วันพฤหัสบดีที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ร้านหนังสือ 24/7 ของคุณเพนุมบรา

ร้านหนังสือ 24/7 ของคุณเพนุมบรา (Mr. Penumbra' 24-hour bookstore) สโลน, โรบิน. แปลโดย ศรรวริศา เมฆไพบูลย์. ปทุมธานี : กำมะหยี่, 2557. 297 หน้า. ราคา 260 บาท.


เคลย์ เจนนอน เป็นพนักงานกะดึกที่ ร้านหนังสือ 24 ชั่วโมงของคุณเพนุมบรา ซึ่งเป็นร้านหนังสือเล็ก ๆ ในนครซานฟรานซิสโก ร้านนี้มีมุมหนึ่งเป็นหนังสือมือสอง แต่อีกมุมจะเป็นชั้นหนังสือที่ลึกและสูงเหมือนป่าต้นสน ที่เคลย์เรียกว่าชั้นหนังสือสุดซอย และเป็นส่วนที่คุณเพนุมบราไม่อนุญาตให้พนักงานร้านเปิดอ่านเด็ดขาด มีหน้าที่แค่หยิบหนังสือมุมนี้ให้ลูกค้าที่เป็นสมาชิก ซึ่งต้องนำเล่มเก่ามาคืนก่อน จึงจะยืมเล่มใหม่ออกไปได้ นอกจากนี้เคลย์ยังมีหน้าที่จดบันทึกเหตุการณ์ไว้ในสมุดบันทึกประจำวัน แต่ร้านนี้มักจะไม่มีลูกค้าเข้าร้าน เคลย์จึงคิดเขียนโค้ดเพื่อทำ  Data Visualization ด้วยข้อมูลจากสมุดที่เขาต้องบันทึกทุกวันมาทำเป็นภาพสามมิติในเครื่องแมคของตัวเอง ทำให้เคลย์ได้พบว่าการยืมหนังสือเหล่านั้นมีแพทเทิร์นที่ทำให้เกิดภาพบางอย่างขึ้นมา และต่อมาได้ร่วมมือกับแคต โพเทนต์ สาวทำงานที่ Google ซึ่งก็ได้นำเทคโนโลยีจาก Google มาช่วย ทำให้ได้หน้าของผู้ก่อตั้งสมาคมลับที่ชื่อว่า สมาคมสันหนังสือสนิทจากนั้นเคลย์และเพื่อน ๆ ก็เข้าไปสู่สมาคมลับที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่นครนิวยอร์ก
สมาคมสันหนังสือสนิทเป็นสมาคมที่พยายามไขปริศนาจากโคเด็กซ์วิเท (หนังสือชีวประวัติ) ของผู้ก่อตั้งสมาคมที่ชื่อ อัลดัส แมนิวเทียส มาหลายร้อยปี เพื่อหาความลับของการมีชีวิตนิรันดร์ ซึ่งเคลย์และแคตสนใจที่จะร่วมไขปริศนาด้วย แต่เป็นไปในทางนำเทคโนโลยีจาก Google มาช่วยค้นหาปริศนานั้น แต่แล้วความลับทั้งหมดกลับไปอยู่ที่แม่พิมพ์ต้นแบบของกริฟโฟ แกร์ริตส์ซูนที่เป็นเพื่อนรักของ อัลดัส แมนิวเทียส ที่ส่งสารแห่งความเป็นนิรันดร์มา
     เป็นหนังสือที่นำเอาบุคคลจริง  เหตุการณ์จริง หนังสือจริง มาผสมผสานกับองค์กรขนาดยักษ์อย่าง Google บวกกับจินตนาการของผู้เขียนอย่างสมาคมลับได้อย่างพอเหมาะ เป็นหนังสือที่อ่านสนุก แฝงไว้ด้วยอารมณ์ขันตลอดเวลา แม้จะมีเรื่องสมาคมลับ การค้นหาชีวิตนิรันดร์ แต่ไม่มีเรื่องความรุนแรง อาฆาต
    ยิ่งกว่านั้น เรื่องนี้ยังพาผู้อ่านเข้าไปดูการทำงานของ Google เลยทีเดียว และน่าตื่นตายิ่งขึ้นในฉากที่ต้องไขปริศนาโคเด็กซ์วิเทของอัลดัส แมนิวเทียส ด้วยการระดมเครื่องคอมพิวเตอร์ของ Google  มาช่วยกันทำงานให้ ทำให้การไขปริศนาว่าด้วยชีวิตนิรันดร์ที่ต้องใช้เวลาเป็นร้อย ๆ ปี ที่สมาชิกของสมาคมทำอยู่ เหลือเพียง 1 วัน
   จริง ๆ ตอนจบของหนังสือเรื่องนี้ค่อนข้างหักมุม เพราะการไขปริศนาจบลงแบบง่าย ๆ ไม่ต้องอาศัยศูนย์ข้อมูล เทคโนโลยีทันสมัยใด ๆ การไขปริศนาอยู่ที่ตัวพิมพ์ต้นแบบของแกร์ริตส์ซูนนั่นเอง เพราะการประดิษฐ์ตัวพิมพ์นี้ ก่อให้เกิดการทำหนังสือ และแม้แต่เทคโนโลยีสมัยใหม่ก็ต้องใช้ตัวอักษรแกร์ริตส์ซูนที่ถูกกำหนดเป็นค่ามาตรฐานของตัวอักษร ทำให้แกร์ริตส์ซูนยังอยู่ทุก ๆ ที่รอบตัวเรา  มีความเป็นอมตะตลอดกาล
 “เรื่องเล่าอันงดงามที่เสริมด้วยการใช้ข้อเท็จจริงอย่างกล้าหาญ (เช่น มีกูเกิล และสำนักงานจริงในเรื่อง) นำเราสู่โลกลี้ลับแห่งความลวงและการคาดเดา เป็นประสบการณ์การอ่านที่ทรงพลังและอัศจรรย์เกินปฏิเสธได้
จอร์จ ซอนเดอร์, นิตยสาร บลิป
นิก ฮาร์คาเวย์


 “หนังสือมองโลกในแง่ดีเล่มนี้ พูดถึงการพบกันของเทคโนโลยีสมัยใหม่และปริศนายุคกลาง เป็นแผนที่นำไปสู่ความสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างโลกเก่าและโลกใหม่

โรบิน สโลน ผู้แต่งหนังสือนี้