วันเสาร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2554

มฤตยูน้ำหมึก



ฟุงเค่อ, คอร์เนอเลีย. มฤตยูน้ำหมึก = Inkdeath. วัชรวิชญ์, แปล. กรุงเทพฯ :
นานมีบุ๊คส์ทีน, 2551. 669 หน้า. ราคา 395 บาท.


เป็นตอนจบของวรรณกรรมไตรภาค ต่อจากหัวใจน้ำหมึก และมนตร์น้ำหมึก
เริ่มเรื่องคือมอร์ติเมอร์ เรซ่าและเม็กกี้ ได้เข้าไปอยู่ในโลกน้ำหมึก ทิ้งให้เอลินอร์ ลอเรดัน ยังคงอยู่ที่บ้านของเธอ กับดาริอุสและแซเบรุส สุนัขของออเฟอุส ทำให้เธอทุกข์โศกด้วยความคิดถึงและเป็นห่วง เธอกลัวว่าบาสต้ากับยายนกมอร์โทลาจะทำร้ายพวกเขา สุดท้ายดาริอุสผู้แสนดีของเธอ ได้อ่านข้อความที
ออเฟอุสทิ้งไว้เพื่อให้ทั้งสองได้เข้ามาอยู่ในโลกน้ำหมึก ซึ่งกำลังอยู่ในภาวะวิกฤตในโลกน้ำหมึก หลังจากเจ้าชายโคสิโมตายไป เศียรอสรพิษให้พี่เมียคือเจ้านกกระจิบปกครองโอมบร้า ซึ่งเอาแต่ขุดรีดประชาชน และให้ออเฟอุสซึ่งในตอนนี้ได้กลายเป็นเศรษฐีไปแล้ว อ่านสัตว์แปลก ๆ มาให้ล่า โดยบิดเบือนถ้อยคำของเฟโนกลิโอ สร้างสรรค์พวกมันขึ้นมาใหม่เพียงเพื่อจะขายให้ได้เงินมา ขณะเดียวกันฟาริดต้องคอยติดตามรับใช้ออเฟอุสไปทุกแห่งหน เพียงเพราะหวังว่าวันหนึ่งเขาจะเขียนถ้อยคำดีๆ ที่จะพานิ้วฝุ่นกลับมา

         มอร์ติเมอร์ในภาคนี้เป็นนกปีกลายโจรขวัญใจชาวบ้านเพราะได้ร่วมมือกับเจ้าชายดำคอยช่วยเหลือพวกชาวบ้านโดยการเก็บซ่อนเสบียงอาหารรวมถึงสัตว์เลี้ยงไว้ให้พ้นสายตาทหาร ส่วนเรซ่ากำลังตั้งท้องอ่อนๆทำให้เธออยากกลับบ้านเธอแต่โมไม่ยอมกลับ ทำให้เธอแอบเดินทางไปพบเฟโนกลิโอเพื่อให้เขาช่วย แต่เฟโนกลิโอไม่สนใจ เธอจึงบากหน้าไปหาออเฟอุส ออเฟอุสยินดีช่วยแต่มีข้อแม้ว่าโมต้องเรียกนางพรายขาวมาให้เขาสอบถาม เรื่องที่จะพานิ้วฝุ่นกลับมาได้อย่างไร เรซ่าไม่ตกลงด้วยเพราะนางพรายขาวจะเอาตัวโมกลับไปด้วย เมื่อฟาริดรู้เรื่องเขาไปขอร้องโมให้เรียกนางพรายขาวมา เพราะเขาต้องการนิ้วฝุ่นกลับมา จนไม่นึกถึงใครทั้งนั้น ทำให้เม็กกี้เสียใจมากที่ฟาริดรักนิ้วฝุ่นมากกว่าเธอ โมตัดสินใจช่วยออเฟอุส เพราะต้องการให้เม็กกี้ เรซ่าและลูกในท้องของเธอปลอดภัยในโลกปกติ แต่เขาก็จะขอให้ออเฟอุสเขียนเขาตามไปทีหลัง เพราะเขายังห่วงชาวเมืองโอมบร้าอยู่ เมื่อเขาเรียกนางพรายขาวมาพวกนางก็นำเขากลับไปด้วยโดยที่ออเฟอุสไม่ได้ถามอะไรนางสักคำ แต่ในความเป็นจริงแล้วออเฟอุสตั้งใจให้พวกนางนำโมไป ฟาริดเสียใจมากที่ช่วยคนผิด เขาเลิกติดตามออเฟอุส แต่เม็กกี้ก็โกรธเขามากจนไม่พูดกับเขาอีก แต่โมก็กลับมาได้แถมยังพานิ้วฝุ่นกลับมาอีกด้วย เพราะเขาได้สัญญากับเจ้ามฤตยูไว้ว่าจะนำตัวเศียรอสรพิษมาคืนให้ โดยเขียนคำ 3 คำลงไปในหนังสือ หากเขาทำไม่ได้เจ้ามฤตยูจะเอาตัวเม็กกี้และเขาไปแทน ชดเชยความผิดที่โมทำหนังสือไร้ข้อความให้เศียรอสรพิษเป็นอมตะ

       ในขณะเดียวกันเศียรอสรพิษที่เป็นอมตะ ก็กำลังต้องการตัวโมเช่นกัน เนื่องจากหนังสือไร้ข้อความกำลังบวมอืดจากกระดาษที่เปียกชื้น ทำให้ตัวเขาไม่สบาย เนื้อตัวเน่าเหม็น แต่ไม่ตาย ต้องการให้โมมาเข้าเล่มหนังสือเล่มใหม่ให้ โมยอมเข้าไปติดกับของนกหวีด เพื่อช่วยเด็ก ๆ ที่จะถูกจับตัวไปทำเหมืองเงิน และเพื่อหาโอกาสฆ่าเศียรอสรพิษ เขาได้รับการช่วยเหลือจากท่านหญิงน่าเกลียดบุตรสาวของเศียรอสรพิษที่เกลียดชังพ่อชั่วร้ายของตน
เป็นตอนที่อ่านสนุก เนื่องจากเนื้อเรื่องไม่ได้มีเฟโนกลิโอเท่านั้นที่จะเขียนให้เรื่องเป็นไปตามที่ต้องการได้เพียงคนเดียว แต่มีออเฟอุสอีกคนซึ่งไปเข้าข้างเศียรอสรพิษ สามารถแต่งเรื่องให้ไปในทางเลวร้ายได้ ทำให้ผู้อ่านต้องเอาใจช่วยฝ่ายโมว่าจะมีตอนจบอย่างไร ซึ่งในที่สุดตัวละครที่ไม่มีใครมองหรือสนใจก็ทำให้เรื่องจบลงด้วยดีได้ นั่นคือยาโคโปลูกชายของวิโอลันเต้กับเจ้าชายโคสิโม สามารถนำหนังสือไร้ข้อความมาให้โมเขียนคำ 3 คำลงไปได้ คำ 3 คำนั้นคือ หัวใจ มนตรา และมฤตยู ทำให้เศียรอสรพิษตายไปได้ การกำหนดให้เด็กน้อยเป็นผู้ช่วยนั้น นับว่ายอดเยี่ยม เพราะผู้ใหญ่มักไม่ค่อยได้ทันระวังเด็ก ๆ และเด็กมักเห็นสิ่งที่ผู้ใหญ่ไม่เห็น ยาโคโปจึงรู้ที่ซ่อนหนังสือไร้ข้อความ ขณะที่นิ้วฝุ่นตามหาแทบตาย นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นถึงความผูกพันระหว่างแม่ลูกที่แม้ไม่ค่อยจะแสดงความรักให้แก่กัน แต่เมื่อลูกเห็นแม่ถูกทำร้ายโดยตา ลูกก็รู้สึกเจ็บปวดแทน และต้องการช่วยแม่ทันที
ในระหว่างเรื่องผู้อ่านจะรู้ว่าเม็กกี้จะไม่ได้แต่งงานกับฟาริด แต่เป็นโดเรีย ซึ่งจะเป็นผู้มีชื่อเสียงในอนาคต สร้างสิ่งประดิษฐ์มากมาย ส่วนในตอนท้ายโมมีลูกชาย และทุกคนก็ยังอยู่ที่โอมบร้า ไม่ได้กลับโลกปกติ แต่ผู้แต่งก็ทิ้งท้ายว่าลูกชายของโมอาจจะได้กลับมาสู่โลกปกติสักวันหนึ่ง

        อ่านจบลงแล้วให้ความรู้สึกเต็มอิ่ม เป็นเรื่องหนึ่งที่ชอบมาก ทั้งพล็อตและเนื้อเรื่อง สลับซับซ้อนยิ่งกว่าในสองเล่มแรก

คอเนเลีย ฟุงเค่อ กล่าวกับหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ ว่า

"ฉันคิดว่าเด็กๆ ควรเริ่มอ่าน หัวใจน้ำหมึก เมื่อเขาอายุประมาณ 8 ขวบ อ่านมนตร์น้ำหมึก ตอน 11 ขวบ จนอายุ 13 ถึงอ่าน มฤตยูน้ำหมึก"
และเห็นด้วยกับคำยกย่องว่า คอเนเลีย ฟุงเค่อเป็น เจ.เค.โรว์ลิ่ง แห่งเยอรมัน

สำหรับเกียรติประวัติของเธอ คือ เธอได้รางวัล BAMBI Award ซึ่งเป็นรางวัลที่ใหญ่ที่สุดรางวัลหนึ่งในเยอรมนี ที่ยิ่งใหญ่เทียบได้กับรางวัล Bafta หรือ รางวัล Grammy และได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ the Bundesverdienstkreuz ซึ่งเป็นเครื่องราชย์ชั้นสูงสุดของประเทศเยอรมนี

























































































ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น