วันศุกร์ที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ถวิล เปลี่ยนศรี ยืดอกร่วมรับผิดคดีสลายม็อบ 53

'ถวิล เปลี่ยนสี' ยืดอกร่วมรับผิดคดีสลายการชุมนุม ปี 53 แนะ 'ธาริต' ลาออก หวั่นถูกโจมตีรอบด้าน ชี้ไม่ควรมีใครติดคุก


จาก คมชัดลึกออนไลน์วันที่ 13-12-2555


นายถวิล เปลี่ยนศรี ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ ในฐานะอดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และอดีตเลขานุการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) แถลงว่า ตนไม่สบายใจเนื่องจากมีการตั้งข้อหาจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ซึ่งเป็นการตั้งข้อหาที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของ ศอฉ. ซึ่งเป็นส่วนเกี่ยวข้องอยู่ในอดีต ในฐานะที่ตนมีหน้าที่อยู่ในคณะกรรมการ เช่นเดียวกับนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ชุมนุมปี 2553 ทั้งนี้สิ่งที่ตนจะพูดคือ
ประเด็นที่ 1. ตนพูดในฐานะที่เป็นเจ้าหน้าที่ ศอฉ. ในขณะนั้น ตนมีความไม่สบายใจว่าเจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายต้องมีความรับผิดชอบ และขอยืนยันว่าถ้าการดำเนินการอื่นใดในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ ศอฉ.จะนำไปสู่การรับผิดชอบทางกฎหมาย ตนคิดว่าไม่มีกรรมการ ศอฉ. คนใดที่จะปฏิเสธแม้แต่นายธาริตก็ตาม หากจะมีการต้องรับผิดชอบทางใดทางหนึ่งในการทำงานของ ศอฉ. ตนพร้อมที่จะรับผิดชอบ ปกติแล้วตนเป็นคนขี้ขลาดมาก แต่ถึงจะกลัวอย่างไรก็ไม่เกินความรับผิดชอบที่เรามีอยู่ ตนปรึกษาคุณแม่ ภรรยา ลูกสาว และครอบครัวแล้ว หากตนจะไปติดคุกเพราะกรณีอย่างนี้ก็พร้อม

นายถวิล กล่าวต่อว่า เมื่อพูดถึงเหตุการณ์ในช่วงเดือน เม.ย. - พ.ค. ปี53 นั้นตนคิดว่าเราต้องตั้งหลักให้ตรงกันเสียก่อน คือ 1.เรื่องการชุมนุม การแสดงออกการเรียกร้องนั้นเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญอย่างที่เราทราบ ฉะนั้นเมื่อเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญแล้ว สิทธิเหล่านั้นจะต้องไม่ถูกสกัดยับยั้งขัดขวางปิดกั้น 2.อย่างไรก็ตามแม้จะเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญเราก็ต้องเคารพสิทธิของคนอื่นๆ การใช้สิทธิ์ต้องเป็นไปตามกรอบกฎหมายรัฐธรรมนูญ เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วตนมาพิจารณาดูเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 53 หรือกระทั่งปี 52 นั้นเป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วการปฏิบัติต่อกรณีนี้ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องให้ดี ถ้าปฏิบัติด้วยข้อมูลที่ไม่ครบถ้วยขาดตอนก็จะนำไปสู่บรรทัดฐานที่ผิดเพี้ยนจากสิ่งที่ควรจะเป็นและเกิดอันตราย

ทั้งนี้รัฐไม่ควรจะส่งสัญญาณว่าการชุมนุมที่ละเมิดต่อกฎหมายควรจะได้รับการปกป้อง แต่ไม่ควรจะได้รับการเอาใจใส่ดูแลต่างๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่นเดียวกันรัฐก็ไม่ควรส่งสัญญาณไปในทางบั่นทอนขวัญและกำลังใจเจ้าหน้าที่ ในการรักษาความสงบเรียบร้อยนำสิทธิของประชาชนกลับคืนมา ซึ่งถ้าทำแบบนั้นแล้วก็จะเกิดแบบแผนที่ผิดเพี้ยนไป เจ้าหน้าที่ที่ทำงานก็จะถูกมองไปอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งกรณีนี้โดยหลักแล้วตนคิดว่าไม่ควรจะมีใครติดคุก เพราะว่าเป็นการทำหน้าที่เพื่อระงับเหตุต่ออันตรายของบ้านเมือง แต่โดยรายละเอียดในปัจจัยการรับผิดรับโทษนั้นก็ว่ากันไปตามกระบวนการยุติธรรม ที่ศาลจะพิจารณา แต่ขอให้ตั้งหลักให้ถูกว่าอะไรเป็นเรื่องหลักและเรื่องรอง แต่ตนเห็นว่าขณะนี้มีการนำเรื่องรองมาเป็นเรื่องหลักเรื่องหลักเป็นรองและทำให้เกิดความเข้าใจที่ไขว้เขวซึ่งจะสะท้อนไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน

ประเด็นที่ 2. คือเรื่องของการตั้งข้อกล่าวหาที่ของพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ ผอ.ศอฉ. ว่าร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผล ซึ่งตนต้องขอบคุณที่ทางดีเอสไอ ไม่ตั้งข้อกล่าวหาว่าเจตนาโดยประสงค์ต่อผล เพราะนายธาริต ซึ่งอยู่ร่วมในคณะกรรมการนโยบายศอฉ.ได้ตระหนักดีว่า ทุกคนใน ศอฉ.นั้นไม่มีผู้ใดประสงค์ต่อผลที่จะให้เกิดการบาดเจ็บล้มตาย จากการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ ส่วนที่ว่าจะมีการประสงค์ต่อผลหรือไม่จากฝ่ายอื่นนั้น เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาดู เพราะจะเห็นได้ว่าช่วงเม.ย.52 เจ้าหน้าที่สามารถปฏิบัติงานได้โดยไม่มีผู้ล้มตาย แต่ก็มีบางฝ่ายที่จะยืนยันว่ามีคนตายจากการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ โดยมีการสร้างพยาน หลักฐาน และให้ข่าว โดยจนถึงบัดนี้ก็ยังไม่ปรากฏว่ามีมูลความจริง ซึ่งเหตุการณ์ในปี 53 นั้นอาจจะมีบางฝ่ายประสงค์ที่จะให้เกิดผู้เสียชีวิตอย่างที่พยายามตั้งประเด็นพฤษภาโมเดลขึ้นมา ซึ่งเป็นเรื่องต้องพิจารณาวินิจฉัย แต่ตนยืนยันว่าเจ้าหน้าที่รัฐไม่มีความประสงค์ที่จะให้เกิดการบาดเจ็บล้มตายของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งขึ้นมา

นายถวิล กล่าวต่อว่า หากถามว่า ศอฉ. เล็งเห็นผลหรือไม่ ตนยืนยันว่าเล็งเห็นผลจริง ซึ่งไม่ได้หมายความว่าตนไปยอมรับข้อกล่าวหาของดีเอสไอ แต่หมายความว่าศอฉ.เล็งเห็นข้อเท็จจริง เล็งเห็นสถานการณ์ว่ามันอาจจะนำไปสู่การเสียชิวิต นำไปสู่เหตุรุนแรงได้ด้วยเหตุผลหลายๆ ประการในแง่ของข้อเท็จจริง ซึ่งอย่างแรกเลยการชุมนุมนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย 2.ผู้ชุมนุมพร้อมที่จะใช้ความรุนแรงกับเจ้าหน้าที่ของรัฐกับประชาชน 3.ศอฉ.เล็งเห็นข้อเท็จจริงว่ามีอาวุธอยู่กับผู้ชุมนุมทั้งการขนมาเอง และปล้นไปจากเจ้าหน้าที่ เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วนโยบายที่ออกจาก ศอฉ.ในขณะนั้นคือเราพยายามป้องกันเหตุเหล่านี้ให้ได้ สิ่งที่ออกจาก ศอฉ.ในขณะนั้นคือว่า 1.ไม่มีคำสั่งสลายการชุมนุมเป็นอันขาด 2.เจ้าหน้าที่ได้รับคำสั่งให้ไปตั้งด่านที่สี่แยกราชประสงค์ ทั้งสี่ด้าน คำสั่งคือห้ามเคลื่อนที่เข้าไปให้รักษาพื้นที่เอาไว้ โดยวัตถุประสงค์คือต้องการให้การชุมนุมยุติไปเอง โดยตั้งด่านเพื่อไม่ให้คนเข้า ระบายคนออก ไม่ให้มีการส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ เข้าไปได้ 3.การตัดสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ทั้งน้ำไฟ โทรศัพท์ เพื่อให้การชุมนุมนั้นฝ่อลงไปเอง ซึ่งเจ้าหน้าที่ไม่มีการไปกำหนดวันให้การชุมนุมยุติ ซึ่งการที่ไม่ได้กำหนดเอาไว้ฝ่ายที่ตั้งข้อกล่าวหาก็มองได้ว่ายืดเยื้อ แต่ผู้ปฏิบัติก็บอกว่าเพื่อรักษาชีวิตให้ได้มากที่สุด 4.การสื่อสารกับคนในที่ชุมนุมเพื่อให้เข้าใจสถานการณ์ ทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่าแม้มีการปฏิบัติอย่างรอบคอบแล้วก็มีเหตุตายรวมถึงนายพัน คำกอง คนขับแท็กซี่ ก็เสียชีวิตในวันที่ 15 พ.ค.2553 ช่วงที่มีการกระชับพื้นที่ ทั้งนี้เหตุที่มีการตายเกิดขึ้นเนื่องจากมีเหตุการณ์โจมตีเจ้าหน้าที่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ต้องรักษาที่ตั้ง

ประเด็นที่ 3.อยากฝากไปถึงนายธาริต ซึ่งสนิทกันมากเวลานั่งทำงานใน ศอฉ. ก็นั่งข้างตน ช่วงของการทำงานนอก ศอฉ. มีปัญหาอะไรก็ปรึกษาหารือกัน เมื่อมาถึงบัดนี้ตนมีความมั่นใจ ไม่เคยคลอนแคลงในตัวของนายธาริตเลย ตนยังมั่นใจในความเป็นมืออาชีพ ในการเป็นข้าราชการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทำเพื่อผลประโยชน์ของชาติบ้านเมือง ถึงแม้จะมีคนเอานามสกุลตนไปค่อนแคะนายธาริต ว่าเปลี่ยนสี เปลี่ยนขั้ว แต่ตนยังมั่นใจนายธาริต

นายถวิล กล่าวว่า แต่เมื่อมั่นใจแล้วก็เป็นห่วงนายธาริต โดยสุจริตใจนั้นคำสั่งให้นายธาริตเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนในคดีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ชุมนุมปี 2553 เป็นคำสั่งที่แปลกประหลาดที่สุดในโลก ทำให้ตนนึกไปถึงเจตนารมณ์เบื้องหลังของการสั่งแต่งตั้งว่าจะเป็นการปรารถนาดีต่อนายธาริต หรือไม่ ด้วยความสุจริตใจตนเรียนว่านายธาริต ซึ่งเคยทำงานอยู่ใน ศอฉ. ถ้าทำคดีนี้ในทางที่เอนเอียงหรือเป็นประโยชน์ต่อ ศอฉ. ผู้คนก็จะมองว่าเข้าข้างพวกตัวเอง เข้าข้างเพื่อนเก่า แต่ในทางกลับกันหากนายธาริต ทำอีกอย่างก็จะถูกค่อนแคะว่า เอนเอียงไปทางฝ่าย นปช. รับใช้ฝ่ายรัฐบาลปัจจุบัน ฉะนั้นจะซ้ายจะขวาไม่มีออกกลางนายธาริตเสียทั้งสิ้นตนจึงบอกว่าหมากที่ตั้งนายธาริตเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนนั้นเป็นหมากที่เหี้ยม อำมหิตทารุณ นายธาริตจะเสียผู้เสียคนตรงนี้ เพราะฉะนั้นตนให้ฐานะที่คุ้นเคยกันมาก่อน และมีความปรารถนาดีอย่างจริงใจขอเรียนว่านายธาริต ควรจะลาออกจากหัวหน้าพนักงานสอบสวนตรงนี้ด้วยเหตุผลที่เรียนไป และคนที่แต่งตั้งควรจะเข้าใจความเป็นมนุษย์ของนายธาริต ควรจะให้เกียรติ ไม่ให้มาตากแดดตากลมอย่างนี้

ผู้สื่อข่าวถามว่าหากนายอภิสิทธิ์-สุเทพ ติดคุกนายธาริต จะโดนด้วยหรือไม่ นายถวิล กล่าวว่า ตนยังไม่ทราบ แต่เรียนว่าโดยหลักแล้วเรื่องนี้ไม่ควรจะมีใครติดคุก

เมื่อถามว่าช่วงเวลาที่ผ่านมาได้พูดคุยกับนายธาริต บ้างหรือไม่ นายถวิล กล่าวว่า ทุกครั้งที่ตนต้องไปชี้แจง เป็นพยานในคดีจากการชุมนุมปี 2553 ก็จะโทรหานายธาริต แต่หลังจากที่ได้เป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนก็ยังไม่มีเวลาได้คุย




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น