฉูด

เรื่องที่ 11 กีตาร์เทพ หนุ่มเทพฝันอยากเป็นนักกีตาร์ที่เก่งที่สุดในโลกจนยอมขายวิญญาณให้ปีศาจ ซึ่งก็ได้สมใจและในเวลา 7 วันที่เทพเล่นกีตาร์ได้เก่งที่สุดนั้นกลับไม่มีใครฟังได้รู้เรื่อง แม้แต่คนรักที่เคยชื่นชมการเล่นกีตาร์ของเทพเอง

        เป็นหนังสือที่อ่านได้สบาย ๆ ไม่เคร่งเครียด และมีข้อคิดระหว่างบันทัดที่ทำให้ต้องติดตามไปจนจบ แม้ว่าเรื่องจะดูเศร้า ๆ แต่การเล่าเรื่องก็เป็นไปในลักษณะแฝงความร่าเริง หรือมองโลกในแง่ดีไว้
มากมาย


ภาพนักเขียน

วันพฤหัสบดีที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2553

ชีวิตที่ 9 ของหลุยส์ ดรากซ์




เรื่อง ชีวิตที่ 9 ของหลุยส์ ดรากซ์ เรื่องโดย ลิซ เจนเซน แปลโดย สุเมธ โพธิ์โสภณ สำนักพิมพ์ Bliss จัดพิมพ์ พิมพ์ครั้งที่ 1 2552

เป็นนิยายลึกลับที่เกี่ยวกับเด็กชายคนหนึ่งที่ชื่อ หลุยส์ ดรากซ์ ซึ่งมักเจออุบัติเหตุเฉียดตายทุกปี และในวันเกิดที่เก้าหลุยซ์ประสบอุบัติเหตุตกเหว เขากลับรอดตายอย่างปาฏิหาริย์แต่อยู่ในอาการโคม่า และพ่อของเขาก็หายตัวไป พร้อมกับข้อหาว่าเป็นคนผลักหลุยซ์ตกเหว ส่วนแม่ได้รับความกระทบกระเทือนจิตใจอย่างรุนแรง และเมื่อมารักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล หมอดันนาเชที่รักษาหลุยซ์มีความรู้สึกสงสารแม่หลุยซ์อย่างมาก ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ทางจิตใจ จนก่อเกิดเป็นความรัก ความหลง การดำเนินเรื่องเป็นแบบให้หลุยซ์ซึ่งอยู่ในอาการโคม่าเล่าเรื่องในส่วนของตน สลับกับการเล่าของหมอดันนาเชในส่วนการรักษา เนื้อหาเป็นการเล่าเรื่องไปเรื่อย ๆ ไม่ได้ตื่นเต้นมาก แต่ที่บอกว่าเป็นนิยายลึกลับก็อยู่ที่การให้หลุยซ์ที่นอนโคม่าอยู่เข้าไปในตัวหมอในลักษณะการละเมอ และสามารถคลี่คลายปัญหาว่าทำไมหลุยส์ตกเหว และพ่อหายไปไหน และที่หลุยซ์พบอุบัติเหตุตลอดเวลาเป็นเพราะเหตุใด แนวเรื่องจะเป็นในลักษณะให้อารมณ์ความรู้สึกมากกว่าและจะมีคำถามเกี่ยวกับความรักทั้งความรักของพ่อแม่ลูก และความรักของสามีภรรยาซึ่งมีบุคคลที่สามเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เป็นเรื่องที่อ่านให้คิดมากกว่าตื่นเต้นเร้าใจ แต่จัดว่าเป็นเรื่องอ่านสนุก

ภาพนักเขียน Liz Jensen

KM Blog

สืบเนื่องจากโครงการจัดการความรู้เรื่องการเขียนบล็อกในงานห้องสมุด ที่หอสมุด มศว องครักษ์จัดขึ้นเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2553 คณะกรรมการจัดการความรู้ในส่วนของสำนักหอสมุดกลาง จึงได้ประชุมกันเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2553 และมีมติว่าควรจัดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติขึ้นอีกครั้ง เพื่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ และทักษะให้มากยิ่งขึ้น และจะได้นำความรู้ในส่วนนี้มาปฏิบัติได้อย่างต่อเนื่องพร้อมกันนี้ให้รวมบุคลากรที่รับผิดชอบในด้านกิจกรรม 5ส และชมรมการอ่านเข้ามาด้วย เพื่อเป็นช่องทางหนึ่งในการเผยแพร่กิจกรรมต่าง ๆ ที่แสดงถึงการพัฒนาการของห้องสมุดสู่คุณภาพ โดยจัดในวันที่ 7 – 8 เมษายน พ.ศ. 2553 เวลา 9.00 – 16.00 น. วิทยากร คือนายทรงยศ ขันบุตรศรี วิทยากรสอนได้ดี ค่อย ๆ แนะทีละขั้น ทีละขั้น ทำให้เข้าใจได้มากขึ้น บรรยากาศเป็นกันเอง และบุคลากรที่เข้าอบรมเต็มไปด้วยความกระตือรือร้น และมุ่งมั่นเรียนรู้ดี หลังจากการอบรมประธานแต่ละกลุ่มต้องเรียกประชุมเพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับการส่งเรื่องในบล็อกเพื่อให้บล็อกมีกิจกรรมต่อไป

วันพุธที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2553

365 วันมหัศจรรย์สมาธิ

โอโช.  365 วันมห้ศจรรย์สมาธิ. แปลโดย กำธร เก่งสกุล. กรุงเทพฯ : โพสต์บุ๊คส์, 2552. 527 หน้า. 395 บาท
 
       เป็นหนังสือที่แนะนำเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตประจำวัน เรียงลำดับตั้งแต่วันที่หนึ่งถึงวันที่ 365ข องปี แต่ละวันจะเป็นคำแนะนำอย่างง่าย ๆ และสั้น ๆ ไม่เกิน 2 หน้า แต่ผู้อ่านจะเริ่มอ่านจากหน้าใดก่อนก็ได้ และถ้าชอบจะอ่านซ้ำกี่รอบก็ได้

        ความคิดเห็นต่อหนังสือเล่มนี้ เมื่อหยิบหนังสือนี้มาอ่านครั้งแรก สะดุดกับหน้าคำนำที่ว่าสมาธิของโอโชไม่เหมือนใครไ ม่ต้องหลับตา สวดภาวนา และสมาธิทำได้ตลอดเวลา จึงทำให้สนใจอ่าน และเมื่ออ่านหน้าแรก ก็พบว่าสมาธิไม่ต้องหลับตาจริง ๆ สมาธิอยู่ในเรา แต่เราต้องมีสติ เมื่ออ่านไปเงียบ ๆ ติดตามเนื้อหาจะรู้สึกว่า นี่ใช่เลย ! เป็นความสุขเล็ก ๆ ที่ได้หยิบหนังสือนี้มาอ่านในวันวุ่นวาย หรือในวันสุขสงบ เพราะมีข้อความดี ๆ อยู่มาก แต่มีบ้างที่ไม่ถูกใจ เราก็จะอ่านแล้วข้ามไปได้
 
 
                หนังสือนั้ให้ข้อคิดเห็น คำแนะนำ ที่ไม่ยึดติดกับสิ่งใด ขอเพียงใจเราพอใจเป็นสุข ก็ใช้ได้ และเป็นหนังสือที่ผู้คนในสังคมในปัจจุบันควรอ่านอย่างมาก




ภาพนักเขียน Osho

วันอังคารที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2553

การฝึกอบรม blog

วันนี้ 24 มีนาคม 2553 พวกเราบุคลากรจากสำนักหอสมุดกลาง จำนวน 11 คน มาฝึกอบรมเรื่องการเขียน blog ที่หอสมุด มศว องครักษ์ วิทยากรเป็นบุคลากรจากสำนักคอมพิวเตอร์ และหอสมุด มศว องครักษ์



กำหนดการเริ่ม 8.30 - 9.00 น. ลงทะเบียนและพิธีเปิด โดยผู้ช่วยผู้อำนวยการ หอสมุด มศว องครักษ์ หลังจากนั้นเป็นการบรรยายเรื่อง การเขียนบล็อกในงานห้องสมุด โดยคุณเฉลิมพล คำนิกรณ์ ซึ่งให้ความรู้เกี่ยวกับบล็อกคืออะไร พร้อมแนะนำบล็อกที่น่าสนใจ หลังจากนั้นให้ฝึกปฏิบัติสร้างบล็อก


10.30 - 12.00 น. บรรยายเรื่อง การเขียนเว็บไชต์อย่างง่าย โดยคุณอรทัย วารีสอาด พร้อมปฏิบัติสร้างเว็บของตน น่าสนใจ

13.00 - 16.00 น. ฝึกปฏิบัติการเขียนบล็อกในงานห้องสมุด โดยคุณวรรณพร พึ่งพาพงศ์และคุณเฉลิมพล
มีการใช้โปรแกรม photoscape ในการจัดแต่งรูปภาพและเทคนิคการเขียนบล็อก
ข้อคิดเห็น เนื่องจากเวลาน้อย และความไม่ชำนาญในเทคโนโลยีทำให้การฝึกปฏิบัติค่อนข้างมีปัญหา แต่วิทยากรจะค่อย ๆ แนะนำ ทำให้การปฏิบัติเป็นไปด้วยดี เป็นหัวข้อการอบรมที่มีประโยชน์ สามารถนำมาใช้ได้ในการทำงานปัจจุบัน