วันศุกร์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

เด็กชายตุ๊กตา


เด็กชายตุ๊กตา = The lesson of a doll boy ของเดอะ ดวง.
กรุงเทพฯ : มูลนิธิเด็ก, 2550. 138 หน้า. 85 บาท.

        ติดตามงานของเดอะดวงมาหลายเล่มแล้ว ตัวการ์ตูนมีเอกลักษณ์ของตนเอง แต่ที่สำคัญเนื้อหามีข้อคิดดี จัดว่าเป็นคนเขียนการ์ตูนที่โดดเด่นในปัจจุบัน

        หนังสือเล่มนี้พูดถึงเด็กที่เล่นของเล่นของตนอย่างรุนแรง ซึ่งเรามักเห็นกันอยู่เป็นประจำ ที่เด็กมักเอาของเล่นที่เป็นตุ๊กตาหรือรถไปชนโน่นชนนี่จนพัง ซึ่งในเรื่องนี้จึงให้ตัวเอกมีประสบการณ์ที่โดนสาบให้เป็นตุ๊กตาของเล่น และถูกเด็กอื่นมาเอาไปเล่นอย่างรุนแรงบ้าง ทำให้พบความเจ็บปวด จนรู้สึกสำนึกว่าถ้าได้กลับเป็นคนอีกจะไม่เล่นของเล่นเช่นนี้อีก ในเรื่องทิ้งไว้ว่าอาจเป็นเรื่องฝันไปเพราะเมื่อกลับเป็นคน พบว่าอยู่ที่ห้องของตน หรืออาจเป็นเรื่องจริงเพราะมีของฝากที่เป็นตุ๊กตาพ่อมดเขียนไว้ว่า "หวังว่าเราคงจะไม่ได้พบกันอีก"

             ข้อคิดของเรื่องคือ ของเล่นเป็นเพื่อนเล่นที่ดี ไม่ใช่แค่เป็นของเล่น เด็ก ๆ ควรรู้จักทนุถนอมของเล่น และเมื่อพ่อแม่ได้อ่านก็ควรสอนลูก ๆ ของตนเองให้มีความคิดเช่นนี้ด้วย เพื่อให้ลูก ๆ โตขึ้นมาด้วยจิตใจที่
อ่อนโยน
ภาพนักเขียนเดอะดวง
หรือ วีระชัย ดวงพลา

วันพุธที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ปริศนาคำสารภาพ


ปริศนาคำสารภาพ โดย โยโกยามา, ฮิเดโอะ. แปลโดย วราภรณ์ พิรุณสวรรค์. กรุงเทพฯ : บลิส, 2551.

         เป็นเรื่องแนวฆาตกรรมที่ตนเองชอบ แต่เรื่องไม่น่ากลัวสยองขวัญอย่างเรื่องอื่น ๆ ฆาตกรเป็นตำรวจที่ดูใจดีและน่าเชื่อถือชื่อคะจิ โซอิชิโร อายุ 50 ปีที่ฆ่าภรรยาของตนซึ่งเป็นอัลไซเมอร์ และไม่มีญาติคนอื่น คดีน่าจะจบลงอย่างไม่มีข้อกังขา แต่ผู้เขียนได้เปิดปมไว้ให้ติดตามคือมีช่วง 2 วันที่ฆาตกรหายไปก่อนเข้ามอบตัว ทำให้ต้องติดตามไปว่ามีอะไรในช่วงนี้ และมีปมเล็ก ๆ เกี่ยวกับตัวอักษรที่เขียนด้วยพู่กันว่า "ห้าสิบปีชีวิตมนุษย์ "
        การดำเนินเรื่องเป็นการเล่าเรื่องผ่านคน 6 คน ซึ่งเกี่ยวข้องกับคดี และทั้ง 6 คนนี้ก็เป็นชื่อตอนด้วย โดยเริ่มจากตอนแรก ชิคิ คาซุมาซะ ซึ่งเป็นนายตำรวจที่ต้องรับผิดชอบคดีนี้ ตอนที่ 2 ซาเซะ โมริโอะ อัยการที่รับคดีต่อ ตอนที่ 3 นาคาโอะ โยเฮ นักข่าวที่ต้องการข่าวใหญ่ และได้ทราบมาว่าคดีนี้มีการสมรู้ร่วมคิดระหว่างตำรวจและอัยการปิดบังบางเรื่องในคดี ตอนที่ 4 อุเอะมุระ มานาบุ ทนายความที่รับว่าความให้ฆาตกร ตอนที่ 5 ฟูจิบายาชิ เคโก ผู้พิพากษาที่จะตัดสินคดีนี้ ตอนสุดท้าย โคงะ เซจิ ผู้คุมนักโทษที่ได้รับข้อร้องจากนายตำรวจชิคิให้ช่วยดูแลฆาตกรไม่ให้ฆ่าตัวตายเมื่ออายุครบ 50 ปี เนื่องจากอักษรพู่กันที่ว่าด้วย " ห้าสิบปีชีวิตมนุษย์" ซึ่งทั้ง 6 คนนี้ในตอนแรก ๆ ของแต่ละคนอยากทำความจริงให้ปรากฎว่าช่วง 2 วันที่หายไปนั้น ฆาตกรไปทำอะไร แต่เมื่อได้พบหน้านายตำรวจคะจิ ความรู้สึกของแต่ละคนก็เปลี่ยนไป
           เป็นหนังสือที่อ่านสนุก และในตอนท้ายเรื่องที่เมื่อเฉลยเรื่องแล้ว ก็ให้ความรู้สึกประทับใจมาก เรื่องมีอยู่ว่า หลังฆ่าภรรยาและหายไป 2 วันโดยไม่ยอมฆ่าตัวตาย ทั้ง ๆ ที่ต้องการทำเช่นนั้น เป็นเพราะไปหาเด็กชายคนหนึ่งที่เขาบริจาคไขกระดูกให้ และยังต้องมีชีวิตอยู่ถึงอายุ 51 ปี เพราะการลงทะเบียนบริจาคไขกระดูกจะถือเป็นโมฆะ คะจิยังต้องการมีชีวิตอยู่เพื่อรอว่าจะสามารถบริจาคไขกระดูกให้ผู้ต้องการอีก ในตอนจบให้ผู้รับบริจาคมาพบนายตำรวจ แสดงความขอบคุณ เป็นการให้ผู้อ่านรู้สึกว่าจะช่วยให้คะจิไม่ฆ่าตัวตายเมื่ออายุเลย 51 ปี ทำให้ความรู้สึกหนัก ๆ ที่อ่านมาผ่อนคลายและมีความสุข ให้ความรู้สึกดี ๆ เมื่ออ่านจบ


ภาพของโยโกยามา ฮิเดโอะ

ไม้บรรทัดของยมทูต


ไม้บรรทัดของยมทูต โดย โคทาโร, อิซากะ. แปลโดย ฐิติพงศ์ ศิริรัตน์อัสดร. กรุงเทพฯ : JBook, 2552. 244 หน้า. 200 บาท.
         เป็นหนังสือประเภทเรื่องสั้น แนวจินตนาการเสนอเรื่องราวชีวิตของมนุษย์แต่ละคน แต่ผูกโยงเข้าเป็นหนึ่งเดียวโดยตัวเอกของเรื่องคือ ชิบะ ที่เป็นยมทูตเข้าไปตรวจสอบชีวิตบุคคลนั้น ๆ และรายงานว่าจะ "รับไว้" หรือ "ปล่อยไป" เนื้อเรื่องแบ่งออกเป็นเรื่องสั้น 6 ตอน
ตอนที่ 1 ความเที่ยงตรงของยมทูต ซึ่งเป็นตอนที่ชิบะไปตรวจสอบพนักงานหญิงที่มีหน้าที่รับเรื่องราวร้องทุกข์เกี่ยวกับสินค้าของบริษัททางโทรศัพท์ ทำให้หญิงสาวไม่มีความสุข พูดจาด้วยเสียงหม่นหมอง แต่ตอนท้าย กลายเป็นว่ามีโปรดิวเซอร์เพลงอัจฉริยะ มาค้นพบพรสวรรค์ของเธอทางด้านเสียง โดยเธอไม่รู้ตัว เนื่องจากเวลารับโทรศัพท์เธอจะต้องพูดด้วยเสียงที่แจ่มใส ทำให้ชิบะรายงานให้ปล่อยเธอไป เพราะต้องการให้ประสบความสำเร็จในการเป็นนักร้องคุณภาพ
ตอนที่ 2  ยมทูตกับฟูจิตะ ชิบะต้องไปตรวจสอบฟูจิตะที่เป็นยากูซา ที่กำลังมีความแค้นกับยากูซ่าอีกกลุ่มหนึ่ง
ตอนที่ 3 ความตายกลางพายุหิมะ เป็นตอนที่อ่านแล้วเหมือนนิยายลึกลับสืบสวน เพราะมีคนตายต่อเนื่องถึง 3 คน และอยู่ในหุบเขาท่ามกลางพายุหิมะ ไม่สามารถมีผู้อื่นเข้า-ออกได้ ทำให้ผู้อ่านรู้สึกว่ามีฆาตกรอยู่ภายในกลุ่มคนนั้นเท่านั้น
ตอนที่ 4 ความรักกับยมทูต เป็นตอนที่มีความน่ารัก เพราะเป็นเรื่องที่ชายคนหนึ่งที่ชิบะตรวจสอบอยู่กำลังตกหลุมรักหญิงคนหนึ่ง มีข้อคิดดี ๆ ในตอนนี้ด้วย เช่น ชีวิตมนุษย์แสนสั้น สู้มีอะไรไว้สักอย่างยังดีกว่าว่างเปล่า บางคนก็มีชีวิตทำนองว่า ถึงจะไม่เยี่ยมยอด แต่ก็ใช่ว่าเลวร้ายที่สุด ตัวละครตัวหนึ่งในตอนนี้จะไปปรากฎในตอนอื่นด้วย
ตอนที่ 5 บนเส้นทางความตาย เป็นตอนที่เกี่ยวกับวัยรุ่นคนหนึ่งที่ตอนเด็กถูกลักพาตัว ทำให้เมื่อโตขึ้นเป็นคนที่ใจร้อน โมโหง่าย และมักทำร้ายผู้อื่น แม้กระทั่งแม่ตัวเองเมื่อสงสัยว่าแม่อาจร่วมมือกับคนร้ายที่ลักพาตัวเอง
ตอนที่ 6 ยมทูตกับหญิงชรา ตอนนี้ตัวละครตัวหนึ่งที่เคยปรากฏในตอนความรักกับยมทูต คือเป็นหญิงสาวที่ถูกรักข้างเดียว แต่ตอนนี้เป็นหญิงชราอายุ 70 กว่าปี และตลอดชีวิตที่ผ่านมาคนรอบข้างได้ตายจากไปหลายคน ซึ่งได้รวมชายคนรักที่ปรากฎในตอนที่ 4 ด้วย ทำให้หญิงชราไม่กลัวความตาย เพราะดีกว่าการเห็นคนใกล้ชิดตายไปทีละคน นอกจากนี้ในตอนนี้ยังมีตัวละครที่อยู่ในตอนแรกที่ชิบะรายงานให้ปล่อยไป กลายเป็นนักร้องโด่งดังด้วย
           แม้เนื้อเรื่องจะเกี่ยวกับความตาย และบรรยากาศของเรื่องจะมืดคลึ้ม เพราะเมื่อชิบะปรากฏตัวมาปฏิบัติงาน จะมีฝนตกตลอด ตัวชิบะจะไม่เคยเห็นท้องฟ้าแจ่มใส แต่ผู้อ่านจะไม่รู้สึกอึดอัด หรือรู้สึกเครียด และอารมณ์จะไม่เศร้าเสียใจ รู้สึกสบาย ๆ ด้วยซ้ำ เพราะผู้เขียนจะบรรยายผ่านตัวชิบะ ที่มีมุมมองเฉยเมย เย็นชา และไม่แยแสความตายของมนุษย์ ให้ผู้อ่านเห็นว่ามนุษย์ทุกคนต้องตาย ไม่เห็นต้องมาโศกเศร้าเสียใจเพราะตัวเองก็ต้องตายด้วยเช่นกัน ขณะเดียวกันผู้อ่านก็รับรู้ถึงความสบาย ๆ และน่ารัก โดยให้ยมทูตทั้งหมดที่ทำงานจะหลงไหลในเสียงเพลง เวลาว่างจะไปอยู่ที่ร้านซีดีเพลง และมีหลายตอนที่บรรยายว่าสิ่งที่ดีที่สุดที่มนูษย์สร้างขึ้นคือเสียงเพลง และสิ่งที่เลวร้ายที่สุดของมนุษย์คือรถติด ทำให้ผู้อ่านยิ้มได้
          นอกจากนี้ก็มีน้ำเสียงประชดเกี่ยวกับการทำงานของยมทูตว่าเหมือนพนักงานบริษัท ทำงานให้เสร็จตามที่ได้รับมอบหมายก็พอ แม้ว่าจะมีข้อสงสัยในใจ
          การดำเนินเรื่องเหมือนไม่ต่อกัน แต่เมื่ออ่านไปตัวละครในตอนหนึ่งจะไปปรากฎอยู่ในอีกตอนหนึ่งด้วย อย่างเช่น ตอนที่ 6 ยมทูตกับหญิงชรา มีตัวละครในตอนที่ 1 และตอนที่ 4 ปรากฎอยู่ ทำให้ผู้อ่านรู้สึกได้ถึงการทำงานของชิบะผ่านกาลเวลาหลายสิบปี ถ้าไม่มีตัวละครเชื่อมโยงกันผู้อ่านจะไม่ทราบ นึกว่าในช่วงเวลาสั้น ๆ เท่านั้น
           หนังสือเรื่องนี้ได้รับรางวัลประเภทเรื่องสั้นของสมาคมนักเขียนนิยายสืบสวนแห่งญึ่ปุ่น จากเรื่อง ความเที่ยงตรงของยมทูต ซี่งเป็นเรื่องสั้นเรื่องแรกในเล่ม และยังได้รับการดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ด้วยในชื่อ Sweet Rain ซึ่งมีตัวอย่างหนังมาด้วย


ภาพนักเขียนอิซากะ โคทาโร

หัวใจน้ำหมึก




หัวใจน้ำหมึก = Inkheart โดย ฟุนเคอ, คอร์เนเลีย. แปลโดย วัชรวิชญ์.  พิมพ์ครั้งทึ่ 13. กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คส์ทีน, 2552. 503 หน้า. 295 บาท

แปลจากต้นฉบับภาษาเยอรมันเรื่อง Tintenherz

เป็นหนังสือที่มีจินตนาการบรรเจิด ตัวเอกของเรื่องเป็นเด็กหญิงอายุ 9 ขวบชื่อ เม็กกี้ เป็นเด็กที่รักการอ่านหนังสือ เพราะหนังสือจะพาไปสู่ดินแดนแห่งการผจญภัย แต่พ่อของเธอซึ่งเป็นนักซ่อมหนังสือที่มีสภาพเก่า ชำรุด ให้กลับมาสวยงาม และรักหนังสือด้วยเช่นกัน ไม่เคยอ่านหนังสือให้ลูกสาวฟัง เนื่องจากมีความหลังอันแสนเจ็บปวดเกี่ยวกับการอ่านออกเสียง เมื่อครั้งอ่านหนังสือเรื่องหัวใจน้ำหมึกให้ภรรยาฟัง และต้องสูญเสียเธอไป และกลับพาตัวร้ายของเรื่องนี้ที่ชื่อ คาปริคอร์น และลูกน้องออกมาอีกหลายคน ทำให้เหตุการณ์ร้ายเกิดขึ้นมากมาย และตามล่าตัวพ่อของเม็กกี้ เพราะเขาเก็บหนังสือเล่มนี้ไว้แต่คาปริคอร์นอยากทำลายทิ้งให้หมด เนื่องจากเขาไม่อยากกลับไปในเทพนิยายเรื่องนี้อีก ทำให้ 2 คนพ่อลูกต้องหลบ ๆ ซ่อน ๆ ไปในที่ต่าง ๆ
การดำเนินเรื่องน่าตื่นเต้นและเร้าใจ ผู้อ่านจะลุ้นตลอดว่าเรื่องจะดำเนินไปอย่างไร และเมื่อคาปริคอร์นเผาหนังสือเรื่องนี้เล่มสุดท้ายไปได้ ก็ทำให้คิดว่าเรื่องจะไปจบอย่างไร แม่ของเม็กกี้จะกลับมาได้หรือไม่ และเรื่องก็หักเหไปอีกมุมคือให้ 2 คนพ่อลูกนี้ไปหาผู้แต่งหนังสือเรื่องนี้ ที่ยังมีชีวิตอยู่
เมื่อพบนักเขียนที่เป็นชายสูงวัยที่ชอบเล่านิทานให้หลาน ๆ ของตนฟัง เหมือนไม่ค่อยมีความหวังว่าจะช่วยพวกเขาได้อย่างไร แต่ก็มีการวางแผนว่าจะทำอย่างไร โดยวางความคิดว่านักเขียนเป็นคนสร้างตัวละครขึ้นได้ก็สามารถทำลายตัวละครได้ แต่ผู้อ่านก็ต้องลุ้นว่าจะทำได้อย่างไร ซึ่งในช่วงนี้เรื่องก็ให้เม็กกี้สามารถอ่านให้ตัวละครออกมาจากหนังสือได้เหมือนพ่อ และในตอนจบก็ให้เม็กกี้อ่านออกเสียงบทที่เขียนขึ้นใหม่ ซึ่งก็เปลี่ยนแปลงเหตุการณ์ได้อย่างลุ้นระทึกและประหลาดใจ
ในตอนแรกเมื่อเห็นคำว่า หัวใจน้ำหมึก จะนึกว่าเป็นหัวใจของหนังสือที่มีชีวิต แต่เมื่อพบนักเขียนเรื่องนี้จะเฉลยว่า เป็นหัวใจที่ดำ ไม่มีเมตตา ซึ่งหมายถึง คาปริคอร์น ตัวร้ายของเรื่อง
คอร์เนเลีย ฟุนเคอ ได้รับการยกย่องว่าเป็น เจ. เค.โรว์ลิ่ง แห่งเยอรมัน เพราะเธอสามารถจินตนาการให้ตัวละครในเทพนิยาย เช่น ภูติ ก็อบลิน มนุษย์แก้ว คนแคระ เป็นต้น มาอยู่ร่วมในสังคมสมัยใหม่ได้ เป็นหนังสือที่อ่านแล้วมีความสุข และให้จินตนาการแก่ผู้อ่านได้เหมือนที่ แฮร์รี่ พอร์ตเตอร์ทำมาแล้ว
"หนังสือรักทุกคนที่เปิดมันออก ให้ความคุ้มครองและให้มิตรภาพโดยไม่เรียกร้องสิ่งใดตอบแทน ไม่เคยหนีหน้าหายไป แม้เมื่อคนไม่เห็นค่าของมัน" หน้า 405
ภาพนักเขียนคอร์เนเลีย ฟุงเคอ

วันศุกร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

เชือดสังเวย

ฮิวสัน, เดวิด. เชือดสังเวย. แปลโดย ไพบูลย์ สุทธิ.  กรุงเพทฯ : นานมีบุ๊คส์, 2552.
394 หน้า. 265 บาท

อ่านแล้วไม่ค่อยสะใจเท่าใด เนื้อหาเกี่ยวกับนักรบรับจ้าง 2 ทีมที่เข้าไปในประเทศอิรัก เพื่อสืบข่าวเกี่ยวกับการทำสงครามให้สหรัฐอเมริกา แต่แล้วข่าวรั่ว ทีมงานที่ 1 ถูกสังหารเกือบหมด เหลือแต่คน ๆ หนึ่งที่ชื่อบิลล์ แคสปาร์ ถูกจับไปขังคุกในอิรัก พอสิบสามปีผ่านไปเขาได้แหกคุกและตามมาล้างแค้นทีมงานอีกกลุ่มที่รอดมาได้ เรื่องทั้งหมดมาจบที่ประเทศอิตาลี พระเอกของเรื่องจึงเป็นตำรวจอิตาลีชื่อ นิก กอสตา เป็นตำรวจหน้าตาดี อารมณ์เย็น ส่วนนางเอกของตอนนี้เป็นนักสืบเอฟบีไอ ซึ่งเป็นลูกสาวของหัวหน้าทีมที่รอดชีวิตกลับมา แต่เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมาได้ถูกคนที่แหกคุกฆ่า เมื่ออ่านแล้วไม่ค่อยเข้าใจว่าทำไมสหรัฐอเมริกาต้องส่งคนเข้าไปอิรัก และไปทำอะไร จึงมีการขายข่าว มีการทรยศ และหลังจากฆ่าทีมจนหมด ยังไม่พอใจ เพราะสงสัยว่ายังมีผู้อยู่เบื้องหลังที่มีตำแหน่งใหญ่กว่านี้อีก แต่อ่าน ๆ ไป สรุปว่าผู้ทรยศหรือผู้อยู่เบื้องหลังเป็นเพียงสายลับที่อยู่ในสถานฑูตอเมริกันในประเทศอิตาลีเท่านั้นไม่มีผู้มีตำแหน่งอื่นหรือนักการเมืองอยู่เบื้องหลัง

เมื่ออ่านจบและนำมาประมวลเนื้อหาสรุปแล้ว ไม่ค่อยชอบเท่าใด เนื้อหาเบา ๆ และไม่ค่อยตื่นเต้นเร้าใจ มีเนื้อหาเกี่ยวกับการทำงานระหว่างตำรวจและหน่วยงานสืบราชการลับ ที่มีความขัดแย้งกันตลอดเวลา การที่ผู้อ่านไม่มีความรู้เกี่ยวกับสงครามอิรักทำให้อ่านไม่ค่อยเข้าใจ และไม่สนุก จึงทำให้ไม่อยากอ่านเล่มอื่นของนักเขียนคนนี้ ซึ่งยังมีอีก 2 เล่มในชุดตำรวจนิก กอสตานี้ที่แปลเป็นภาษาไทยแล้ว

ภาพนักเขียน David Hewson

วันอังคารที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

คินดะอิจิ ตอนที่ 15 สัตว์ป่าแสนสวย


โยโคมิโซะ, เซชิ. คินดะอิจิยอดนักสืบ. ตอนที่ 15. สัตว์ป่าแสนสวย. แปลโดย รัตน์จิต ทองเปรม. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : JBook, 2553. 150 บาท.

      ตอนนี้มีเรื่องสั้น ๆ อยู่ 3 เรื่อง

เรื่องที่ 1 สัตว์ป่าแสนสวย เป็นคดีที่คินดะอิจิต้องสืบว่าใครฆ่าสาวสวยที่เป็นเจ้าของคฤหาสน์ ในวันที่ปิดคฤหาสน์จัดงานสังสรรค์เพื่อให้สมาชิกชายหญิงได้สำเริงสำราญแลกคู่นอน โดยศพถูกพบในสภาพกึ่งเปลือย ด้วยการถูกรัดคอ และยังถูกจ้วงแทงหัวใจ คนร้ายหายไปอย่างไร้ร่องรอยทั้ง ๆ ที่คินดะอิจิเฝ้าอยู่ทางเข้า เรื่องค่อนข้างซับซ้อน แต่ก็สืบได้รวดเร็ว ซึ่งผลคือคนร้ายเป็นนักธุรกิจที่มีส่วนในการจัดงานปาร์ตี้ของสาวสวย แต่มีอาชีพเบื้องหลังขายยาเสพติด ที่ต้องฆ่าสาวคนนั้นเพราะสาวรู้ระแคะระคายว่ามียาเสพติดในงานปาร์ตี้ จึงจ้างทั้งนักสืบและตำรวจมาสืบ

เรื่องที่ 2 แมวในความมืด ซึ่งเป็นคดีแรกในโตเกียวช่วงหลังสงครามที่คินดะอิจิได้มาสืบ และรู้จักกับสารวัตรโทโดโรกิ ซึ่งจะเป็นตัวละครที่จะออกมาอีกหลายตอน เรื่องนี้เกี่ยวกับคนร้าย 2 คนปล้นธนาคารได้เงินไปเจ็ดแสนเยน แต่แล้วคนร้ายกลับถูกฆ่าไป 1 คน ส่วนอีกคนถูกยิงบาดเจ็บสาหัสที่คลับร้างแห่งหนึ่ง ส่วนเงินที่ปล้นได้หายไป จนอีกหลายเดือน เมื่อคนร้ายที่บาดเจ็บหายดี แต่กลับจำอะไรไม่ได้ กลับมาที่คลับร้างที่ตอนนี้ได้ถูกปรับปรุงใหม่ แต่แล้วคนร้ายนี้ก็ถูกฆ่าตายทันที และมาดามในคลับก็ถูกวางยาพิษตายไปอีกคน คินดะอิจิที่มาสืบคดีนี้เพราะถูกกรรมการผู้จัดการธนาคารที่ถูกปล้นจ้างมา ซึ่งในที่สุดผลที่ออกมาคือคนร้ายที่ปล้นธนาคารมี 3 คน ซึ่งคนที่ 3 เป็นผู้หญิงซึ่งใส่ตาปลอมข้างหนึ่งเมื่อมองในที่มืดจะเหมือนตาแมว และผู้หญิงคนนี้คือมาดามที่ถูกยาพิษนั่นเองซึ่งวางยาพิษจะฆ่าเจ้าของคลับ แต่เจ้าของคลับไม่ไว้ใจจึงสับเปลี่ยนแก้ว ยาพิษจึงย้อนกลับมาหาตัวเอง

เรื่องที่ 3 เจ้าสาวผู้หลับไหล เป็นคดีที่เกี่ยวกับคนร้ายที่มีจิตวิปริต เก็บศพไว้จนเน่าเหม็นซ้ำยังทำมิดีมิร้ายกับศพ แต่เมื่อคนร้ายออกมาจากคุก กลับมีเหตุการณ์ทำนองเดียวกันนี้เกิดขึ้นอีก ทำให้ผู้อ่านคิดว่าคนร้ายกลับมาทำเรื่องร้ายนี้อีก แต่ตำรวจไม่สามารถหาคนร้ายพบ เมื่อคินดะอิจิสืบพบสรุปว่า มาดามเจ้าของคลับที่มีคนในคลับตายและถูกนำศพออกไป หรือมีคนในคลับถูกฆ่าเป็นตัวการใหญ่ วางแผนฆ่าคนร้ายโรคจิตคนแรกเพื่อเอาเงิน และวางแผนทำให้คิดว่าคนร้ายคนแรกกลับมาก่อคดี

       เป็นเรื่องฆาตกรรมที่อ่านได้สนุก แม้ว่าเป็นนิยายที่เกิดหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งสภาพสังคมญี่ปุ่นยังสับสนวุ่นวาย ข้าพเจ้าได้อ่านมาแล้ว 15 ตอน และทุกครั้งที่อ่านจบก็รู้สึกชอบ เพียงแต่ตอนนี้เป็นเรื่องขนาดสั้น ไม่ค่อยมีรายละเอียดมากนัก


ภาพนักเขียนโยโคมิโซะ เซชิ

วันพฤหัสบดีที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ

ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ ALIST ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
http://www.alist.psu.ac.th/

ระบบนี้ได้รับงบสนับสนุนจาก สกอ. ให้พัฒนาระบบขึ้นมา การสัมมนาเชิงวิชาการครั้งที่ 4 ที่ โรงแรมพาวิลเลี่ยน ควีนเบย์ กระบี่ เป็นการแนะนำระบบ เวอร์ชั่น 4 ซึ่งตอนแนะนำก็ดูน่าใช้ สามารถนำมาใช้ได้ตามการทำงานของห้องสมุด แต่เมื่อแบ่งกลุ่มการใช้งานทำให้เห็นว่าการพัฒนาเวอร์ชั่นนี้ยังไม่พร้อม เพราะมีผู้รู้อยู่ไม่กี่คน ทำให้การใช้งานเกิดการติดขัด ไม่สะดวก อย่างเช่นเมื่อเข้าไปใน Acquisition Module ซึ่งเป็นโมดูลใหม่ ไม่มีผู้แนะนำอยู่ จะไม่สามารถเข้าถึง
โมดูลได้ดี ได้แต่ดูกว้าง ๆ ว่าทำงานอย่างไรเท่านั้น ส่วนผู้ใช้ที่เป็นบรรณารักษ์ ม.สงขลา ก็ไม่สามารถแนะนำได้ เพราะเป็นโมดูลใหม่ ในเวอร์ชั่นที่ผ่านมายังไม่มี แต่จากการสังเกตพบว่า สามารถทำงานได้

ศูนย์คอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้พัฒนาโปรแกรมห้องสมุดอัตโนมัตินี้และลงให้ห้องสมุดแต่ละแห่งในมหาวิทยาลัยต่างเวอร์ชั่น โดยห้องสมุดแรก ๆ จะได้เวอร์ชั่นที่ 1 ส่วนห้องสมุดที่ลงหลัง ๆ จะได้เวอร์ชั่นใหม่ แสดงว่า โปรแกรมนี้ไม่ได้ใช้ร่วมกัน ต่างคนต่างใช้มี server ของแต่ละห้องสมุด

สำหรับเวอร์ชั่นใหม่เป็นเวอร์ชั่น 4 มีโมดูล Acquisition เป็นโมดูลใหม่ ซึ่งห้องสมุดที่ใช้โปรแกรมนี้ยังไม่เคยเห็น ตอนนี้เวอร์ชั่น 4 นี้ใช้อยู่ที่ สำนักทรัพยากรการเรียนรู้คุณหญิงหลง ที่วิทยาเขตหาดใหญ่เท่านั้น และกำลังจะนำไปลงที่ หอสมุด จอห์น เอฟ เคนเนดี้ ที่วิทยาเขตปัตตานี


เมื่อห้องสมุดในสถาบันอุดมศึกษาอื่น ๆ จะการนำมาใช้ ต้องติดต่อผ่าน Project Manager ซึ่งเพิ่งมีผู้รับผิดชอบชื่อคุณ เนาวรัตน์ สอิด ทำงานมาได้ 1 เดือน คิดว่าเพราะมีผู้ใช้ระบบนี้มากขึ้น จึงต้องมีผู้ประสานงาน และทำหน้าที่เป็นฝ่ายประชาสัมพันธ์ด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะได้มีผู้รับผิดชอบในการติดต่อ ทำให้ผู้ที่คิดจะใช้ได้ติดต่อสอบถามสะดวกขึ้น

ระบบห้องสมุดอัตโนมัติ WALAI AutoLIB มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
http://202.28.69.49/Wu/Index.aspx

ระบบนี้ได้รับการสนับสนุนจาก สกอ. เช่นกัน ตอนไปดูงาน ผู้เสนอระบบคือ อ. ยุทธนา เจริญรื่น เสนอระบบเวอร์ชั่น 2.0 ซึ่งยังไม่ได้ให้ใช้ เพราะปัจจุบันยังใช้ในเวอร์ชั่น 1.7 เท่านั้น ระบบการทำงานคล้าย ๆ กับระบบ ALIST แต่ระบบนี้นำมาใช้ที่ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับสำนักหอสมุดกลาง มศว ที่เป็นห้องสมุดหลายแห่ง แต่ใช้ฐานข้อมูลเดียวกัน ทำให้ระบบนี้น่าสนใจ ส่วนห้องสมุดอื่น ๆ ที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นห้องสมุดขนาดเล็ก มีห้องสมุดขนาดกลางไม่มาก ทั้งหมด 40 กว่าแห่ง

การพัฒนายังมีอยู่ต่อเนื่อง ซึ่งหน่วยงานที่พัฒนามีการตั้งเป้าหมายว่า "จะผลิตระบบห้องสมุดอัตโนมัตที่เป็นของประเทศไทย" ให้ได้ และการนำเสนอก็ได้พูดถึงการนำระบบนี้มาใช้ต้องมีงบประมาณเท่าใด การดูแลระบบต้องจ่ายเท่าใด มีการแยกให้เห็นชัดเจน ทำให้ห้องสมุดที่มีแผนจะนำระบบนี้มาใช้สามารถตั้งงบประมาณได้ถูกต้อง