วันศุกร์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2555

จักรพรรดิที่โลกลืม

ลี, มูนยอล.  จักรพรรดิที่โลกลืม = Hail to the emperor.  Ji Eun Lee, แปล.  รื่นฤทัย สัจจพันธุ์, บรรณาธิการ.  กรุงเทพฯ : เอโนเวล, 2555.  447 หน้า. ราคา 285 บาท.

เรื่องราวเกี่ยวกับชายคนหนึ่งที่เกิดในตระกูลจอง ซึ่งเป็นครอบครัวสามัญที่อาศัยอยู่ในชนบทห่างไกล แต่พ่อผู้ให้กำเนิดมีความเชื่อว่าฟ้าได้ลิขิตให้ลูกของตนเองเป็น “จักรพรรดิ” ตั้งแต่ก่อนถือกำเนิด ด้วยข้อความบนกระจกและคัมภีร์โบราณที่กล่าวว่า ตระกูลลีจะล่มสลาย ตระกูลจองจะรุ่งเรือง อีกทั้งนักบวชทายทักว่า “จักรพรรดิ” ซึ่งยังอยู่ในครรภ์คือผู้ประเสริฐเลิศล้ำ เมื่อถึงวันถือกำเนิดก็เกิดเมฆหมอกปกคลุมทั่วท้องฟ้าอย่างน่าอัศจรรย์ ยิ่งกว่านั้นเมื่อ “จักรพรรดิ” อายุ 7 เดือนถูกเสือตะปบหน้าผาก เกิดแผลเป็นเด่นชัดเป็นอักษรที่มีความหมายว่ากษัตริย์ ทำให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องเชื่อมั่นสุดใจในประกาศิตจากสวรรค์ ทำให้ชายคนนั้นจึงถูกเลี้ยงดูเป็นพิเศษเพื่อให้มีคุณสมบัติและบารมีมากพอที่จะเป็น “จักรพรรดิ”

แต่แล้วเมื่อราชวงศ์ลี ราชวงศ์สุดท้ายที่ครองแผ่นดินเกาหลีล่มสลายจริง ๆ โลกลับเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันด้วยระบบการปกครองที่ “จักรพรรดิ” ไม่รู้จัก เนื่องจากถูกเลี้ยงดูตามขนบธรรมเนียมแบบดั้งเดิม อีกทั้งอยู่ในสถานที่ห่างไกลความเจริญ ไม่สามารถทันการเปลี่ยนแปลงได้ และผู้คนที่อยู่ใต้การปกครองก็มีน้อย ไม่มีพลังที่จะส่งเสริมให้สังคมสมัยใหม่รับรู้ถึงการมีอยู่ของตนได้ และเมื่อออกสู่สังคมภายนอก ผู้คนก็มักหัวเราะเยาะในการกล่าวอ้างว่าตนเองเป็น “จักรพรรดิ” และมักถูกมองว่าเป็นคนวิกลจริตตลอดเวลา แม้ว่าจะมีความฉลาดปราดเปรื่องมากเพียงใดก็ตาม ยิ่งเมื่ออายุมากขึ้น ๆ ผู้คนที่รับถือตนเองเป็น “จักรพรรดิ” ก็น้อยลง กลายเป็นคนแก่ที่โดดเดี่ยวมากขึ้น และได้ตายไปอย่างเงียบเหงา ในตอนท้าย ๆ ของเรื่องมีคำพูดของ “จักรพรรดิ” ที่ทำให้ผู้อ่านรู้สึกว่าเรื่องทั้งหมดนี้เป็นไปลักษณะ “อา ... นี่ข้าเป็นกษัตริย์ที่ฝันว่าเป็นคนจัณฑาล หรือข้าเป็นคนจัณฑาลที่ฝันว่าเป็นกษัตริย์กันแน่นะ” หรือไม่

เป็นเรื่องที่อ่านได้เข้าใจยากมาก เนื่องจากตลอดเรื่องมีสำนวนอุปมาอุปไมย ยกเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์จีน และเกาหลี มาเปรียบเปรย ซึ่งผู้อ่านไม่มีภูมิเรื่องเหล่านี้ ทำให้ไม่เข้าใจ อีกทั้งสำนวนโวหารก็เขียนทำนองแบบเก่า ๆ และเรื่องราวก็ดำเนินไปแบบเรื่อย ๆ ไม่มีอะไรที่น่าตื่นเต้น แม้บางตอนอาจจะมีฉากขำ ๆ บ้าง เช่นตอนที่ “จักรพรรดิ” แสดงตัวยิ่งใหญ่ แต่คนรอบตัวไม่ยอมรับ ทำให้ต้องมีเรื่องท้าตีท้าต่อย เป็นต้น ยิ่งตอนท้ายเรื่องที่มีการสรุปเรื่องราวว่า “จักรพรรดิ” ได้ตื่นจากความเพ้อฝันและโรคคลั่งฐิติ รู้ว่าตนเองเป็นใครที่แท้จริง ผู้อ่านก็ยังสับสนว่า “จักรพรรดิ” ตื่นจริง ๆ หรือ เพราะผู้แต่งเองเขียนบอกไว้ว่า “ภาษาและตรรกะของเขาอ่อนแอเกินไปสำหรับรูปแบบความคิดสมัยใหม่ซึ่งมีอิสรภาพ ความเสมอภาคและมนุษยธรรม สำหรับเขาก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าการเน้นย้ำที่ออกจะเกินเลยไปเท่านั้นเอง...นี่เป็นสิ่งที่ผมคิดว่าทำไมเขาจึงต้องการให้ลูกชายรู้ว่าจะใช้ภาษาและตรรกะอย่างไรในยุคของเราเพื่อจะประสบความสำเร็จในงานที่เขาทำไม่สำเร็จ บางทีเขาอาจจะต้องการให้ลูกชายสร้างระบบความศรัทธาใหม่ที่ไม่มีใครเอาชนะได้ แทนที่ความศรัทธาของเขาที่ถูกล้มเลิกไป”

อย่างไรก็ตามในเรื่องก็มีข้อคิดดี ๆ เกี่ยวกับการปกครอง การดำเนินชีวิต ให้ผู้อ่านได้นำไปขบคิดอยู่ตลอดทั้งเรื่อง เช่น “ไม่ต่างจากการกดขี่ด้วยกำลังอำนาจ การปรนเปรอประชาชนด้วยทรัพย์สมบัติไม่ใช่คุณธรรมที่ถูกต้องในการปกครอง เมื่อประชาชนได้ลิ้มรสชาติทรัพย์สินครั้งหนึ่ง โลกจะเปลี่ยนอลเวงไปสู่ความต้องการทรัพย์สินอีกอย่างไม่ที่สิ้นสุด แถมเมื่อใดหากมีใครมายั่วยุด้วยทรัพย์สินที่มากกว่า ประชาชนจะโดนหลอกล่อให้ไปอยู่ข้างเขา ดังนั้น จึงมีถ้อยคำว่า ห้ามขอการเชิดชูจากประชาชนโดยผิดทำนองคลองธรรม” (หน้า 360) หรือ “สมัยโบราณ ช่างตีดาบชื่อดัง โกวเหยอจื่อผลักเมียลงไปในเหล็กหลอมละลายที่กำลังเดือด ตีได้ดาบไส้ปลาหยูฉางกับมู่เสวียสองเล่ม ความหมายก็คือช่างฝีมือต้องทุ่มเทอย่างจริงใจเพื่อสร้างของล้ำค่า แต่ช่างในวันนี้อาศัยเครื่องจักรผลิตของเหมือน ๆ กันตั้งหลายพันหลายหมื่นชิ้นในวันเดียวอย่างไม่ใส่ใจ แถมใช้วัสดุน้อย เพียงแต่อาศัยการลงทุนกับโฆษณาเกินจริง จึงกลายเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้วว่าต้องลงทุนค่าใช้จ่ายในการโฆษณามากกว่าการจัดซื้อวัสดุ” เป็นต้น

รูปภาพผู้แต่ง Yi  Mun-Yol

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น