วันพุธที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2555

คดีนายพัน คำกอง

คดีการตายของแท็กซี่เสื้อแดง"นายพัน คำกอง"ที่ศาลอาญานัดฟังคำสั่งเมื่อวานนี้ (๑๗ กย.๕๕) ก็เช่นกัน หลายคนเข้าใจว่า"เป็นคำพิพากษา"โดยศาลระบุว่าทหารร่วมกันยิง ตามคำสั่ง"กระชับพื้นที่"ของอดีตนายกฯอภิสิทธิ์และรองฯสุเทพ ในเหตุการณ์เผาบ้าน-เผาเมือง เมื่อปี ๒๕๕๓ และ "อภิสิทธิ์-สุเทพ"จะต้องมีความผิดฐานฆ่าคนตาย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๘๘


ฟังสรุปๆจากข่าว ฟังสรุปๆจากปากนายธาริต เพ็งดิษฐ ฟังสรุปๆจากกิ่งทอง-ใบหยก "เหวง-ธิดา" ผมคิดว่าชาวบ้านส่วนใหญ่ซึ่งไม่ค่อยเข้าใจถึงความสลับซับซ้อนของระเบียบและขั้นตอนกฎหมาย รวมถึงภาษากฎหมาย อาจหลงเข้าใจอย่างนั้นจริงๆว่า

ศาลตัดสิน "ทหารฆ่าประชาชน" โดยนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ เป็นคนสั่งในฐานะผอ.ศอฉ.!

เรื่องของกฎหมาย ในกรณีนี้ เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง อย่าเพิ่งเอาเหตุการณ์ทั้งหมดสรุปลงแค่นั้น แล้วเที่ยวพูดจาในด้านที่เป็นประโยชน์ฝ่ายตนให้ผู้คนหลงเข้าใจผิดตามๆกันไปเลย ไม่อย่างนั้น เมื่อถึงวันที่ศาลตัดสินจริงๆ ด้วยความเข้าใจผิดกันแต่แรกนั้น ถ้าคำพิพากษาออกมาไม่เป็นอย่างที่ตัวเอง "หลง" เข้าใจแต่แรก ก็จะยกพวกมาตะโกนกันอีกแหละว่า...๒ มาตรฐาน ยุติไม่เป็นธรรม

ก็ขอทำความเข้าใจให้ตรงกันนะครับว่า นี่ไม่ใช่คำตัดสิน"คดีนายพัน คำกอง"จากศาล เป็นเพียง"ไต่สวนการตาย"ในชั้นสอบสวนของตำรวจเท่านั้น ยังไม่มีโจทก์ ไม่มีจำเลย ไม่มีการฟ้อง ยังไม่มีใครผิด-ใครถูกใดๆทั้งสิ้น

เป็นเพียงขั้นตอนนำคดีเข้าสู่กระบวนการพิจารณาความให้เป็นไปตามตัวบท-กฎหมายเท่านั้น เพราะในวัน-เวลา และเหตุการณ์ที่นายพันคนเสื้อแดงตายนั้น เป็นการตายใน "สถานการณ์ฉุกเฉิน" ที่ทหารต้องออกมาปฏิบัติตามพรบ.ฉุกเฉิน และทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๗๗ และตามมาตรา ๓ พรบ.รักษาความมั่นคงภายใน

การตายใน "ภาวะไม่ปกติ" กฎหมายมีระเบียบ-ขั้นตอนให้ปฏิบัติต่างไปจาก "ตายภาวะปกติ" ฉะนั้น กรณีนายพัน คำตา นี้ ขั้นแรก อัยการต้องยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนการตายก่อน เพื่อให้ศาลมีคำสั่งว่า คนตายเป็นใคร ตายที่ไหน เมื่อไหร่ สาเหตุอะไร รวมถึงพฤติการณ์ที่ตาย

นั่นก็คือ ต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕๐ ก่อน โดยเฉพาะการตายเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ทหาร การชันสูตรพลิกศพ และอะไรต่างๆนานาต้องเคร่งครัดให้เป็นไปตามม.๑๕๐ กำหนด

เพราะนี่...พูดกันในภาษาชาวบ้าน คือการ "วิสามัญฆาตกรรม" หรือ "ฆาตกรรมอย่างวิสามัญ" จากพนักงานเจ้าหน้าที่ ผู้ทำหน้าที่ตามกฎหมาย ถึงแม้กฎหมายระบุ พนักงานเจ้าหน้าที่ทำฆาตกรรมอย่างวิสามัญเป็นไปตามกรอบกำหนด ไม่มีความผิด ไม่ต้องรับโทษทัณฑ์ใดๆก็ตาม

แต่ในทางคดี ต้องดำเนินการตามมาตรา ๒๘๘ "ฆ่าผู้อื่นถึงแก่ความตาย"มีโจทก์ มีจำเลย ถูกฟ้องร้องต่อศาล แล้วศาลจะเป็นผู้วินิจฉัยและตัดสินเองว่า ที่พนักงานเจ้าหน้าที่ทำฆาตกรรมอย่างวิสามัญนั้น เข้าเข้าเกณฑ์ ไม่ต้องรับโทษหรือไม่

พอเข้าใจลางๆกันบ้างไหมครับ เหมือนตำรวจทำวิสามัญฆาตกรรมโจรนั่นแหละ และเมื่อวาน ศาลได้ไต่สวนการตายของนายพัน คำกอง แล้ว ก็มีคำสั่งว่า

"ผู้ตายชื่อนายพัน คำกอง ตายที่หน้าที่สำนักงานขายคอนโดมีเนียมชื่อไอดีโอคอนโด ถนนราชปรารภ แขวงมักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2553 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง เหตุและพฤติการณ์ที่ตายเกิดจากการถูกลูกกระสุนปืนขนาด .223 (5.56 มม.) จากอาวุธปืนที่ใช้ในราชการสงคราม ที่เจ้าพนักงานทหารร่วมกันยิงไปที่รถยนต์ตู้หมายเลขทะเบียน ฮค-8561 กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีนายสมร ไหมทอง เป็นผู้ขับ แล้วลูกกระสุนปืนไปถูกผู้ตายถึงแก่ความตาย ในขณะเจ้าพนักงานทหารกำลังปฎิบัติหน้าที่รักษาความสงบปิดล้อมพื้นที่ควบคุมตามคำสั่งของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.)"

นั่นแหละ ที่ใครต่อใคร รวมทั้งนายธาริต เพ็งดิษฐ์ เลือกหยิบเฉพาะประเด็นที่ศาลบอกว่า "ตายเพราะทหารยิง" ไปพูดจาแตกดอก-ออกช่อ โดยเว้นประโยคที่ศาลระบุถึงการถูกยิงตายว่า "ในขณะเจ้าพนักงานทหารกำลังปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบ ปิดล้อมพื้นที่ตามคำสั่งของศอฉ."

แต่เฉไฉตีขลุมไปเป็นคนละเรื่องเดียวกันเลยว่า...มั้ยล่ะ ไม่มีชุดดำที่ไหนมายิง-มาฆ่าประชาชนซักหน่อย มีแต่ทหารฆ่าประชาชน

นายธาริตล้ำหน้าไปไกลถึงขั้นต่อแแขน-ต่อขาให้เสร็จสรรพว่า นายอภิสิทธิ์-สุเทพ ต้องตกเป็นผู้ต้องหา เป็นจำเลยในคดีฐานสั่งทหารฆ่าไปโน่น!

ครับ...ถ้าต้องการพูดตามกฎหมาย ก็ควรพูดให้หมดเปลือก ไม่ควรลีลาการเมืองแบบอมเนื้อ-อมเปลือก ให้คนฟังจินตนาการเอง พูดแค่ครึ่งเดียวที่ อภิสิทธิ์-สุเทพ ต้องตกเป็นผู้ต้องหา แต่ไม่พูดอีกครึ่ง ในส่วนที่กฎหมายคุ้มครองการกระทำของนายอภิสิทธิ์-สุเทพ และทหาร

ตรงกันข้าม ศาลสั่ง "ไม่คุ้มครองการชุมนุม" ของพวกนปช.ด้วยซ้ำ!

เอ...นายธาริตน่าจะรู้ดีนี่นา เห็นตอนนั้นก็ร่วมอยู่ใน ศอฉ.เคยออกมาตอกหน้าแงพวกเสื้อแดงปั๋ง..หงาย..ปั๋ง..หงาย แต่พอสมสู่กับอำนาจใหม่ ไหงธาริตกลายเป็น "ชายผู้ไร้เดียงสา" ไปซะล่ะ?

ถ้าจำไม่ได้ ผมช่วยรื้อความจำให้ก็ได้ หลังฆ่าทหารที่สี่แยกคอกวัว นปช.คึกขยายแนวป่วนเมือง ครั้นทหารจะเข้าไปสลายการชุมนุม ๒๒ เมย.๕๓ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ก็เป็นโจทก์ไปยื่นคำฟ้องต่อศาลแพ่ง ขอให้ศาลออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ห้ามนายอภิสิทธิ์สั่งทหารเข้าสลายการชุมนุมอย่างเด็ดขาด

แล้วศาลแพ่งท่านมีคำสั่งว่าอย่างไร ถ้าธาริตลืม ผมก็จะนำมาให้ท่านอ่านฟื้นความจำว่า การทำหน้าที่ของรัฐบาล-ทหารตอนนั้น ศาลท่านคุ้มครองผู้ทำหน้าที่รักษาบ้านเมือง หรือว่าคุ้มครองผู้ทำลายบ้าน-ทำลายเมืองกันแน่?

คดีหมายเลขดำที่ 1433/2553

ศาลแพ่ง วันที่ 22 เมษายน 2553 ระหว่าง นายจตุพร พรหมพันธุ์ โจทก์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ 1 กับพวกรวม 2 คน เป็นจำเลย

พิเคราะห์คำฟ้องประกอบข้อเท็จจริงที่ได้ความจากการไต่สวนในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นหนึ่งในแกนนำผู้เรียกร้องประชาธิปไตย ในนามของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ซึ่งได้ชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองบริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ถนนราชดำเนินกลาง และถนนราชดำเนินนอก เพื่อกดดันให้นายกรัฐมนตรี (จำเลยที่ 1) ยุบสภา ตั้งแต่วันที่ 12 มี.ค. 2553 เป็นต้นมา

ต่อมาวันที่ 3 เม.ย. โจทก์และผู้ร่วมชุมนุมบางส่วนได้เคลื่อนย้ายไปชุมนุมในบริเวณสี่แยกราชประสงค์อีกแห่งหนึ่ง ครั้นวันที่ 7 เม.ย. จำเลยที่ 1 โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร และจังหวัดใกล้เคียง นอกจากนี้ จำเลยที่ 1 ยังมีคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่พิเศษ 1/2553 จัดตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) และตั้งนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี (จำเลยที่ 2) เป็นผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน กับมีคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่พิเศษ 2/2553 ตั้งจำเลยที่ 2 เป็นผู้กำกับการปฏิบัติงานของหัวหน้าผู้รับผิดชอบ พนักงานเจ้าหน้าที่และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติงานตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่มีความร้ายแรง

ก่อนเกิดเหตุจำเลยทั้งสองได้ประกาศให้โจทก์ และนปช. ออกจากพื้นที่การชุมนุมบริเวณสี่แยกราชประสงค์ ต่อมาวันที่ 10 เม.ย.จำเลยทั้งสองร่วมกันออกคำสั่งให้ทหารจำนวนมากเข้าไปในบริเวณพื้นที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ และพื้นที่ต่อเนื่อง โดยประกาศว่าเพื่อเป็นการขอพื้นที่คืนจากผู้ชุมนุม ในวันเดียวกันนั้น เกิดเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างกำลังฝ่ายทหารกับประชาชนผู้ชุมนุม โดยกำลังฝ่ายทหารใช้ปืนยิงกระสุนยาง ระเบิดก๊าซน้ำตา ฯลฯ

ในที่สุด ปรากฏว่ามีประชาชนและทหารเสียชีวิต จำนวน 25 คน และได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก

กรณีมีเหตุที่จะออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวตามคำขอของโจทก์หรือไม่ เห็นว่า การที่โจทก์และผู้ร่วมชุมนุม ไปชุมนุมในที่สาธารณะบริเวณสี่แยกราชประสงค์ ครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่ถนนราชดำริถึงแยกศาลาแดง และถนนพระรามที่ 1 ถึงห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน อันเป็นการปิดกั้นกีดขวางการใช้เส้นทางคมนาคม และการใช้ยานพาหนะของประชาชนโดยทั่วไป ย่อมส่งผลกระทบต่อธุรกิจที่สำคัญ เกิดความเดือดร้อนเสียหายต่อการประกอบอาชีพ และการดำรงชีวิตปกติสุขของประชาชน เป็นการจำกัดเสรีภาพในการเดินทาง และสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชน ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร จึงมีเหตุจำเป็นที่จำเลยทั้งสองต้องใช้มาตรการขอพื้นที่คืน หรือที่โจทก์เรียกว่าเป็นการสลายการชุมนุมได้ ทั้งนี้ เพื่อให้สังคมกลับสู่สภาวะปกติ และเกิดความสงบเรียบร้อยของประชาชน

ดังนั้น ที่โจทก์ขอให้ศาลมีคำสั่งห้ามจำเลยทั้งสองใช้กำลังทหารเข้าไปสลายการชุมนุมโดยเด็ดขาด จึงไม่มีเหตุผลเพียงพอที่ศาลจะมีคำสั่งตามคำขอข้อนี้ได้ อย่างไรก็ตาม ในการดำเนินการดังกล่าวเป็นเหตุให้มีทหาร และประชาชนเสียชีวิต 25 คน และได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก แม้ขณะนี้ ยังไม่อาจทราบได้ว่าเป็นผลจากการกระทำของฝ่ายใด แต่การที่มีทหารและประชาชนบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก ประกอบกับปัจจุบันนี้ ยังปรากฏว่ามีการชุมนุมของนปช. อยู่อย่างต่อเนื่องในพื้นที่ดังกล่าว และน่าเชื่อว่าจำเลยทั้งสองอาจออกคำสั่งใดๆ เพื่อดำเนินการแก้ไขสถานการณ์ในการชุมนุม ย่อมมีเหตุผลเพียงพอที่ศาลจะออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวในส่วนนี้แก่โจทก์ได้

จึงมีคำสั่งว่า หากจำเลยทั้งสองจะกระทำการใดๆ ในการขอพื้นที่คืนหรือสลายการชุมนุมของผู้ร่วมชุมนุม ให้ดำเนินการเท่าที่จำเป็น โดยคำนึงถึงความเหมาะสม มีลำดับขั้นตอนตามหลักสากล ทั้งนี้ จนกว่าจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก


ฉะนั้น เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง คำสั่งศาลครั้งนี้ ไม่ใช่ธงเพื่อ DSI จะได้ทำคดีที่เหลือไปในแนวทาง ไม่มีชายชุดดำในฝูงนปช.ฆ่าใคร มีแต่ทหารฆ่าประชาชนอย่างเดียว อย่างที่นายธาริตเอ่ยประมาณนั้น ความจริง การให้ศาลไต่สวนความตาย เป็นขั้นตอนของคดี "ฆาตกรรมอย่างวิสามัญ" ธรรมดาๆเท่านั้นเอง

ขั้นตอนต่อไป ศาลจะส่งสำนวนคืนอัยการ อัยการก็จะส่งต่อให้ตำรวจท้องที่เกิดเหตุรวบรวมหลักฐาน ทำสำนวนคดี"วิสามัญฆาตกรรม"นั่นแหละส่งให้อัยการ เพื่อการอัยการส่งฟ้องต่อศาลเพื่อตัดสิน ไม่เพียงคดีนายพัน คำตาเท่านั้น สิ่งที่ควรปฏิบัติแต่แรกด้วยซ้ำไปก็คือ

ตำรวจท้องที่แต่ละแห่งที่เกิดเหตุ ควรทำสำนวนคดีวิสามัญฆาตกรรมไปตามปกติ ไม่ควรที่ DSI ปั้นจิ้ม-ปั้นเจ๋อ อยากเป็นเปาบุ่นจิ้นหน้าแดง สุดท้าย การป่วนเมืองต้องตายเพราะทหารทำหน้าที่ คดีเช่นนี้ ก็ต้องส่งคืนตำรวจท้องที่ทำคดีตามมาตรา ๑๕๐ อยู่ดี

ความไม่รู้ ไม่เข้าใจขั้นตอนกฎหมาย ๑ รู้และเข้าใจ แต่เลือกหยิบเฉพาะประเด็นไปพูดเพื่อหวังผลบางอย่าง ๑ สุดท้ายแล้ว พวกเสื้อแดงก็จะเลือกหยิบเฉพาะคำว่า "ทหารยิง" ไปตีฟอง โดยไม่พูดให้จบความว่า เพราะไปทำอะไร...ทหารจึงยิง ?

และอยู่ในสถานการณ์ที่รัฐบาล-ทหารต้องทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ ทั้งขณะนั้น มีการประกาศใช้กฎหมายในสถานการณ์ฉุกเฉิน การฆ่าผู้ก่อจลาจลเผาบ้าน-เผาเมือง ตามขั้นตอนตามหลักสากล..ผิดหรือ?

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น