วันพุธที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

ชายไร้สีกับปีแสวงบุญ (Colorless Tsukuru Tazaki and His years of Pilgrimage). ฮารูกิ มูราคามิ, เขียน ; มุทิตา พานิช, แปล. ปทุมธานี : กำมะหยี่, 2557. 306 หน้า. 300 บาท
          เป็นเรื่องเล่าของชายหนุ่มที่ชื่อทสึคุรุ  ทะซากิ ซึ่งเมื่อตอนอยู่โรงเรียนมัธยมจะมีกลุ่มเพื่อนสนิทอยู่ 4 คน ซึ่งในชื่อทุกคนจะมีสีอยู่ด้วย คือ แดง น้ำเงิน (เพือนผู้ชาย) และดำ ขาว (เพื่อนผู้หญิง) มีเพียงทสึคุรุที่ไม่มีสีอยู่ในชื่อ เป็นกลุ่มเพื่อนที่มีความสุข ทำกิจกรรมร่วมกัน ไม่มีใครเข้ามาได้ในกลุ่มนี้ แต่เมื่อต้องเข้าเรียนมหาวิทยาลัย ทสึคุรุเลือกเรียนเกี่ยวกับการสร้างสถานีรถไฟ ซึ่งมีมหาวิทยาลัยเพียงแห่งเดียวที่สอนทางด้านนี้อยู่ที่โตเกียว ทำให้ต้องแยกกับเพื่อน ๆ ที่เลือกเรียนมหาวิทยาลัยใกล้บ้านคือแถวนาโงยะ แต่เมื่ออยู่ปี 2 เพื่อน ๆ 4 คนกลับตัดขาดกับทสึคุรุ โดยไม่บอกสาเหตุใด ๆ ทั้งสิ้น ทำให้โลกของทสึคุรุดับมืดลง เป็นชายไร้สีโดยสมบูรณ์ และหมดอาลัยตายอยากในชีวิต เฝ้าแต่คิดถึงความตายตลอดครึ่งปีต่อมา แต่เมื่อความเศร้าทุเลาลง ชีวิตดำเนินต่อไปอย่างโดดเดี่ยวที่กรุงโตเกียว ไม่มีข่าวคราวจากเพื่อน ๆ ตลอด 16 ปีต่อมา
          เมื่อทสึคุรุได้พบกับผู้หญิงคนหนึ่งที่ชื่อสาละ ได้บอกว่าทสึคุรุมีความหลังที่ฝังใจทำให้มีความสุขกับเธอไม่เต็มที่ ทสึคุรุน่าจะกลับไปสืบหาสาเหตุที่เพื่อน ๆ ของเขาตัดขาดออกจากกลุ่ม และเมื่อทสึคุรุได้พบเพื่อน ๆ ก็ได้ทราบว่าเพื่อนที่ชื่อขาว (ซึ่งตอนนั้นได้เสียชีวิตแล้ว) ได้บอกกับกลุ่มเพื่อนว่า ทสึคุรุได้ข่มขืนเธอเมื่อเธอมาเยี่ยมเขาที่โตเกียว ทุกคนเชื่อว่าทสึคุรุไม่ได้กระทำการเช่นนั้นแน่ แต่จำเป็นต้องอยู่เป็นเพื่อนของขาวที่ป่วยทางจิตอยู่ และคิดว่าทสึคุรุสามารถอยู่ได้โดยไม่ต้องมีเพื่อน ๆ หลังจากนั้น ทสึคุรุได้กลับบ้านโดยไม่มีความหลังฝังใจ และตั้งใจว่าจะขอสาละให้มาเป็นคนรัก และอยู่ด้วยกัน แต่สาละก็ยังไม่ให้คำตอบโดยเลื่อนไปอีก 3 วันจึงจะพบกันและให้คำตอบ เนื้อเรื่องจบลงเพียงแค่นี้ แต่คำบรรยายตลอดช่วงหลัง ๆ ผู้อ่านจะทราบว่า ทสึคุรุมีความรู้สึกปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะอยู่กับสาละมาก และบางคำตอบของสาละก็ให้ความรู้สึกที่เป็นความหวัง
          นิยายเรื่องนี้เป็นเรื่องเล่าไปเรื่อยของ ทสึคุรุ ทาซากิ ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น และให้ความรู้สึกโดดเดียว หรือเหงา ๆ เพราะ ทสึคุรุมีเพื่อนน้อยมาก และชีวิตก็ไม่โลดโผน เรียนจบและทำงานทางด้านการสร้างสถานีรถไฟฟ้า ค่อนข้างมีฐานะ ชีวิตไม่เดือดร้อนอะไร และไม่มีความทะยานอยากได้ใคร่ดี แต่ในช่วงที่ทสึคุรุจะกลับไปพบเพื่อน ๆ เพื่อถามถึงเหตุผลของการตัดเขาออกจากกลุ่ม เป็นช่วงที่น่าติดตามอย่างมาก เพราะผู้อ่านก็ต้องการทราบเหมือนกัน นอกจากนี้ยังมีการบรรยายเกี่ยวกับสถานีรถไฟฟ้าในกรุงโตเกียวที่ทำได้ดีมาก สามารถเห็นภาพการจัดการที่ดีในหมู่คนที่มีความชุลมุนโกลาหล  

          ในเนื้อเรื่องจะมีการพูดถึงบทเพลงหนึ่งอยู่ค่อนข้างมาก คือเพลง เลอ มาล ดู เป อี ซึ่งแปลว่า  คิดถึงบ้านหรือ  จิตใจที่หม่นมัว- ตามคำบอกเล่าของ ไฮดะ ทุกครั้งที่  ทสึคุรุ  ฟังเพลง  "เลอ  มาล  ดู  เปอี"  ก็จะนึกถึง  ขาว  เสมอเพราะขาว  ชอบเล่นเพลงนี้ ซึ่งในเรื่องก็สามารถบรรยายให้ผู้อ่านรู้สึกได้ว่า เป็นเพลงที่ให้ความรู้สึกเหงา เศร้า อ้างว้าง ได้เป็นอย่างดี จนผู้อ่านอยากหามาฟังเพื่อให้อินกับเนื้อเรื่องมากยิ่งขึ้น (Le mal du pays ของ Franz Liszt หาฟังได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=XZlO_mNYCL8