วันอังคารที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2558

คนนอก

คนนอก. กามู, อัลแบร์. อำพรรณ โอตระกูล, แปล.  พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพฯ : สามัญชน, 2533. ราคา 48 บาท

คนนอกเป็นเรื่องราวของชายชาวฝรั่งเศสคนหนึ่งชื่อเมอโซ มีอาชีพเป็นพนักงานประจําบริษัทแห่งหนึ่งในเมืองอัลเจียร ประเทศอัลจีเรีย (ในขณะนั้นยังเป็นเมืองขึ้นของประเทศฝรั่งเศสอยู่) ที่ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย และมีความสุขในชีวิตอย่างธรรมดา ไม่สุขล้นเหลือ ไม่ทุกข์มากมาย ทำงานตามหน้าที่ๆ ควรจะเป็น
        เนื้อเรื่องแบ่งออกเป็น 2 ภาค
ภาคแรก เรื่องราวในภาคนี้เมอโซจะพูดถึงชีวิตของตนเองและเพื่อน โดยเริ่มต้นขึ้น เมื่อเมอโซทราบข่าวการตายของแม่ ที่อาศัยอยู่ที่บ้านพักคนชรา เขาต้องไปเฝ้าศพแม่ในคืนนั้นเขา เขาปฏิเสธที่จะให้คนเปิดฝาโลงศพเพื่อดูหน้าแม่เป็นครั้งสุดท้าย และยังสูบบุหรี่ต่อหน้าโลงศพด้วย อีกทั้งยังดื่มกาแฟใส่นมและนอนหลับได้
เสร็จสิ้นพิธีฝังศพ เขาก็กลับไปพบกับหญิงคนหนึ่งชื่อ มารี ทั้งสองไปว่ายน้ำและดูหนังด้วยกัน ทั้งสองเริ่มสนิทขึ้นเรื่อยๆ มารีถามกับเขาว่ารักเธอรึเปล่า เขาไม่ตอบว่ารักหากแต่เขาบอกว่าเขาพร้อมจะแต่งงานกับเธอหากเธอต้องการ
เมอโซมีเพื่อนบ้านสองคน คนหนึ่งเป็นชายแก่ชื่อซาลามาโน เลี้ยงหมาที่เป็นหมาขี้เรื้อน ดูเหมือนจะไม่ดีต่อสุนัขเท่าไร เขาไม่ยอมให้สุนัขหยุดฉี่ ไม่ยอมพาเดินออกนอกเส้นทาง เมื่อมันฝืนเขาก็จะตีและด่ามันจนมันหมอบด้วยความกลัว แต่เขาก็รักมัน เพราะเขามักจะพาหมาขี้เรื้อนของเขาไปเดินเล่นสองครั้งต่อวัน เป็นกิจวัตรที่ไม่เคยเปลี่ยน เขาได้สุนัขตัวนี้มาหลังจากภรรยาตายได้ไม่นาน วันหนึ่ง เมื่อหมาขี้เรื้อนของเขาหายไป เขาก็กระวนกระวายและพยายามตามหามัน สุดท้าย เมอโซได้ยินเสียงประหลาดลอดช่องฝากระดาน ทำให้เขารู้ว่า ตาแก่ซาลามาโนร้องไห้ 
ส่วนอีกคนชื่อเรมอนด์มีเมียเป็นคนอาหรับ ซึ่งเขาจับได้ว่ามีชู้ ทำให้อยากลงโทษเธอ เรมอนด์จึงปรึกษาเมอโซว่าจะทำอย่างไรถ้าเป็นเขา สุดท้าย เมอโซลงมือร่างจดหมายฉบับหนึ่งเพื่อด่าว่าหญิงสาวคนนั้นให้แก่เรมอนด์ นั่นทำให้เรมอนด์ประทับใจมาก และถือเมอโซเป็นเพื่อนคนหนึ่ง
    เมอโซ มารี และเรมอนด์ ไปเที่ยวทะเลที่บ้านเพื่อนคนหนึ่ง ก่อนออกเดินทาง พวกเขารู้สึกได้ว่ามีกลุ่มชาวอาหรับติดตามอยู่ เรมอนด์คาดได้ทันทีว่า นั่นเป็นพี่ชายของเมียของเขาที่กำลังมีเรื่องกันอยู่ และพวกเขาได้เจอชาวอาหรับกลุ่มนั้นอีกเมื่อเดินทางไปถึงทะเล จนเมื่อต้องปะทะกัน เมอโซซึ่งรู้จักนิสัยเพื่อนดี พูดจาปรามเพื่อนเพื่อให้เหตุการณ์ไม่รุนแรง เขาสามารถเอาปืนมาเก็บเอาไว้ที่ตัวได้ แทนที่จะให้เป็นเรมอนด์ที่เป็นคนถือปืนเอาไว้ การปะทะกันครั้งนั้นต่างฝ่ายต่างบาดเจ็บ เมื่อเรื่องยุติลง ต่างคนแยกจากกัน แต่แล้วแทนที่เมอโซจะขึ้นบ้านพักไปกับเรมอนด์ เมอโซกลับออกมาเดินที่ชายหาดเพียงลำพังอีกครั้ง และบังเอิญเจอกับชาวอาหรับกลุ่มเดิม พระอาทิตย์ส่องแสงแรงจ้า ร่างกายที่เหงื่อชุ่ม โดยไม่มีเหตุผลใดอธิบายได้ เขาเหมือนเห็นแสงสะท้อนของใบมีดที่กระทบกับดวงอาทิตย์ มันทำให้เขาคว้าปืนออกมายิงหนึ่งนัดจนอีกฝ่ายล้มลง และยิงซ้ำต่อไปอีก 4 นัด
ภาคสอง  เมอโซจะเลาถึงชีวิตของตนภายหลังถูกจับกุมในข้อหาฆ่าคนตาย โดยเฉพาะรายละเอียดเกี่ยวกับกระบวนการไตสวนคดีของเขาในศาล ซึ่งผลการสอบสวนกลับเป็นเรื่องที่ว่า ทำไมเมอโซจึงให้แม่ไปพักอยู่ที่บ้านพักคนชรา ทำไมเมอโซจึงไม่ร่ำลาแม่ที่หลุมศพ ทำไมเมอโซจึงไม่รู้อายุของแม่ ทำไมเขาจึงไม่ร้องไห้ในพิธีศพ และไปว่ายน้ำหลังจากวันฝังศพของแม่ และเริ่มมีความสัมพันธ์กับหญิงคนหนึ่ง ซ้ำยังไปดูหนังตลก
        ความเห็นของอัยการ ที่มีต่อคดีฆาตกรรมของเมอโซเป็นว่า "คดีนี้จึงเป็นคดีที่สกปรกโสมมที่สุดในบรรดาที่เคยมีมา เพราะจำเลยเป็นผู้มีศีลธรรมเสื่อมอย่างมหันต์"
ผู้พิพากษา ได้กล่าวกับเขาด้วยฐานความเชื่อของชาวคริสเตียน "ผมไม่เคยเห็นดวงวิญญาณใดชาเย็นเหมือนดวงวิญญาณของคุณ อาชญากรที่มาอยู่ต่อหน้าผมมักจะร้องไห้ต่อหน้ากางเขน ภาพแห่งความทุกข์ของพระองค์เสมอ"
ทนายของเมอโซ เกลี้ยกล่อมให้เขาแสดงความเสียใจต่อการจากไปของแม่ต่อหน้าศาล แต่เมอโซเลือกจะแสดงออกในแบบที่เขาเป็น ไม่ใช่แบบที่สังคมคาดหวังจะเห็น
          คดีดำเนินไปโดยที่เมอโซมีส่วนร่วมน้อยมาก ดูเหมือนว่าเขากลายเป็นผู้สังเกตการณ์ในคดีที่เขาเป็นจำเลยเอง ซึ่งลงเอยด้วยคําตัดสินประหารชีวิต มิใช่โทษฐานที่ฆ่าชาวอาหรับตาย แต่โทษฐานที่ ฆ่ามารดาทางจิตใจ
อัลแบร์ กามู
เขาพูดกับทนายของตนไว้ว่า แน่ละนี่มันสนามของคุณนี่ เกมของคุณ ผมมันคนนอก ผมแค่ยืนดูพวกคุณเล่นเกมน้ำลาย และเอ่ยถึงคำว่าศีลธรรมกันจนน่าสะเอียน จบเกมคุณลากคอผมขึ้นเครื่องประหารกิโยตินโดยที่ผมไม่ได้แม้จะบอกกล่าวความคิดของตัวเอง
เรื่องมาจบลงในวันสุดท้าย ก่อนที่เมอโซจะถูกนําไปสู่ลานประหารชีวิต

นวนิยายเล่มนี้เป็นบทประพันธ์เรื่องเด่นของอัลแบร์ กามู (1913-1960)  ผู้ได้รับรางวัลโนเบลในปี 1957 ภาคภาษาไทยออกเผยแพร่ในปี 2510 จากฝีมือแปลของอําพรรณ โอตระกูล หนังสือเล่มนี้เป็นแรงบันดาลใจสําคัญต่อนักศึกษาและปัญญาชนในยุคที่เรียกกันต่อมาว่า ยุคฉันจึงมาหาความหมาย”