วันจันทร์ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2556

ยาคุโมะ

คามินากะ, มานาบุ.  ยาคุโมะ นับสืบวิญญาณ. ตอนที่ 5, สายใยแห่งโชคชะตา. แปลโดย พลอยทับทิม ทับทิมทอง. กรุงเทพฯ :  JBOOK,  2554.  293 หน้า.  ราคา 225 บาท.

เรื่องราวเริ่มขึ้นโดยรายการโทรทัศน์หนึ่งไปถ่ายทำเรื่องวิญญาณที่บ้านตระกูลนานาเสะที่ถูกฆาตกรรมเกือบทั้งตระกูลเหลือเพียงหลานสาวอายุ 10 ขวบเพียงคนเดียวเมื่อ 15 ปีก่อน แต่แล้วคนไปถ่ายทำรายการนั้นกลับถูกวิญญาณหลอกเอา จนพิธีกรสาวของรายการหมดสติไปในบ้านหลังนั้น หลังจากนั้นไม่นาน มาโกโตะนักข่าวสาว (ที่เคยปรากฎในตอนที่แล้ว ที่ถูกวิญญาณสิงร่าง จนยาคุโมะไปช่วยไว้จึงรอดมาได้) ไปที่บ้านนั้นเช่นกันเพื่อเขียนสกู๊ปข่าว จึงได้พบพิธีกรสาวที่หมดสติอยู่และได้ช่วยเหลือออกมา และเมื่อฟื้นคืนสติในโรงพยาบาลก็ได้มอบวิดีโอที่ถ่ายติดวิญญาณผู้หญิงมาด้วยให้มาโกโตะ

ขณะเดียวกันพวกโกะโตและอิชิอิ ไปตรวจสอบสถานที่ที่ไซโต อาสุสะ พยายามจะฆ่าลูกของตน คือ ยาคุโมะ เมื่อ 15 ปีก่อน และอิชิอิก็เห็นทาเคดะ ชุนสุเกะ ซึ่งตำรวจเชื่อว่าเป็นคนร้ายในคดีฆ่าตระกูลนานาเสะ ทำให้หัวหน้ามิยาคาวาระดมตำรวจหน่วยสืบสวนมาตามหาตัวคนร้ายชนิดยกสถานีเพราะอีกไม่กี่วันสิ้นอายุความแล้ว แต่ก็ไม่สามารถจับตัวได้

จากวิดีโอนั้นมาโกโตะได้ไปขอความช่วยเหลือจากพวกโกะโตและอิชิอิ ซึ่งก็มียาคุโมะและฮารุกะรวมอยู่ด้วยซึ่งเมื่อดูแล้ว ทั้งโกะโตและยาคุโมะก็ออกตามสืบและหายตัวไป ทำให้อิชิอิและฮารุกะต้องออกตามตัวอย่างจ้าละหวั่น และในที่สุดฮารุกะได้โยงเรื่องไปในอดีตเมื่ออาสุสะโดนลักพาตัวจนมีลูกติดท้อง และเมื่อหนีออกมาได้พบกับโอซาวา เคโกะ แม่ของฮารุกะและสนิทสนมกันในเวลาต่อมา นอกจากนี้ยังทราบว่าแม่ของยาคุโมะกำลังจะแต่งงานกับผู้ต้องหาคดีฆาตกรรมครอบครัวนานาเสะก่อนจะลงมือฆ่าลูกและหายสาบสูญไป ส่วนอิชิอิก็สืบพบว่าฆาตกรตัวจริงไม่ใช้ทาเคดะ แต่เป็นอีกคนหนึ่งที่ชื่อ ฮอนดะ ที่ลูกสาวฆ่าตัวตาย เพราะถูกเพื่อนกลั่นแกล้ง และเมื่อร้องเรียนไปที่เจ้าของโรงเรียนคือครอบครัวนานาเสะก็ไม่รับผิดชอบ ทำให้โกรธแค้นจึงเป็นเหตุให้เกิดการฆ่าได้

เรื่องราวค่อนข้างซับซ้อนเพราะมีเรื่องการสะกดจิตเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยชายที่มีนัยน์ตาแดงทั้ง 2 ข้าง(ซึ่งในเรื่องบอกเป็นนัยว่าเป็นพ่อของยาคุโมะ) สะกดจิตฮอนดะให้คิดว่าตนเองเป็นฆาตกร และชายนักสะกดจิตได้ลักพาตัวหลานสาวของครอบครัวนานาเสะไป เลี้ยงดูเธอให้เติบโตและมีความชั่วร้ายมากขึ้น (ผู้หญิงคนนี้เคยออกมาในตอนที่แล้วที่ปลอมตัวเป็นหมอฟันและอ้างว่าเป็นพี่สาวยาคุโมะ) ในตอนนี้เธอแสดงตัวเป็นพิธีกรสาวในตอนแรกที่ไปถ่ายทำบ้านที่มีวิญญาณ เธอคนนี้เองที่เป็นคนลงมือฆ่าครอบครัวของตนเอง ตั้งแต่เธออายุ 10 ขวบ เนื่องจากเธอเห็นว่าครอบครัวนานาเสะมีความเละเทะ แม่ของเธอเป็นเมียเก็บของปู่ และพ่อของเธอก็ทำอนาจารเธอเพื่อแก้แค้นเมียและพ่อของตน เมื่อเธอเล่าเรื่องนี้ให้ย่าฟัง ทั้งปู่ พ่อและแม่ ก็ร่วมกันฆ่าย่า ทำให้เธอทั้งโกรธและเกลียด จึงวางแผนฆ่าทั้ง 3 คนและร่วมมือกับชายนักสะกดจิตวางแผนให้มีผู้รับเคราะห์ 2 คน คือ ทาเคดะ และฮอนดะ ซึ่งอิชิอิก็ถูกปมนี้หลอกล่อ

สำหรับตอนนี้เป็นตอนที่ให้ผู้อ่านได้รับรู้เกี่ยวกับแม่ของยาคุโมะ ว่ามีตัวตนอย่างไร ไม่ใช่แม่ที่ใจร้าย มีความรักและความสุข แต่ด้วยเหตุการณ์ที่คนรักถูกใส่ความจนต้องหนี ทำให้ชีวิตมีแต่ความโดดเดี่ยว สิ้นหวัง จนในที่สุดต้องไปตายในที่อ้างว้าง  ส่วนคนรักของแม่ยาคุโมะ ก็เปิดเผยในตอนท้ายว่าที่ตำรวจตามจับตัวไม่ได้ตลอดเวลา เพราะตัวทาเคดะได้ถูกฆ่าตายตั้งแต่ต้น และถูกฝังอยู่ในตึกร้าง เมื่อมีการรื้อถอนตึกเก่านั้น ทำให้ศพได้หลุดจากการจำจอง วิญญาณจึงได้ออกมาเพื่อพยายามมาช่วยยาคุโมะ

เป็นตอนที่อ่านสนุก มีความตื่นเต้นเร้าใจ ดำเนินเรื่องได้รวดเร็ว และเรื่องมีการหักมุม ผู้อ่านคาดไม่ถึงอยู่ตลอดเรื่อง แต่ก็ยังมีประเด็นที่ยังค้างคาอยู่อีก เช่น ชายนักสะกดจิตผู้มีนัยน์ตาแดง 2 ข้างเป็นใคร จับแม่ยาคุโมะไปทำไม และแม่ไปตายที่กระท่อมที่ถูกจับตัวครั้งแรกได้อย่างไร ทั้ง ๆ ที่หนีออกมาแล้ว เป็นต้น (ไม่แน่ใจว่าจะได้อ่านเล่มต่อไปหรือไม่ เพราะสำนักพิมพ์ Bliss ได้ปิดตัวไปแล้ว)

วันศุกร์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2556

อธิวาสนา


เนื้อเรื่อง "อธิวาสนา" มาจากข้อเขียนของพระเถระรูปหนึ่ง ซึ่งใช้นามปากกาว่า หลวงปู่ เขียนจากประสบการณ์ของท่าน ในโอกาสที่ได้ไปจำพรรษา อยู่ในความปกครองของหลวงพ่อที่วัดหนองป่าพง

 
หลวงปู่ชา วัดหนองป่าพง
มีอยู่วันหนึ่ง ผู้เขียนเดินผ่านพระอาจารย์รูปหนึ่ง ซึ่งบวชมาหลายพรรษาแล้ว ท่านมีหน้าที่ตีระฆัง สังเกตดูสีหน้าท่านเศร้าหมอง สอบถามได้ความว่า เมื่อการประชุมสงฆ์ครั้งที่ผ่านมา ซึ่งทั้งหลวงพ่อ และผู้เขียนก็มิได้อยู่ในที่ประชุมด้วยนั้น คณะสงฆ์ได้ปรับอาบัติพระอาจารย์รูปนี้ ที่ทำผิดระเบียบของวัดหนองป่าพงหลายครั้งหลายครา
ความผิดที่พระรูปนี้ทำซ้ำซากก็คือ การที่ท่านออกปากทักญาติโยมก่อน พระอาจารย์รูปนี้ก็ทราบว่า ท่านได้ทำผิดระเบียบของคณะสงฆ์วัดหนองป่าพงจริง แต่ท่านได้ปรับทุกข์กับผู้เขียนว่า ท่านมิได้ตั้งใจเลย เป็นเรื่องที่ท่านเผลอสติทุกครั้ง ซึ่งท่านเสียใจมาก และยอมให้คณะสงฆ์ปรับโทษ

เพียงแต่ว่า คืนนี้ คณะสงฆ์จะรอฟังคำชี้ขาดจากหลวงพ่ออีกทีหนึ่ง เนื่องจากการชี้โทษนั้น เป็นเสียงของสงฆ์หมู่มาก หลวงพ่อยังมิได้รับรู้ ท่านอาจารย์ผู้นี้ได้บอกกับผู้เขียนว่า ถ้าหลวงพ่อจะให้ผมสึก ผมก็จะสึก

หลังจากนั้น พระเณรก็ไปรวมกันที่กุฏิหลวงพ่อ ซึ่งตอนนี้ท่านก็ทราบความเห็นของคณะสงฆ์ที่มีต่อพระอาจารย์รูปนั้นแล้ว เมื่อทุกองค์กราบนมัสการท่านแล้วก็ตั้งใจฟังว่า ท่านจะตัดสินอย่างไร ผู้เขียนเองสังเกตว่าหลวงพ่อท่านเฉยๆ เมื่อทุกรูปพร้อมกันแล้ว ท่านก็ให้โอวาทเหมือนกับเป็นเรื่องปรารภธรรมโดยปกติ โดยมิได้เอ่ยถามเรื่องราวหรือซักถามพระองค์ใดเลย

ท่านเทศน์เรื่อง "อธิวาสนา" ซึ่งผู้เขียนซึ้งใจมาก จำความได้ดังต่อไปนี้

...คนเรานั้นเป็นคนเหมือนกันจริง แต่ก็ไม่เหมือนกันทั้งหมด ในด้านของพฤติกรรม เพราะเหตุปัจจัยที่ผ่านเข้ามาสร้างเป็นจริตนิสัยนั้นต่างกัน เมื่อทำอะไรบ่อยๆ เข้า รวมเป็นนิสัย ทำซ้ำๆ บ่อยมากขึ้นกลายเป็นอุปนิสัย (นิสัยที่แน่นอนหรือสันดาน) อุปนิสัยก็ยิ่งพอกพูน กลายเป็นเรื่องอธิวาสนา คือเป็นพฤติกรรมประจำตัวที่แก้ไม่ได้

ผู้ที่จะแก้อธิวาสนาได้ มีเพียงพระพุทธเจ้าเท่านั้น แม้พระอรหันต์ก็ไม่สามารถแก้อธิวาสนาได้ เช่น พระสารีบุตรนั้น ท่านมีอธิวาสนาคล้ายลิง เชื่อกันว่า อดีตชาติท่านเคยเป็นลิงมาหลายชาติ ทำให้ท่านชอบกระโดด โยมที่ยังติดรูปแบบ เคยนึกตำหนิความไม่สำรวมของท่าน ซึ่งน่ากลัวมาก

เพราะพระสารีบุตร เป็นพระอรหันต์ที่มีปัญญามาก เป็นอัครสาวกเบื้องขวาของสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า (ผู้ใดตำหนิพระอรหันต์ บาปก็จะเข้าตัวเองเพราะพระอรหันต์เป็นผู้ที่มีจิตบริสุทธิ์แล้ว) ในขณะที่พระอานนท์แม้ยังมิได้บรรลุอรหันต์ ก็ยังมีกิริยานอบน้อม มีวาจาไพเราะ มีความสำรวม และความเป็นระเบียบยิ่ง

สิ่งเหล่านี้ ทำให้พระอรหันต์ของพระพุทธศาสนามีบุคลิกที่แตกต่างกันไป แล้วแต่อธิวาสนา แต่ทุกข์จะเหมือนกันที่ความบริสุทธิ์

สำหรับพวกเรา ซึ่งยังต้องการชำระจิตให้บริสุทธิ์อยู่ จะเห็นว่าจริตนิสัยของแต่ละคนก็แตกต่างกันไป บางคนค่อนไปทางราคจริต ชอบของสวยของงาม ชอบการประดิษฐ์ปรุงแต่ง ก็จะต้องใช้ความไม่สวยไม่งามไปแก้ บางคนมีจริตค่อนไปทางโทสจริต ทำอะไรรวดเร็ว อยากได้อะไรต้องได้ดังใจอยาก เช่นนี้ก็ต้องแก้โดยการทำให้ช้าลง ส่วนโมหจริตนั้นเป็นพวกที่ไม่สามารถเข้าใจธรรมขั้นละเอียดได้ ส่วนศรัทธาจริตที่ค่อนข้างจะเป็นโมหะมากๆ ก็มักจะเชื่อง่าย ชอบอภินิหาร ชอบการลองของ พุทธิจริต หรือมีจิตมีปัญญาจะชอบสอน พบใครเห็นเป็นเด็กนักเรียน จะแนะนำด้วยความหวังดีเสมอ

จริตทั้งหลายนี้ แม้ผิวเผินจะต่างกัน แต่โดยสัจธรรมจะเหมือนกันในความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และความเป็นอนัตตา ความที่ไม่อาจยึดมั่นหมายมั่นได้

เปรียบได้กับมะนาว พริก อ้อย บอระเพ็ด ทุกอย่างเกิดจากดิน แต่รสจะต่างกัน มะนาวมีรสเปรี้ยว พริกมีรสเผ็ด อ้อยมีรสหวาน ส่วนบอระเพ็ดมีรสขม สิ่งเหล่านี้เหมือนกันคือ เกิดมาจากดิน แล้วมันยังต้องตายเหมือนกัน เราจะหารสเผ็ดจากมะนาวก็ไม่ได้ จะหารสขมจากน้ำตาลอ้อยก็ไม่ได้ กินเปรี้ยวเกินไปก็ถ่ายท้อง กินหวานเกินก็ปวดตามข้อ กินบอระเพ็ดมากเกินก็มีลมออกหู

เช่นเดียวกับพระสารีบุตรมีปัญญามาก พระโมคคัลลานะมีฤทธิ์มาก พระสิวลีมีลาภมาก แต่ละองค์มีเอตทัคคะแตกต่างกัน แต่เหมือนกันในแง่ของความบริสุทธิ์

อย่างพระอาจารย์ทองรัตน์ คนไม่ค่อยจะชอบท่าน แต่เมื่อผมไปกราบนมัสการท่าน ท่านทักว่า “ชามาแล้วหรือ” ด้วยสำเนียงอ่อนโยน ผมก็แปลกเหมือนกัน บางทีท่านทำแผลงๆ พระจะปรับอาบัติท่าน ท่านรู้ล่วงหน้าบอกว่า “เอาเลยมาปรับอาบัติผม” วันหนึ่งกำลังเดินแถวบิณฑบาตอยู่กับท่านอาจารย์มั่น ปรากฏว่า ท่านโดดออกนอกแถว ไปเตะแพะตัวหนึ่งบอกว่า

“นี่...มึงสิขวิดพ่อกูเบาะ” (นี่...มึงจะขวิดพ่อกู) ปฏิปทาของท่านเป็นเช่นนี้ คนธรรมดาเข้าใจยาก คราวหนึ่ง ชาวบ้านคิดจะแกล้งท่านหรืออย่างไรก็ไม่ทราบ บอกถวายปลาเป็นๆ ที่เพิ่งตกได้ ปากยังร้อยด้วยหวายอยู่เลย ปรากฏว่าท่านรับบาตรและเอาไปปล่อย ท่านพูดกับปลาว่า “ดีนะลูกที่เขายังไม่ฆ่าเจ้า”

เวลาท่านมรณภาพ ในย่ามของท่านมีมีดโกนเล่มเดียว นอกนั้นไม่มีสมบัติอื่น เมื่อตอนเผาเกิดลมพายุฝนตกอย่างหนัก ครูหนึ่งแล้วหายไป พอให้เห็นเป็นอัศจรรย์

ที่ยกเรื่องเหล่านี้มา ก็เพื่อให้พวกท่านเห็นความแปลก บางทีก็ไม่แปลก เป็นเรื่องธรรมดา เพราะทุกชีวิตก็ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทุกคน ดังนั้นเราจงอย่าเก็บอะไร ให้เป็นการหนักอกหนักใจตนเองเลย ปฏิบัติธรรมแล้วต้องทำให้เกิดเบาใจ

อะไรผิดก็แก้กันไป ผิดไปแล้วก็แล้วไป ให้เห็นว่าเป็นมายาที่ผ่านไป ให้ท่านมีสติปัญญาพิจารณาทุกอย่างให้เห็นเป็นธรรมดาอยู่เช่นนี้ ทุกอย่างแปรปรวนไปตามเหตุปัจจัยของมันเช่นนั้น อะไรที่แก้ไขไม่ได้ ก็ขอให้คิดว่าเป็นเรื่องของอธิวาสนา

แม้ผมเองบวชมานี่ ไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่าจะมาเป็นครูบาอาจารย์ของใคร แล้วอธิวาสนาก็ผลักพามาให้เป็นครูสอนพวกท่าน มาร่วมปฏิบัติธรรมกับท่าน เราก็จะปฏิบัติไปอย่างนี้แหละ คือปฏิบัติให้เป็นศีลวัตร สมาธิวัตร ปัญญาธิกวัตร และเคารพพระวินัยให้มากที่สุด ส่วนเรื่องปลีกย่อยขาดเกินบกพร่องไปบ้าง ก็ต้องถือว่าเป็นธรรมดา

แม้แต่สบงจีวรที่นุ่งห่มกันอยู่ ก็มีที่ยาวไป สั้นไป เมื่อมาใช้กับตัวเรา ความจริงจีวรนั้นไม่ยาวไม่สั้น แต่มันจะยาวไป สั้นไป ก็เมื่อเราครองจีวรเท่านั้น แต่เราก็มีปัญญาปรับให้พอดีกับตัวเราได้ เราจะไปยึดว่าจีวรต้องเข้ากับตัวเราพอดีก็ไม่ได้ ต้องปล่อย ต้องปลงไป เพราะเป็นเรื่องที่ต้องควรปล่อย

แต่ถ้าบางเรื่องต้องถือ ก็ถือให้ถูกต้องตามธรรมวินัย อย่าใช้อารมณ์พอใจหรือไม่พอใจของเราเข้าไปตัดสิน กลายเป็นอารมณ์อยู่เหนือธรรมะไป ทำอะไรจึงต้องรอบคอบ ต้องใช้ปัญญา เล็กไปบ้างใหญ่ไปบ้าง ถูกใจบ้างไม่ถูกใจบ้าง แต่ถ้ายังถูกต้องตามพระวินัย ก็น่าจะปล่อยไป

พระเซน ๒ รูปเถียงกันเรื่องธงไหว องค์หนึ่งว่า ลมเป็นปัจจัยทำให้ธงไหว อีกองค์ว่าธงต่างหากทำให้เกิดการเคลื่อนไหว เถียงกันไปเถียงกันมา ตกลงกันไม่ได้ ต้องร้อนถึงอาจารย์ตัดสิน ซึ่งอาจารย์ก็กล่าวว่า จิตของท่านต่างหากที่ไหว ไม่ใช่ลมหรือธงอย่างที่พระเซน ๒ รูปเถียงกัน

พระอาทิตย์อยู่ใกล้โลกที่สุดตอนไหนของวัน องค์หนึ่งว่า ตอนเช้าซิ เพราะดวงโตที่สุด อีกองค์ว่าตอนกลางวัน เพราะร้อนที่สุด เถียงกันไม่มีแพ้ไม่มีชนะ ต้องร้อนไปถึงอาจารย์ให้ช่วยตัดสินอีก อาจารย์ถามว่า ท่านฉันหรือยัง ให้ไปฉันข้าวดีกว่า เช่นนี้เป็นต้น

พวกเราก็เหมือนกัน อย่าพยายามตั้งเรื่องอะไรที่มันต้องลำบากใจตนเอง ให้พอใจกับการปฏิบัติ พอใจกับธรรมะ อย่าพอใจกับการสอดสู่ดูความบกพร่องของผู้อื่น นั่นเป็นเรื่องของกิเลส อะไรเกิดก็ให้รู้ รู้แล้วละเสีย ธรรมชาติก็เป็นเช่นนี้เอง อย่าคิดให้เกินเลย ต้องคิดให้พอดี

ดีแล้วนะ ที่พวกเราเอาใจใส่หมู่พวก ดูแลชี้ข้อบกพร่องกันตลอดเวลา เพราะเราอยู่ด้วยความรัก ความเมตตา อยู่กันด้วยกายกรรม เคารพนับถือกันทั้งต่อหน้าและลับหลัง พูดกันก็มีเมตตาชี้แจงกันด้วยความปรารถนาดี สาธารณูปโภคก็แบ่งกันตามมีตามได้ ให้ใช้ประโยชน์ใช้สอยร่วมกัน นี่แหละจึงจะเรียกว่า พวกเรามีศีลสามัญญตา มีทิฏฐิสามัญญตา ยึดถืออุดมการณ์ อุดมธรรมที่จะพ้นทุกข์ร่วมกัน ขออนุโมทนาทุกๆ องค์ที่ใช้สติปัญญาตรองตามนี้

จากนั้น ท่านก็ทักทายพระรูปนั้น รูปนี้ เป็นการส่วนตัว แล้วก็เลิกประชุมไปตามปกติ เมื่อออกมาจากที่ประชุม พระอาจารย์รูปนั้น มีสีหน้าสดชื่นขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ผู้เขียนเข้าไปทัก ท่านบอกว่า รู้สึกเคารพรักหลวงพ่อมากขึ้น ที่ตนไม่สบายใจ ก็เพราะคิดว่าตนเองเป็นสาเหตุที่จะทำให้หลวงพ่อไม่สบายใจ แต่ก็ไม่เห็นท่านผิดปกติอะไร ทุกอย่างปกติและมีเมตตาเหมือนเดิม ผมก็เลยสบายใจ พระรูปนั้นกล่าว