วันอังคารที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2556

แลก

โคเบน, ฮาร์ลาน.  แลก = Long lost. แปลโดย มณฑารัตน์ ทรงเผ่า.  กรุงเทพฯ : แพรว, 2552. 290 หน้า.  ราคา 210 บาท.
 
              เนื้อเรื่องมีอยู่ว่า ไมรอน โบลิทาร์ ได้รับโทรศัพท์จาก เทเรส คอลลินส์ คนรักเก่าที่ไม่ได้พบและติดต่อกันมานานเป็นสิบปี เธอขอให้ไมรอนเดินทางไปหาที่ปารีส โดยไม่บอกเหตุผลอะไร เมื่อไปถึง เทเรสได้เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตของเธอที่ผ่านมาให้เขาฟัง เกี่ยวกับการที่เธอมีลูกยาก ต้องพึ่งการผสมเทียม และความสุขเมื่อลูกของเธอคลอดออกมา จนมาถึงอุบัติเหตุครั้งสำคัญที่พรากทุกอย่างไปจากชีวิตของเธอ ไม่ว่าจะเป็นการแต่งงาน ความสุข และบุตรสาวอันเป็นที่รัก และเมื่อไบรอนไปถึงปารีส ริคอดีตสามีของเทเรสยังถูกฆาตกรรม ทำให้ทั้งเขาและเธอตกเป็นผู้ต้องสงสัย แต่ไมรอนกลับพบหลักฐานที่ทำให้เรื่องราวทุกอย่างพลิกผัน เพราะในที่เกิดเหตุได้พบเลือดของคนอีกคน ซึ่งจากการพิสูจน์พบว่าเป็นของลูกสาวของริคและเทเรสซึ่งเสียชีวิตไปในอุบัติเหตุรถชนตั้งแต่เมื่อสิบปีที่แล้ว
นั่นหมายความว่าลูกสาวอาจยังมีชีวิตอยู่ตลอดสิบปีที่ผ่านมานี้ หรือว่าริคมีลูกกับคนอื่นอีกที่ไม่ใช่เทเรส
        แต่เมื่อยิ่งสืบไมรอนกับเทเรสกลับต้องพบว่าผู้ที่เขาสอบถามกลับถูกฆ่า ซ้ำตัวเองต้องเผชิญหน้ากับฆาตกรคนที่พวกเขาไม่รู้ว่าเป็นใครด้วยจนเกือบเอาชีวิตไม่รอด และต้องต่อสู้กับกลไกทางการเมืองระหว่างประเทศอย่างกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิ (Homeland Security) องค์การตำรวจสากล (Interpol) หน่วยปฏิบัติการลับแห่งอิสราเอล (Mossad) แต่ในที่สุดไมรอนได้ฆ่าผู้ร้ายตายไป แต่ไมรอนกลับถูกจับตัวไปทรมานโดยหน่วยงานรัฐเพื่อให้สารภาพว่ารู้จักผู้ร้ายที่ไมรอนฆ่าหรือไม่ และเมื่อไมรอนถูกปล่อยตัวออกมาก็จำเรื่องราวอะไรไม่ได้เลย ทำให้ชีวิตของเขาสับสน ซึ่งในที่สุดไมรอนตัดสินใจว่าจะต้องสืบให้ได้ว่าเรื่องจริงคืออะไรกันแน่

        และเมื่อยอมเสี่ยงและสืบต่อไปก็พบว่าผู้ร้ายที่ไมรอนฆ่านั้นเป็นผู้ก่อการร้ายหัวรุนแรงชาวอาหรับ เรียนโรงเรียนแพทย์ที่สหรัฐอเมริกา และมีส่วนร่วมในเหตุการณ์ 11 กันยายน 2001 และจัดตั้งองค์กรหนึ่งที่หน้าฉากเป็นองค์กรต่อต้านการค้นคว้าเรื่องสเต็มเซลล์จากตัวอ่อน แต่หลังฉากได้ลอบเอาตัวอ่อนไปใส่ในผู้หญิงชาวอาหรับเพื่อผลิตเด็กที่มีผมสีบลอน์ ตาสีฟ้า และเลี้ยงดูให้มีความเกลียดชัง เพื่อให้ง่ายต่อการแทรกซึมในหมู่ชาวตะวันตกและพร้อมจะก่อสงครามศาสนาไปทั่วโลก

หนังสือเล่มนี้เป็นเล่มที่ 9 ในชุดนักสืบไมรอน โบลิทาร์  เป็นตอนที่ค่อนข้างซับซ้อนและมีความเกี่ยวพันกับเหตุการณ์ความรุนแรงระดับโลก ในเรื่องการก่อการร้ายและองค์การลับต่าง ๆ แต่เรื่องก็ไม่ได้มีความลึกซึ้งเท่ากับเรื่องสายลับของแดเนียล ซิลวาที่สร้างองค์กรสายลับอิสราเอลที่ส่งสายลับไปในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก และมีตัวเอกที่เก่งกาจอย่างเกเบรียล อัลลอน เรื่องส่วนใหญ่ยังเป็นเรื่องราวส่วนตัวของไมรอนกับหญิงคนรักของเขา เนื้อเรื่องค่อนข้างเคร่งเครียดและไม่ได้มีอารมณ์ขันอย่างตอนอื่น ๆ แต่ก็จัดว่าอ่านสนุกและมีการหักมุมเหมือนเคย แต่ก็เป็นการหักมุมที่น่าคิดว่าถ้ามีเหตุการณ์อย่างนี้ในชีวิตจริงก็น่ากลัวเหมือนกัน

วันศุกร์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2556

พลาด

 
โคเบน, ฮาร์ลาน.  พลาด (One false move).  อริณี เมธเศรษฐ, แปล. กรุงเทพฯ : แพรว, 2549.
297 หน้า. ราคา 235 บาท

เรื่องนี้เป็นเรื่องหนึ่งในชุด A Myron Bolitar novel ของฮาร์ลาน โคเบน นักเขียนรางวัล Edgar โดย ฮาร์ลาน โคเบนได้สร้างไมรอน โบลิทาร์ ตัวเอกของเรื่อง ให้มีอาชีพตัวแทนนักกีฬา และหน้าที่หลักของเขาก็คือเป็นผู้เจรจากับต้นสังกัดแทนนักกีฬา หางานโฆษณา รวมทั้งเจรจาเรียกร้องค่าเหนื่อยที่เหมาะสมให้แก่ลูกค้า แต่บังเอิญต้องเผชิญกับการฆาตกรรม ทำให้ไมรอนต้องใช้ทักษะในการสืบสวนเข้ามาช่วย
ในตอนนี้ไมรอน โบลิทาร์ ได้รับการว่าจ้างให้เข้ามาคุ้มครองนักบาสเกตบอลผิวสีที่เป็นสาวสวย 'เบรนดา สลอเตอร์' เพราะเธอได้รับคำข่มขู่ และเมื่อค่อย ๆ สืบไปก็ได้ทราบว่า เมื่อสิบสองปีก่อนหน้านี้ แม่ของเบรนดาทิ้งเธอไป ซึ่งตอนนั้นอายุเธอเพียง 5 ขวบ และตอนนี้เบรนดากำลังจะได้ก้าวสู่จุดสูงสุดของอาชีพนักบาสเก็ตบอลหญิง พ่อของเธอก็มาหายไปอีก ขณะเดียวกันก็มีเหตุการณ์เกี่ยวกับการเลือกตั้งผู้ว่าการรัฐ ซึ่งผู้สมัครก็เป็นผู้ทรงอิทธิพลในรัฐนั้น ในตอนแรก ๆ เหตุการณ์เหมือนไม่เกี่ยวข้องกัน แต่สุดท้ายผู้อ่านจะรู้ว่ามีการหักมุมอย่างแรง
ไมรอนจึงเริ่มสืบสวนว่าใครเป็นคนข่มขู่เบรนดา แต่เมื่อสืบไปจึงพบว่าเหตุการณ์ในอดีตมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย โดยแม่ของเบรนดาเคยทำงานเป็นคนรับใช้ในบ้านของผู้ทรงอิทธิพล และได้เห็นภรรยาของผู้ทรงอิทธิพลกระโดดตึกตาย หลังจากนั้นไม่นานเธอก็ทิ้งลูกและสามี หนีหายไปอย่างไร้ร่องรอย ทำให้คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าเธอกลัวผู้ทรงอิทธิพลจะปิดปากเธอเกี่ยวกับภรรยาที่คิดว่าฆ่าตัวตาย แต่จริง ๆ อาจมีคนฆ่าเธอก็ได้ มีเพียงอาของเบรนดาเท่านั้นที่บอกว่า แม่ของเบรนดาได้ติดต่อคุยกับเธอ 2-3 ครั้ง นอกจากนั้นตัวเบรนดาเองก็ได้รับทุนการศึกษาตั้งแต่มัธยมจนถึงมหาวิทยาลัยจากผู้ไม่ประสงค์ออกนาม จึงคาดเดาว่าแม่ของเบรนดาอาจเป็นผู้ให้ทุน
เมื่อไมรอนสืบพบว่า โทรศัพท์ของพ่อ, อา และตัวของเบรนดาเองถูกดักฟัง ทำให้ไมรอนสงสัยผู้ทรงอิทธิพล เพราะในตอนนี้กำลังหาเสียงเป็นผู้ว่าการรัฐ ไม่อยากให้ใครรู้เรื่องในอดีตจึงต้องพยายามกำจัดตัวขัดขวาง แต่แล้วก็มีผู้พบศพพ่อของเบรนดา ทำให้ตำรวจสงสัยในตัวเบรนดา เพราะก่อนหน้านี้มีการทะเลาะกัน และมีคำสั่งศาลไม่ให้พ่อเข้าใกล้เธอ ขณะเดียวกันผู้ทรงอิทธิพลได้จับตัวไมรอนไป ทำให้ไมรอนรู้ว่า แม่ของเบรนดาเป็นชู้รักของผู้ทรงอิทธิพล มีลูกด้วยกัน และเตรียมพร้อมที่จะหนีไปตั้งต้นชีวิตใหม่ด้วยกัน แต่แล้วในวันที่นัดหมายจะหนีกันไป ผู้ทรงอิทธิพลกลับไม่พบแม่ของเบรนดา เพราะน้องชายของเขาเป็นคนพบศพก่อน และได้ให้ลูกน้องทำลายศพทิ้งโดยไม่ให้พี่ชายรู้  ทำให้ผู้ทรงอิทธิพลต้องวางเครื่องดักฟังทางโทรศัพท์ไว้ตามบ้านที่ชู้รักเคยอยู่ เพราะคิดว่าเธอจะโทรกลับมา และเขาจะได้ไปหา นอกจากนี้ยังส่งเสียเบรนดาที่เป็นลูกสาวของตนอย่างลับ ๆ ตลอดมา
ฮาร์ลาน โคเบน ผู้แต่ง
แล้วเรื่องก็มาหักมุมในตอนท้าย เมื่อเบรนดาคนสวย และกำลังทำให้หัวใจไมรอนสั่นคลอน กลับกลายเป็นศพ โดยถูกจ่อยิงในระยะเผาขนที่ท้ายทอย แต่ก็ทำให้ไมรอนรู้ว่าใครเป็นคนร้ายตัวจริงในเหตุการณ์ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ไมรอนซึ่งกำลังชอกช้ำใจและคลั่งแค้นจึงไปเผชิญหน้ากับอาของเบรนดา ซึ่งเป็นผู้หญิงมีอายุ รูปร่างอ้วนใหญ่ ท่าทางเป็นคนใจดี และเป็นเหยื่อของเหตุการณ์ด้วย เป็นคนทำเรื่องทั้งหมดนี้ เป็นคนที่เริ่มฆ่าแม่เบรนดา และเมื่อน้องชายผู้ทรงอิทธิพลมากำจัดศพ เธอก็สร้างเรื่องว่าเธอหนีไป พร้อมกับเล่าว่า แม่เบรนดาได้โทรศัทพ์คุยกับเธอ ทำให้ทุกคนคิดว่าแม่เบรนดายังมีชีวิตอยู่ ส่วนพ่อเบรนดาซึ่งตามหาภรรยาตลอดเวลา ก็สืบพบว่าวันที่ภรรยาหายมีน้องสาวของเขาอยู่ด้วย จึงมาถาม และถูกฆ่า ส่วนกรณีของเบรนดานั้น เกิดจากไมรอนพาเธอไปที่โรงแรมที่แม่เคยพาเธอไปในวันที่จะหนีไป และเธอก็จำโรงแรมได้ ทำให้คนร้ายกลัวว่าจะจำเหตุการณ์ทั้งหมดได้ จึงสร้างเรื่องหลอกเบรนดามาหา และฆ่าเธอทิ้ง
เป็นเรื่องที่อ่านสนุก มีการดำเนินเรื่องได้รวดเร็ว และตลอดทั้งเรื่องมีการบรรยายที่ทำให้ผู้อ่านยิ้มได้ตลอดเวลา แม้กระทั่งช่วงเครียด ๆ โดยเฉพาะการบรรยายเกี่ยวกับอารมณ์ขันแปลก ๆ ของไมรอนและวิน (เพื่อนรักและผู้ช่วยเหลือของไมรอน)

วันพุธที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2556

รหัสลับรัสปูติน

เบอร์รี, สตีฟ.  รหัสลับรัสปูติน (The Romanov prophecy).  อักษรา วิสาระ : แปล. กรุงเทพฯ : แพรว, 2549.  384 หน้า. ราคา 264 บาท.  

ในเรื่องนี้ผู้เขียนได้อาศัยข้อมูลจากเหตุการณ์ฆ่าหมู่ครอบครัว "ซาร์นิโคลัสที่ 2" และ การขุดซากพระศพในปี 1991 ที่ไม่พบรัชทายาท 2 พระองค์สุดท้อง และการนำความลึกลับและคำทำนาย ของรัสปูติน นักบวชผู้ใกล้ชิดราชสำนัก มาเป็นแกนของเรื่อง ผสมผสานไปกับการจินตนาการของผู้แต่งเอง โดยเรื่องมีอยู่ว่าภายหลังจากสหภาพโซเวียตล่มสลาย และระบอบคอมมิวนิสต์พังทลายลง ประชาชนชาวรัสเซียต้องการซาร์องค์ใหม่ที่ต้องสืบเชื้อสายมาจากราชวงศ์โรมานอฟ จึงมีการตั้งคณะกรรมาธิการเลือกตั้งซาร์ที่จะทำหน้าที่สรรหาผู้เหมาะสมขึ้นดำรงตำแหน่งซาร์องค์ใหม่ ทำให้ ไมล์ส ลอร์ด นักกฎหมายผิวสีจากสหรัฐอเมริกา ที่เชี่ยวชาญเรื่องประเทศรัสเซีย เดินทางมาช่วยคณะกรรมาธิการเพื่อตรวจสอบเอกสารและจดหมายเหตุยืนยันว่าผู้ที่เข้ามารับการสรรหาเป็นผู้เหมาะสมที่สุด ทว่าการสรรหาซาร์ กลับถูกแทรกแซงด้วยอิทธิพลของกลุ่มผลประโยชน์ทั้งฝ่ายทหาร มาเฟีย นายทุนรัฐบาล และคริสตจักร ที่จับมือกันเพื่อให้ได้ซาร์องค์ใหม่ ที่อยู่ในอาณัติของพวกเขา

ในหอจดหมายเหตุในกรุงมอสโก ไมล์ส ลอร์ด พบเอกสารข้อมูลเก่าแก่ที่ยืนยันว่า เหตุการณ์คืนวันที่ 17 กรกฎาคม ค.ศ. 1918 ซาร์นิโคลัสที่ 2 พร้อมด้วยพระมเหสีและพระราชโอรสธิดาทั้ง 5 พระองค์ถูกสังหารอย่างเหี้ยมโหดโดยพวกบอลเชวิค และพระศพถูกนำไปฝังด้วยกันในเหมืองร้างแห่งหนึ่ง แต่ขณะเดียวกันก็พบเบาะแสว่าเหตุการณ์ในคืนนั้นอาจมีผู้รอดชีวิตก็ได้ ซึ่งถ้าเป็นจริงอาจไขปมปริศนาได้ว่า ทำไมเมื่อมีการขุดซากพระศพขึ้นภายหลังในปี 1991 จึงไม่พบพระศพของอะเล็กเซย์ (พระราชโอรส) และอนัสตาเซีย (พระราชธิดา) สององค์สุดท้าย

จากข้อมูลใหม่นี้ ทำให้แผนการขึ้นสู่อำนาจที่ถูกกำหนดไว้เรียบร้อยแล้วมีปัญหา ลอร์ดจึงตกเป็นเป้าสังหาร ทำให้ต้องหนีหัวซุกหัวซุน พร้อมกับที่ต้องพยายามตามหา องค์รัชทายาทที่แท้จริงเพื่อนำกลับมาเป็นซาร์องค์ใหม่

ลอร์ดได้พบและรับความช่วยเหลือโดยบังเอิญจาก อะกีลีนา เปตรอฟนา สาวสวยนักแสดงจากคณะละครสัตว์ ชื่ออะกิลีนาซึ่งแปลว่า นกอินทรีย์ เป็นการยืนยันคำทำนายก่อนถูกสังหารของ รัสปูติน นักบวชที่ใกล้ชิดกับซาร์นิโคลัสที่ 2 แห่งราชวงศ์โรมานอฟ เมื่อเกือบร้อยปีก่อนที่กล่าวถึงการล่มสลายของราชวงศ์โรมานอฟ และทิ้งท้ายปริศนาไว้ว่า ผู้ที่จะมาทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างกลับมาสมบูรณ์เหมือนเดิมคือ นกราเวนสีดำ และนกอินทรีย์ ซึ่งทั้งสองสิ่ง สื่อความหมายไปยัง คนผิวสีอย่าง ลอร์ด และอะกิลีนา

คำทำนายของรัสปูติน มีดังนี้

“หากเขาถูกสังหารโดยพวกโบยาร์ มือของคนพวกนั้นจะเปื้อนเลือดไปเป็นเวลายี่สิบห้าปี พวกนั้นจะไปจากรัสเซีย พี่น้องจะลุกขึ้นต่อสู้ฆ่าฟันกันเองด้วยความเกลียดชัง และจะไม่มีชนชั้นขุนนางในประเทศอีกต่อไป แต่หากญาติคนหนึ่งคนใดของราชวงศ์เป็นผู้ฆ่าเขา ครอบครัวของราชวงศ์จะไม่มีใครมีชีวิตอยู่ไปอีกเกินสองปี ทุกคนจะถูกประชาชนชาวรัสเซียสังหาร แต่จะมีผู้มาช่วยให้รอดพ้น ผู้ที่มีความผิดฉกาจฉกรรจ์ที่สุดจะมองเห็นความผิดแห่งวิถึทางของเขา เขาจะรับรองว่าเลือดแห่งร่างกายของเราจะกลับฟื้นคืนคงขึ้นเอง มีเพียงนกสีดำและอินทรีเท่านั้นที่จะประสบความสำเร็จในสิ่งที่ผู้อื่นทั้งหมดล้มเหลว และความไร้เดียงสาแห่งเดรัจฉานจะช่วยคุ้มครองและนำทางโดยจะเป็นผู้กุมความสำเร็จขั้นสุดท้าย พระผู้เป็นเจ้าจะประทานวิธีให้แน่ใจในความดีงาม แต่จะต้องมีคนตายสิบสองคนก่อนที่การกลับฟื้นคืนคงจะสมบูรณ์”

สรุปเรื่องในตอนท้ายคือ ไมล์ ลอร์ดได้พบรัชทายาทที่สืบสายตรงจากซาร์นิโคลัสที่ 2 คือหลานปู่ของอะเล็กเซย์ หลังจากอะเล็กเซย์ และอนัสตาเซียได้รับการช่วยชีวิต ก็ต้องหลบหนีปะปนไปกับผู้ลี้ภัยข้ามไปอยู่ประเทศสหรัฐอเมริกา ในเมืองเล็ก ๆ ที่มีบรรยากาศเหมือนประเทศรัสเซีย เปลี่ยนชื่อเป็นปอล และแอนนา ธอร์น ส่วนอนัสตาเซียสิ้นพระชนม์ด้วยโรคปอดอักเสบ อะเล็กเซย์ได้แต่งงานมีครอบครัว มีลูกชาย 1 คน และสิ้นพระชนม์ด้วยโรคไข้หวัดใหญ่ตั้งแต่พระชนมายุ 21 พรรษา ส่วนลูกชายก็แต่งงานและมีลูกชาย 1 คนชื่อ ไมเคิล ธอร์น เป็นนักกฎหมายเล็ก ๆ ที่ไมล์ ลอร์ดได้เดินทางมาพบและพากลับไปรัสเซียเพื่อเป็นซาร์องค์ใหม่

เป็นเรื่องที่อ่านสนุก การดำเนินเรื่องเร็วและน่าตื่นเต้น เพราะมีการไล่ล่า ยิงต่อสู้ ระหว่างไมล์ ลอร์ดและพวกรัสเซียที่ตามฆ่า ขณะที่ต้องคอยลุ้นว่าเจ้านายที่ลอร์ดไว้วางใจนั้นไปเข้าข้างพวกรัสเซียโดยลอร์ดไม่รู้ จะเป็นอันตรายต่อลอร์ดและอะกิลีนาอย่างไร และชวนติดตามจากการไขปริศนาต่าง ๆ ที่เฟลิกซ์ ยูสซูปอพพระญาติของซาร์ที่เป็นผู้ลงมือสังหารรัสปูติน ที่ภายหลังตระหนักรู้ในสิ่งที่รัสปูตินได้ทำนายไว้ ได้ตระเตรียมเพื่อการฟื้นคืนราชวงศ์โรมานอฟ ที่จะมีในเกือบร้อยปีให้หลัง เนื้อเรื่องกว้างไกลจากรัสเซียข้ามโลกสู่อเมริกา นอกจากนี้การดำเนินเรื่องจะสลับไปมาระหว่างยุคปลายราชวงศ์โรมานอฟกับยุคใหม่ ซึ่งในตอนแรกที่อ่านก็ค่อนข้างสับสน แต่เมื่ออ่านไปจะค่อย ๆ เข้าใจ และรู้ประวัติศาสตร์รัสเซียในสมัยนี้ไปด้วยในเวลาเดียวกัน ยิ่งเมื่อผู้แต่งบรรยายเหตุการณ์การสังหารครอบครัวของซาร์นิโคลัสที่ 2 ที่ผสมผสานข้อเท็จจริงกับจินตนาการ ทำให้ผู้อ่านรู้สึกมีส่วนร่วมกับเหตุการณ์ที่น่าเศร้านี้ได้เป็นอย่างดี เกิดความรู้สึกทั้งตื่นเต้นและเศร้าสลดอย่างบอกไม่ถูก


ซาร์นิโคลัสที่ 2 กับครอบครัว

วันอังคารที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2556

เนโร วูลฟ์ คดีกริ่งประตูดัง

กริ่งประตูดัง (The doorbell rang). สเต๊าด์, เร็กซ์. แปลโดย พฤษภา. กรุงเทพฯ :  รหัสคดี,  2553. 183 หน้า.  ราคา 150 บาท.


เป็นเรื่องการสืบสวนของเนโร วูลฟ์ กับผู้ช่วยของเขาอาร์ชี่ กู๊ดวิน ที่มีเศรษฐีนีที่ชื่อ เรเชล บรูเนอร์ มาว่าจ้างให้สืบเรื่องที่เธอแจกหนังสือเกี่ยวกับเอฟบีไอ และหลังจากนั้นก็ถูกสะกดรอย ซึ่งคิดว่าเป็นเอฟบีไอ ด้วยค่าจ้าง หนึ่งแสนดอลล่าร์ และเมื่อสืบสวนไปก็ได้เชื่อมโยงอีกคดีหนึ่งที่มีคนถูกยิงตาย และตำรวจเจ้าของคดีคิดว่าเกี่ยวกับเอฟบีไอด้วย เนื่องจากคนตายกำลังเขียนเรื่องของเอฟบีไออยู่
และปืนที่ยิงและต้นฉบับได้หายไป การสืบสวนพบว่า คนตายที่ถูกยิงนั้นถูกคนรักของตนฆ่า และคนรักนั้นบังเอิญเป็นเลขานุการของเศรษฐีนีที่มาว่าจ้างเนโร และเธอคนนั้นก็เก็บซ่อนปืนไว้ หลังจากนั้นพวกเอฟบีไอก็ให้บังเอิญมาค้นห้อง (ซึ่งเป็นเรื่องผิดกฎหมาย) และได้พบศพ แต่ไม่สามารถแจ้งตำรวจได้ จึงได้เก็บกระสุนปืนและเอกสารต้นฉบับไป วูลฟ์และอาร์ชี่ต้องวางแผนหลอกล่อให้พวกเอฟบีไอแสดงตัว เพื่อจะได้กระสุนปืนให้ตำรวจเป็นหลักฐานจับฆาตกรได้

เนโร วูลฟ์ ที่เป็นภาพยนตร์
รหัสคดีชุดเนโร วูลฟ์ ดำเนินเรื่องในรูปนวนิยาย 32 เรื่องและเรื่องสั้น 40 เรื่องตลอด 3 ทศวรรษ โดยให้การดำเนินเรื่องผ่านการเล่าเรื่องของ อาร์ชี่ กู๊ดวิน เพราะต้องออกไปสืบหาพยานหลักฐานมาให้เนโร วูลฟ์ ซึ่งเกลียดการออกไปข้างนอกบ้าน วูลฟ์เป็นนักสืบที่ไม่ย่างกรายเข้าไปในที่เกิดเหตุ ผู้อ่านนิยายเรื่องนี้จะเห็นตัวเอก 2 ตัวที่มีบุคลิกแตกต่างกันอย่างมาก คืออาร์ชี่ที่มีบุคลิกน่ารัก ทำตัวเป็นมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่ง มีความคิดวิจารณญานของตนเอง และชอบคิดว่าตัวเองมีเสน่ห์ต่อผู้หญิงในหลายครั้ง ซึ่งเป็นอารมณ์ขันที่มีในตัวของอาร์ชี่ ส่วนวูลฟ์จะเป็นอีกบุคลิกที่น่าหมั่นไส้ กับรูปร่างเจ้าเนื้อน้ำหนักตัว 140 กิโล จู้จี้เรื่องของอร่อย ดื่มเบียร์วันละโหล เกลียดผู้หญิง มีงานอดิเรกเพาะกล้วยไม้ และมีกฎว่า เวลาดูกล้วยไม้กับเวลากิน ห้ามคนรบกวนเด็ดขาด นิสัยหยิ่ง แต่ทั้งคู่สามารถทำงานร่วมกันได้ ร่วมกันวางแผนเพื่อให้ได้มาซึ่งความจริงกับบทสรุปที่ต้องการของทั้งคู่ นับว่าทั้งคู่เป็นคู่หูนักสืบที่เข้ากันมากที่สุดคู่หนึ่งในโลกนักสืบ 
สมาคมนักเขียนรหัสคดีแห่งอเมริกาได้คัดสรรนวนิยายรหัสคดียอดเยี่ยมตลอดกาลออกมา 100 อันดับ และกริ่งประตูดังได้ขึ้นทำเนียบอันทรงเกียรตินี้ ในอันดับที่ 66


Rex Stout นักแต่งเรื่องนี้

วันพฤหัสบดีที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2556

นิยายที่หายไป

เซตเตอร์ฟีลด์, ไดแอน.  นิยายที่หายไป = The thirteenth tale.  ศศมาภา : แปล. กรุงเทพฯ : แพรวสำนักพิมพ์, 2551. 424 หน้า. 325 บาท.

เรื่องราวเกี่ยวกับ วีดา วินเทอร์ นักเขียนนิยายที่มีชื่อเสียง ได้ว่าจ้างมาร์กาเร็ต ลีอา ลูกสาวเจ้าของร้านหนังสือเก่าที่แทบจะหาลูกค้าไม่ได้และนักเขียนชีวประวัติมือสมัครเล่นให้เขียนประวัติของเธอ ประวัติที่เธอไม่เคยบอกเล่าให้กับใคร ไม่ว่าใครมาสัมภาษณ์ เธอจะแต่งประวัติของตัวเองใหม่ทุกครั้งไม่ซ้ำกันเลย แต่ตัวมาร์กาเร็ตเองกลับไม่เคยอ่านหนังสือของวินเทอร์เลยแม้แต่เล่มเดียว ทั้งนี้เพราะเธอชอบอ่านแต่หนังสือเก่าๆ อย่างหนังสือประวัติศาสตร์ บทกวี วรรณคดีมากกว่า และเมื่อมาร์กาเร็ตกำลังตัดสินใจว่าเธอควรจะทำงานให้นักเขียนผู้นี้หรือไม่ เธอก็เริ่มหาหนังสือของมิสวินเทอร์มาอ่าน และเรื่องที่เธอเลือกคือ The Thirteenth Tales หลังจากอ่านจบ เธอพบว่า ในเรื่องนี้มีการนำโครงเรื่องนิทานอย่างสโนว์ไวท์ ซินเดอเรลล่า เจ้าหญิงนิทรา ฯลฯ มาดัดแปลงให้กลายเป็นเนื้อเรื่องที่เต็มไปด้วยความเจ็บปวด และเสียดสีสังคมได้อย่างลึกล้ำ เต็มไปด้วยประสบการณ์ชีวิตที่ลึกซึ้ง อย่างยากจะหาใครทำได้ แต่เนื้อเรื่องกลับมีนิทานเพียง 12 เรื่อง ทั้งๆ ที่ชื่อเรื่องระบุว่ามี 13 เรื่อง ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้ตกลงใจรับงานเขียนชีวประวัติของนักเขียนผู้น่าสนใจคนนี้ในที่สุด


การเดินเรื่องจะเป็นการสลับกันระหว่างอดีตที่มิสวินเทอร์เล่า และปัจจุบันที่มาร์กาเร็ตพยายามค้นหาหลักฐานเพื่อยืนยันว่าสิ่งที่มิสวินเทอร์เล่าเป็นจริงหรือไม่และความกังวลใจเกี่ยวกับตัวเธอเองที่เมื่อใกล้วันเกิดทุกปี จะมีความรู้สึกว่าพี่สาวฝาแฝดที่ตายไปแล้วจะมาเอาชีวิตเธอ เนื่องจากเธอเกิดมาเป็นลูกฝาแฝดที่มีตัวติดกัน แต่มีหัวใจดวงเดียวกัน แฝดพี่ที่ไม่มีหัวใจตัวโตกว่า ทำให้เธอตัวเล็กและอ่อนแอ ถ้าให้ตัวติดกันไปตลอดจะไม่รอดทั้ง 2 คน จึงต้องผ่าตัดแยกแฝดออกจากกัน ทำให้แฝดอีกคนต้องตายไป และผู้เป็นแม่เสียใจมาก ทำตัวห่างเหิน ทำให้มาร์กาเร็ตรู้สึกว่าแม่ไม่ได้รักเธอ เธอจึงรู้สึกเงียบเหงาและทุกข์ระทม

ส่วนอดีตที่มิสวินเทอร์เล่าก็มีใจความว่า ในตระกูลขุนนางที่มีฐานะนามแองเจลฟิลด์ มีลูกแฝดเกิดขึ้น แม่ผู้ให้กำเนิดถูกหมอวินิจฉัยว่าจิตไม่ปกติ ต้องถูกส่งไปสถานบำบัด ส่วนลุงที่มีจิตหลงรักน้องสาวของตน เมื่อน้องถูกส่งไปที่อื่นก็ขังตัวเองไม่ยอมพบหน้าใคร ลูกแฝดจึงถูกเลี้ยงดูโดยคนรับใช้เก่าแก่ที่มีอายุ และคนสวนของบ้านเท่านั้น เมื่อฝาแฝดเติบโตขึ้นก็มีพฤติกรรมแปลก ๆ คือคนโตที่ชื่อแอนเดอลีนเป็นคนก้าวร้าว ชอบรังแกน้องสาว ส่วนคนน้องชื่อแอมเมอลีนก็มีพฤติกรรมเหมือนคนปัญญาช้า และไม่สนใจโลกภายนอก แต่เมื่อคนรับใช้ได้ตายหมด แฝดคนพี่กลับมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป มีความรับผิดชอบขึ้นมา และทำตัวมาดูแลบ้านแทน เรื่องราวค่อนข้างลึกลับซับซ้อน และคละเคล้าด้วยความแปลกประหลาด

ส่วนในปัจจุบันที่มาร์กาเร็ตต้องตรวจสอบว่าเรื่องเล่าเป็นจริงหรือไม่ ก็ได้เดินทางไปที่บ้านแองเจิลฟิลด์ ซึ่งพบว่าได้ถูกไฟไหม้ไปแล้ว และได้พบชายคนหนึ่ง ที่เล่าว่าในคืนที่บ้านแองเจิลฟิลด์ไฟไหม้ เขาถูกนำมาทิ้งไว้ให้คนอื่นเลี้ยง เป็นตัวละครตัวหนึ่งที่ทำให้ผู้อ่านอยากรู้ว่าเขามีส่วนเกี่ยวข้องกับมิสวินเทอร์อย่างไร และเป็นลูกของใคร

การเดินเรื่องน่าสนใจมาก กระตุ้นให้อยากรู้ตลอดเวลาว่า ความเป็นจริงคืออะไร ทำให้อ่านได้สนุก และที่สนุกที่สุดอยู่ตอนท้าย ๆ ของเรื่องที่ค่อย ๆ เฉลยความจริงไปทีละเรื่อง และยังมีการหักมุมเรื่องชนิดที่ทำให้ผู้อ่านรู้สึกทึ่งว่า ที่อ่านมาเกือบทั้งหมดนี้เราเข้าใจผิดหมดเลยหรือ?? แต่จริง ๆ แล้วในเนื้อเรื่องผู้เขียนได้ส่งคำใบ้ที่จะไขความลับให้ตลอดเวลา คำใบ้นั้นคือคำว่า “ผี”

สรุปง่าย ๆ คือตลอดทั้งเรื่องมิสวินเทอร์ไม่เคยพูดว่าตัวเองเป็นฝาแฝดคนใดคนหนึ่ง และมีการใช้คำว่า “ผี” ปะปนตลอดเวลา ซึ่งเมื่อเฉลยจึงรู้ว่า “ผี” ในเรื่องคือตัวเธอนั่นเอง เป็นเด็กคนที่สามที่หน้าตาเหมือนฝาแฝด ซึ่งตัวผู้เขียนกล่าวไว้ว่าเธอเป็นลูกของลุงกับหญิงสาวชาวบ้านที่ถูกลุงข่มขืน และเรื่องราวการกำเนิดของเธอก็ถูกนำไปเป็นเนื้อเรื่องของนิทานเรื่องที่ 13 นั่นเอง

เรื่องอ่านสนุก จบลงด้วยดีทุกอย่าง อิ่มเอมกับเนื้อเรื่อง เป็นความสุขปนความเศร้าที่บอกไม่ถูกในใจผู้อ่าน นักเขียนเขียนได้อย่างมีพลัง ตัวหนังสือของเธอมีเสน่ห์จริง ๆ


ผู้แต่งเรื่องนี้  ไดแอน เซตเตอร์ฟีลด์,

ข้อคิดจากในเรื่องที่น่าสนใจมากให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของหนังสือ "คนเราหายไปเมื่อสิ้นชีวิต เสียงของเขา เสียงหัวเราะของเขา ลมหายใจอบอุ่นของเขา เนื้อหนังมังสาของเขา และในที่สุดกระดูกของเขา ความทรงจำที่มีชีวิตทั้งหมดหยุดทำงาน สิ่งนี้น่ากลัวทั้งที่เป็นธรรมชาติ ถึงกระนั้น สำหรับบางคนแล้ว ความดับสูญนี้กลับมีข้อยกเว้น เพราะชีวิตของเขายังดำเนินต่อไปในหนังสือที่เขาเขียน เรายังค้นพบความเป็นตัวเขาได้อีก ทั้งอารมณ์ขันของเขา สำเนียงของเขา อารมณ์ของเขา คำพูดที่เขาเขียน อาจทำให้เราโกรธหรือมีความสุข ปลอบประโลม ทำให้งุนงงสงสัย หรือเปลี่ยนแปลงเรา ทำทุกสิ่งทุกอย่างเหล่านี้ได้ แม้ตัวจะตายไปแล้ว ทั้งที่สิ่งเหล่านี้ควรจะสิ้นสลายไปตามกฎธรรมชาติ แต่กลับดำรงอยู่ได้เพราะความน่าอัศจรรย์ของหมึกและกระดาษ ไม่ต่างจากแมลงที่อยู่ในอำพันหรือศพที่แช่แข็ง นี่คือสิ่งมหัศจรรย์โดยแท้"

พระโอวาทของพระอรหันต์จี้กง

พระโอวาทของพระอรหันต์จี้กง...


1. ชีวิตย่อมเป็นไปตามวิถีแห่งกรรมที่ลิขิต (ละชั่วทำดี)   วอนขออะไร

2. วันนี้ไม่รู้เหตุการณ์ในวันพรุ่งนี้ กลุ้มเรื่องอะไร

3. ไม่เคารพพ่อแม่แต่เคารพพระพุทธองค์ เคารพทำไม

4. พี่น้องคือผู้ที่เกิดตามกันมา ทะเลาะกันทำไม

5. ลูกหลานทุกคนล้วนมีบุญตามลิขิต ห่วงใยทำไม

6. ชีวิตย่อมมีโอกาสประสบความสำเร็จได้ ร้อนใจทำไม

7. ชีวิตใช่จะพบเห็นรอยยิ้มกันได้ง่าย ทุกข์ใจทำไม

8. ผ้าขาดปะแล้วกันหนาวได้ อวดโก้ทำไม

9. อาหารผ่านลิ้นแล้วกลายเป็นอะไร อร่อยไปใย

10. ตายแล้วบาทเดียวก็เอาไปไม่ได้ ขี้เหนียวทำไม

11. ที่ดินคือสิ่งที่สืบทอดแก่คนรุ่นหลัง โกงกันทำไม

12. โอกาสจะได้กลายเป็นเสีย โลภมากทำไม

13. สิ่งศักดิ์สิทธิ์อยู่เหนือศีรษะเพียง 3 ฟุต ข่มเหงกันทำไม

14. ลาภยศเหมือนดอกไม้ที่บานอยู่ไม่นาน หยิ่งผยองทำไม

15. ทุกคนย่อมมีลาภยศตามวาสนาที่ลิขิต อิจฉากันทำไม

16. ชีวิตลำเค็ญเพราะชาติก่อนไม่บำเพ็ญ แค้นใจทำไม

(บำเพ็ญไวไว)

17. นักเล่นการพนันล้วนตกต่ำ เล่นการพนันทำไม

18. ครองเรือนด้วยความขยันประหยัดดีกว่าไปขอพึ่งผู้อื่น สุรุ่ยสุร่ายทำไม

19. จองเวรจองกรรมเมื่อไรจะจบสิ้น อาฆาตทำไม

20. ชีวิตเหมือนเกมหมากรุก คิดลึกทำไม

21. ฉลาดมากเกินจึงเสียรู้ รู้มากไหม

22. พูดเท็จทอนบุญจนบุญหมด โกหกทำไม

23. ดีชั่วย่อมรู้กันทั่วในที่สุด โต้เถียงกันทำไม

24. ใครจะป้องกันมิให้มีเรื่องเกิดขึ้นได้ตลอด หัวเราะเยาะกันทำไม

25. ฮวงซุ้ยที่ดีอยู่ในจิตไม่ใช่อยู่ที่ภูเขา แสวงหาทำไม

26. ข่มเหงผู้อื่นคือทุกข์ รู้ให้อภัยคือบุญ รู้กันทุกคนถามใครทำไม

27. ทุกสิ่งจบลงด้วยความตาย วุ่นวายทำไม

วันอังคารที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2556

พิษร้ายประชานิยม

จากคอลัมน์ ‘เปลว สีเงิน’ ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ 13 มีนาคม 2556

รัฐบาลมีเรื่องรับจำนำข้าวเกวียนละ ๑๕,๐๐๐ เป็นออเดิร์ฟ ฤดูกาลจำนำที่แล้ว ร่วม ๕ แสนล้านหายวับไปกับตา แต่อ้างว่าขายจีทูจีได้เงินคืน ธ.ก.ส.ไปราวๆ ๖ หมื่นล้าน
นายบุญทรง ช่วยเปิดเผยประเทศคู่ค้า เปิดเผยจำนวน เปิดเผยราคา และเปิดเผยแอล/ซี ซิว่า เงิน ๖ หมื่นล้านมันเป็นเงินจีทูจีจากไหน ราคาเท่าไหร่ ซื้อขายกันกี่ตัน?

จำนำข้าวเปลือกรอบ ๒ ของปี ๒๕๕๖ มาอีกแล้ว เป็นข้าวนาปรัง เห็นบอกว่ามีประมาณ ๗ ล้านตัน ต้องใช้เงินหมุนเวียนอีกแสนกว่าล้าน ธ.ก.ส.จะเอาเงินที่ไหนมารับจำนำ คำตอบคือ ก็จะเงินของพ่อ-ของแม่ใครที่ไหนล่ะ เงินประชาชนผ่านคำว่า รัฐบาล "กู้เอามาให้ ธ.ก.ส." โดยกระทรวงคลังค้ำประกันนั่นแหละ

เดือนก่อนบอกว่า คลังจะไม่ค้ำประกันเงินก้อนใหม่ให้ ธ.ก.ส.อีกแล้ว แล้วนี่...แมวหรือหมาที่ไหนกันล่ะ?

นายบุญทรง รมว.พาณิชย์ลอยหน้าพูดวันก่อนว่า "ก็ไม่ได้บอกนี่ว่า รัฐบาลรับจำนำข้าวแล้วจะไม่ขายขาดทุน...."!?
เอาก๊ะมันซี...ปีแรกซื้อมาร่วม ๕ แสนล้าน ขายได้เงินแค่ ๖ หมื่น แล้วปีที่สอง จะอีกกี่แสนล้าน ขี้เกียจจำตัวเลข ก็มันขาดทุนทับถมแบบไร้สาระ นอกจากคนกลุ่มหนึ่งพอใจในวันนี้ แต่ทั้งประเทศจะล่มจม กู้ไม่ฟื้นเหมือนอาร์เจนตินาในวันหน้า รวมทั้งชาวนาและเกษตรกรทั่วไปด้วย

ในเมื่อรัฐบาลใช้ "ราคาประชานิยม" ซื้อใจ-ซื้อคะแนน จนติดอก-ติดใจ เมื่อรัฐบาลนี้ฉิบหายตายจาก สังคมชาวไร่-ชาวนา ก็จะอยู่กับความเป็นจริงตามระบบเป็นจริงไม่ได้!

เพราะไม่มีรัฐบาลไหนหรอก ถ้าซื่อสัตย์กับชาติบ้านเมืองและประชาชนแล้ว เขาจะบริหารแบบผลาญประเทศ ด้วยการเอาเงินภาษี+สร้างหนี้สะสมมาทำประชานิยม "มอมเมาชาวบ้าน" จนระบบสังคม ระบบธุรกิจการค้า ระบบตลาด ระบบเงินออม ระบบก่อร่างสร้างตัว ระบบซื่อสัตย์-ขยันหมั่นเพียร ต้องล่มสลายไปในที่สุด

การบริหารแบบทำลายระบบ ทำลายองค์กร ทำลายสังคม ทำลายคน ด้วยวิธีการ มอมเมา-แบ่งแยก-กัดเซาะ ก่อนครอบงำแล้วยึดครอง ว่าไปแล้ว มันเลวร้ายและน่ากลัวกว่าการล่าอาณานิคมของกลุ่มจักรวรรดินิยม และน่ากลัวกว่าระเบิดปรมาณูลงเสียอีก!

เพราะแบบนั้น สูญสลายเพราะถูกทำลายแค่วัตถุ อันเป็นภายนอก แต่แบบมอมเมา-แบ่งแยก-กัดเซาะ มันจะทำลายด้วยละลายจิตวิญญาณอันเป็นภายใน

ชาติไม่สูญ-ประเทศไม่สูญ.....แต่ประชาแห่งความเป็นชาติสูญ!

สูญซึ่งจิตวิญญาณอันเป็นฐานรวมเอกลักษณ์ชาติ มีแต่แบบนี้แหละ เป็นแบบล้างชาติที่สามารถ ถอนราก-ถอนโคน "ระบอบ-สถาบัน" ได้ โดยไม่ทันรู้ตัว หรือกว่าจะรู้ตัวก็สายเกินไป ในเมื่อจิตวิญญาณฐานรวม ถูกสลายด้วยสารเสพติดประชานิยมเป็นส่วนใหญ่ไปแล้ว

มันไม่ใช่การดายหญ้า แต่เป็นการ "ขุดหัว-ขุดราก" ที่ฝังในดินให้ "สิ้นเชื้องอก" กันเลยทีเดียว!

ที่พูดนี่อาจไม่เห็นภาพ คำไทยมีอยู่ว่า "ถ้าไม่ถึงหาม ก็ไม่ไปโรงพยาบาล" หรือ "สัญชาติคางคก ยางหัวไม่ตกก็ไม่สำนึก" ระวัง....สังคมรากลอยในวันนี้ จะเป็นอย่างนี้

อาร์เจนตินาก็ดี กรีซก็ดี อยู่คนละขั้วโลกกับไทย ส่วนใหญ่หลับตาก็ไม่เห็นภาพ เลยไม่รู้ฤทธิ์ "ประเทศตายผ่อนส่ง" ด้วยพิษประชานิยม เป็นยังไง?

ด้วยทรัพยากร-ความมั่งคั่ง-เครดิตที่สะสมเป็น "ต้นทุนประเทศ" มันมีมากพอให้อำนาจเลวใช้เป็น "ต้นทุนล้างผลาญประเทศ" ได้ โดยคนไร้สำนึกจะไม่รู้สึกตัวถึงหายนะนั้น เป็นเวลานานกว่า ๑๐-๒๐ ปี

ก็ขอให้ "คนไทยทุกคน" จงโชคดี มีสุขถ้วนหน้ากับ "อนาคตประชานิยม" เถิด.

วันจันทร์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2556

ยาคุโมะ

คามินากะ, มานาบุ.  ยาคุโมะ นับสืบวิญญาณ. ตอนที่ 5, สายใยแห่งโชคชะตา. แปลโดย พลอยทับทิม ทับทิมทอง. กรุงเทพฯ :  JBOOK,  2554.  293 หน้า.  ราคา 225 บาท.

เรื่องราวเริ่มขึ้นโดยรายการโทรทัศน์หนึ่งไปถ่ายทำเรื่องวิญญาณที่บ้านตระกูลนานาเสะที่ถูกฆาตกรรมเกือบทั้งตระกูลเหลือเพียงหลานสาวอายุ 10 ขวบเพียงคนเดียวเมื่อ 15 ปีก่อน แต่แล้วคนไปถ่ายทำรายการนั้นกลับถูกวิญญาณหลอกเอา จนพิธีกรสาวของรายการหมดสติไปในบ้านหลังนั้น หลังจากนั้นไม่นาน มาโกโตะนักข่าวสาว (ที่เคยปรากฎในตอนที่แล้ว ที่ถูกวิญญาณสิงร่าง จนยาคุโมะไปช่วยไว้จึงรอดมาได้) ไปที่บ้านนั้นเช่นกันเพื่อเขียนสกู๊ปข่าว จึงได้พบพิธีกรสาวที่หมดสติอยู่และได้ช่วยเหลือออกมา และเมื่อฟื้นคืนสติในโรงพยาบาลก็ได้มอบวิดีโอที่ถ่ายติดวิญญาณผู้หญิงมาด้วยให้มาโกโตะ

ขณะเดียวกันพวกโกะโตและอิชิอิ ไปตรวจสอบสถานที่ที่ไซโต อาสุสะ พยายามจะฆ่าลูกของตน คือ ยาคุโมะ เมื่อ 15 ปีก่อน และอิชิอิก็เห็นทาเคดะ ชุนสุเกะ ซึ่งตำรวจเชื่อว่าเป็นคนร้ายในคดีฆ่าตระกูลนานาเสะ ทำให้หัวหน้ามิยาคาวาระดมตำรวจหน่วยสืบสวนมาตามหาตัวคนร้ายชนิดยกสถานีเพราะอีกไม่กี่วันสิ้นอายุความแล้ว แต่ก็ไม่สามารถจับตัวได้

จากวิดีโอนั้นมาโกโตะได้ไปขอความช่วยเหลือจากพวกโกะโตและอิชิอิ ซึ่งก็มียาคุโมะและฮารุกะรวมอยู่ด้วยซึ่งเมื่อดูแล้ว ทั้งโกะโตและยาคุโมะก็ออกตามสืบและหายตัวไป ทำให้อิชิอิและฮารุกะต้องออกตามตัวอย่างจ้าละหวั่น และในที่สุดฮารุกะได้โยงเรื่องไปในอดีตเมื่ออาสุสะโดนลักพาตัวจนมีลูกติดท้อง และเมื่อหนีออกมาได้พบกับโอซาวา เคโกะ แม่ของฮารุกะและสนิทสนมกันในเวลาต่อมา นอกจากนี้ยังทราบว่าแม่ของยาคุโมะกำลังจะแต่งงานกับผู้ต้องหาคดีฆาตกรรมครอบครัวนานาเสะก่อนจะลงมือฆ่าลูกและหายสาบสูญไป ส่วนอิชิอิก็สืบพบว่าฆาตกรตัวจริงไม่ใช้ทาเคดะ แต่เป็นอีกคนหนึ่งที่ชื่อ ฮอนดะ ที่ลูกสาวฆ่าตัวตาย เพราะถูกเพื่อนกลั่นแกล้ง และเมื่อร้องเรียนไปที่เจ้าของโรงเรียนคือครอบครัวนานาเสะก็ไม่รับผิดชอบ ทำให้โกรธแค้นจึงเป็นเหตุให้เกิดการฆ่าได้

เรื่องราวค่อนข้างซับซ้อนเพราะมีเรื่องการสะกดจิตเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยชายที่มีนัยน์ตาแดงทั้ง 2 ข้าง(ซึ่งในเรื่องบอกเป็นนัยว่าเป็นพ่อของยาคุโมะ) สะกดจิตฮอนดะให้คิดว่าตนเองเป็นฆาตกร และชายนักสะกดจิตได้ลักพาตัวหลานสาวของครอบครัวนานาเสะไป เลี้ยงดูเธอให้เติบโตและมีความชั่วร้ายมากขึ้น (ผู้หญิงคนนี้เคยออกมาในตอนที่แล้วที่ปลอมตัวเป็นหมอฟันและอ้างว่าเป็นพี่สาวยาคุโมะ) ในตอนนี้เธอแสดงตัวเป็นพิธีกรสาวในตอนแรกที่ไปถ่ายทำบ้านที่มีวิญญาณ เธอคนนี้เองที่เป็นคนลงมือฆ่าครอบครัวของตนเอง ตั้งแต่เธออายุ 10 ขวบ เนื่องจากเธอเห็นว่าครอบครัวนานาเสะมีความเละเทะ แม่ของเธอเป็นเมียเก็บของปู่ และพ่อของเธอก็ทำอนาจารเธอเพื่อแก้แค้นเมียและพ่อของตน เมื่อเธอเล่าเรื่องนี้ให้ย่าฟัง ทั้งปู่ พ่อและแม่ ก็ร่วมกันฆ่าย่า ทำให้เธอทั้งโกรธและเกลียด จึงวางแผนฆ่าทั้ง 3 คนและร่วมมือกับชายนักสะกดจิตวางแผนให้มีผู้รับเคราะห์ 2 คน คือ ทาเคดะ และฮอนดะ ซึ่งอิชิอิก็ถูกปมนี้หลอกล่อ

สำหรับตอนนี้เป็นตอนที่ให้ผู้อ่านได้รับรู้เกี่ยวกับแม่ของยาคุโมะ ว่ามีตัวตนอย่างไร ไม่ใช่แม่ที่ใจร้าย มีความรักและความสุข แต่ด้วยเหตุการณ์ที่คนรักถูกใส่ความจนต้องหนี ทำให้ชีวิตมีแต่ความโดดเดี่ยว สิ้นหวัง จนในที่สุดต้องไปตายในที่อ้างว้าง  ส่วนคนรักของแม่ยาคุโมะ ก็เปิดเผยในตอนท้ายว่าที่ตำรวจตามจับตัวไม่ได้ตลอดเวลา เพราะตัวทาเคดะได้ถูกฆ่าตายตั้งแต่ต้น และถูกฝังอยู่ในตึกร้าง เมื่อมีการรื้อถอนตึกเก่านั้น ทำให้ศพได้หลุดจากการจำจอง วิญญาณจึงได้ออกมาเพื่อพยายามมาช่วยยาคุโมะ

เป็นตอนที่อ่านสนุก มีความตื่นเต้นเร้าใจ ดำเนินเรื่องได้รวดเร็ว และเรื่องมีการหักมุม ผู้อ่านคาดไม่ถึงอยู่ตลอดเรื่อง แต่ก็ยังมีประเด็นที่ยังค้างคาอยู่อีก เช่น ชายนักสะกดจิตผู้มีนัยน์ตาแดง 2 ข้างเป็นใคร จับแม่ยาคุโมะไปทำไม และแม่ไปตายที่กระท่อมที่ถูกจับตัวครั้งแรกได้อย่างไร ทั้ง ๆ ที่หนีออกมาแล้ว เป็นต้น (ไม่แน่ใจว่าจะได้อ่านเล่มต่อไปหรือไม่ เพราะสำนักพิมพ์ Bliss ได้ปิดตัวไปแล้ว)

วันศุกร์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2556

อธิวาสนา


เนื้อเรื่อง "อธิวาสนา" มาจากข้อเขียนของพระเถระรูปหนึ่ง ซึ่งใช้นามปากกาว่า หลวงปู่ เขียนจากประสบการณ์ของท่าน ในโอกาสที่ได้ไปจำพรรษา อยู่ในความปกครองของหลวงพ่อที่วัดหนองป่าพง

 
หลวงปู่ชา วัดหนองป่าพง
มีอยู่วันหนึ่ง ผู้เขียนเดินผ่านพระอาจารย์รูปหนึ่ง ซึ่งบวชมาหลายพรรษาแล้ว ท่านมีหน้าที่ตีระฆัง สังเกตดูสีหน้าท่านเศร้าหมอง สอบถามได้ความว่า เมื่อการประชุมสงฆ์ครั้งที่ผ่านมา ซึ่งทั้งหลวงพ่อ และผู้เขียนก็มิได้อยู่ในที่ประชุมด้วยนั้น คณะสงฆ์ได้ปรับอาบัติพระอาจารย์รูปนี้ ที่ทำผิดระเบียบของวัดหนองป่าพงหลายครั้งหลายครา
ความผิดที่พระรูปนี้ทำซ้ำซากก็คือ การที่ท่านออกปากทักญาติโยมก่อน พระอาจารย์รูปนี้ก็ทราบว่า ท่านได้ทำผิดระเบียบของคณะสงฆ์วัดหนองป่าพงจริง แต่ท่านได้ปรับทุกข์กับผู้เขียนว่า ท่านมิได้ตั้งใจเลย เป็นเรื่องที่ท่านเผลอสติทุกครั้ง ซึ่งท่านเสียใจมาก และยอมให้คณะสงฆ์ปรับโทษ

เพียงแต่ว่า คืนนี้ คณะสงฆ์จะรอฟังคำชี้ขาดจากหลวงพ่ออีกทีหนึ่ง เนื่องจากการชี้โทษนั้น เป็นเสียงของสงฆ์หมู่มาก หลวงพ่อยังมิได้รับรู้ ท่านอาจารย์ผู้นี้ได้บอกกับผู้เขียนว่า ถ้าหลวงพ่อจะให้ผมสึก ผมก็จะสึก

หลังจากนั้น พระเณรก็ไปรวมกันที่กุฏิหลวงพ่อ ซึ่งตอนนี้ท่านก็ทราบความเห็นของคณะสงฆ์ที่มีต่อพระอาจารย์รูปนั้นแล้ว เมื่อทุกองค์กราบนมัสการท่านแล้วก็ตั้งใจฟังว่า ท่านจะตัดสินอย่างไร ผู้เขียนเองสังเกตว่าหลวงพ่อท่านเฉยๆ เมื่อทุกรูปพร้อมกันแล้ว ท่านก็ให้โอวาทเหมือนกับเป็นเรื่องปรารภธรรมโดยปกติ โดยมิได้เอ่ยถามเรื่องราวหรือซักถามพระองค์ใดเลย

ท่านเทศน์เรื่อง "อธิวาสนา" ซึ่งผู้เขียนซึ้งใจมาก จำความได้ดังต่อไปนี้

...คนเรานั้นเป็นคนเหมือนกันจริง แต่ก็ไม่เหมือนกันทั้งหมด ในด้านของพฤติกรรม เพราะเหตุปัจจัยที่ผ่านเข้ามาสร้างเป็นจริตนิสัยนั้นต่างกัน เมื่อทำอะไรบ่อยๆ เข้า รวมเป็นนิสัย ทำซ้ำๆ บ่อยมากขึ้นกลายเป็นอุปนิสัย (นิสัยที่แน่นอนหรือสันดาน) อุปนิสัยก็ยิ่งพอกพูน กลายเป็นเรื่องอธิวาสนา คือเป็นพฤติกรรมประจำตัวที่แก้ไม่ได้

ผู้ที่จะแก้อธิวาสนาได้ มีเพียงพระพุทธเจ้าเท่านั้น แม้พระอรหันต์ก็ไม่สามารถแก้อธิวาสนาได้ เช่น พระสารีบุตรนั้น ท่านมีอธิวาสนาคล้ายลิง เชื่อกันว่า อดีตชาติท่านเคยเป็นลิงมาหลายชาติ ทำให้ท่านชอบกระโดด โยมที่ยังติดรูปแบบ เคยนึกตำหนิความไม่สำรวมของท่าน ซึ่งน่ากลัวมาก

เพราะพระสารีบุตร เป็นพระอรหันต์ที่มีปัญญามาก เป็นอัครสาวกเบื้องขวาของสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า (ผู้ใดตำหนิพระอรหันต์ บาปก็จะเข้าตัวเองเพราะพระอรหันต์เป็นผู้ที่มีจิตบริสุทธิ์แล้ว) ในขณะที่พระอานนท์แม้ยังมิได้บรรลุอรหันต์ ก็ยังมีกิริยานอบน้อม มีวาจาไพเราะ มีความสำรวม และความเป็นระเบียบยิ่ง

สิ่งเหล่านี้ ทำให้พระอรหันต์ของพระพุทธศาสนามีบุคลิกที่แตกต่างกันไป แล้วแต่อธิวาสนา แต่ทุกข์จะเหมือนกันที่ความบริสุทธิ์

สำหรับพวกเรา ซึ่งยังต้องการชำระจิตให้บริสุทธิ์อยู่ จะเห็นว่าจริตนิสัยของแต่ละคนก็แตกต่างกันไป บางคนค่อนไปทางราคจริต ชอบของสวยของงาม ชอบการประดิษฐ์ปรุงแต่ง ก็จะต้องใช้ความไม่สวยไม่งามไปแก้ บางคนมีจริตค่อนไปทางโทสจริต ทำอะไรรวดเร็ว อยากได้อะไรต้องได้ดังใจอยาก เช่นนี้ก็ต้องแก้โดยการทำให้ช้าลง ส่วนโมหจริตนั้นเป็นพวกที่ไม่สามารถเข้าใจธรรมขั้นละเอียดได้ ส่วนศรัทธาจริตที่ค่อนข้างจะเป็นโมหะมากๆ ก็มักจะเชื่อง่าย ชอบอภินิหาร ชอบการลองของ พุทธิจริต หรือมีจิตมีปัญญาจะชอบสอน พบใครเห็นเป็นเด็กนักเรียน จะแนะนำด้วยความหวังดีเสมอ

จริตทั้งหลายนี้ แม้ผิวเผินจะต่างกัน แต่โดยสัจธรรมจะเหมือนกันในความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และความเป็นอนัตตา ความที่ไม่อาจยึดมั่นหมายมั่นได้

เปรียบได้กับมะนาว พริก อ้อย บอระเพ็ด ทุกอย่างเกิดจากดิน แต่รสจะต่างกัน มะนาวมีรสเปรี้ยว พริกมีรสเผ็ด อ้อยมีรสหวาน ส่วนบอระเพ็ดมีรสขม สิ่งเหล่านี้เหมือนกันคือ เกิดมาจากดิน แล้วมันยังต้องตายเหมือนกัน เราจะหารสเผ็ดจากมะนาวก็ไม่ได้ จะหารสขมจากน้ำตาลอ้อยก็ไม่ได้ กินเปรี้ยวเกินไปก็ถ่ายท้อง กินหวานเกินก็ปวดตามข้อ กินบอระเพ็ดมากเกินก็มีลมออกหู

เช่นเดียวกับพระสารีบุตรมีปัญญามาก พระโมคคัลลานะมีฤทธิ์มาก พระสิวลีมีลาภมาก แต่ละองค์มีเอตทัคคะแตกต่างกัน แต่เหมือนกันในแง่ของความบริสุทธิ์

อย่างพระอาจารย์ทองรัตน์ คนไม่ค่อยจะชอบท่าน แต่เมื่อผมไปกราบนมัสการท่าน ท่านทักว่า “ชามาแล้วหรือ” ด้วยสำเนียงอ่อนโยน ผมก็แปลกเหมือนกัน บางทีท่านทำแผลงๆ พระจะปรับอาบัติท่าน ท่านรู้ล่วงหน้าบอกว่า “เอาเลยมาปรับอาบัติผม” วันหนึ่งกำลังเดินแถวบิณฑบาตอยู่กับท่านอาจารย์มั่น ปรากฏว่า ท่านโดดออกนอกแถว ไปเตะแพะตัวหนึ่งบอกว่า

“นี่...มึงสิขวิดพ่อกูเบาะ” (นี่...มึงจะขวิดพ่อกู) ปฏิปทาของท่านเป็นเช่นนี้ คนธรรมดาเข้าใจยาก คราวหนึ่ง ชาวบ้านคิดจะแกล้งท่านหรืออย่างไรก็ไม่ทราบ บอกถวายปลาเป็นๆ ที่เพิ่งตกได้ ปากยังร้อยด้วยหวายอยู่เลย ปรากฏว่าท่านรับบาตรและเอาไปปล่อย ท่านพูดกับปลาว่า “ดีนะลูกที่เขายังไม่ฆ่าเจ้า”

เวลาท่านมรณภาพ ในย่ามของท่านมีมีดโกนเล่มเดียว นอกนั้นไม่มีสมบัติอื่น เมื่อตอนเผาเกิดลมพายุฝนตกอย่างหนัก ครูหนึ่งแล้วหายไป พอให้เห็นเป็นอัศจรรย์

ที่ยกเรื่องเหล่านี้มา ก็เพื่อให้พวกท่านเห็นความแปลก บางทีก็ไม่แปลก เป็นเรื่องธรรมดา เพราะทุกชีวิตก็ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทุกคน ดังนั้นเราจงอย่าเก็บอะไร ให้เป็นการหนักอกหนักใจตนเองเลย ปฏิบัติธรรมแล้วต้องทำให้เกิดเบาใจ

อะไรผิดก็แก้กันไป ผิดไปแล้วก็แล้วไป ให้เห็นว่าเป็นมายาที่ผ่านไป ให้ท่านมีสติปัญญาพิจารณาทุกอย่างให้เห็นเป็นธรรมดาอยู่เช่นนี้ ทุกอย่างแปรปรวนไปตามเหตุปัจจัยของมันเช่นนั้น อะไรที่แก้ไขไม่ได้ ก็ขอให้คิดว่าเป็นเรื่องของอธิวาสนา

แม้ผมเองบวชมานี่ ไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่าจะมาเป็นครูบาอาจารย์ของใคร แล้วอธิวาสนาก็ผลักพามาให้เป็นครูสอนพวกท่าน มาร่วมปฏิบัติธรรมกับท่าน เราก็จะปฏิบัติไปอย่างนี้แหละ คือปฏิบัติให้เป็นศีลวัตร สมาธิวัตร ปัญญาธิกวัตร และเคารพพระวินัยให้มากที่สุด ส่วนเรื่องปลีกย่อยขาดเกินบกพร่องไปบ้าง ก็ต้องถือว่าเป็นธรรมดา

แม้แต่สบงจีวรที่นุ่งห่มกันอยู่ ก็มีที่ยาวไป สั้นไป เมื่อมาใช้กับตัวเรา ความจริงจีวรนั้นไม่ยาวไม่สั้น แต่มันจะยาวไป สั้นไป ก็เมื่อเราครองจีวรเท่านั้น แต่เราก็มีปัญญาปรับให้พอดีกับตัวเราได้ เราจะไปยึดว่าจีวรต้องเข้ากับตัวเราพอดีก็ไม่ได้ ต้องปล่อย ต้องปลงไป เพราะเป็นเรื่องที่ต้องควรปล่อย

แต่ถ้าบางเรื่องต้องถือ ก็ถือให้ถูกต้องตามธรรมวินัย อย่าใช้อารมณ์พอใจหรือไม่พอใจของเราเข้าไปตัดสิน กลายเป็นอารมณ์อยู่เหนือธรรมะไป ทำอะไรจึงต้องรอบคอบ ต้องใช้ปัญญา เล็กไปบ้างใหญ่ไปบ้าง ถูกใจบ้างไม่ถูกใจบ้าง แต่ถ้ายังถูกต้องตามพระวินัย ก็น่าจะปล่อยไป

พระเซน ๒ รูปเถียงกันเรื่องธงไหว องค์หนึ่งว่า ลมเป็นปัจจัยทำให้ธงไหว อีกองค์ว่าธงต่างหากทำให้เกิดการเคลื่อนไหว เถียงกันไปเถียงกันมา ตกลงกันไม่ได้ ต้องร้อนถึงอาจารย์ตัดสิน ซึ่งอาจารย์ก็กล่าวว่า จิตของท่านต่างหากที่ไหว ไม่ใช่ลมหรือธงอย่างที่พระเซน ๒ รูปเถียงกัน

พระอาทิตย์อยู่ใกล้โลกที่สุดตอนไหนของวัน องค์หนึ่งว่า ตอนเช้าซิ เพราะดวงโตที่สุด อีกองค์ว่าตอนกลางวัน เพราะร้อนที่สุด เถียงกันไม่มีแพ้ไม่มีชนะ ต้องร้อนไปถึงอาจารย์ให้ช่วยตัดสินอีก อาจารย์ถามว่า ท่านฉันหรือยัง ให้ไปฉันข้าวดีกว่า เช่นนี้เป็นต้น

พวกเราก็เหมือนกัน อย่าพยายามตั้งเรื่องอะไรที่มันต้องลำบากใจตนเอง ให้พอใจกับการปฏิบัติ พอใจกับธรรมะ อย่าพอใจกับการสอดสู่ดูความบกพร่องของผู้อื่น นั่นเป็นเรื่องของกิเลส อะไรเกิดก็ให้รู้ รู้แล้วละเสีย ธรรมชาติก็เป็นเช่นนี้เอง อย่าคิดให้เกินเลย ต้องคิดให้พอดี

ดีแล้วนะ ที่พวกเราเอาใจใส่หมู่พวก ดูแลชี้ข้อบกพร่องกันตลอดเวลา เพราะเราอยู่ด้วยความรัก ความเมตตา อยู่กันด้วยกายกรรม เคารพนับถือกันทั้งต่อหน้าและลับหลัง พูดกันก็มีเมตตาชี้แจงกันด้วยความปรารถนาดี สาธารณูปโภคก็แบ่งกันตามมีตามได้ ให้ใช้ประโยชน์ใช้สอยร่วมกัน นี่แหละจึงจะเรียกว่า พวกเรามีศีลสามัญญตา มีทิฏฐิสามัญญตา ยึดถืออุดมการณ์ อุดมธรรมที่จะพ้นทุกข์ร่วมกัน ขออนุโมทนาทุกๆ องค์ที่ใช้สติปัญญาตรองตามนี้

จากนั้น ท่านก็ทักทายพระรูปนั้น รูปนี้ เป็นการส่วนตัว แล้วก็เลิกประชุมไปตามปกติ เมื่อออกมาจากที่ประชุม พระอาจารย์รูปนั้น มีสีหน้าสดชื่นขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ผู้เขียนเข้าไปทัก ท่านบอกว่า รู้สึกเคารพรักหลวงพ่อมากขึ้น ที่ตนไม่สบายใจ ก็เพราะคิดว่าตนเองเป็นสาเหตุที่จะทำให้หลวงพ่อไม่สบายใจ แต่ก็ไม่เห็นท่านผิดปกติอะไร ทุกอย่างปกติและมีเมตตาเหมือนเดิม ผมก็เลยสบายใจ พระรูปนั้นกล่าว