วันเสาร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2554

มฤตยูน้ำหมึก



ฟุงเค่อ, คอร์เนอเลีย. มฤตยูน้ำหมึก = Inkdeath. วัชรวิชญ์, แปล. กรุงเทพฯ :
นานมีบุ๊คส์ทีน, 2551. 669 หน้า. ราคา 395 บาท.


เป็นตอนจบของวรรณกรรมไตรภาค ต่อจากหัวใจน้ำหมึก และมนตร์น้ำหมึก
เริ่มเรื่องคือมอร์ติเมอร์ เรซ่าและเม็กกี้ ได้เข้าไปอยู่ในโลกน้ำหมึก ทิ้งให้เอลินอร์ ลอเรดัน ยังคงอยู่ที่บ้านของเธอ กับดาริอุสและแซเบรุส สุนัขของออเฟอุส ทำให้เธอทุกข์โศกด้วยความคิดถึงและเป็นห่วง เธอกลัวว่าบาสต้ากับยายนกมอร์โทลาจะทำร้ายพวกเขา สุดท้ายดาริอุสผู้แสนดีของเธอ ได้อ่านข้อความที
ออเฟอุสทิ้งไว้เพื่อให้ทั้งสองได้เข้ามาอยู่ในโลกน้ำหมึก ซึ่งกำลังอยู่ในภาวะวิกฤตในโลกน้ำหมึก หลังจากเจ้าชายโคสิโมตายไป เศียรอสรพิษให้พี่เมียคือเจ้านกกระจิบปกครองโอมบร้า ซึ่งเอาแต่ขุดรีดประชาชน และให้ออเฟอุสซึ่งในตอนนี้ได้กลายเป็นเศรษฐีไปแล้ว อ่านสัตว์แปลก ๆ มาให้ล่า โดยบิดเบือนถ้อยคำของเฟโนกลิโอ สร้างสรรค์พวกมันขึ้นมาใหม่เพียงเพื่อจะขายให้ได้เงินมา ขณะเดียวกันฟาริดต้องคอยติดตามรับใช้ออเฟอุสไปทุกแห่งหน เพียงเพราะหวังว่าวันหนึ่งเขาจะเขียนถ้อยคำดีๆ ที่จะพานิ้วฝุ่นกลับมา

         มอร์ติเมอร์ในภาคนี้เป็นนกปีกลายโจรขวัญใจชาวบ้านเพราะได้ร่วมมือกับเจ้าชายดำคอยช่วยเหลือพวกชาวบ้านโดยการเก็บซ่อนเสบียงอาหารรวมถึงสัตว์เลี้ยงไว้ให้พ้นสายตาทหาร ส่วนเรซ่ากำลังตั้งท้องอ่อนๆทำให้เธออยากกลับบ้านเธอแต่โมไม่ยอมกลับ ทำให้เธอแอบเดินทางไปพบเฟโนกลิโอเพื่อให้เขาช่วย แต่เฟโนกลิโอไม่สนใจ เธอจึงบากหน้าไปหาออเฟอุส ออเฟอุสยินดีช่วยแต่มีข้อแม้ว่าโมต้องเรียกนางพรายขาวมาให้เขาสอบถาม เรื่องที่จะพานิ้วฝุ่นกลับมาได้อย่างไร เรซ่าไม่ตกลงด้วยเพราะนางพรายขาวจะเอาตัวโมกลับไปด้วย เมื่อฟาริดรู้เรื่องเขาไปขอร้องโมให้เรียกนางพรายขาวมา เพราะเขาต้องการนิ้วฝุ่นกลับมา จนไม่นึกถึงใครทั้งนั้น ทำให้เม็กกี้เสียใจมากที่ฟาริดรักนิ้วฝุ่นมากกว่าเธอ โมตัดสินใจช่วยออเฟอุส เพราะต้องการให้เม็กกี้ เรซ่าและลูกในท้องของเธอปลอดภัยในโลกปกติ แต่เขาก็จะขอให้ออเฟอุสเขียนเขาตามไปทีหลัง เพราะเขายังห่วงชาวเมืองโอมบร้าอยู่ เมื่อเขาเรียกนางพรายขาวมาพวกนางก็นำเขากลับไปด้วยโดยที่ออเฟอุสไม่ได้ถามอะไรนางสักคำ แต่ในความเป็นจริงแล้วออเฟอุสตั้งใจให้พวกนางนำโมไป ฟาริดเสียใจมากที่ช่วยคนผิด เขาเลิกติดตามออเฟอุส แต่เม็กกี้ก็โกรธเขามากจนไม่พูดกับเขาอีก แต่โมก็กลับมาได้แถมยังพานิ้วฝุ่นกลับมาอีกด้วย เพราะเขาได้สัญญากับเจ้ามฤตยูไว้ว่าจะนำตัวเศียรอสรพิษมาคืนให้ โดยเขียนคำ 3 คำลงไปในหนังสือ หากเขาทำไม่ได้เจ้ามฤตยูจะเอาตัวเม็กกี้และเขาไปแทน ชดเชยความผิดที่โมทำหนังสือไร้ข้อความให้เศียรอสรพิษเป็นอมตะ

       ในขณะเดียวกันเศียรอสรพิษที่เป็นอมตะ ก็กำลังต้องการตัวโมเช่นกัน เนื่องจากหนังสือไร้ข้อความกำลังบวมอืดจากกระดาษที่เปียกชื้น ทำให้ตัวเขาไม่สบาย เนื้อตัวเน่าเหม็น แต่ไม่ตาย ต้องการให้โมมาเข้าเล่มหนังสือเล่มใหม่ให้ โมยอมเข้าไปติดกับของนกหวีด เพื่อช่วยเด็ก ๆ ที่จะถูกจับตัวไปทำเหมืองเงิน และเพื่อหาโอกาสฆ่าเศียรอสรพิษ เขาได้รับการช่วยเหลือจากท่านหญิงน่าเกลียดบุตรสาวของเศียรอสรพิษที่เกลียดชังพ่อชั่วร้ายของตน
เป็นตอนที่อ่านสนุก เนื่องจากเนื้อเรื่องไม่ได้มีเฟโนกลิโอเท่านั้นที่จะเขียนให้เรื่องเป็นไปตามที่ต้องการได้เพียงคนเดียว แต่มีออเฟอุสอีกคนซึ่งไปเข้าข้างเศียรอสรพิษ สามารถแต่งเรื่องให้ไปในทางเลวร้ายได้ ทำให้ผู้อ่านต้องเอาใจช่วยฝ่ายโมว่าจะมีตอนจบอย่างไร ซึ่งในที่สุดตัวละครที่ไม่มีใครมองหรือสนใจก็ทำให้เรื่องจบลงด้วยดีได้ นั่นคือยาโคโปลูกชายของวิโอลันเต้กับเจ้าชายโคสิโม สามารถนำหนังสือไร้ข้อความมาให้โมเขียนคำ 3 คำลงไปได้ คำ 3 คำนั้นคือ หัวใจ มนตรา และมฤตยู ทำให้เศียรอสรพิษตายไปได้ การกำหนดให้เด็กน้อยเป็นผู้ช่วยนั้น นับว่ายอดเยี่ยม เพราะผู้ใหญ่มักไม่ค่อยได้ทันระวังเด็ก ๆ และเด็กมักเห็นสิ่งที่ผู้ใหญ่ไม่เห็น ยาโคโปจึงรู้ที่ซ่อนหนังสือไร้ข้อความ ขณะที่นิ้วฝุ่นตามหาแทบตาย นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นถึงความผูกพันระหว่างแม่ลูกที่แม้ไม่ค่อยจะแสดงความรักให้แก่กัน แต่เมื่อลูกเห็นแม่ถูกทำร้ายโดยตา ลูกก็รู้สึกเจ็บปวดแทน และต้องการช่วยแม่ทันที
ในระหว่างเรื่องผู้อ่านจะรู้ว่าเม็กกี้จะไม่ได้แต่งงานกับฟาริด แต่เป็นโดเรีย ซึ่งจะเป็นผู้มีชื่อเสียงในอนาคต สร้างสิ่งประดิษฐ์มากมาย ส่วนในตอนท้ายโมมีลูกชาย และทุกคนก็ยังอยู่ที่โอมบร้า ไม่ได้กลับโลกปกติ แต่ผู้แต่งก็ทิ้งท้ายว่าลูกชายของโมอาจจะได้กลับมาสู่โลกปกติสักวันหนึ่ง

        อ่านจบลงแล้วให้ความรู้สึกเต็มอิ่ม เป็นเรื่องหนึ่งที่ชอบมาก ทั้งพล็อตและเนื้อเรื่อง สลับซับซ้อนยิ่งกว่าในสองเล่มแรก

คอเนเลีย ฟุงเค่อ กล่าวกับหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ ว่า

"ฉันคิดว่าเด็กๆ ควรเริ่มอ่าน หัวใจน้ำหมึก เมื่อเขาอายุประมาณ 8 ขวบ อ่านมนตร์น้ำหมึก ตอน 11 ขวบ จนอายุ 13 ถึงอ่าน มฤตยูน้ำหมึก"
และเห็นด้วยกับคำยกย่องว่า คอเนเลีย ฟุงเค่อเป็น เจ.เค.โรว์ลิ่ง แห่งเยอรมัน

สำหรับเกียรติประวัติของเธอ คือ เธอได้รางวัล BAMBI Award ซึ่งเป็นรางวัลที่ใหญ่ที่สุดรางวัลหนึ่งในเยอรมนี ที่ยิ่งใหญ่เทียบได้กับรางวัล Bafta หรือ รางวัล Grammy และได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ the Bundesverdienstkreuz ซึ่งเป็นเครื่องราชย์ชั้นสูงสุดของประเทศเยอรมนี

























































































วันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2554

คินดะอิจิ ตอน 23 ราชินีโพดำ




โยโคมิโซะ, เซชิ. คินดะอิจิยอดนักสืบ. ตอนที่ 23, ราชินีโพดำ. แปลโดย รัตน์จิต ทองเปรม. กรุงเทพฯ : JBook, 2554. 168 หน้า. ราคา 160 บาท.



เนื้อเรื่องเกี่ยวกับศพหญิงหัวขาดกลางทะเล พร้อมรอยสักรูปไพ่ราชินีโพดำ สะกิดใจภรรยาช่างสักว่าสามีผู้ล่วงลับด้วยอุบัติเหตุแท้จริงอาจถูกฆ่า หล่อนจึงขอให้คินดะอิจิช่วยสืบเรื่องราว และเล่าว่าสามีเคยถูกว่าจ้างโดยหญิงลึกลับให้สักภาพเดียวกันนี้แก่อีกหญิงหนึ่งซึ่งกำลังสลบไสล ในห้องปิดมิดชิดดูมีพิรุธ เมื่อคินดะอิจิสืบคดีทำให้ทราบว่า ฆาตกรรมทั้งหมดเป็นเรื่องการวางแผนของราชินีโพดำที่ต้องการออกจากวงการค้ายาเสพติด จึงวางแผนฆ่าตัวคอหญิงอีกคน เพื่อให้คนทั่วไปเข้าใจว่าเป็นตนเอง แต่ขณะเดียวกันนี้ศพหญิงหัวขาดยังทำให้นักข่าวสาวคนหนึ่งที่ฉุกใจคิดว่าอาจเป็นพี่สาวซึ่งหายตัวไป เธอเขียนจดหมายถึงนักสืบว่าจะกลับมาขอคำปรึกษาแล้วรีบรุดไปดูศพ โดยไม่รู้เลยว่าจะกลายเป็นอีกคนที่ถูกฆาตกรรม
เป็นตอนที่อ่านสนุกตอนหนึ่ง เนื้อเรื่องวางได้ซับซ้อน ในตอนแรก ๆ ผู้อ่านจะคิดว่าคนร้ายเป็นใครระหว่างราชินีโพดำกับหญิงที่ถูกสักที่มีผู้สมรู้ร่วมคิดอีกคน ซึ่งผู้อ่านจะไม่ทราบว่าเป็นใคร เพราะเป็นคนที่ไม่มีใครเคยเห็นหน้าตาชัด ๆ และไม่ได้อยู่ในแวดวงเดียวกัน และสงสัยว่าทำไมนักข่าวสาวต้องตายด้วย มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างไร แต่เมื่ออ่านไปจะพบว่า มีตัวการใหญ่อีกคนวางแผนซ้อนแผน ซึ่งในที่สุดคินดะอิจิก็สืบทราบว่า ผู้สมรู้ร่วมคิดตั้งแต่แรกเป็นฆาตกรที่แท้จริง และตัวตนจริง ๆ เป็นเจ้านายของนักข่าวสาวนั่นเอง ซึ่งในตอนแรกตั้งใจจะกำจัดราชินีและเจ้าพ่อในวงการยาเสพติด แต่เพราะความโลภที่ต้องการสมบัติในตู้นิรภัยของราชินีโพดำ จึงทำให้ต้องจัดการกับนักข่าวสาวที่รู้จักตนเอง

คินดะอิจิ ตอน 13 ผีเสื้ออมตะ



โยโคมิโซะ, เซชิ. คินดะอิจิยอดนักสืบ. ตอนที่ 13, ผีเสื้ออมตะ. แปลโดย บุษบา บรรจงมณี. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : บลิส พับลิชชิ่ง, 2551. 249 หน้า. ราคา 195 บาท.

    เป็นเรื่องที่ 13 ในหนังสือชุดคินดะอิจิ มี 2 เรื่องในเล่ม คือ ผีเสื้ออมตะ และแผลรูปหน้าคน

ผีเสื้ออมตะ  สองตระกูลใหญ่แห่งเมืองอิมิซึเป็นศัตรูคู่อาฆาต แต่ลูกหลานกลับแอบมีใจเกิดเป็นรักต้องห้ามนำไปสู่โศกนาฏกรรม ลูกชายฝ่ายหนึ่งถูกฆ่าส่วนลูกสาวอีกฝ่ายโดนป้ายสีว่าเป็นฆาตกร จึงกระโดดบ่อน้ำในถ้ำลึกเพื่อฆ่าตัวตาย โดยทิ้งจดหมายเป็นปริศนา...ฉันขอลาจากแต่สักวันจะหวนคืน เหมือนผีเสื้อซึ่งแม้ตายก็ฟื้นคืนชีพ...ยี่สิบสามปีถัดมา คินดะอิจิเดินทางมาเมืองนี้เพื่อรับงานสืบประวัติคน ทั้งหวังจะได้พักผ่อนหลังคลี่คลายคดีใหญ่ แต่เขากลับพบว่างานครั้งนี้โยงใยสู่เหตุร้ายในอดีตและพัวพันกับหญิงแปลกหน้าจากแดนไกล ผู้มีใบหน้าละม้ายเจ้าของจดหมายปริศนาราวกับพิมพ์เดียว ซ้ำร้ายยังเกิดเหตุฆาตกรรมไม่คาดฝัน ดึงให้คินดะอิจิต้องรับบทผู้เปิดกล่องความลับดำมืดอีกครั้ง
       เนิ้อเรื่องในตอนนี้อ่านสนุก บรรยากาศในเรื่องเป็นลักษณะหมู่บ้านชนบทของญี่ปุ่นช่วงหลังสงคราม ภูมิประเทศจะเป็นภูเขามีถ้ำที่สลับซับซ้อน เรื่องนี้จะหลอกล่อคนอ่านให้เข้าใจว่าตัวละครที่เป็นตัวหลักซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นฆาตกรเมื่อ 23 ปีกลับมาอีกครั้ง แต่เมื่อเฉลยกลับเป็นอีกคน ส่วนฆาตกรตัวจริงทั้งปัจจุบันและอดีตไม่ค่อยได้กล่าวถึงนักในเรื่อง แม้กระทั่งตอนใกล้จบก็ยังให้ผู้อ่านคิดว่าเป็นอีกคน และคินดะอิจิก็หลบหน้าไป ไม่ยอมเฉลยกับทุกคนว่าฆาตกรตัวจริงเป็นใครแน่ มาเฉลยในย่อหน้าสุดท้ายของเรื่อง เป็นการตอกย้ำให้ชัด ๆ ว่าที่แท้เป็นคน ๆ นี้ และเป็นเรื่องซึ้ง ๆ ที่ทำให้ผู้อ่านน้ำตาตกได้


แผลเป็นหน้าคน เป็นเรื่องสั้น ๆ ที่อ่านสนุกดีเหมือนกัน เป็นเรื่องของหญิงสาวที่มีน้องสาวนิสัยเสีย ชอบแย่งของ ๆ พี่สาว โดยเฉพาะชายคนรักของเธอ ซึ่งเธอก็ให้อภัย แต่มีความหลังที่คิดเอาเองว่า เธอเป็นโรคเดินละเมอ ซึ่งอาจทำให้เธอฆ่าชายคนรักในอดีตซึ่งน้องสาวได้แย่งไป โดยไม่รู้ตัว เพราะเมื่อรู้สึกตัวเธอถือมีดและเนื้อตัวเปื้อนเลือด ทำให้พยายามฆ่าตัวตายหลายครั้ง แต่ไม่สำเร็จ และในที่สุดก็ได้มาทำงานในโรงแรมแห่งหนึ่งโดยได้เล่าอดีตของตนให้ใครฟัง ในที่แห่งนี้ เจ้าของโรงแรมพอใจเธอมาก จนต้องการให้แต่งงานกับลูกชายของตน แต่เธอกลับไม่กล้าแสดงความรักกับใครได้อีก จนน้องสาวกลับมาอยู่อีกครั้ง และแสดงนิสัยเดิมคือแย่งคนรักของเธออีก แต่แล้วน้องสาวกลับถูกฆ่าตาย ทำให้เธอออกมาสารภาพว่าเธอเป็นคนฆ่าเอง แต่คินดะอิจิอยู่ในเหตุการณ์ ทำให้ช่วยสืบจนรู้ว่า ตัวแม่ที่เป็นเจ้าของโรงแรมเป็นคนฆ่าเอง ซึ่งผู้อ่านไม่สามารถคาดเดาได้ เพราะเจ้าของโรงแรมเป็นอัมพาตครึ่งตัว
         แต่ชื่อตอนว่า "แผลเป็นหน้าคน" ไม่ค่อยจะเกี่ยวกับเนื้อเรื่องเท่าใด เพียงแค่สรุปว่าแผลเป็นนั้นเป็นฝาแฝดของเธอที่ไม่ได้เกิดเป็นคน แต่ฝังตัวอยู่ในเธอ และแสดงอาการออกมาเป็นแผลรูปหน้าคนเท่านั้น เพียงแต่ผ่าตัดก็ไม่เป็นไรแล้ว

ศรัทธามรณะ

ซิลวา, แดเนียล. ศรัทธามรณะ = The secret servant. แปลโดย ไพบูลย์ สุทธิ. กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์ไครม์แอนด์มิสทรี, 2552. 383 หน้า. 245 บาท.


        เป็นผลงานเล่มที่ 7 ในชุด เกเบรียล อัลลอน ซึ่งติดอันดับขายดีในหลายประเทศ พระเอกเป็นสายลับอิสราเอล ผู้เป็นตำนานแห่ง "ถนนคิงซอล" เมืองเทลอาวีฟ แต่ขณะเดียวกันมีงานบังหน้าเป็นนักบูรณะงานศิลปะที่มีชื่อเสียง หนังสือในตอนนี้เกเบรียล อัลลอน ต้องเข้าไปพัวพันกับเหตุการณ์เมื่อศาสตราจารย์ชาวยิวในเนเธอร์แลนด์ถูกลอบสังหาร โดยต้องไปทำภารกิจเก็บกวาดหลักฐานต่าง ๆ ที่คิดว่าจะง่าย แต่แล้วกลับพบเบาะแสน่ากลัวที่โยงใยไปถึงเหตุการณ์วางระเบิดสถานที่สำคัญในยุโรป ซึ่งลุกลามไปถึงการลักพาตัวหญิงสาวชาวอเมริกัน ที่มีพ่อทูนหัวเป็นถึงประธานาธิบดี ทั้งหมดเป็นฝีมือกลุ่มผู้ก่อการร้ายอิสลาม ซึ่งมีนักวางแผนอัจฉริยะอยู่เบื้องหลัง ขณะที่เสนอเนื้อเรื่องเกี่ยวกับการก่อการร้ายของกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรง โดยผสมกับเหตุการณ์ก่อการร้ายจริงๆ ที่เกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศ ก็ได้ตีแผ่ถึงศรัทธาที่อยู่เบื้องหลังแนวคิดก่อการร้ายที่ยินดีสละชีพเพื่อศาสนา ซึ่งผู้อ่านจะได้รู้และเข้าใจถึงประวัติศาสตร์และการเมืองของโลกไปด้วย
        ในตอนนี้เนื้อเรื่องค่อนข้างซับซ้อน มีการวางแผนซ้อนและหักมุมอยู่หลายตอน และเห็นว่าหัวหน้าผู้ก่อการร้ายนั้นเป็นนักวางแผนชั้นยอด ขนาดที่ทำให้เกเบรียล อัลลอน เกือบตาย ผู้อ่านจะได้ลุ้นระทึกอย่างมาก แต่ที่เยี่ยมที่สุดคือการแสดงภาพการปกครองของประเทศอียิปต์ที่มีการระบบการปกครองแบบมูบารัก ที่มีการทรมานและฆ่าผู้คนที่ไม่เห็นด้วยอย่างเหี้ยมโหด แต่ก็ไม่สามารถยับยั้งได้ ยิ่งฆ่าก็มีคนไม่เห็นด้วยเพิ่มขึ้น เนื่องจากประเทศยากจน แต่ชนชั้นปกครองกลับร่ำรวยยิ่งขึ้น และขณะเดียวกันศาสนาอิสลามก็เข้ามามีบทบาทกำหนดความเป็นไปของประเทศมากขึ้น ๆ

ฝนสีขาว

อาคากะวา, จิโร. ฝนสีขาว (Shiroi ame). แปลโดย ปัญจารีย์ จารีธนารักษ์. กรุงเทพฯ : Jbook, 2551. 176 หน้า. ราคา 160 บาท.



ฉากเรื่องนี้อยู่ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่อยู่บนเขาในกรุงโตเกียว มีตัวละครค่อนข้างมาก แต่ที่เป็นตัวหลัก ๆ ที่จะให้ดำเนินเรื่องมีอยู่ 5 ตัวหลัก ซึ่งตอนเริ่มเรื่องได้ปูพื้นตัวละคร 5 คน นี้ว่ามีที่มาอย่างไร ตัวละครเหล่านั้นได้มารวมกันในหมู่บ้านนี้ ตอนที่ฝนตก และฝนนั้นก็เป็นฝนสีขาว ซึ่งทุกคนที่เปียกฝนจะลุกขึ้นมาฆ่าคน ทำร้ายคน ตัวละครที่สำคัญ คือ
1. อิมะอิ หนุ่มนักศึกษาที่หลวมตัวมาเข้าชมรมปีนเขาเพราะชอบสาวอยู่คนหนึ่งที่ไม่ไยดีเขาเลยสักนิด เขาหายไประหว่างทางปีนขึ้นเขาหลังเดินรั้งท้ายตามหลังสาวคนนั้น เมื่อหกล้มสาวได้หันมาหัวเราะเยาะ แล้วเดินจากไป หลังถูกฝนสีขาว กลับไปที่ค่ายด้วยลักษณะที่เหมือนจะเปลี่ยนไปเป็นคนละคน และมุ่งไปสังหารเด็กสาวคนนั้น (และผู้ชายรุ่นพี่อีกคน) อย่างไม่ปรานี
2. โฮโซคาวา ชายหนุ่มผู้แต่งงานกับหญิงสาวเจ้าชู้ และครอบครัวของภรรยาเห็นค่าของเขาก็แต่เงิน วันหนึ่งเขากลับมาพบว่าภรรยามีชู้ขณะที่พ่อแม่ภรรยาก็สนับสนุนลูกสาวตัวเอง ความสิ้นหวังของเขาระเบิดขึ้นหลังฝนตก โดยไล่สังหารล้างครอบครัวภรรยา
3. โยชิเอะ หญิงสาวที่ถูกแม่สามีโขกสับ ขณะที่สามีก็เห็นว่าเธอไม่ต่างอะไรกับของเล่น เธอกำลังขับรถไปยังหมู่บ้านแห่งหนึ่ง และน้ำมันหมดพอดี จึงต้องออกจากรถมาหาน้ำมัน ขณะนั้นฝนสีขาวตกลงมา และเธอถูกคนขับรถบรรทุกเฉี่ยวล้ม คนขับรถที่คิดว่าเธอตายแล้วจึงนำเธอไปฝังไว้ แต่ก็กลับถูกโยชิเอะตีด้วยพลั่วจนตายเสียก่อน หลังจากนั้น โยชิเอะก็กลับไปฆ่าสามี และแม่สามี
4. มิซาโกะ เด็กหญิงที่อยู่กับน้องชายและพ่อที่ติดเหล้า ชอบทุบตีเธอเป็นประจำ ครั้นฝนสีขาวตกลงมาเธอจึงสังหารพ่อของตัวเอง เผาร้านเหล้าที่เธอไปซื้อประจำ และในที่สุดก็พบกับแม่ที่กลับมาหา
5. โอสึ นักศึกษาหนุ่ม ที่มีปมด้อยเรื่องผู้หญิง จึงกระหายอยากมีเซ็กซ์และข่มขืนแม่ของเด็กหญิงมิซาโกะ
เมื่ออ่านเรื่องนี้จะพบว่าตัวละครเหล่านี้มีจุดร่วมกันอยู่อย่างหนึ่ง คือถูกทำร้ายทางจิตใจ หรือเก็บกดอะไรบางอย่าง แต่ไม่สามารถแสดงออกมาได้ ด้วยกรอบทางสังคม หรือด้วยกรอบศีลธรรมความผิดชอบชั่วดี เมื่อถูก'ฝนสีขาว' จึงทำให้สิ่งที่ซ่อนไว้ได้เปิดเผยออกมา
ความจริงเรื่องนี้ค่อนข้างคล้ายกับเรื่องนาฬิกา เวลาปาฎิหาริย์ ของนักเขียนคนเดียวกัน คือไม่มีที่มาที่ไป แต่จริง ๆ ผู้เขียนคงต้องการแค่เสนอเรื่องของคนที่ถูกเอาเปรียบว่าเมื่อเวลาที่สามารถแสดงอะไร ๆ ได้ตามต้องการนั้น คงมีความคิดที่จะจัดการหรือแก้แค้นคนที่เอาเปรียบให้ตาย ๆ ไปเป็นการให้เห็นความมืดในจิตใจของคนเท่านั้น คนที่อ่านก็คงไม่ต้องการจะให้อธิบายว่าทำไมฝนจึงตกมาเป็นสีขาว และมันคืออะไร