วันศุกร์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2555

การอภิปรายไม่ไว้วางใจ

อภิปรายไม่ไว้วางใจยุคใหม่
(คัดลอกจากคอลัมน์เปลว สีเงิน)


การอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ตลอด 3 วันนั้น มีบทสะท้อนที่น่าสนใจหลายเรื่อง โดยเฉพาะพฤติกรรมของ ส.ส.ทั้งรัฐบาล และฝ่ายค้าน รวมถึงการทำหน้าที่ของประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งภาพสะท้อนชัดแจ้งอย่างยิ่งว่าทำหน้าที่เป็นกลางสมฐานะประมุขหนึ่งใน 3 สามหลักประชาธิปไตยจริงหรือไม่ หรือเป็นแค่เพียงหัวโขนประดับ แต่เนื้อแท้ก็เป็นอะไหล่เสริมของฝ่ายรัฐบาลเท่านั้น

โดยเฉพาะการทำหน้าที่ของนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรนั้น ชัดเจนว่าเป็นหลิวลู่ลมเข้าข้างฝ่ายใด มิพักต้องพูดถึงการยกคำพูดที่ว่า ขอกันกินมากกว่านี้ หรือการบอกว่าไม่ได้ฟังคำอภิปรายก่อนหน้านี้ ก็แสดงวุฒิภาวะของคนทำหน้าที่เป็นประธานสภาฯ ว่าสนใจการประชุมฝ่ายนิติบัญญัติจริงแท้หรือไม่

และด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของประมุขฝ่ายนิติบัญญัติอย่างนี้นี่เอง

จึงไม่แปลกที่ญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย ได้สร้างปรากฏการณ์อย่างไม่เคยมีมาก่อน เพราะการอภิปรายของ ส.ส.ฝ่ายค้าน ตลอด 3 วันที่ใช้เวลาไม่น้อยกว่าวันละ 14 ชั่วโมง รวมแล้วกว่า 42 ชั่วโมง แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีกลับอยู่ในห้องประชุมไม่ถึง 5 ชั่วโมงเลย แม้จะอ้างเหตุผลว่าไม่ได้ไปไหนยังเวียนว่ายอยู่ในบริเวณรัฐสภาก็ตามที

สิ่งดังกล่าวสร้างภาพที่ไม่เคยมีมาก่อนในการปกครองระบอบประชาธิปไตยของไทย ที่ผู้ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจไม่อยู่ในห้องประชุมไม่ถึง 5% ของเวลาทั้งหมดด้วยซ้ำไป แล้วที่นายกฯ หญิงได้ประกาศหลายครั้งหลายเพลา โดยเฉพาะล่าสุดในการประกาศใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เพื่อจัดการกับผู้ชุมนุมองค์การพิทักษ์สยาม โดยหนึ่งในเหตุผลหลักคือ ให้ใช้เวทีรัฐสภาแก้ไขปัญหา แต่พฤติกรรมของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็ชัดเจนว่าสวนทางอย่างยิ่ง เพราะแค่การให้ความสำคัญในห้องประชุมยังไม่ได้รับการเหลือบแลเลย

แต่สิ่งที่น่าอเนจอนาถ และอาจกลายเป็นบรรทัดฐานในการอภิปรายไม่ไว้วางใจต่อไป นั่นคือ ผู้ถูกอภิปรายเลี่ยงที่ไม่ตอบคำถามและชี้แจง แต่กลับให้รัฐมนตรีคนอื่นชี้แจง ด้วยเหตุผลว่าได้จัดสรรอำนาจและแบ่งหน้าที่กันไปแล้ว ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงอย่างนั้นจะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นรายบุคคลทำไม เพราะเมื่อถูกซักถามก็โยนภาระให้รัฐมนตรีแต่ละคนไป

นี่หรือคือภาวะผู้นำประเทศที่กล่าวอ้างว่าให้พิสูจน์ที่ผลงาน และให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน เพราะภาวะผู้นำขึ้นอยู่กับแต่ละมุมมอง แต่ที่ไม่ต้องใช้อคติหรือมโนสำนึกของแต่ละปัจเจกเลย ก็คือการให้ความสนใจและเคารพต่อกติกา ประเพณี และกฎหมายเพียงใด เพราะไม่เคยมีครั้งใดเลยที่การอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่เจ้าตัวกลับไม่เคยชี้แจง หรือตอบคำถามของฝ่ายค้าน แม้ในข้อเท็จจริงไม่ว่าจะอภิปรายด้วยข้อมูลแบบจริงแท้เพียงใด หรือมีใบเสร็จมัดชัดเจน ฝ่ายค้านไม่สามารถสู้คะแนนโหวตได้ก็ตาม

สิ่งที่น่าพิเคราะห์อีกเรื่องหนึ่งในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ คือ การเรียกร้องของ ส.ส.รัฐบาลเองที่ได้อ้างกฎหมายว่าด้วยการอภิปรายของฝ่ายค้านกระทำขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งน่าแปลกที่เรื่องนี้ ส.ส.รัฐบาลกลับยึดหลักกฎหมายอย่างเหนียวแน่นจนถึงขั้นทำหนังสือส่งถึงประธานสภาฯ แต่ทำไม ส.ส.รัฐบาลกลับไม่สำเหนียกถึงญัตติว่าด้วยการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ และรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลเลย หรือพอเรื่องที่เป็นประโยชน์เข้าตัวก็ดึงก็อ้างกฎหมาย แต่เวลาเรื่องที่ทำให้เสียหายก็ใช้โวหารและข้ออ้างว่าด้วยการชนะเลือกตั้งมากลบไป อย่างนี้เรียกว่า 2 มาตรฐานหรือไม่

แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งคือ เนื้อหาการอภิปรายที่มีใบเสร็จย่อยๆ โดยเฉพาะเรื่องจำนำข้าวนั้น ดูเหมือนตัวนายกฯ และรัฐมนตรีที่พยายามจะตอบคำถามแทน ก็ไม่สามารถชี้แจงหรือเคลียร์เรื่องดังกล่าวได้เลย ซ้ำร้ายยังโยนความรับผิดชอบให้พ้นตัวไป แทนที่จะรับหน้าเสื่อเข้าไปจัดการดูแล เพราะเป็นเรื่องของงบประมาณที่เป็นภาษีของคนทั้งชาติ หรือว่าหากจะเข้าไปสืบสวนสอบสวนแล้วจะเจอขยะที่ตนเองเป็นผู้ซุกไว้ใต้พรม

การอภิปรายในยุคเฟชบุ๊กครั้งนี้ จึงสะท้อนชัดเจนว่าเป็นยุคเสื่อมของฝ่ายนิติบัญญัติที่เป็นเพียงสภาตรายาง จากพฤติกรรมของนายกฯ ที่ไม่ได้เหลือบแลหรือให้ความสนใจสภาแม้แต่กระผีกเดียว ที่สำคัญยังสะท้อนทัศนคติด้านลบที่ว่าอำนาจเมื่ออยู่ในมือใคร สิ่งนั้นคือความถูกต้อง แล้วอย่างนี้เราจะหวังและเรียกร้องให้ประชาชนเคารพกฎหมายอย่างเท่าเทียมได้อย่างไร ในเมื่อผู้แทนประชาชนและผู้บริหารประเทศยังมิได้ทำให้เห็นเป็นตัวอย่างเลย.



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น