วันจันทร์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ธาริต เพ็งดิษฐ์


ธาริต เพ็งดิษฐ์
คัดจากคอลัมน์เปลว สีเงิน ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 7 ธันวาคม 2555


อื้อฮือ...ฟังนายธาริต เพ็งดิษฐ์ แถลงตั้งข้อหา "อภิสิทธิ์-สุเทพ" ร่วมฆ่าโดยเจตนาเล็งเห็นผล โดยแจกแจงพฤติกรรม ๒ ฆาตกรทุกขั้นตอนแล้ว ผมว่า ต้องตัดหัวเดี๋ยวนี้เลย จึงจะสมใจธาริต-สะใจ นปช. คดีนี้มีเงื่อนไขทางกฎหมาย แต่ธาริตไม่พูดเลย เมื่อกันยาผมเคยเขียน กระบวนการ "ฆาตกรรมอย่างวิสามัญ" ไว้ ก็จะยกมาเป็น "ฉบับเพิ่มเติม" ในการพิมพ์ครั้งที่ ๒ เพราะข้อเท็จจริง เขียนใหม่ มันก็อันเดิมนั่นแหละ!

คดีการตายแท็กซี่เสื้อแดง "นายพัน คำกอง" ที่ศาลอาญานัดฟังคำสั่งไปเมื่อ ๑๗ ก.ย.๕๕ หลายคนเข้าใจว่า "เป็นคำพิพากษา" โดยศาลระบุว่า ทหารร่วมกันยิงตามคำสั่ง "กระชับพื้นที่" ของอดีตนายกฯ อภิสิทธิ์และรองฯ สุเทพ เมื่อปี ๒๕๕๓ และ "อภิสิทธิ์-สุเทพ" ต้องมีความผิดฐานฆ่าคนตาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘

ฟังจากปากนายธาริต เพ็งดิษฐ์ ผมคิดว่าคนส่วนใหญ่ ซึ่งไม่ค่อยเข้าใจถึงความสลับซับซ้อนของระเบียบและขั้นตอนกฎหมาย รวมถึงภาษากฎหมาย อาจหลงเข้าใจอย่างนั้นจริงๆ ว่า ศาลตัดสิน "ทหารฆ่าประชาชน" โดยนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพเป็นคนสั่งในฐานะ ผอ.ศอฉ.!

เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง จะได้ไม่นำไปโหมกระพือให้เข้าใจกันผิดๆ ไม่อย่างนั้น เมื่อถึงวันที่ศาลตัดสินจริงๆ ถ้าคำพิพากษาออกมาไม่เป็นอย่างที่ตัวเอง "หลงเข้าใจ" ก็จะยกพวกมาตะโกนกันอีกแหละว่า...๒ มาตรฐาน!

ก็จะบอกว่า นี่ไม่ใช่คำตัดสิน "คดีนายพัน คำกอง" จากศาล เป็นเพียง "ไต่สวนการตาย" ในชั้นสอบสวนเท่านั้น ยังไม่มีโจทก์ ไม่มีจำเลย ไม่มีการฟ้อง ยังไม่มีใครผิด-ใครถูกใดๆ ทั้งสิ้น เป็นเพียงขั้นตอนนำคดีเข้าสู่กระบวนการพิจารณาความให้เป็นไปตามตัวบท-กฎหมายเท่านั้น
คือวัน-เวลา-เหตุการณ์ ที่นายพันตายนั้น เป็นการตายใน "สถานการณ์ฉุกเฉิน" ที่ทหารต้องออกมาปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ฉุกเฉิน และทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๗๗ และตามมาตรา ๓ พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายใน

การตายใน "ภาวะไม่ปกติ" กฎหมายมีระเบียบ-ขั้นตอนให้ปฏิบัติต่างไปจากการตายในคดีฆ่ากันตายทั่วไป ฉะนั้น กรณีนายพัน คำกอง นี้ ขั้นแรก อัยการต้องยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนการตายก่อน เพื่อให้ศาลมีคำสั่งว่า คนตายเป็นใคร ตายที่ไหน เมื่อไหร่ สาเหตุอะไร รวมถึงพฤติการณ์ที่ตาย
นั่นก็คือ ต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕๐ ก่อน โดยเฉพาะการตายเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ทหาร การชันสูตรพลิกศพต้องให้เป็นไปตาม ม.๑๕๐ กำหนด

พูดภาษาชาวบ้าน คือการ "วิสามัญฆาตกรรม" หรือ "ฆาตกรรมอย่างวิสามัญ" จากพนักงานเจ้าหน้าที่ ผู้ทำหน้าที่ตามกฎหมาย ถึงแม้กฎหมายระบุ พนักงานเจ้าหน้าที่ทำฆาตกรรมอย่างวิสามัญเป็นไปตามกรอบกำหนด ไม่มีความผิด ไม่ต้องรับโทษทัณฑ์ใดๆ ก็ตาม
แต่ในการทำคดี ตำรวจต้องทำตามมาตรา ๒๘๘ "ฆ่าผู้อื่นถึงแก่ความตาย" มีโจทก์ มีจำเลย ถูกฟ้องศาล แล้วศาลจะเป็นผู้ตัดสินเองว่า ที่พนักงานเจ้าหน้าที่ทำฆาตกรรมอย่างวิสามัญนายพัน คำกอง หรือรายอื่นๆ ในลักษณะเดียวกันนี้ เข้าเกณฑ์ไม่ต้องรับโทษหรือไม่?

คดีคนร้ายต่อสู้-ขัดขืนการจับกุมของตำรวจ แล้วถูกตำรวจยิงตายอย่างที่เห็นบ่อยๆ นั่นก็เรียกว่า "พนักงานเจ้าหน้าที่ทำฆาตกรรมอย่างวิสามัญ" เข้าลักษณะเดียวกันนี้

ตำรวจที่ฆ่าโจร ก็ต้องตกเป็นผู้ต้องหา "ฆ่าผู้อื่นถึงแก่ความตาย" ตามมาตรา ๒๘๘ เหมือนที่นายธาริตกำลังตั้งข้อหากับนายอภิสิทธิ์-นายสุเทพ นั่นแหละ ต้องถูกดำเนินคดีส่งอัยการ อัยการนำฟ้องศาล ตกเป็นจำเลย เพื่อให้ศาลตัดสินว่า.....

ที่ตำรวจวิสามัญโจรก็ดี ที่เจ้าพนักงานทหารร่วมยิงนายพันตาย ตามคำสั่ง ศอฉ. ซึ่งมี "อภิสิทธิ์-สุเทพ" เป็นหัวหน้าศูนย์ ก็ดี นั่นเป็นการปฏิบัติหน้าที่ "ฆาตกรรมอย่างวิสามัญ" เข้าข่ายไม่มีความผิด ไม่ต้องรับโทษใดๆ ตามกรอบกฎหมายระบุหรือไม่?

นี่คือขั้นตอนปฏิบัติทั่วไป ศาลพิจารณาแล้วตัดสินอย่างใด ก็เป็นอย่างนั้น ที่สำคัญคือ ในชั้นนี้นายธาริตไม่ควรพูดเชิงหลอกล่อให้ นปช.ปักใจตามสรรพคุณข้อหาที่จาระไนให้โทนไปทางว่า ๒ คนนี้ แน่ชัด...ฆาตกรสั่งฆ่าประชาชน!

เพื่อการติดตามคดีนี้ ผมจะนำ "องค์ประกอบเหตุการณ์" อันเป็นไปตาม "ข้อบัญญัติกฎหมาย" มาให้ท่านได้ค่อยๆ ทำความเข้าใจกัน จะได้ไม่ติดปลายเบ็ดอธิบดี DSI และเมื่อศาลตัดสินใจจะไม่วุ่นวะ-วุ่นวายว่า เอ๊ะ...ทำไมเป็นอย่างนี้ ก็ดูจากที่ศาลไต่สวนการตายนายพัน คำกอง เมื่อ ๑๗ ก.ย.ไปเลย ศาลมีคำสั่งว่า.......

"ผู้ตายชื่อนายพัน คำกอง ตายที่หน้าที่สำนักงานขายคอนโดมิเนียมชื่อไอดีโอคอนโด ถนนราชปรารภ แขวงมักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2553 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง เหตุและพฤติการณ์ที่ตายเกิดจากการถูกลูกกระสุนปืนขนาด .223 (5.56 มม.) จากอาวุธปืนที่ใช้ในราชการสงคราม ที่เจ้าพนักงานทหารร่วมกันยิงไปที่รถยนต์ตู้หมายเลขทะเบียน ฮค-8561 กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีนายสมร ไหมทอง เป็นผู้ขับ แล้วลูกกระสุนปืนไปถูกผู้ตายถึงแก่ความตาย ในขณะเจ้าพนักงานทหารกำลังปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบปิดล้อมพื้นที่ควบคุมตามคำสั่งของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.)"

ก็ชัดเจน เที่ยวตัดตอนพูดแต่ว่า "ทหารยิง" แต่ไม่พูดให้ครบประโยคที่ศาลระบุถึงการถูกยิงตายว่า "ในขณะเจ้าพนักงานทหารกำลังปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบ ปิดล้อมพื้นที่ตามคำสั่งของ ศอฉ."

การที่ DSI โดยนายธาริตตั้งข้อหา "อภิสิทธิ์-สุเทพ" ว่า ร่วมกันก่อให้ผู้อื่นฆ่าคนตายโดยเจตนาเล็งเห็นผลตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๙, ๘๓ และ ๒๘๘ หลังศาลมีคำสั่งในคดีไต่สวนสาเหตุการตายแล้วนั้น ตั้งข้อหาก็ไม่มีใครว่า 

แต่นายธาริต ฐานะผู้ใหญ่ ควรใช้ดุลยธรรมอธิบายในส่วนที่กฎหมายคุ้มครองการกระทำของนายอภิสิทธิ์-สุเทพ และทหารให้ชาวบ้านเข้าใจด้วย ไม่ควรพูดเบี่ยงไปทางแนว "ผิดเพราะเป็นฆาตกรสั่งฆ่าประชาชน" โดดๆ

จริงๆ แล้ว ที่ นปช.ชุมนุมเมื่อปี ๒๕๕๓ นั่นตะหาก ที่ศาลสั่ง "ไม่คุ้มครอง"!

ผมจะช่วยรื้อความจำให้ หลังฆ่าทหารที่สี่แยกคอกวัว นปช.คึกขยายแนวป่วนเมือง ครั้นทหารจะเข้าไปสลายการชุมนุม ๒๒ เม.ย.๕๓ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ก็เป็นโจทก์ไปยื่นคำฟ้องต่อศาลแพ่ง ขอให้ศาลออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ห้ามนายอภิสิทธิ์สั่งทหารเข้าสลายการชุมนุมอย่างเด็ดขาด

ศาลแพ่ง วันที่ 22 เมษายน 2553 ระหว่าง นายจตุพร พรหมพันธุ์ โจทก์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ 1 กับพวกรวม 2 คน เป็นจำเลย

พิเคราะห์คำฟ้องประกอบข้อเท็จจริงที่ได้ความจากการไต่สวนในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นหนึ่งในแกนนำผู้เรียกร้องประชาธิปไตย ในนามของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ซึ่งได้ชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองบริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ถนนราชดำเนินกลาง และถนนราชดำเนินนอก เพื่อกดดันให้นายกรัฐมนตรี (จำเลยที่ 1) ยุบสภา ตั้งแต่วันที่ 12 มี.ค. 2553 เป็นต้นมา

ต่อมาวันที่ 3 เม.ย. โจทก์และผู้ร่วมชุมนุมบางส่วนได้เคลื่อนย้ายไปชุมนุมในบริเวณสี่แยกราชประสงค์อีกแห่งหนึ่ง ครั้นวันที่ 7 เม.ย. จำเลยที่ 1 โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร และจังหวัดใกล้เคียง นอกจากนี้ จำเลยที่ 1 ยังมีคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่พิเศษ 1/2553 จัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) และตั้งนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี (จำเลยที่ 2) เป็นผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน กับมีคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่พิเศษ 2/2553 ตั้งจำเลยที่ 2 เป็นผู้กำกับการปฏิบัติงานของหัวหน้าผู้รับผิดชอบ พนักงานเจ้าหน้าที่และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติงานตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่มีความร้ายแรง

ก่อนเกิดเหตุจำเลยทั้งสองได้ประกาศให้โจทก์ และ นปช. ออกจากพื้นที่การชุมนุมบริเวณสี่แยกราชประสงค์ ต่อมาวันที่ 10 เม.ย. จำเลยทั้งสองร่วมกันออกคำสั่งให้ทหารจำนวนมากเข้าไปในบริเวณพื้นที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ และพื้นที่ต่อเนื่อง โดยประกาศว่าเพื่อเป็นการขอพื้นที่คืนจากผู้ชุมนุม ในวันเดียวกันนั้น เกิดเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างกำลังฝ่ายทหารกับประชาชนผู้ชุมนุม โดยกำลังฝ่ายทหารใช้ปืนยิงกระสุนยาง ระเบิดก๊าซน้ำตา ฯลฯ ในที่สุด ปรากฏว่ามีประชาชนและทหารเสียชีวิต จำนวน 25 คน และได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก

กรณีมีเหตุที่จะออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวตามคำขอของโจทก์หรือไม่ เห็นว่า การที่โจทก์และผู้ร่วมชุมนุมไปชุมนุมในที่สาธารณะบริเวณสี่แยกราชประสงค์ ครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่ถนนราชดำริถึงแยกศาลาแดง และถนนพระรามที่ 1 ถึงห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน อันเป็นการปิดกั้นกีดขวางการใช้เส้นทางคมนาคม และการใช้ยานพาหนะของประชาชนโดยทั่วไป ย่อมส่งผลกระทบต่อธุรกิจที่สำคัญ เกิดความเดือดร้อนเสียหายต่อการประกอบอาชีพ และการดำรงชีวิตปกติสุขของประชาชน เป็นการจำกัดเสรีภาพในการเดินทาง และสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชน ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร จึงมีเหตุจำเป็นที่จำเลยทั้งสองต้องใช้มาตรการขอพื้นที่คืน หรือที่โจทก์เรียกว่าเป็นการสลายการชุมนุมได้ ทั้งนี้ เพื่อให้สังคมกลับสู่สภาวะปกติ และเกิดความสงบเรียบร้อยของประชาชน

ดังนั้น ที่โจทก์ขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามจำเลยทั้งสองใช้กำลังทหารเข้าไปสลายการชุมนุมโดยเด็ดขาด จึงไม่มีเหตุผลเพียงพอที่ศาลจะมีคำสั่งตามคำขอข้อนี้ได้

อย่างไรก็ตาม ในการดำเนินการดังกล่าวเป็นเหตุให้มีทหาร และประชาชนเสียชีวิต 25 คน และได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก แม้ขณะนี้ยังไม่อาจทราบได้ว่าเป็นผลจากการกระทำของฝ่ายใด แต่การที่มีทหารและประชาชนบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก ประกอบกับปัจจุบันนี้ยังปรากฏว่ามีการชุมนุมของ นปช.อยู่อย่างต่อเนื่องในพื้นที่ดังกล่าว และน่าเชื่อว่าจำเลยทั้งสองอาจออกคำสั่งใดๆ เพื่อดำเนินการแก้ไขสถานการณ์ในการชุมนุม ย่อมมีเหตุผลเพียงพอที่ศาลจะออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวในส่วนนี้แก่โจทก์ได้

จึงมีคำสั่งว่า หากจำเลยทั้งสองจะกระทำการใดๆ ในการขอพื้นที่คืนหรือสลายการชุมนุมของผู้ร่วมชุมนุม ให้ดำเนินการเท่าที่จำเป็น โดยคำนึงถึงความเหมาะสม มีลำดับขั้นตอนตามหลักสากล ทั้งนี้ จนกว่าจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

นางวิไลลักษณ์ อินทุภูติ

นางอรนิตย์ พฤกษฎาจันทร์

ทั้งหมดนี้ นายธาริตก็รู้ เพราะร่วมอยู่ใน ศอฉ.ด้วย ฉะนั้น ควรพูดให้สมผู้ใหญ่ที่พึงมีหิริ โอตตัปปะ ไม่ต้องโป๊สีจนเวอร์อย่างที่แถลงเมื่อวาน (๖ ธ.ค.) หรอกว่า...

"........การสั่งใช้อาวุธปืน การสั่งใช้พลซุ่มยิง และอื่นๆ โดยมีการออกคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษรจากนายสุเทพ และได้อ้างไว้ในคำสั่งด้วยว่า เกิดจากการสั่งของนายกฯ อย่างชัดเจน สอดคล้องกับพยานบุคคลที่ร่วมอยู่ใน ศอฉ.ว่านายอภิสิทธิ์ได้รับรู้ สั่งการ และพักอาศัยอยู่ในศูนย์ ศอฉ.ตลอดเวลา และที่สำคัญคือ การสั่งการของบุคคลทั้ง ๒ กระทำอย่างต่อเนื่องหลายครั้ง จึงบ่งชี้ได้ว่า เป็นเจตนาเล็งเห็นผลร่วมกันสั่งการ"

ก็ทำคดีมีอภิสิทธิ์-เทพเป็นจำเลย ส่งอัยการฟ้องศาลไปตามระบบเถอะ..ธาริต ทั้งหมดที่เสริมสีนั้น ไว้เป็นหน้าที่ศาลท่านพิจารณาเองว่า "การขอคืนพื้นที่หรือสลายการชุมนุม จนเป็นเหตุให้นายพัน คำกอง ตายนั้น เป็นการดำเนินการเท่าที่จำเป็น โดยคำนึงถึงความเหมาะสม มีลำดับขั้นตอนตามหลักสากล" ตามที่ศาลได้สั่งไว้หรือเปล่า?

อย่ายกคดี "ฆาตกรรมอย่างวิสามัญ" ไปเบี่ยงประเด็นพูดนอกกรอบ พ.ร.บ.สถานการณ์ฉุกเฉิน ที่ใช้ขณะนั้น และการทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๗๗ และตามมาตรา ๓ พ.ร.บ.รักษาความมั่นคงภายในของนายอภิสิทธิ์-สุเทพ

นายธาริตครับ...

ท่านเป็นข้าราชการสนองงานรัฐบาลได้เยี่ยม แต่แบบนี้ระวัง...ท่านจะต้องมีชีวิตอยู่ชนิดที่ ตัวเองก็ยังเกลียดตัวเอง!.



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น