วันจันทร์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2557

คินดะอิจิ ตอนที่ 26 สาวน้อยในแจกัน

โยโคมิโซะ เซชิ.  คินดะอิจิยอดนักสืบ ตอนที่ 26 สาวน้อยในแจกัน. แปลโดย บุษบา บรรจงมณี. ราคา 220 บาท. 
เรื่องนี้มี 2 เรื่องย่อยในเล่ม
เรื่องที่ 1 สาวน้อยในเจกัน เป็นเรื่องเกี่ยวกับการฆาตกรรมจิตรกรที่มีรสนิยมทางเพศผิดปกติ โดยสาวน้อยในชุดแบบจีน เมื่อตำรวจและคินดะอิจิมาสืบคดี กลับไม่สามารถหาสาวน้อยคนนั้นได้เลย เพียงแต่คินดะอิจิเคยชมการแสดงทางโทรทัศน์เกี่ยวกับสาวน้อยในชุดแบบจีนที่บิดตัวลงแจกัน ทำให้เป็นแนวทางการสืบสวนจนพบความจริงว่า ที่แท้สาวน้อยคนนั้นเป็นผู้ชาย ที่ถูกเก็บมาเลี้ยงโดยเจ้าของการแสดง และให้แต่งตัวเป็นผู้หญิงเพื่อการแสดง เมื่อเจ้าของเป็นชู้กับภรรยาของจิตรกร ก็ร่วมกันวางแผนฆ่าจิตรกร เพราะภรรยาทนไม่ได้กับความวิปริตที่จิตรกรชอบใช้ความรุนแรง และต้องการเงินมรดกด้วย ขณะเดียวกันจิตรกรก็เป็นผู้มีรสนิยมทางเพศที่ชอบชายด้วย จึงวางแผนให้สาวน้อยนั้นเข้าไปในบ้าน และฆ่าจิตรกร เมื่อดำเนินการเสร็จก็ให้ซ่อนตัวในแจกัน แต่ปรากฎว่าแม่บ้านมาพบก่อน ทำให้ต้องหนีออกจากบ้าน และในที่สุดก็พบสาวน้อยถูกฆ่าตายและถ่วงน้ำพร้อมรถ
          การสืบสวนของคดีนี้ค่อนข้างสับสน มีตัวละครที่เกี่ยวข้องค่อนข้างมาก ดูเหมือนไม่เกี่ยวข้องกัน แต่ปมปัญหาเกิดจากความรุนแรงและความวิปริตทางเพศ กับความโลภ เรื่องนี้เป็นเรื่องแรกในชุดคินดะอิจิที่เสนอเนื้อหาเกี่ยวกับชายชอบชาย คนที่ชอบคินดะอิจิก็ยังอ่านได้สนุกเหมือนเดิม
         
เรื่องที่ 2 ฆาตกรบนหอคอย
ตอนนี้ค่อนข้างสั้น เป็นฆาตกรรมสาวนักแสดง ที่แต่งงานถึง 3 ครั้ง และก่อนเสียชีวิต สามีเก่า 2 คนได้มารวมกันในสถานที่เกิดเหตุด้วย ขณะที่คินดะอิจิได้มาพักผ่อนอยู่ในที่นั้นด้วย ทำให้ต้องมาร่วมสืบคดี แต่ในที่สุดตำรวจกลับไม่สามารถจับคนร้ายได้ มีแต่คินดะอิจิที่ส่งจดหมายไปถึงคนร้ายเมื่อเวลาผ่านไป 1 ปี พูดถึงสาเหตุที่ไม่จับตัวคนร้าย
     สรุปคือ สาวนักแสดงถูกฆ่าโดยสามีคนที่ 3 ที่เป็นอาจารย์สูงวัย สาเหตุมีแค่ทะเลาะกัน และพลาดผลัดภรรยาตกลงมาจากที่สูง ส่วนคนอื่น ๆ ซึ่งรวมทั้งสามีเก่า 2 คนด้วยก็ร่วมวางแผนปิดบังไม่ให้อาจารย์ถูกจับ เพราะอาจารย์กำลังทำผลงานวิชาการที่มีความสำคัญยิ่ง และเมื่อเสร็จผลงานนั้น อาจารย์ก็กลับมาที่ ๆ ภรรยาตายพร้อมกับกินยาฆ่าตัวตายตามไป

    เป็นอีกตอนที่ไม่สามารถคาดเดาคนร้ายได้ เพราะทุก ๆ คนที่เป็นผู้ต้องสงสัยกลับวางแผนช่วยคนร้ายตัวจริง จริง ๆ แล้วสาเหตุการฆ่าค่อนข้างจะอ่อนมาก แต่คิดว่าผู้เขียนคงต้องการเน้นเรื่องการวางแผนที่ทุกคนร่วมมือกันปิดบังไม่ให้ตำรวจสืบพบคนร้ายมากกว่า 

วันอังคารที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ภาพสายลับ

ภาพสายลับ (Portrait of a spy)ซิลวา, แดเนียล.  แปลโดย ไพบูลย์ สุทธิ. กรุงเทพฯ : ไครม์แอนด์มิสทรี,  2556.  438 หน้า. ราคา 295 บาท
ในเรื่องนี้ กาเบรียลคิดวางมือในอาชีพสายลับและพร้อมจะดำเนินชีวิตเป็นนักบูรณะภาพศิลปะ แต่เหตุการณ์การก่อการร้ายโดยใช้คนระเบิดพลีชีพยังมีเกิดขึ้นทั่วยุโรป และที่กรุงลอนดอนเหตุการณ์ก่อการร้ายได้เกิดต่อหน้าเกเบรียลด้วยโดยที่เขาไม่สามารถป้องกันได้ทัน และในเหตุการณ์ครั้งนั้น เกเบรียลถูกตามตัวเพื่อร่วมปฏิบัติงานกับซีไอเอ โดยได้ตั้งทีมปฏิบัติการพิเศษเพื่อวางแผนล้วงลึกเข้าสู่ใจกลางกลุ่มก่อการร้าย ซึ่งซีไอเอสืบพบว่าผู้อยู่เบื้องหลังคือผู้นำทางศาสนาที่เกิดในเยเมนและสามารถ พูดจาได้ไพเราะและมีเสน่ห์ และที่สำคัญเป็นผู้ที่ซีไอเอเคยให้เงินทุนสนับสนุนเพื่อให้ชักนำมุสลิมได้เข้าใจสหรัฐอเมริกา แต่กลับแปรพักตร์ไปร่วมมือกับกลุ่มก่อการร้ายที่มีนักวางแผนซึ่งเป็นที่ต้องการของซีไอเอ องค์การสืบราชการลับทั่วยุโรป และอิสราเอล
ทีมปฏิบัติการต้องวางแผนอย่างรอบคอบเพื่อทำลายเครือข่ายกลุ่มก่อการร้ายจากภายในซึ่งต้องใข้บุคคลที่เครือข่ายนี้ไว้วางใจ ทึมปฏิบัติการจึงต้องขอความร่วมมือจากนาเดีย อัล บาคารี  ลูกสาวของ ซีซี อัล บาคารี ผู้สนับสนุนการก่อการร้ายรายใหญ่ที่ถูกเกเบรียลฆ่าตายในตอน ผู้นำสาร (The Messenger) นาเดียเป็นผู้หญิงซาอุดีที่ใช้ชีวิตในโลกตะวันตก และเป็นประธานกลุ่มบริษัทที่ร่ำรวย ชอบประมูลและสะสมภาพศิลปะ ซึ่งทีมปฏิบัติการใข้ประโยชน์จากความชอบนี้เพื่อให้เห็นเส้นทางการเงินที่ใหลไปสู่กระบวนการก่อการร้าย และให้องค์การสืบราชการลับจับกุมทีมงานได้เกือบทั้งหมด แต่กาเบรียลยังเห็นว่าคนวางแผนที่ชื่อมาลิก อัลซูไบร์ และหัวหน้าตัวจริงคือผู้นำทางศาสนา ยังจับไม่ได้ ซึ่งยังมีอันตรายอยู่โดยเฉพาะกับนาเดีย ทำให้เกเบรียลต้องคอยคุ้มครองเธออยู่
ในที่สุดผู้วางแผนได้จับนาเดียพร้อมเกเบรียลไปถึงถิ่นของกลุ่มก่อการร้ายเพื่อตัดสินโทษประหารชีวิต โดยมีการถ่ายเหตุการณ์ตอนตัดสินโทษไว้ เพื่อเผยแพร่ในภายหลัง และก่อนที่จะกาเบรียลจะถูกยิง ได้พยายามจะฆ่ามาลิกด้วยจึงเกิดการต่อสู้ขึ้นและนาเดียได้เข้าปกป้องกาเบรียล ทำให้ถูกยิงตาย ขณะที่มาลิกจะฆ่ากาเบรียล สายลับซาอุดีที่แฝงตัวมาอยู่ในกลุ่มนี้ได้เข้ามาช่วยไว้ทัน
เป็นหนังสือลำดับที่ 11 ในชุดเกเบรียล อัลลอน สายลับชาวอิสราเอล ในคราบของนักบูรณะงานศิลปะ นอกเหนือจากตัวละครเดิม ๆ แล้วในตอนนี้เป็นการกลับมาของซาร่าห์ แบนครอฟ ซึ่งในตอนนี้ผู้อ่านจะทราบว่าเธอดำเนินชีวิตอย่างไร และมีคนรักเป็นใคร และอีกคนคือนาเดีย อัล บาคารี  ลูกสาวของ ซีซี อัล บาคารี ซึ่งเห็นกาเบรียลฆ่าพ่อของเธอ (ทั้ง 2 คนปรากฎในตอน ผู้นำสาร)
เนื้อเรื่องสนุกเร้าใจ วางแผนยอกย้อนซับซ้อน มีฉากบู๊ตื่นเต้นสมเป็นเรื่องในชุดนี้ นอกจากนี้ยังได้นำเสนอประเด็นเกี่ยวกับผู้หญิงมุสลิมได้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะเหตุผลที่นาเดียเข้าร่วมกับกาเบรียลทั้งที่เห็นเขาฆ่าพ่อของเธอ ผู้อ่านจะเกิดมุมมองใหม่ว่าผู้หญิงในโลกอาหรับถูกปฏิบัติอย่างไร้ค่า สามารถถูกฆ่าได้ง่าย ๆ ด้วยเหตุผลของผู้ชาย โดยไม่ฟังว่าผู้หญิงรู้สึกอย่างไร ซึ่งผู้แต่งก็ได้ทิ้งประเด็นที่น่าสนใจไว้ว่าโลกอาหรับจะถอยหลังไปเรื่อย ๆ ถ้ายังไม่ให้ผู้หญิงมีบทบาทในสังคม 

วันศุกร์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ไก่ใส่พลัม

ไก่ใส่พลัม (Poulet aux prunes or Chicken with plums). ซาทราพิ, มาร์จอเน่. แปลโดย ณัฐพัดา. ปทุมธานี : กำมะหยี่, 2553. 90 หน้า. ราคา 120 บาท.



ไก่ใส่พลัมเรื่องนี้เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้น ณ กรุงเตหะราน ในปี ค.ศ. 1958 เป็นเรื่องราวที่เล่าถึงแปดวันสุดท้ายในชีวิตของนัสเซอร์ อาลี ผู้เป็นนักดนตรีที่โด่งดังและมีศักดิ์เป็นลุงของแม่ผู้แต่ง ซึ่งตัดสินใจที่จะตายและนอนรอความตายอยู่บนเตียง
             เนื้อเรื่องเริ่มต้นขึ้นว่า
 ขณะที่นัสเซอร์ อาลี กำลังเดินอยู่บนถนน เขาได้เดินผ่านหญิงวัยกลางคนนางหนึ่งที่เดินมากับหลานชาย
  อาลีทักผู้หญิงคนนี้ว่า คุณชื่ออิเรนใช่ไหมครับ ?
ค่ะ! เอ๊ะ คุณรู้ชื่อฉันได้ยังไง
จำผมไม่ได้เหรอครับ
บอกตามตรง จำไม่ได้ค่ะ
             บทสนทนาคล้ายกับคำทักทายที่ไร้ความหมาย แต่สุดท้ายผู้อ่านจะต้องย้อนกลับมาอ่านใหม่เมื่อถึงตอนท้ายเรื่องว่า นี่คือประเด็นสำคัญที่ทำให้อาลี ไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อไป
              ขณะเดียวกันเนื้อเรื่องดำเนินต่อไปว่า นัสเซอร์ อาลี กำลังค้นหาเครื่องดนตรีที่มีชื่อว่า ทาร์ (เครื่องสายของอิหร่านคล้ายกับกีต้าร์) ตัวใหม่มาทดแทนทาร์ตัวเก่าที่ถูกภรรยาของเขาทำพังตอนที่ทะเลาะกัน เขาพยายามหาทาร์ที่เหมาะกับเขา แต่ต้องมาพบว่าทาร์ตัวอื่นๆ เสียงไม่ดีพอ เขาจึงจมอยู่ในห้วงของความหดหู่ รู้สึกว่าชีวิตตัวเองล้มเหลว จึงตัดสินใจที่จะตาย
            เมื่ออ่านแรก ๆ จะเห็นว่าการฆ่าตัวตายของนัสเซอร์ อาลี มันช่างไม่สมเหตุสมผลเลย แต่เมื่อค่อย ๆ อ่านไป ผู้เขียนได้ผูกโยงเรื่องได้อย่างน่าสนใจว่า เครื่องเล่นทาร์ที่ถูกทำพัง มีเรื่องราวอยู่เบื้องหลังที่ทำให้ผู้อ่านเห็นประวัติครอบครัวของนัสเซอร์ อาลี ได้อย่างชัดเจน
            เรื่องเล่าพาผู้อ่านย้อนกลับไปดูชีวิตอาลีในวัยหนุ่มที่เลือกที่จะเป็นนักดนตรีซึ่งทำให้ถูกกีดกันเรื่องความรักกับสาวงามนางหนึ่งซึ่งพ่อแม่ของเธอมองว่า นักดนตรีคืออาชีพที่ไม่มั่นคง เขาจึงไม่สามารถที่จะสมหวังในรักครั้งแรกได้ จนในที่สุด แม่ของอาลีจึงต้องกล่อมให้เขาแต่งงานกับภรรยาคนปัจจุบันซึ่งแอบหลงรักอาลีมานาน
             ด้วยความทรงจำในรักครั้งแรก ทำให้เสียงดนตรีของทาร์เต็มไปด้วยความห่วงหาอาวรณ์ในความรักโรแมนติกในอดีตของเขาตลอดเวลา และเมื่อทาร์ของเขาถูกภรรยาทำลาย จึงไม่ใช่เพียงการทำลาย ทาร์เครื่องดนตรีชิ้นเอกของเขาเท่านั้น แต่เปรียบการทำร้าย ความหมายชีวิตที่ผูกติดกับสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตอาลีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  และเมื่อเขานึกถึงเรื่องความรักที่ไม่สมหวัง และการถูกหลงลืมจากผู้หญิงที่ตนเคยรักมากซึ่งก็คือหญิงวัยกลางคนที่เดินบนถนนกับหลานชายที่ปรากฏอยู่ในหน้าแรกนั่นเอง ... ทำให้เขาหมดกำลังใจที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป
              เนื้อเรื่องในไก่ใส่พลัมจัดเป็นหนังสือตลกร้ายและไม่ได้เคร่งเครียดเหมือนชีวิตของนัสเซอร์ อาลี เสนอเนื้อหาที่เกี่ยวกับความหมายของชีวิตและความตาย ตั้งคำถามว่าอะไรคือความหมายของชีวิตของเราที่ทำให้อยากมีชีวิตอยู่ต่อไป แต่แฝงไว้ด้วยอารมณ์ขัน  และความงดงาม ชวนยิ้มตลอด เช่น

            เจ้าเคยเห็นใครเขียนบทกลอนบรรยายถึงผู้หญิงที่เขาแต่งงานด้วยที่คอยตะคอกเขาวันละสี่ครั้งมั้ย  เจ้าคิดรึว่าหากโรมิโอและจูเลียตมีลูกด้วยกันซักหกคน แล้วมันจะมีหนังสือเล่าเรื่องของพวกเขา

      แม่ของนัสเซอร์ อาลี ตายเพราะสูบบุหรี่ แต่กลับเรียกบุหรี่ว่า อาหารสำหรับจิตวิญญาณ

      การบรรยายถึงหน้าอกของโซเฟีย ลอเรน ที่นัสเซอร์ อาลี อยากนอนตายคาอก

      และการบอกเล่าถึงอาหารจานโปรดของ นัสเซอร์ อาลี ไก่ใส่พลัม จานเด็ดฝีมือแม่ของเขาที่ประกอบไปด้วย ไก่ ลูกพลัม หอมหัวใหญ่ มะเขือเทศ ขมิ้น และหญ้าฝรั่น เสิร์ฟกินกับข้าว

    เป็นหนังสือภาพการ์ตูนขาวดำ รูปแบบการเล่าเรื่องจะเล่าแบบย้อนไปย้อนมา บางครั้งอาจงง ๆ ว่าเป็นปัจจุบันหรืออดีต แต่เมื่ออ่านไปจะค่อย ๆ เข้าใจ

  “ไก่ใส่พลัมเป็นหนังสือการ์ตูนยอดเยี่ยมแห่งปี (Prix du Meilleur Album) จากเทศกาลหนังสือการ์ตูนนานาชาติเมืองอองกุเล็ม (Festival international de la BD d’Angoulème) ประจำปี ค.ศ. 2005 ผลงานของ มาร์จอเน่ ซาทราพิ (Marjane Satrapi) นักเขียนหญิงชาวอิหร่านที่ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งมีชื่อเสียงจากนิยายภาพเรื่อง แพร์ซโพลิส (Persipolis) ซึ่งหยิบเอาเรื่องราวของตัวผู้เขียน กับการเผชิญชีวิตตั้งแต่เล็กจนโตที่ประสบกับความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในอิหร่าน ตั้งแต่สมัยการปฏิวัติอิสลามในปี 1979 เนื้อหาแสบๆคันๆ เหน็บกัดวิถีแบบรัฐอิสลามที่ต่อต้านความเป็นอเมริกันสุดลิ่มทิ่มประตู จนเป็นที่พูดถึงในวงกว้างซึ่งต่อมาได้นำมาสร้างเป็นภาพยนตร์  (http://www.youtube.com/watch?v=JRNCP42O3sQ)

วันพุธที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ซ้อน


โคเบน, ฮาร์ลาน. ซ้อน (The final detail). แปลโดย อริณี เมธเศรษฐ. กรุงเทพฯ : แพรวสำนักพิมพ์, 2550. 330 หน้า. 265 บาท.
เป็นตอนที่ต่อจากตอนที่ชื่อว่า พลาด (One False Move)” ที่ไมรอนเลิกกับเจสสิกา เพราะมีความรักกับเบรนดา แต่แล้วเบรนดาถูกฆ่า ทำให้ไมรอนหัวใจสลาย จึงปลีกตัวหนีไปอยู่เกาะกับผู้หญิงที่ชื่อเทเรส ซึ่งต่อไปจะเป็นตัวละครหลักในตอนที่มีชื่อว่า แลก
ในตอนนี้เมื่อไมรอนถูกวินตามตัวกลับมาจากเกาะ จึงรู้ว่าเอสเปอรันซ่า ดิแอซ เพื่อนรักและหุ้นส่วนบริษัทของไมรอนติดคุก เพราะตำรวจเชื่อว่าเอสเปอรันซ่าฆาตกรรมนักเบสบอลนามคลู ฮาอิด ลูกค้ารายแรกของบริษัทของเขา ไมรอนไม่เชื่อ และรู้ว่าเอสเปอรันซ่ามีความลับปิดบังเขาอยู่ แต่เอสเปอรันซ่ากลับยอมติดคุกโดยไม่ยอมให้ไมรอนช่วย และเมื่อกำลังสืบเรื่องราวอยู่ก็มีมือลึกลับส่งซีดีให้เขาทางไปรษณีย์ที่มีรูปเด็กสาวหน้าตาคุ้น ๆ ซึ่งพบว่ารูปเด็กสาวเป็นลูกสาวของเจ้าของทีมเบสบอลที่คลูสังกัดอยู่ แต่ได้หายตัวไปนานแล้ว และเจ้าของทีมขอให้ไมรอนช่วยตามหาตัวให้ด้วย
เมื่อสืบเรื่องราวก็พบว่า เรื่องราวที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องในอดีตของคลู ฮาอิด และเกี่ยวพันกับรูปเด็กสาวในซีดี คือตอนที่คลูกำลังดัง มีเหตุการณ์หนึ่งที่เขาขับรถขณะมึนเมาจนเกิดอุบัติเหตุ ทำให้มีคนตาย ซึ่งคลูกลัวความผิดจึงแอบฝังศพผู้ตาย และผู้ตายนั้นคือเด็กสาวในซีดี ขณะเดียวกันไมรอนได้เอาเงินมาติดสินบนเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำคดีนี้ เพื่อให้เรื่องเงียบแต่ไมรอนไม่รู้ว่ามีคนตาย
เรื่องราวทั้งหมดไมรอนคิดว่าเจ้าของทีมเบสบอลฆ่าคลูเพื่อการแก้แค้น และต้องการป้ายความผิดให้กับไมรอน เพียงแต่เขาไม่อยู่ในประเทศ แต่ในที่สุดเรื่องกลับหักมุมว่าคลูฆ่าตัวตาย แต่เจ้าของทีมเบสบอลสร้างหลักฐานให้เหมือนถูกฆ่า เพื่อสามารถป้ายความผิดไปที่ไมรอนได้ แต่เมื่อไมรอนแสดงความกระตือรือร้นในการติดตามลูกสาว ทำให้เจ้าของทีมเบสบอลรู้ว่าไมรอนไม่รู้เรื่องลูกสาวของตน จึงเปลี่ยนใจจบคดีดังกล่าว
เป็นตอนหนึ่งที่อ่านสนุก ชวนติดตาม แต่บางครั้งก็ค่อนข้างสับสนว่าเรื่องราวต่าง ๆ ทำไมวุ่นวายไปหมด ไม่น่าจะมีความเกี่ยวข้องกันเลย และเป็นตอนที่ไมรอนโชว์เดี่ยวเป็นส่วนใหญ่ ไม่ต้องพึ่งวินมาก นอกจากนั้นในตอนนี้ยังได้แสดงชีวิตส่วนตัวในด้านเซ็กส์ของเอสเปอรันซ่าอยู่บ้าง คือเอสเปอรันซ่าเป็นชู้รักกับภรรยาของคลู ซึ่งทำให้ในตอนแรกไมรอนเกิดความเข้าใจผิด และคิดว่าเป็นสาเหตุให้มีการฆาตกรรมเกิดขึ้น แต่ทั้งหมดก็ยังรักษาบุคลิกของไมรอนได้อย่างเสมอต้นเสมอปลาย คือเป็นตัวแทนนักกีฬาที่ดูแลนักกีฬาเป็นอย่างดี มีอารมณ์ขัน รักพ่อแม่ และฉลาด คงต้องติดตามหนังสือสืบสวนในชุดนี้ตลอดไปจนกว่าจะไม่มีการแปลออกมา